อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์: "อภิชน" คิดอะไรอยู่

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

    

        
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนให้ชื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าฉบับ " อภิชนเป็นใหญ่ " โดยชี้ให้เห็นถึงประเด็นการทำให้เกิด "อภิชน" มากุมอำนาจรัฐ  และทำให้เกิดปัญหาที่ร้อยรัดจนทำให้ไม่สามารถจะแก้ไขอะไรได้ นอกจากจะร่างกันใหม่เท่านั้นเพราะจะแก้ตรงไหนให้เป็น " ประชาธิปไตย"มากขึ้น ก็ต้องไปแก้ส่วนอื่นๆตามเกือบทุกส่วน
         
ข้อเสนอต่อสังคมของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนในเรื่องร่างรัฐธรรมนูญนี้ ก็คงต้องรอให้สังคมเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะคิดเห็นอย่างไร  แต่ความที่จะกล่าวต่อไปนี้ เป็นความพยายามลองอธิบายดูว่ากลุ่ม " อภิชน" ที่กำหนดให้รัฐธรรมนูญเป็นเช่นนี้ พวกท่านคิดอะไรกันอยู่  และสิ่งที่พวกท่านคิดนั้นมันจะทำไปสู่อะไรบ้าง  
        
แน่นอนว่า  คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญอาจจะบอกว่าพวกเขาร่างกันเองไม่ได้มีกลุ่มอะไรมาหนุนทั้งสิ้น แต่ก็คงต้องบอกกันก่อนว่าทุกท่านที่ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมานั้นไม่ได้ร่างขึ้นจากสุญญากาศ โดยแยกตัวเองจากสายสัมพันธ์ที่ตนเองมีมาตลอดชีวิต  ดังนั้น กระบวนการคิดการตัดสินใจจึงแอบอิงอยู่กับทั้งหมดของชีวิตที่ทุกท่านได้ดำเนินมา  ซึ่งสังกัดทางสังคมของพวกท่านก็ไม่ใช่สามัญชนคนธรรมดาอย่างประชาชนทั่วไปนะครับ
         
เราอาจจะเรียกการ "รวมตัว" กันของกลุ่มอภิชนในสังคมไทยได้หลายลักษณะ  แต่ลักษณะที่คนมักจะ (คิดและ)ใช้กันได้แก่คำว่า " เครือข่าย " ( Network )  ซึ่งสำหรับผมเองรู้สึกคำนี้ไม่ค่อยตรงกับระบบความสัมพันธ์ในกลุ่มอภิชนนัก เพราะเครือข่ายทำให้เรารู้สึกนึกถึงความเหนียวแน่นของความสัมพันธ์และการเคลื่อนไหวของแต่ละกลุ่มจะส่งผลกระทบไปยังกลุ่มอื่นๆอย่างเป็นไปสู่เป้าหมายหลักเดียวกันโดยไม่ขัดแย้ง ซึ่งผมคิดว่าสำหรับ " อภิชน" ของสังคมไทยเราไม่เคยมีลักษณะความสัมพันธ์ดังกล่าว
         
แต่ในที่นี้ผมอยากจะลองคิดในคำว่า " Party of order " โดยหมายถึงการรวมกลุ่มกันอย่างหลวมๆ แต่ได้สร้างความเห็นพ้องตรงกันในหลักการกว้างๆขึ้นชุดหนึ่ง  และการเคลื่อนไหวของแต่ละกลุ่มก็จะเป็นอิสระจากกัน ซึ่งทำให้การเคลื่อนไหวของบางกลุ่มอาจจะนำมาซึ่งความขัดแย้งกับ "พวกเดียวกัน "อีกกลุ่มหนึ่ง รวมทั้งสมาชิกในกลุ่มเองก็เคลื่อนย้ายตนเองได้อย่างอิสระระดับหนึ่งโดยที่ไม่เป็น " มุ้ง" ( Faction) ที่เหนียวแน่นแบบกลุ่มการเมืองในญี่ปุ่นหรือจีน
         

หากเราคิดถึงความสัมพันธ์ที่ก่อให้เกิด " Party of Order " เช่นนี้ สิ่งที่ต้องมองหรือเข้าใจให้ได้ ได้แก่ อะไรเป็นหลักการกว้างๆ และเป็นชุดความคิดที่ทำให้ " อภิชน" ทั้งหลายเข้ามาร่วมกันเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเข้มข้นมาจนถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
         
ผมคิดว่ามีสองชุดความคิดที่เป็นหลักการที่บรรดาอภิชนทั้งหลายยึดเอาไว้เป็นแกนกลาง ได้แก่ ความคิดเรื่อง "ดุลยภาพทางอำนาจ" และ "ความสงบเรียบร้อย"
         
บรรดาชนชั้นนำไทยที่มีความต่อเนื่องกันมายาวนานและสามารถที่จะใช้วิธีการสลายความขัดแย้งระหว่างกลุ่มด้วยการ "ดูดกลืนเอามาเป็นพวก" (Co-option) ทำให้สามารถทำให้แต่ละกลุ่มยอมรับความแตกต่างระหว่างกันได้ไม่ถึงกับขัดแย้งรุนแรง โดยจะมีคนที่น่าไว้วางใจหรือคนที่มี "บารมี" ซึ่งก็คือคนที่สามารถทำให้เกิดการจำหน่ายจ่ายแจก ( Distribution )ทรัพยากรอย่างเสมอหน้า ซึ่งหมายความว่าทุกกลุ่มทุกฝ่ายล้วนแล้วแต่ได้ประโยชน์แต่ไม่จำเป็นต้องได้เท่ากันหรือเสมอภาคกัน
        
ความต้องการนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอกพรรคการเมืองและความต้องการให้พรรคการเมืองที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลนั้นอ่อนแอ ก็เพื่อที่จะทำให้ "ดุลยภาพทางอำนาจ" นั้นอยู่ในสภาวะ "ดุล"กันได้ ไม่มีคนกลุ่มใดมีอำนาจเหนือกลุ่มอื่นๆอย่างเด็ดขาด
        
ความคิดเรื่อง "ดุลยภาพทางอำนาจ" เช่นนี้กลายเป็นกรอบความคิดหลักที่จะทำให้ "อภิชน"บางกลุ่มเคลื่อนไหวทันทีหากเมื่อใดพบว่าบางกลุ่มเริ่มใช้อำนาจอย่างไม่คำนึงถึง "ดุลยภาพ" เช่น การเคลื่อนไหวของกลุ่มหมออาวุโสที่ถูกริบความเป็นอิสระของกลุ่มตนในการจัดการมูลนิธิห้ามคนกินเหล้า เป็นต้น
       
ความคิดเรื่อง " ความสงบเรียบร้อย " เป็นกรอบความคิดในการจัดความสัมพันธ์ทางสังคมของสังคมไทยมาเนิ่นนาน ซึ่งพัฒนามาจากความคิดในการเปรียบเทียบสังคมกับองคพยพของร่างกาย ความคิดนี้จะเน้นการจำแนกคนออกเป็นชั้นหรือกลุ่มอาชีพพร้อมกันนั้นก็จะเน้นให้แต่ละคนทำตามหน้าที่ของตนอย่าก้าวก่ายหน้าที่ของคนอื่น  วิธีคิดเช่นนี้ทำให้ " อภิชน" อึดอัดและไม่พอใจหากเห็นการก้าวข้าม " หน้าที่" ที่ตนเองมอบเป็นคุณลักษณะของคนอื่น

พรรคการเมืองหรือผู้นำทางการเมืองที่ " อภิชน" ต้องการ ก็จะต้องทำหน้าที่จรรโลงการทำตามหน้าที่ของแต่ละกลุ่มเอาไว้ หากผู้นำทางการเมืองกลุ่มใดทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายผู้คนและทำหน้าที่ข้ามเส้นที่ขีดไว้ในใจ " อภิชน" ก็จะทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้น

ความคิดเรื่อง " ดุลยภาพทางอำนาจ"  และ " ความสงบเรียบร้อย " เป็นความคิดทางการเมืองที่ Party of Order ได้ร่วมกันจรรโลงมาเป็นเวลานาน และทำหน้าที่ผลักดันประเทศไทยให้ก้าวหน้ามาได้ระดับหนึ่ง จึงทำให้ " อภิชน" ทั้งหลายคิดว่าเป็นกรอบความจริงสูงสุดที่ต้องยึดกุมเอาไว้ และก่อให้เกิดสภาวะวิกฤติทางการเมืองมาจนถึงทุกวันนี้

ต้องกล่าวย้ำว่า ชนชั้นนำไทยที่มีความต่อเนื่องสืบทอดสถานะของกลุ่มตนมาได้ยาวนานได้ร่วมกันสร้าง " ระเบียบทางการเมือง" ชุดหนึ่งขึ้นโดยเน้นการดำรงสภาพทางการเมืองที่มี " ดุลยภาพทางอำนาจ" เพื่อผดุง "ความสงบเรียบร้อย " ของสังคม

"ระเบียบทางการเมือง" นี้แสดงออกมาอย่างชัดเจนในช่วงสาม/สี่สิบปีที่ผ่านมา (แม้ในการตั้งชื่อของคณะทหารที่ทำรัฐประหารก็จะต้องเน้นว่าตนเข้ามาเพื่อรักษาระเบียบนี้ ) และเห็นได้ชัดมากในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ "อภิชนเป็นใหญ่" นี้

ปัญหาที่จะตามหลังความพยายามจะจรรโลง  "ระเบียบทางการเมือง" ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ ได้แก่ ความไม่สามารถดูดซับ/ดูดกลืนคนกลุ่มใหม่ในพื้นที่ทางการเมืองให้เข้ามาร่วมได้อย่างที่เคยกระทำกันมา เพราะกรอบการจัดวาง "ดุลยภาพทางการเมือง" ที่ดำเนินมานั้นเกิดขึ้นในช่วงที่ประชาชน/ราษฏรยังไม่ได้เป็น " พลเมือง"  "ดุลย์" ที่จะสร้างขึ้นจึงมีเพียงการดุลย์กันระหว่างระบบราชการ กลุ่มทุนขนาดใหญ่ และกลุ่มทุนท้องถิ่นที่เชื่อมต่อกับระบบราชการและทุนใหญ่เท่านั้น   

"ดุลยภาพทางการเมือง" จึงเป็นระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ  ที่ต้องสรรหาคนที่น่าไว้วางใจหรือคนที่มี "บารมี" ซึ่งก็คือคนที่สามารถทำให้เกิดการจำหน่ายจ่ายแจก ( Distribution )ทรัพยากรอย่างเสมอหน้าให้แก่ทุกกลุ่มที่เข้ามาร่วมในระบบกาารเมือง

การสร้าง "ดุลยภาพทางการเมือง" ที่ดำเนินเช่นนี้ ได้ตกผลึกกลายเป็นการเน้น " คนดี" ขึ้นมาเป็นผู้ควบคุมการเมือง ทั้งๆที่ " คนดี " เป็นคุณลักษณะที่วางเกณฑ์วัดทั่วไปไม่ได้และวางอยู่บนความสัมพันธ์ใกล้ชิดเท่านั้น ซึ่งกรอบคิดที่พัฒนมมานี้ แสดงแค่ว่าชนชั้นนำไทยต้องการเพียงผู้ที่สามารถจำหน่ายจ่ายแจกทรัพยากรให้แต่ละกลุ่มอย่างเสมอหน้านั่นเอง ( ทักษิณถูกด่าว่า " กินรวบ" ไม่ "กินแบ่ง" แบบที่ "คนดี "เคยแบ่งๆกันมา )

"ดุลยภาพทางการเมือง" เช่นนี้จึงเป็นเพียงการสร้าง " ดุลย์" ของชนชั้นนำเดิมเท่านั้น เพราะ " พลเมือง"ที่เกิดขึ้นมาไม่สามารถที่จะล่วงรู้ความเป็น "คนดี" ได้ ขณะเดียวกัน "คนดี" ที่จะขึ้นมามีอำนาจก็จะสังกัดและสัมพันธ์อยู่กับกลุ่มชนชั้นนำเท่านั้น ไม่ได้มอง/มองไม่เห็น "พลเมือง" แต่อย่างใด 

"ความเป็นระเบียบเรียบร้อย"ในกรอบความคิดทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตยของ " คนดี" จะเป็นการเมืองแบบที่มองไม่เห็นความหมายของพลเมืองและการเคลื่อนไหวภาคพลเมือง พร้อมกับมองว่าหากพลเมืองเคลื่อนไหวก็เป็นเพราะ "มือที่สาม" มายุยง เพราะประชาชน/ราษฏรไทยล้วนแล้วแต่เป็นคนรักสงบไม่เรียกร้องอะไรที่เกินเลยไปกว่าที่ควรจะได้ ( ชนชั้นนำเป็นผู้ให้)   ซึ่งก็จะเป็นแบบแผนการคิดของชนชั้นกลางระดับกลางและบน ได้แก่การ " โน้มกายลง" ช่วยเหลือผู้เดือดร้อน ซึ่งผู้เดือดร้อนจะต้องยอมรับความต่ำต้อยของตนและรอการการช่วยเหลือจากรัฐบาล " คนดี" โดยไม่เคลื่อนไหวร้องขออะไร

"ความสงบเรียบร้อย"จึงเป็นเรื่องของการกีดกันไม่ให้เกิดสำนึก "พลเมือง" แต่จะวางเพดานจำกัดไว้ภายใต้ความหวังดี/ปรารถนาดีของ "คนดี" เท่านั้น  ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำให้ " สิทธิ" ของพลเมืองหายและกลายรูปไปเป็นส่วนที่เป็นหน้าที่ของรัฐไป แม้ "สิทธิชุมชน" ที่ต่อสู่ต่อรองกันมานานหลายสิบปีก็หายไป ( อย่างไม่น่าเชื่อ )

จะเห็นได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับเกิดขึ้นจากฐานความคิดทางการเมืองร่วมกันของกลุ่มชนชั้นนำที่ทองเห็นเฉพาะ " อดีต" ของกลุ่มตนเอง มองไม่เห็นความคลื่คลายเปลี่ยนแปลงของประวัติศษสตร์ของสังคม และพยายามกำกับ "อนาคต"ของสังคมด้วย " อดีต" ที่รุ่งโรจน์ของกลุ่มตนเอง ( น่าจะนำคนกลุ่มนี้เข้าชั้นเรียนประวัติศาสตร์ของสังคมนะครับ ฮา )

ดังนั้น หากสังคมยอมให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ในการกำกับการเมือง ก็จะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลของ "คนดี" กับพลเมืองอย่างแน่นอน

แต่อย่างไรก็ตาม ดังได้กล่าวแล้วว่าการรวมกลุ่มกันของชนชั้นนำไม่ได้เป็นลักษณะของการสร้าง " เครือข่าย" ที่แน่นเหนียว หากแต่เป็นการรวมกันอย่างหลวมๆในการสร้างความเห็นพ้องของระเบียบทางสังคมการเมือง ซึ่งในที่นี้เสนอให้มองด้วยคำว่า " Party of Order " ซึ่งน่าจะทำให้เห็นและแยกแยะความแตกต่างระหว่างกลุ่มชนชั้นนำ

การทดลองเสนอให้คิดถึงสายใยความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชนชั้นนำในอีกระนาบหนึ่ง ก็เพื่อจะทำให้ไม่เหมารวมมองว่าชนชั้นนำไทยมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน และที่สำคัญ ก็เพื่อที่จะหาทางออกอื่นๆให้สังคมไทยพ้นจากความขัดแย้งทางการเมืองไปได้

แม้ว่ากลุ่มชนชั้นนำไทยจะสร้างความเห็นพ้องในระเบียบการเมืองได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามีเอกภาพหนึ่งเดียว ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทหารระดับนำก็มีให้เห็นโดยตลอด กลุ่มธุรกิจก็มีความแตกต่างทางความคิดและกิจกรรมทางการเมืองมาทุกยุคสมัย เพียงแต่ที่ผ่านมา ความแตกต่างและความขัดแย้งที่เป็นส่วนเฉพาะของชนชั้นนำ จึงทำให้เป็นการต่อสู้และช่วงชิงการนำที่ไม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางอำนาจ

แต่ในวันนี้ หนทางรอดของแต่ละกลุ่มเริ่มไม่สอดคล้องกัน การขยับไปลงทุนต่างประเทศของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้ทำให้ต้องตระหนักถึงภาพลักษณ์ของประเทศตนเองมากขึ้น การปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง/การขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐานทำให้การแสวงหาประโยชน์เริ่มหลากหลายมากขึ้นและต้องคำนึงถึงการเปิดให้ประชาชนทคนธรรมดาเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น  บางกลุ่มเริ่มตระหนักว่าการรักษาอำนาจนำของตนเองต้องผ่อนคลายเปิดช่องการดูดซับ/ดูดกลืนประชาชนพลเมืองให้เข้ามาอยู่ร่วมกัน ระบบราชการโดยรวมที่ไร้ประสิทธิภาพมากขึ้นนั้นก็ถอย/ไม่ยอมผูกพันและรอคอยว่าจะปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างไร

ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนชั้นนำไทยเองจะทำให้เกิดความเปราะบางของ Party of Order มากขึ้น ความพยายามอย่างสุดขั่วในการจรรโลงระเบียบทางการเมืองอย่างที่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญจึงไม่น่าใช่ความปรารถนาร่วมกัน (อย่างแรงกล้า) ในการรักษาระเบียบอีกต่อไป  ข่าวลือเรื่องการรัฐประหารซ้อนก็แสดงให้เห็นมีความไม่พึงพอใจมากขึ้น

ชนชั้นนำไทยสัมพันธ์กันในรูปแบบการสร้าง Party of Order มาโดยตลอด จึงทำให้สามารถสืบทอดความเป็นชนชั้นมาได้เนิ่นนาน เพียงแต่ในช่วงทศวรรษ 2520 ได้แก่การตกผลึกระบบคิดดังกล่าวข้างต้น แต่ก็ไม่ได้อยู่ยงคงกระพันเพราะเมื่อก้าวสู่ทศวรรษ 2540 ก็ถูกท้าทายจนเสียศูนย์ไปมากแล้ว หลายฝ่ายก็ได้ตระหนักแล้วว่าระเบียบการเมืองแบบเดิมใช้ไม่ได้ทั้งหมดอีกต่อไป

ปัญหาการจัดการระบบการเมืองเหลืออยู่ประการเดียว ได้แก่ พลเมืองจะสามารถแสดงพลังมากพอจนกระทั่งทำให้กลุ่มที่ยังมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงนั้นกลายเป็นคนกลุ่มน้อยใน Party of Order ได้อย่างไร

ผลที่จะเกิดขึ้นกับร่างรัฐธรรมนูญนี้จะบอกให้เรารู้ว่าชนชั้นนำไทยรับรู้และปรับตัวทันสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่

รอดูกันครับ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท