Skip to main content
sharethis
ก.แรงงานเพิ่มมาตรการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานประมง
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า ยอดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2558 ตั้งแต่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย.2558 มีแรงงานต่างด้าว สัญชาติเมียนมา ลาว กัมพูชา มายื่นต่อใบอนุญาต จำนวน ทั้งสิ้น 1,049,326 คน ส่วนการเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงทะเล 22 จังหวัด ที่มีพื้นที่ติดทะเล ครั้งที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-29 มิ.ย.2558  มีจำนวน 54,402 คน และครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย.2558-30 ม.ค.2559  มีจำนวน 21,484 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่ลดลงและน่าจะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกได้ว่าแรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบการจดทะเบียนอย่างครอบคลุมแล้ว
 
มาตรการเพิ่มเติมเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน คือ การอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่ทำงานในกิจการประมงทะเล และอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำเปลี่ยนนายจ้างได้ภายในกลุ่ม โดยไม่จำกัดจำนวนนายจ้าง และจังหวัดที่ทำงานได้ รวมทั้ง การอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่ทำงานในเรือประมงสามารถทำงานในตำแหน่งช่างเครื่องยนต์ในเรือประมงได้โดยต้องมีหนังสือรับรองการประกอบวิชาชีพช่างเครื่องยนต์จากกรมเจ้าท่าประกอบการยื่นขออนุญาตทำงานด้วย ในส่วนของแรงงานต่างด้าวที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติและแรงงานต่างด้าวที่นำเข้าตาม MOU สามารถดำเนินการได้ทันที
 
สำหรับแรงงานต่างด้าวที่ได้รับผลกระทบ จากการออกกฎกระทรวงกำหนดสถานที่ที่ห้าม มิให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีทำงาน พ.ศ.2559 ในกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ ทำให้ประสบ ปัญหาไม่สามารถทำงานต่อไปกับนายจ้างรายเดิมได้ ให้สามารถเปลี่ยนไปทำงานกับนายจ้างรายใหม่ได้ ในกิจการที่อนุญาตให้ผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ทำงานได้ทั้งในจังหวัดที่เคยได้รับอนุญาตทำงาน หรือจังหวัดอื่นๆ และในปี 2559 ได้จัดทำ โครงการ "เขตปลอดการจ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย" โดยมีเป้าหมายเพื่อตรวจสอบ ปราบปราม จับกุมและดำเนินคดีคนต่างด้าว นายจ้าง/สถานประกอบการและผู้เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้น โดยมีเครือข่ายในการเฝ้าระวังการลักลอบจ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย หากพบการกระทำผิดตามพ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
 
 
กรมสวัสดิการฯยืนยัน "เชลล์ไทย" ไม่มีการเลิกจ้าง
 
เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ น.ส.พรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่รอยัล ดัตช์ เชลล์ บริษัทน้ำมันข้ามชาติระดับโลกจะปรับลดตำแหน่งงานลง 10,000 ตำแหน่งทั่วโลก หลังจากบริษัทประสบภาวะกำไรหดตัวมากที่สุดในรอบ 13 ปี ซึ่งในไทยคือบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ว่า จากการสอบถามข้อมูลจากบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งมีพนักงานในไทยจำนวน 1,100 คน แบ่งเป็นสำนักงานใหญ่ 400 คน พนักงานรับเหมาช่วงขับรถส่งน้ำมัน 700 คน ระบุว่าพนักงานในส่วนงานที่มีการประกาศว่าจะปลดคือพนักงานในส่วนสำรวจ ขุดเจาะน้ำมัน และโรงกลั่น ซึ่งทำงานในประเทศต่างๆ ทั่วโลก สำหรับประเทศไทยไม่มีส่วนงานดังกล่าวจึงไม่ได้รับผลกระทบ และยังไม่มีการปลดพนักงานในส่วนงานอื่นๆ
 
น.ส.พรรณีกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ กสร.ได้สั่งการให้สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสุ่มตรวจปั๊มน้ำมันของเชลล์ใน 22 จังหวัด จำนวน 128 แห่ง มีพนักงาน 1,300 คน จาก 500 แห่งทั่วประเทศ ทั้งหมดยืนยันว่าไม่มีการเลิกจ้างพนักงานอย่างแน่นอน และระบุว่าเนื่องจากราคาน้ำมันลดลงทำให้สามารถขายน้ำมันได้มากขึ้น แต่ยังคงให้สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด หากมีการเลิกจ้างให้แจ้งมายังส่วนกลางและรีบเข้าไปประสานให้ความช่วยเหลือ
 
 
ยันแรงงานไทย 50,000 คนในไต้หวันปลอดภัยจากเหตุแผ่นดินไหว
 
เมื่อวันที่ 6 ก.พ. พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน กล่าวถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.4 แมกนิจูด ที่เมืองไถหนานซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของไต้หวัน ทำให้อาคารหลายแห่งถล่ม และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานว่า สำนักงานแรงงานไทย ในไทเป ได้รายงานว่าในวันนี้ (6 ก.พ.) เวลา 03.57 น. เกิดเหตุแผ่นดินรุนแรงที่ภาคใต้ของเกาะไต้หวัน วัดได้ 6.4 ริกเตอร์ ศูนย์การสั่นสะเทือนอยู่ลึกลงไปใต้ดิน 16.7 ก.ม. บริเวณภูเขาเขตเหม่ยหน่ง นครเกาสง โดยจากการสำนักงานแรงงานไทยในไทเป ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าว ทั้งนี้มีแรงงานไทยที่ไปทำงานอยู่ในไต้หวัน จำนวน 58,372 คน ซึ่งส่วนใหญ่เดินทางไปทำงานโดยการจัดส่งของบริษัทจัดหางาน แต่ขณะนี้ยังไม่มีรายงานว่าแรงงานไทยได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต อย่างไรก็ตามได้สั่งการให้สำนักงานแรงงานไทย นครเกาสง และสำนักงานแรงงานไทยในไทเป ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และให้การช่วยเหลือโดยเร็ว หากพบแรงงานไทยได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าว“
 
 
กรอ. เผย ยอดการตั้งโรงงานใหม่ในเดือนมกราคม ลดลง 13.49 ขยายกิจการ -10% จับตาเศรษฐกิจโลก
 
นายพสุ โลหารชุน อธิบดี กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ยอดการตั้งโรงงานใหม่ในเดือนมกราคม 2559 มีจำนวน 282 โรงงาน ลดลงร้อยละ 13.49 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่มูลค่าการลงทุนมีมูลค่า 17,728 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.45 จากปีก่อน มีการจ้างงาน 6,937 คน ส่วนการขยายกิจการในเดือนมกราคม มีจำนวน 58 โรงงาน ลดลงร้อยละ 10 จากปีก่อน เงินลงทุน 17,676 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.55 จากปีก่อน โดยอุตสาหกรรมที่มีจำนวนเปิดกิจการและขยายกิจการที่มีมูลค่ามากที่สุด ได้แก่ อุตฯ ผลิตยานพาหนะและชิ้นส่วนมูลค่าการลงทุน 12,600 ล้านบาท อุตฯ ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง มูลค่าการลงทุน 4,278 ล้านบาท อุตฯ ผลิตเครื่องจักรและเครื่องกล 3,836 ล้านบาท อุตฯ ผลิตภัณฑ์โลหะ มูลค่าการลงทุน 3,717 ล้านบาท อุตฯ อาหาร มีมูลค่าการลงทุน 3,275 ล้านบาท เป็นต้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากมาตรการการสนับสนุนทั้ง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล รวมทั้งการออกสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อกระตุ้นการลงทุนในปีนี้ ประกอบกับต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่ลดลงของผู้ประกอบการ จากราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งการเปิด AEC ที่เป็นปัจจัยบวกหนุนบรรยากาศการลงทุนเริ่มกลับมา อย่างไรก็ตาม จะต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจีน  ยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา แต่คาดว่าประเทศดังกล่าวจะมีนโยบายและมาตรการต่างๆ มากระตุ้นเศรษฐกิจได้  ทั้งนี้ ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยและอาเซียนมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และคาดว่าส่งผลให้ปีนี้ยอดเปิดโรงงานและขยายกิจการทรงตัวหรือโตกว่าปีที่ผ่านมา
 
 
เดินหน้าจัดหลักสูตร กศน.ปวช.ชี้รูปแบบทวิภาคีมีความคล่องตัว สั่ง ผอ.กศน.วางแผนสอนอาชีพรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษของแต่ละจังหวัด
 
(8 ก.พ.) นายสุรพงษ์ จำจด เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) กล่าวถึงการจัดหลักสูตร กศน.ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) ว่า กศน.สอน ปวช.ใน 2 ลักษณะ คือ 1. ทวิศึกษา ที่ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) จัดการศึกษาเป็นหลักสูตรคู่ขนานระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและ ปวช. และ 2. ทวิภาคี ที่เป็นความร่วมมือกับเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม หรือ สถานประกอบการในพื้นที่ จัดการศึกษาระบบโรงเรียนโรงงานที่ผู้เรียนวิชาสามัญกับสถานศึกษา และปฏิบัติงานในสถานประกอบการ โดยทั้งสองรูปแบบจะใช้หลักสูตรของ สอศ.เหมือนกัน แต่กลุ่มเป้าหมายต่างกัน คือ กลุ่มทวิศึกษาจะเป็นกลุ่มผู้เรียนที่อยากเรียนทั้งสายสามัญและสายอาชีพควบคู่กันไป ขณะที่กลุ่มทวิภาคีส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีงานทำแล้วและต้องการเพิ่มพูนความ รู้ประสบการณ์ เพราะฝึกกับเจ้าของกิจการโดยตรง “จากการจัดการศึกษาทั้ง 2 รูปแบบ เห็นว่า รูปแบบทวิภาคี คล่องตัวและทำให้ผู้เรียนสามารถประกอบอาชีพได้ค่อนข้างแน่นอน เพราะเป็นความร่วมมือกับสถานประกอบการ และสอดรับกับเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วย ซึ่งตอนนี้ผมได้เชิญ ผอ.กศน.จังหวัดในเศรษฐกิจพิเศษมาประชุม เพื่อสั่งการว่าให้ไปหารือร่วมกับหอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด และฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนจัดการศึกษาที่รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษของแต่ละ จังหวัดต่อไป เพราะเท่าที่ทราบจังหวัดเขตเศรษฐกิจพิเศษแต่ละจังหวัดมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะคนขับรถบรรทุก เพราะฉะนั้น กศน.ซึ่งเป็นหน่วยงานการศึกษาที่ดูแลคนนอกระบบจึงควรใช้โอกาสนี้ในการส่ง เสริมให้คนมาเรียนสายอาชีพมากขึ้น”เลขาธิการ กศน.กล่าว
 
 
เดินหน้าฟื้นกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ สศค.เร่งสรุปแนวทางชงปลัดคลังพิจารณา
 
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า เพื่อดูแลประชาชนวัยเกษียณให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม จึงฟื้นแนวคิดการตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เพื่อให้เป็นกองทุนรองรับการดูแลประชาชนให้มีสวัสดิการวัยเกษียณให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม เนื่องจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ดูแลข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพดูแลพนักงานรัฐวิสาหกิจ และบริษัทจดทะเบียน ขณะที่กองทุนประกันสังคม ดูแลพนักงานบริษัท กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ดูแลผู้มีอาชีพอิสระ แต่พนักงานบริษัทบางกลุ่มไม่มีสวัสดิการดูแลในเรื่องบำนาญ และยังไม่ครอบคลุม จึงต้องการรื้อฟื้นแนวคิดดังกล่าวเพื่อให้กองทุนประกันสังคมสามารถดึงกลุ่มพนักงานที่ต้องการรับเงินบำนาญนำส่งเงินสะสมเข้ากองทุนเพิ่มจากปัจจุบัน โดยขณะนี้ สศค.กำลังเร่งสรุปแนวทางการศึกษาทั้งหมดเพื่อเสนอปลัดกระทรวงการคลังพิจารณา
       
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า แนวทางการดำเนินงานของ กบช.เตรียมมอบหมายให้ กอช.บริหารจัดการกองทุน ขณะนี้ต้องศึกษาอีกหลายด้าน ทั้งแนวทางการนำส่งเงินสะสมเข้ากองทุนของนายจ้าง และลูกจ้าง หลังจาก สศค.เคยศึกษามาแล้วในช่วงปี 2550 โดยช่วงนั้นเสนอให้สมาชิกลูกจ้าง และนายจ้างส่งเงินสะสมเข้ากองทุนอัตราร้อยละ 3 ของเงินเดือน แต่ปัจจุบัน ปัจจัยหลายด้านได้เปลี่ยน จึงต้องศึกษาแนวทางการนำส่งเงินสมทบให้ชัดเจน เมื่อครบกำหนดจ่ายเงินจากกองทุนจะมีทั้งแบบรับเป็นเงินก้อน และการทยอยรับในรูปเงินบำนาญ โดยจะมีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เมื่อสรุปแนวทางได้ทั้งหมดแล้วคาดว่าจะครอบคลุมกลุ่มแรงงานในระบบทั้งลูกจ้างบริษัท เอกชนข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และลูกจ้างชั่วคราวรัฐบาล พนักงานรัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างประจำ และลูกจ้างชั่วคราวรัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะได้มีสวัสดิการดูแลในวัยเกษียณ 
 
 
แรงงานต่างด้าวตามแนวชายแดน เข้ามาทำงานในลักษณะไป - กลับ ได้ แต่ต้องมีใบอนุญาตทำงาน ทำงานได้คราวละไม่เกิน 3 เดือน อนุญาตเฉพาะกรรมกรและผู้รับใช้ในบ้าน
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า จากกรณีที่คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาปิดล้อม และทำร้ายเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ซึ่งล่าสุดได้มีการจับกุมตัวผู้ก่อเหตุได้จำนวน 2 ราย โดยตั้งข้อหาทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน ทำร้ายทรัพย์สินของทางราชการและขัดขวางการทำหน้าที่ของเจ้าพนักงานนั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้กรมการจัดหางาน ซึ่งมีภารกิจในการควบคุมการทำงานของคนต่างด้าว โดยเจ้าหน้าที่จากสำนักงานจัดหางานจังหวัดสระแก้วได้เข้าตรวจสอบคนต่างด้าวดังกล่าวแล้วปรากฏว่าเดินทางเข้ามาโดยใช้บัตรผ่านแดน (Border Pass) และ Immigration Card โดยเข้ามาขายของตามประกาศจังหวัดสระแก้วที่เปิดจุดผ่อนปรนในการค้าและการสัญจรไป - มา ของประชาชนทั้งสองประเทศ คือ บริเวณตลาดโรงเกลือ บ้านคลองลึก ตำบลบ้านไร่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว และตลาดปอยเปต อำเภอศรีโสภณ จังหวัดบันเตียเมียนเจยมีระยะเวลาเปิด-ปิดให้ทำการค้าและการสัญจรไป - มา ระหว่างเวลา 07.30 - 17.00 น. ของทุกวันหากฝ่าฝืนจะถูกจับกุมฐานหลบหนีเข้าเมือง
       
คนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่เข้ามาทำงานในลักษณะไป - กลับ หรือตามฤดูกาล ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 สามารถเข้ามาประกอบอาชีพได้เฉพาะตำแหน่งกรรมกรและผู้รับใช้ในบ้านเท่านั้น โดยแรงงานกัมพูชาที่เข้ามาทำงานในลักษณะไป - กลับ บริเวณชายแดนไทย - กัมพูชา มีขั้นตอนคือจะต้องถือบัตรผ่านแดน (Border Pass) ที่ทางกัมพูชาออกให้ โดยเข้ามาทางจุดผ่านแดนถาวร ซึ่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะประทับตราอนุญาตในบัตรผ่านแดน ระยะเวลา 30 วันต่อครั้ง ต้องตรวจสุขภาพและมีใบรับรองแพทย์จากกระทรวงสาธารณสุข จากนั้นกรมการจัดหางานจะออกใบอนุญาตทำงานให้แก่แรงงาน มีค่าใช้จ่าย จำนวน 325 บาท เป็นค่ายื่นคำขอฉบับละ 100 บาท ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานไม่เกิน 3 เดือน 225 บาท พร้อมเอกสารประกอบในการยื่นขอใบอนุญาต
       
นายอารักษ์ กล่าวต่อว่า แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และ กัมพูชา ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยจะต้องมีใบอนุญาตทำงาน หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถูกส่งกลับออกนอกประเทศ นอกจากนี้ หากไม่ทำงานตามประเภทหรือลักษณะงานและกับนายจ้าง/สถานประกอบการหรือสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาตทำงาน จะมีความผิดปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
 
 
ก.แรงงาน ร่วมลงนาม MOU ส่งเสริมป้องกันโรคจากการประกอบอาชีพงานนอกระบบ ยกระดับคุณภาพให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
 
นายแพทย์สุรเดช วลีอิทธิกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน นางสาวพรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นายรักษ์ศักดิ์ โชติชัยสถิตย์ ที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพสำนักงานประกันสังคม ร่วมกับเครือข่ายรวม 14 องค์กร ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “ในการส่งเสริมป้องกันโรคจากการประกอบอาชีพสำหรับกลุ่มแรงงานนอกระบบ” จัดทำโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาระบบและองค์ความรู้การดูแลสุขภาพจากการประกอบอาชีพของแรงงานนอกระบบ ทั้งในระดับกระทรวง และเขตสุขภาพ/เขต สปสช. และเป็นการเชื่อมโยงการจัดบริการอาชีวอนามัยในระดับนโยบายสู่การปฏิบัติในพื้นที่ โดยในระยะแรกจะเริ่มดำเนินการใน 5 กลุ่มเสี่ยงที่สำคัญ กลุ่มเกษตรประเภทเพาะปลูก, กลุ่มแกะสลักหิน, กลุ่มคนเก็บและคัดแยกขยะ, กลุ่มผู้ขับขี่รถแท็กซี่ เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และกลุ่มตัดเย็บผ้าและผลิตภัณฑ์จากผ้า โดยมีเป้าหมายการดำเนินงานในระยะแรกนี้ จำนวน 6.2 แสนราย และขยายให้ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญ จำนวนประมาณ 10.5 ล้านคน ภายในปี 2563 และครอบคลุมทุกกลุ่มทุกคน (ประมาณ 22.1 ล้านคน) ภายในปี 2564 เป็นต้นไป
 
ทั้งนี้ กลุ่มแรงงานนอกระบบในประเทศไทยมีจำนวน 22.1 ล้านคน เป็นแรงงานที่ไม่ได้รับการคุ้มครองด้านสุขภาพจากระบบประกันสังคม ซึ่งพบว่าแรงงานกลุ่มนี้มีปัญหาเกี่ยวกับโรคจากการประกอบอาชีพ เช่น สภาพแวดล้อมการทำงานที่มีฝุ่น ควัน และเสี่ยงต่อสารเคมีและเครื่องจักรที่เป็นอันตราย รวมทั้งการเข้าถึงบริการอาชีวอนามัย
 
 
พยาบาลวิชาชีพแห่ลาออกเพียบ กลุ่มจบใหม่ออกกว่า 50% กลุ่มชำนาญการลาออกมากถึง 92% เหตุไร้ความก้าวหน้า ขึ้นชำนาญการพิเศษไม่ได้ อัตราการบรรจุยังไม่เพียงพอ
       
ดร.กาญจนา จันทร์ไทย ผู้อำนวยการสำนักการพยาบาล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) กล่าวว่า การแก้ปัญหาแต่ละวิชาชีพที่มีจำนวนมากของ สธ. นั้น ขณะนี้ สธ. ได้มีการจัดเวทีหลักขึ้นทุกวันศุกร์สุดท้ายของเดือน เพื่อให้ทุกวิชาชีพได้เข้าหารือกันถึงปัญหาต่าง ๆ และช่วยกันหาทางแก้ไข ส่วนของวิชาชีพพยาบาลมีปัญหาเรื่องค่าตอบแทนและงานที่หนัก รวมถึงปัญหาการลาออกมากขึ้น โดยเฉพาะพยาบาลที่มีอายุงานมาก โดยในปี 2559 พบว่า พยาบาลกลุ่มชำนาญการ อายุ 50 ปีขึ้นไป มีการยื่นความจำนงขอลาออกเยอะที่สุด เนื่องจากมองว่าไม่มีความก้าวหน้าในวิชาชีพ เพราะขึ้นกลุ่มชำนาญการพิเศษไม่ได้ โดยพบว่ากลุ่มนี้มีการลาออกประมาณร้อยละ 92 ซึ่งจะส่งผลอย่างมาก เพราะจะไม่มีพยาบาลระดับที่จะบริหารและบริการในแต่ละระดับได้
       
“เดิมทีพยาบาลที่ทำงานใหม่และไม่มีตำแหน่งให้จะออกไปปีละประมาณ 50% ของผู้จบใหม่ ส่วนที่เหลืออีก 50% ก็ลาออกตามไปอีกครึ่งหนึ่ง ดังนั้น ขณะนี้จึงเหลือพยาบาลที่ทำงานอยู่เป็นลูกจ้างประมาณ 20% ของพยาบาลที่จบเท่านั้น โดยที่ไม่สามารถควบคุมจำนวนพยาบาลได้ เพราะไม่มีตำแหน่งให้บรรจุ แต่พอได้ตำแหน่งมาก็ต้องไปแบ่งให้วิชาชีพอื่น ทั้งนี้ หาก สธ. ไม่ขอร้องพยาบาลชำนาญการอยู่ ขณะนี้พยาบาลชำนาญการที่มีในระบบก็อาจลาออกเกือบทั้งหมดก็เป็นได้” ดร.กาญจนา กล่าว
       
ดร.กาญจนา กล่าวอีกว่า การจะได้ขึ้นเป็นพยาบาลการพิเศษนั้นมีโอกาสอยู่ที่อัตราส่วนประมาณ 40 คนต่อ 100,000 คนเท่านั้น ซึ่งคิดได้ประมาณ 0.01% ส่วนพยาบาลที่ได้รับการบรรจุตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)ทั้ง 3 รอบ ซึ่งขณะนี้ยังมีทั้งพยาบาลที่ไม่ได้จบจาก สธ. และพยาบาลที่จบจาก สธ. ในปี 2555 เหลือค้างบรรจุอีกประมาณ 2,000 คน ในขณะที่พยาบาทที่จะเกษียณในปี 2559 - 2560 กับมีตำแหน่งว่างไม่ถึง 2,000 อัตรา ดังนั้น จะเอาตำแหน่งของพยาบาลที่เกษียณไปบรรจุก็ไม่พอ ตรงนี้จึงไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะเชื่อว่าหากกลุ่มเหล่านี้ยังไม่ได้รับการบรรจุก็น่าจะลาออกอีก
 
 
"ปลัดแรงงาน" เผยสหรัฐฯ สนใจการสำรวจแรงงานเด็ก
 
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังให้การต้อนรับ Ms. Anjana  Modi ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยว่า สหรัฐอเมริกาเข้าพบหารือและขอรับทราบนโยบายและโครงการที่เกี่ยวกับการต่อต้านการใช้แรงงานเด็กและการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกาให้ความสนใจ ที่กระทรวงแรงงานจะทำแบบสำรวจเรื่องแรงงานเด็ก โดยขอความร่วมมือว่าอาจจะให้สหรัฐอเมริกาช่วยให้คำแนะนำในกรณีที่กระทรวงแรงงานทำแบบสำรวจแรงงานเด็ก เนื่องจากผลสำรวจที่ได้จะใช้เป็นข้อมูลให้แก่กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกาเพื่อขอถอดสินค้าอ้อยออกจากบัญชีต่อไป ฉะนั้น หากได้หารือกับผู้ที่จะพิจารณาข้อมูลก็ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งนี้ จากการหารือสหรัฐอเมริกานับว่ามีท่าทีที่ดีในการที่จะตอบรับ
 
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะเชิญผู้แทนของสถานทูตสหรัฐฯ ร่วมคณะเจ้าหน้าที่ในการนำแบบสอบถามที่ได้ไปสอบถามกับทางโรงงานน้ำตาลหรือชาวไร่อ้อยว่า ปัจจุบันมีการใช้แรงงานเด็กอยู่หรือไม่ เพื่อให้เห็นภาพและรับทราบข้อเท็จจริง ทั้งนี้ ในส่วนของการค้ามนุษย์ได้แจ้งให้ทางสหรัฐฯ ทราบว่ากระทรวงแรงงานได้จัดทำคู่มือการดูเรื่องแรงงานบังคับ แรงงานขัดหนี้ ฯลฯ ซึ่งทางสหรัฐฯ แสดงความพอใจและขอคู่มือไปศึกษาเพื่อให้คำแนะนำเพิ่มเติมต่อไป อย่างไรก็ตาม โดยรวมสหรัฐฯ พร้อมที่จะสนับสนุนหรือทำงานร่วมกับกระทรวงแรงงานในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
 
ทั้งนี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ทำแบบสำรวจมอบให้มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์จัดทำแบบสอบถามเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้จะส่งให้ทางเจ้าหน้าที่ของทางสำนักงานสถิตินำแบบสอบถามที่ได้ไปสอบถามสถานประกอบการเพื่อทำการสำรวจอีกครั้ง โดยคาดว่าจะออกสำรวจได้ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ก่อนหมดฤดูกาลตัดอ้อยซึ่งไม่เกินสิ้นเดือนมีนาคม 2559
 
"สหรัฐฯ มีความเข้าใจว่าด้วยปัญหาต่างๆ มีความซับซ้อน ในหลายๆ ประเทศก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น จึงพอใจกับสิ่งที่รัฐบาลไทยโดยกระทรวงแรงงานได้ดำเนินการ ทั้งนี้ จะทำให้มีการคุ้มครองสิทธิต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล" ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว
 
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานขอเน้นย้ำว่า รัฐบาลไทยและกระทรวงแรงงานได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานมาโดยตลอด จึงมีนโยบายที่จะส่งเสริมการจ้างงานแรงงานต่างด้าวแบบถูกกฎหมาย เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยมีมาตรการต่างๆ ได้แก่ การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว การควบคุมผู้ให้บริการจัดหางาน การตรวจแรงงาน การปรับปรุงแก้ไขและยกร่างกฎหมาย/ระเบียบที่เกี่ยวข้อง การจัดระเบียบแรงงานในภาคประมง การจัดระเบียบแรงงานไทยไปต่างประเทศ การขจัดปัญหาแรงงานเด็ก และการดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศ
 
 
ก.แรงงานเผยคนไทยนิยมไปทำงานไต้หวันมากสุด
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า จากสถิติคนหางานเดินทางไปทำงานในต่างประเทศผ่านด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิในเดือนมกราคมที่ผ่านมา พบว่า มีคนงานไทยไปทำงานและฝึกงานในต่างประเทศ รวมทั้งสิ้น 7,056 คน โดยนิยมเดินทางไปทำงานที่ประเทศไต้หวันมากที่สุด 2,482 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเดินทางโดยการจัดส่งของบริษัทจัดหางาน
 
อย่างไรก็ตาม ได้เตือนแรงงาน ระมัดระวังให้มาก เพราะปัจจุบันมีกระบวนการหลอกลวงคนหางานไปทำงานต่างประเทศในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก โดยอ้างตำแหน่งงานที่มีรายได้ดีและเป็นการเดินทางไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายผ่านกรมการจัดหางาน พร้อมทั้งแจ้งให้ใช้วีซ่าท่องเที่ยวเดินทางไปทำงานก่อนแล้วจะดำเนินการขอวีซ่าทำงานให้ภายหลัง
 
 
สปส.ลงนามข้อตกลงกำหนดเกณฑ์และวิธีการโอนเงินผู้ประกันตนม. 40 ไปเป็นสมาชิก กอช.
 
นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวภายหลังลงนามกับนายสมพร จิตเป็นธม เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ในบันทึกข้อตกลงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการโอนผู้ประกันตนมาตรา 40 กรณีบำนาญชราภาพ (ทางเลือก 3) และการโอนเงินบำนาญชราภาพของผู้ประกันตน ไปเป็นสมาชิก กอช. หลังจากที่มี พ.ร.ก.ตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม เพื่อยกเลิกการดำเนินการตามมาตรา 40 กรณีบำนาญชราภาพ ว่า สปส. จะโอนข้อมูล และเงินของผู้ประกันตนที่แสดงความจำนงไปเป็นสมาชิกของ กอช.ทั้งจำนวน ประกอบด้วยเงินสมทบ เงินอุดหนุนรัฐบาลที่ได้รับแล้ว รวมทั้งผลประโยชน์ตอบแทน และเงินสมทบล่วงหน้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน จากกองทุนประกันสังคมมาเป็นเงินสะสมในบัญชีรายบุคคลของสมาชิกรายนั้นให้กองทุนการออมแห่งชาติ หลังจากนี้การโอนข้อมูลจะทยอยดำเนินการเดือนละ 1 ครั้ง และจะสิ้นสุดการโอนผู้ประกันตนในวันที่ 20 เมษายน 2559 โดยผู้ประกันตนจะต้องแจ้งความจำนงต่อ สปส.ภายในวันที่ 23 มีนาคม 2559
 
เมื่อผู้ประกันตนได้แจ้งความจำนงต่อประกันสังคมแล้ว สามารถติดต่อสมัครสมาชิก กอช. ที่ธนาคารซึ่งเป็นหน่วยรับสมัครทั้ง 3 แห่ง คือ ธนาคารกรุงไทย ออมสิน และ ธ.ก.ส.ได้เลย โดยไม่ต้องรอให้การถ่ายโอนข้อมูลแล้วเสร็จ เพื่อสมาชิกจะได้มีสิทธิออมและรับเงินสมทบจากรัฐบาลโดยเร็ว เมื่อเงินของสมาชิกถูกโอนมาเข้ากองทุนเรียบร้อยแล้ว กอช.จะมีหนังสือไปแจ้งให้ทราบตามที่อยู่ที่ให้ไว้ต่อไป
 
เลขาธิการ สปป. กล่าวว่า จากยุทธศาสตร์การดำเนินงานของรัฐบาลเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม มาตรการการออมโดย กอช. คือภารกิจการดำเนินงานสำคัญที่รัฐบาลสนับสนุนให้แรงงานนอกระบบจำนวนกว่า 25 ล้านคนทั่วประเทศได้มีหลักประกันที่มั่นคงในยามชรา มีเงินบำนาญให้ใช้ไปตลอดชีวิต โดยสมาชิก กอช. สามารถออมเงินเข้ากองทุนได้ปีละไม่เกิน 13,200 บาท และรัฐบาลจะจ่ายเงินสมทบให้ในอัตราขั้นบันไดตามช่วงอายุ คือ สมาชิกอายุตั้งแต่ 15 ปี – 30 ปี อายุยังน้อยมีเวลาออมนาน รัฐจะสมทบให้ก่อนปีละ 600 บาท เมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไปจนถึงอายุ 50 ปี รัฐจะสมทบให้มากขึ้นเป็น 960 บาทต่อปี ต่อมาช่วง 10 ปีสุดท้ายของการออมคืออายุ 50 ปีขึ้นไปจนถึง 60 ปี รัฐบาลจะสมทบให้เพิ่มเป็นปีละ 1,200 บาท ซึ่ง กอช. จะนำเงินออมของสมาชิกไปหาผลประโยชน์เป็นดอกเบี้ยทบต้นไปเรื่อยๆ ยิ่งมีวินัยส่งเงินออมและมีเวลาออมนานเท่าไหร่ จำนวนเงินบำนาญต่อเดือนที่จะได้รับในอนาคตก็จะสูงมากขึ้นเท่านั้น
 
 
จี้ข้าราชการ 6 หมื่นราย เร่งคืนหนี้ 'กยศ.'
 
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการกยศ. เปิดเผยว่า ตนได้ส่งหนังสือไปยังทุกส่วนราชการ ซึ่งรวมถึง รัฐวิสาหกิจทุกแห่งเพื่อขอความร่วมมือในการตรวจสอบรายชื่อว่า มีข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดของตนเองเป็นบุคคลที่ค้างชำระหนี้เงินกู้แก่กยศ.หรือไม่ หากพบว่า มี ขอให้แจ้งบุคคลนั้นๆ เพื่อเข้ามาทำข้อตกลงในการชำระหนี้ โดยขอให้แจ้งความจำนงภายในวันที่ 15 ก.พ.นี้ จากนั้น จะมีการลงนามทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันไม่เกินปลายเดือนมี.ค.นี้ โดยกยศ.จะให้เวลาในการเริ่มชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.นี้เป็นต้นไป
 
ทั้งนี้ จากข้อมูลค้างชำระหนี้เงินกู้กยศ.จะพบว่า มีผู้ค้างชำระหนี้กยศ.จำนวนประมาณ 2 ล้านราย จากผู้กู้ทั้งหมด 4.5ล้านราย ในจำนวนผู้ค้างชำระนี้ เป็นผู้ค้างชำระที่เป็นข้าราชการทั้งหมด 6 หมื่นราย ในจำนวนนี้ประมาณ 1 พันราย เป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงการคลัง และ ในจำนวนข้าราชการสังกัดกระทรวงการคลังที่ค้างชำระหนี้ เป็นข้าราชการสังกัดกรมสรรพากรประมาณ 700 ราย
 
“ในฐานะที่ผมเป็นปลัดกระทรวงการคลังและเป็นประธานกยศ.ผมตั้งเป้าจะให้ข้าราชการในสังกัดที่ค้างหนี้กยศ.จำนวน 1 พันรายจะต้องไม่เป็นผู้ค้างหนี้ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ในแง่การดำเนินงานติดตามหนี้เงินกู้นั้น เราก็ได้ทำปูพรมไปทุกส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ และขอความร่วมมือไปยังภาคเอกชนแห่งต่างๆด้วย”
 
เขากล่าวด้วยว่า ขณะนี้ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาออกกฎหมายกองทุนเพื่อการศึกษา มีสาระสำคัญที่เกี่ยวกับการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมหนี้กยศ. โดยกำหนดให้นายจ้างหักเงินเดือนลูกจ้างที่ค้างชำระหนี้เงินกู้กยศ.เพื่อนำส่งให้กยศ.ผ่านกรมสรรพากรพร้อมกันกับการนำส่งเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย 
 
ปัจจุบันสถานการณ์การชำระหนี้ของผู้กู้ค้างชำระหนี้กยศ.ดีขึ้นตามลำดับ โดยปี 2556 ยอดชำระหนี้อยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท ปี 2557 ยอดชำระหนี้อยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท และ ปี 2558 อยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าการชำระหนี้ปี 2559 อยู่ที่ 1.9 หมื่นล้านบาท
 
สำหรับจำนวนผู้กู้เงินกยศ.มีจำนวน 4.5 ล้านราย วงเงิน 4 แสนล้านบาท มีผู้กู้ที่ถึงกำหนดชำระจำนวน 3.1  ล้านราย ในจำนวนนี้ มีผู้กู้ค้างชำระ 2 ล้านราย มูลหนี้ 5.6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ผู้กู้ค้างชำระทั่วไปจำนวน 1.2 ล้านราย มูลหนี้ 1.4 หมื่นล้านบาท , ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างไกล่เกลี่ยจำนวน 1 แสนราย มูลหนี้ 7 พันล้านบาท และ ผู้กู้ที่ถูกดำเนินคดีจำนวน 7 แสนราย มูลหนี้ 3.5 หมื่นล้านบาท
 
ส่วนแผนการปล่อยกู้ปี 2559 โดยผู้กู้เป้าหมายมีจำนวน 6.7 แสนราย แบ่งเป็น ผู้กู้รายเก่า 4.7 แสนราย รายใหม่ 2  แสนราย รวมเป็นวงเงิน 2.7 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ สำหรับผู้กู้ที่ศึกษาในระดับมัธยมปลายถึงปริญญาตรีต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยที่ 2.00 และ ต้องทำโครงการเพื่อสังคมจำนวน 36 ชั่วโมง แต่สำหรับผู้กู้ที่ศึกษาในระดับอาชีวะศึกษา ไม่ต้องมีเงื่อนไขในลักษณะดังกล่าว
 
สถานการณ์การชำระหนี้เงินกู้กยศ.ที่ดีขึ้น เป็นผลจากการดำเนินกิจกรรมเพื่อติดตามหนี้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งหนี้เป็นระยะ ติดตามหนี้ ออกมาตรการจูงใจในการชำระหนี้ และเพิ่มช่องทางการชำระหนี้ โดยในส่วนการเพิ่มช่องทางการชำระหนี้นั้น ในปี 2557 กยศ.ได้เพิ่มช่องทางการชำระผ่านไปรษณีย์ ปี 2558 ได้เพิ่มช่องทางชำระผ่านเคาวน์เตอร์เซอร์วิส 
 
เขากล่าวต่อว่า ส่วนปีนี้ มีแผนร่วมกับองค์กรนายจ้างให้หักเงินจากบัญชีเงินเดือนของลูกจ้าง เพื่อนำส่งแก่ กยศ. โดยปีนี้ จะได้นำร่องกับ 4 องค์กรนายจ้าง อาทิ ม.นเรศวร , วิทยาลัยเทคโนภาคตะวันออก เป็นต้น 
 
ขณะเดียวกัน กยศ.ยังได้ว่าจ้างบริษัทติดตามหนี้ ซึ่งก็ถือว่า ได้ผลดี โดยปี 2557 มียอดติดตามหนี้ได้ 800 ล้านบาท ปี 2558 มียอดติดตามหนี้ได้ 1.7 พันล้านบาท สำหรับปี 2559 คงจะได้มากกว่านี้ 
 
 
มรภ.ชัยภูมิ แจงไม่ได้ไล่อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ออก แต่หมดสัญญา 
 
(10 ก.พ.) ผศ.ดร.ไพรัตน์ แก้วสาร รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎ(มรภ.)ชัยภูมิ ชี้แจงกรณีอาจารย์และบุคลากร คณะรัฐศาสตร์ มรภ.ชัยภูมิ 12 คน ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ว่าถูกไล่ออกโดยไม่เป็นธรรม ว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้ไล่อาจารย์และบุคลากรดังกล่าวออก แต่เป็นการหมดสัญญาจ้าง ซึ่งเป็นการจ้างปีต่อปี และทุกคนก็ทราบเงื่อนไขนี้มาตั้งแต่ต้น ส่วนเหตุผลที่ไม่ต่อสัญญาจ้าง เนื่องจากทางคณะรัฐศาสตร์แจ้งว่าขณะนี้จำนวนนักศึกษาลดลงมาก และการไม่ต่อสัญญาก็ไม่มีผลกระทบต่อคุณภาพการเรียนการสอน เพราะบางสาขามีนักศึกษาเหลือเพียง 4 คน และกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ได้ส่งบุคลากรมาเรียนแล้ว ซึ่งส่งผลให้อาจต้องปิดการเรียนการสอนในบางสาขาด้วย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องลดจำนวนบุคลากรของคณะลง เพื่อลดค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ตนยืนยันว่าไม่ได้มีปัญหาการเมืองภายในมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด
 
ผศ.ดร.ไพรัตน์ กล่าวต่อไปว่า บุคลากรของมหาวิทยาลัยที่หมดสัญญาจ้างในปี 2558 มีจำนวน 154 คน จาก 8 คณะ และขณะนี้อยู่ระหว่างให้คณะต่างๆแจ้งความประสงค์ว่ามีความจำเป็นต้องต่อ สัญญาหรือไม่ โดยดูความจำเป็นและภาระงานของคณะเป็นหลัก อย่างไรก็ตามการที่มหาวิทยาลัยไม่ต่อสัญญาจ้างบุคลากร ก็ทำไปตามนโยบายของสภามหาวิทยาลัยที่กำหนดว่าหากคณะไหนจำนวนนักศึกษาลดลง และมีภาระค่าใช้จ่ายสูง ต้องลดค่าใช้จ่ายลง เพื่อให้มหาวิทยาลัยอยู่ได้ และหากไม่ต่อสัญญาจ้างต้องแจ้งบุคลากรล่วงหน้า เพื่อให้ได้เตรียมตัว และถ้าเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถร้องเรียนได้ ในส่วนของบุคลากรคณะรัฐศาสตร์ได้ร้องเรียนมาเช่นกัน โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภามหาวิทยาลัย
 
จำนวนนักศึกษาในภาพรวมของมหาวิทยาลัยลดลงมาก โดยปีการศึกษา 2558 ตั้งเป้าหมายรับนักศึกษา 3,400 คน แต่รับได้เพียง 1,700 คน ส่วนปีการศึกษา 2559 มีแผนรับ 2,000- 2,500 คน ซึ่งต้องเร่งประชาสัมพันธ์ไปยังโรงเรียน และให้โควตาเข้าเรียนโดยไม่ต้องสอบ นอกจากนี้งบประมาณที่ มรภ.ชัยภูมิได้รับก็ถือว่าน้อยที่สุดในประเทศ โดยปีงบฯ 2559 ขอไป 1,000 ล้านบาท แต่ได้เพียง 261 ล้านบาท จะพึ่งรายได้จากค่าหน่วยกิตของนักศึกษาก็ไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่ยากจน" ผศ.ดร.ไพรัตน์ กล่าว.
 
 
กรมการจัดหางาน เตือนคนหางานที่ประสบปัญหาภัยแล้งไม่สามารถทำการเกษตรได้ ระวังกลุ่มมิจฉาชีพหลอกไปทำงานนอกพื้นที่ อ้างงานรายได้และสวัสดิการดี 
       
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ขณะนี้หลายพื้นที่เริ่มประสบปัญหาภัยแล้งไม่สามารถทำการเกษตรในภูมิลำเนาได้ จึงมักเดินทางเข้ามาหางานทำในเมืองซึ่งมีความเสี่ยงที่จะถูกหลอกลวงจากกลุ่มมิจฉาชีพ โดยอ้างว่าสามารถหางานที่มีรายได้ดี สวัสดิการดีให้ทำได้ ทำให้หลงเชื่อจ่ายเงินค่าบริการให้กลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าว แต่สุดท้ายถูกหลอกเสียเงินฟรี หากจำเป็นต้องเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ โดยที่ยังไม่ได้ติดต่อนายจ้าง/สถานประกอบการไว้ล่วงหน้าสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัดก่อนเดินทางเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯหรือในจังหวัดที่ต้องการเดินทางไปทำงาน นอกจากนี้ ยังสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center) ตั้งอยู่ที่ อาคารตึกสายรุ้ง ด้านหน้าภายในกระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี ดินแดง กรุงเทพฯ เพื่อป้องกันมิให้ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพ
       
ทั้งนี้ กรมการจัดหางาน ขอย้ำเตือนคนหางานที่ประสบปัญหาภัยแล้งและประสงค์จะเดินทางออกนอกพื้นที่เพื่อหางานทำให้พิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบและควรติดต่อสอบถามข้อมูลตำแหน่งงานว่างกับกรมการจัดหางานก่อนตัดสินใจ โดยสอบถามข้อมูลได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1-10 ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center) หรือ สายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694
 
 
ทูตเกาหลีแจงส่งคนไทยกลับเยอะ เพราะอยู่เกินเวลา-เป็นแรงงานต่างด้าว
 
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายโน ควังอิล (H.E. Mr. Noh Kwang-il) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทยเข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี
 
โดยรองนายกรัฐมนตรี กล่าวยินดีต้อนรับเอกอัครราชทูตฯ ในโอกาสเข้ารับหน้าที่และชื่นชมการปฏิบัติหน้าที่ในการกระชับความสัมพันธ์ไทย-เกาหลีใต้ พร้อมทั้งยืนยันที่จะร่วมมือกับเอกอัครราชทูตฯ ในประเด็นต่างๆ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกันต่อไป รวมทั้งยินดีสนับสนุนการกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่างไทย-เกาหลีใต้ ในทุกมิติ
 
ส่วนการหารือประเด็นด้านการท่องเที่ยว พล.อ.ธนะศักดิ์กล่าวว่า ปีที่ผ่านมานักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยเพิ่มขึ้น อีกทั้งชาวไทยยังชื่นชอบวัฒนธรรม ละคร ภาพยนตร์ของเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตาม รองนายกรัฐมนตรีมีข้อห่วงกังวลในกรณีชาวไทยที่เดินทางไปเกาหลีใต้ แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองไม่อนุญาตให้เข้าประเทศ และส่งตัวกลับมายังประเทศไทย ด้านเอกอัครราชทูตฯกล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางไปเกาหลีใต้มีจำนวนลดลง เนื่องมาจากการระบาดของโรคเมอร์ส ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตฯเชื่อมั่นว่าสัดส่วนนักท่องเที่ยวไทยจะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง และสำหรับประเด็นปัญหาการไม่อนุญาตให้ชาวไทยเข้าประเทศนั้น ทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้จำเป็นจะต้องเข้มงวดในการตรวจสอบ เพื่อลดจำนวนนักท่องเที่ยวที่อาศัยอยู่ในเกาหลีใต้เกินระยะเวลาที่กำหนด รวมไปถึงลดจำนวนแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย ขณะเดียวกัน รองนายกรัฐมนตรีมีความเห็นว่า ทั้งสองประเทศจะต้องร่วมมือกันเพื่อจัดแก้ไขปัญหาดังกล่าว
 
พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานเอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ประจำประเทศไทย มีโครงการจัดฝึกอบรมสอนภาษาเกาหลีให้แก่ไกด์ชาวไทย เพื่อรองรับการเข้ามาของนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ที่มีจำนวนมากขึ้น อีกทั้ง ยังมีโครงการอื่นๆ ที่ได้ร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของไทย เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรียืนยันที่จะให้ความร่วมมือกับเกาหลีใต้ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ในมิติต่างๆ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นต่อไป
 
 
ขรก.สธ.ร้องเกณฑ์ ก.พ.ไม่เป็นธรรม เยียวยาเฉพาะกลุ่ม ทำเงินเดือนเหลื่อมล้ำ
 
ข้าราชการ สธ.เตรียมเคลื่อนไหว หลังเกณฑ์ ก.พ.เยียวยาเงินเดือนข้าราชการทำวุ่นอีกครั้ง เหตุยังมีบางกลุ่มไม่เข้าเกณฑ์ตามที่ ก.พ.กำหนด ทำข้าราชการที่เข้ามาทีหลังเงินเดือนแซงรุ่นที่บรรจุก่อน ทั้งไม่ได้รับสิทธิ์ประโยชน์ที่เป็นธรรม ชี้ถูกเลือกปฏิบัติให้เยียวยาเฉพาะบางกลุ่ม เผยกลุ่มที่ตกสำรวจ คือ ข้าราชการ สธ.ในกลุ่มเปลี่ยนสายงาน กลุ่มข้าราชการที่ถูกบรรจุต่ำกว่าคุณวุฒิ กลุ่มข้าราชการที่เคยเป็นลูกจ้างไม่ถึงปี ซึ่งเคยเป็นลูกจ้าง และถูกลดเงินเดือนเมื่อเข้ารับการบรรจุรับราชการ
 
นายวัชรินทร์ คำมาเร็ว นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ รพ.เชียงม่วน จ.พะเยา เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากหนังสือเวียนของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่ นร 1008.1/154 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2556 ให้สิทธิกลุ่มพนักงานราชการและลูกจ้างชั่วคราว ที่บรรจุเข้ารับราชการ ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2555 ในส่วนราชการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นต่ำของตำแหน่ง และสามารถนำอายุงาน ระยะเวลาปฏิบัติงานเป็นพนักงานราชการ และลูกจ้างชั่วคราว มาประเมินเพื่อเลื่อนระดับที่สูงขึ้น
 
จึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในด้าน อัตราเงินเดือนที่สูงกว่า และอายุงานเพื่อเลื่อนระดับ ต่อกลุ่มพนักงานราชการ และลูกจ้างชั่วคราวที่บรรจุเข้ารับราชการก่อนวันที่ 11 ธันวาคม 2555 ยกตัวอย่างเช่น
 
1.ผู้บรรจุก่อน วันที่ 11 ธันวาคม 2555 ตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข ระดับชำนาญการ อายุงาน 10 ปี คุณวุฒิปริญญาตรี ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2556 ได้รับเงินเดือน 18,400 บาท
 
2.ผู้บรรจุหลัง วันที่ 11 ธันวาคม 2555 ตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข ระดับปฏิบัติการ อายุงาน 4 ปี คุณวุฒิปริญญาตรี ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2556 ได้รับเงินเดือน 24,450 บาท
 
ด้วยเหตุนี้ที่ผ่านมา กลุ่มข้าราชการที่บรรจุก่อนวันที่ 11 ธันวาคม 2555 ที่เคยเป็นพนักงานราชการและลูกจ้างชั่วคราว จึงได้ทำหนังสืออุทธรณ์ต่อกระทรวงสาธารณสุข และได้มีหนังสือเวียน ก.พ.ที่ นร 1008.1/138 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ให้ได้รับการเยียวยา นับอายุงานเพื่อเลื่อนระดับ และหนังสือ ที่ นร 1012.2/250 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2558 โดยการเยียวยาให้ได้รับเงินเดือนดังนี้
 
1.กรณีพนักงานราชการ ให้ได้รับการปรับเงินเดือนเป็นอัตราใหม่ โดยนำอัตราเงินเดือนตามคุณวุฒิ ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1008.1/ว20 เป็นอัตราเริ่มต้น แล้วบวกกับผลรวมของจำนวนเงินที่ได้เลื่อนขณะเป็นพนักงานราชการ และผลรวมของจำนวนเงินที่ได้เลื่อนเงินเดือนขณะเป็นข้าราชการ
 
2.กรณีลูกจ้างชั่วคราว ให้ได้รับการปรับเงินเดือนเป็นอัตราใหม่ โดยนำอัตราเงินเดือนตามคุณวุฒิ ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1008.1/ว20 เป็นอัตราเริ่มต้น แล้วบวกกับจำนวนเงินจ้างที่ลดลงในวันที่รับการบรรจุเข้ารับราชการ (ส่วนต่างระหว่างอัตราจ้างสุดท้ายกับอัตราเดือนเดือนตามคุณวุฒิ ณ วันที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ) และผลรวมของจำนวนเงินที่ได้เลื่อนเงินเดือนขณะเป็นข้าราชการ
 
นายวัชรินทร์ กล่าวต่อว่า จากหลักเกณฑ์ดังกล่าว ทำให้กลุ่มคุณวุฒิต่ำกว่าปริญญาและระดับปริญญา ที่ดำรงตำแหน่งเดิม (ไม่เปลี่ยนสายงาน และทำงานต่อเนื่อง 1 ปีขึ้นไป) ได้รับการเยียวยาตามเกณฑ์ข้างต้น โดยให้ได้รับเงินเดือนใหม่ ได้สูงสุดของตำแหน่งที่ดำรงอยู่ (ขั้นต่ำระดับชำนาญการ คือ 39,690 บาท) เช่น ข้าราชการที่เคยเป็นลูกจ้าง และบรรจุใน ปี 2551 ระดับชำนาญการ เงินเดือนเดิม 19,380 บาท เมื่อได้รับการเยียวยาเงินเดือนใหม่ที่จะได้รับ 30,840 บาท ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2558 (ทำงานเป็นลูกจ้าง 2-3 ปี ได้ค่าต่างเงินเดือนอัตราจ้างสุดท้ายสูงถึง 7,000-8,000 บาท ซึ่งถ้าเป็นข้าราชการต้องทำงานไม่น้อยกว่า 8-10 ปี)
 
และเป็นผลทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเรื่องอัตราเงินเดือนเป็นครั้งที่ 2 จากหลักเกณฑ์ที่ ก.พ. กำหนดตามหนังสือที่ นร 1008.1/154 และ นร 1012.2/250 ต่อข้าราชกลุ่มอื่นที่เคยเป็นลูกจ้าง เช่น กลุ่มข้าราชการที่เปลี่ยนสายงาน (ย้ายจากแท่งทั่วไปสู่แท่งวิชาการ) ข้าราชการที่ถูกบรรจุต่ำกว่าคุณวุฒิ ข้าราชการที่เคยเป็นลูกจ้างไม่ถึงปี เนื่องจากไม่เข้ากฎเกณฑ์ตามที่ ก.พ.กำหนด และไม่ได้รับสิทธิ์ประโยชน์ที่เป็นธรรม
 
“เท่ากับว่าได้ถูกเลือกปฏิบัติให้เยียวยาเฉพาะบางกลุ่ม อีกทั้งเกณฑ์เยียวยาจากหนังสือ ที่ นร 1008.1/154 และ นร 1012.2/250 ยังสร้างความเหลื่อมล้ำเงินเดือนข้าราชการ เงินเดือนแซงข้าราชการรุ่นพี่ เช่น กลุ่มข้าราชการที่เคยเป็นพนักงานของรัฐ โดยไม่คำนึงถึงความอาวุธโสของการรับราชการ ซึ่งเกณฑ์เยียวยาเงินเดือนที่ออกมา ควรมีความสมดุล ไม่เหลื่อมล้ำข้าราชการรุ่นพี่ แต่กลับทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำเงินเดือนของข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้น” นายวัชรินทร์ กล่าว
 
ทั้งนี้ตัวแทนกลุ่มข้าราชการกลุ่มเปลี่ยนสายงาน ที่เคยเป็นลูกจ้างและพนักงานราชการ และบรรจุก่อนวันที่ 11 ธันวาคม 2555 ได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์ไปยังไปยังกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 และเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559 เพื่อรวบรวมหนังสือส่ง สำนักงาน ก.พ. ต่อไป เพื่อพิจารณาถึงหลักเกณฑ์ที่สร้างความเหลื่อมล้ำนี้
 
นายวัชรินทร์ กล่าวว่า ในเรื่องนี้ ก.พ.ควรเยียวยาให้ครอบคลุมทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ จากหนังสือ นร 1008.1/154 ให้เป็นธรรม เช่น กลุ่มข้าราชการกลุ่มเปลี่ยนสายงาน กลุ่มข้าราชการที่ถูกบรรจุต่ำกว่าคุณวุฒิ กลุ่มข้าราชการที่เคยเป็นลูกจ้างไม่ถึงปี ซึ่งเคยเป็นลูกจ้าง และถูกลดเงินเดือนเมื่อเข้ารับการบรรจุรับราชการเช่นกัน
 
“ดังนั้นขอให้ข้าราชการผู้เปลี่ยนสายงาน หรือข้าราชการกลุ่มอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบ ยื่นหนังสืออุทธรณ์ผ่านทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่ตนเองสังกัด และทางกลุ่มจะเตรียมเข้าหารือผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำระบบเงินเดือนข้าราชการในครั้งนี้ ให้เกิดความยุติธรรม เสมอภาค และเท่าเทียมกันทั้งระบบต่อไป” นายวัชรินทร์ กล่าว  
 
 
กต. แจง กรณีแรงงานไทยถูกจับในเกาหลีใต้ คดียาเสพติด ดำเนินการช่วยเหลือเต็มที่
 
นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ตามที่ปรากฏในรายงานข่าวว่ามีคนไทยคนถูกจับข้อหายาเสพติดที่เมืองแดกู สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) นั้น สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ได้ตรวจสอบกับทางการสาธารณรัฐเกาหลีแล้ว โดยได้รับแจ้งว่า เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 มีคนไทย 1 คน ถูกจับในข้อหายาเสพติด และจะถูกนำตัวไปขึ้นศาลในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ นี้ เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี ทั้งนี้ คนไทยดังกล่าวเป็นแรงงานไทยที่เข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมายในสาธารณรัฐเกาหลี สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ได้ประสานงานกับสำนักงานแรงงาน ประจำกรุงโซล และทางการสาธารณรัฐเกาหลีอย่างใกล้ชิด เพื่อติดตามความคืบหน้าของคดี ตลอดจนอำนวยความสะดวกในกระบวนการพิจารณาคดี ตลอดจนยังได้ประสานงานกับญาติของคนไทยดังกล่าวแล้ว
 
 
กรมจัดหางานเผยทิศทางตลาดแรงงานปี 2559 มีความต้องการแรงงานจำนวน 38.29 ล้านคน
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน  เปิดเผยว่า จากทิศทางการเปลี่ยนแปลงของอาชีพในปี 2558-2562 นั้นพบว่า ความต้องการแรงงานในปี 2559 มีจำนวน 38.29 ล้านคน โดยในภาคอุตสาหกรรม ที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด คือ การขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์และของใช้ เฉลี่ยเพิ่มขึ้น ปีละ 196,502 คน คิดเป็นร้อยละ 3.08 รองลงมาคือ กิจกรรมเกี่ยวอสังหาริมทรัพย์ วิทยาศาสตร์ วิชาการ ศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 62,542 คน คิดเป็นร้อยละ 3.12 การศึกษา เฉลี่ยเพิ่มขึ้น ปีละ 43,036 คน คิดเป็นร้อยละ 3.46 ตามมาด้วย การก่อสร้าง เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 41,877 คน คิดเป็นร้อยละ 1.81 ที่พักแรมและบริการ ด้านอาหาร เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 36,440 คน คิดเป็นร้อยละ 1.40 กิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 27,628 คน คิดเป็นร้อยละ 3.89 ซึ่ง เมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่ากลุ่มอาชีพด้านการขาย การบริการต่างๆ และการซ่อมแซมยานยนต์ มีแนวโน้มขยายตัวค่อนข้างมาก เป็นผลดีต่อภาคการท่องเที่ยว การส่งออก และการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
 
นายอารักษ์ กล่าวต่อว่า กรมการจัดหางาน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในด้านส่งเสริมให้ คนไทยทุกคนมีงานทำ จึงขอแนะนำให้นักเรียน นักศึกษาที่อยู่ในช่วงกำลังเลือกศึกษาต่อเลือกเรียนในสายที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานเพื่อป้องกันการว่างงานที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
 
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net