เนสท์เล่ยอมรับมีการใช้แรงงานทาสในไทย ขณะยังต่อสู่คดีใช้แรงงานเด็กในไอวอรี่โคสต์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ไม่ว่าคุณจะทำงานในบริษัทใด ก็คงไม่อยากให้บริษัทเข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้าแรงงานทาสสมัยใหม่ แต่เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เนสท์เล่ บริษัทผู้ผลิตอาหารขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และแบรนด์สินค้าอุปโภคที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดแบรนด์หนึ่ง ได้เสนอข่าวต่อสาธารณชนว่า บริษัทพบการใช้แรงงานทาสในห่วงโซ่อุปทานในประเทศไทย โดยลูกค้าของเนสท์เล่ได้ซื้อผลิตภัณฑ์เปื้อนเหงื่อและเลือดของแรงงานต่างด้าวผู้ยากไร้ ไม่ได้รับค่าตอบแทน และถูกกดขี่

ผลจากการเปิดเผยว่าลูกค้าของเนสท์เล่ซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนสนับสนุนแรงงานทาสโดยไม่ตั้งใจ บริษัทได้กล่าวว่าถึงเวลาที่จะเดินทางเข้าสู่ยุคใหม่ คือการกำหนดนโยบายในห่วงโซ่อุปทานด้วยตนเอง การสืบสวนที่ใช้เวลานับปีของบริษัทยืนยันเช่นเดียวกับรายงานจากสื่อที่ว่า อุตสาหกรรมอาหารทะเลในประเทศไทยมีการใช้แรงงานทาสและขบวนการค้ามนุษย์ โดยการใช้แรงงานทาสดังกล่าวอยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตแบรนด์อาหารแมว Fancy Feast

เนสท์เล่ยังต้องการความมั่นใจและความชัดเจนว่าไม่มีบริษัทอื่นที่ซื้อสินค้าทะเลจากประเทศไทย ประเทศผู้ส่งออกอาหารทะเลมากที่สุดเป็นอันดับสามของโลก เพื่อให้บริษัทเหล่านั้นสามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเดียวกับที่เนสท์เล่เผชิญ

“อย่างที่เรากล่าวอยู่เสมอ จะต้องไม่มีการใช้แรงงานบังคับและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทานของเรา” แมกดี บาตาโต (Magdi Batato) รองประธานบริการด้านการดำเนินการ บริษัทเนสท์เล่ เขียนในคำแถลงการณ์ “เนสท์เล่เชื่อว่าเราสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกได้จากการทำงานร่วมกับคู่ค้าในการจัดหาวัตถุดิบ”

การเปิดเผยดังกล่าวนับเป็นเรื่องที่สั่นสะเทือนวงการธุรกิจ นิค โกรโน (Nick Grono) ผู้บริหารองค์กรภาคเอกชน Freedom Fund ที่ลงทุนจำนวนมากในโครงการเพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ในประเทศไทย เชื่อว่าการยอมรับของเนส์เล่จะเป็นแรงผลักดันสำคัญและสร้างมาตรฐานที่ควรคาดหวังต่อบริษัทในประเด็นความรับผิดชอบในห่วงโซ่อุปทานของตนเอง

“การตัดสินใจของเนสท์เล่ที่ดำเนินการสืบสวนในประเด็นดังกล่าวนับว่าเป็นเรื่องน่าชื่นชม” นิคกล่าว “หากมีแบรนด์ขนาดยักษ์บนโลกก้าวออกมายอมรับว่ามีการใช้แรงงานทาสในการดำเนินงานของบริษัท ก็ย่อมสร้างความเป็นไปได้ที่จะพลิกกระดานและอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงในการบริหารห่วงโซ่อุปทาน”

งานวิจัยที่เนสท์เล่ใช้ประกอบการรายงานดำเนินการโดยบริษัทอเมริกัน Verite’ ซึ่งทำงานอย่างใกล้ชิดกับหลายองค์กรที่พยายามพัฒนาความโปร่งใส่ในห่วงโซ่อุปทานของพวกเขา

เมื่อปีที่ผ่านมา Verité ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเปิดเผยข้อมูลโดยสมัครของของแบรนด์เสื้อผ้าพาทาโกเนีย (Patagonia) ซึ่งระบุว่าห่วงโซ่อุปทานในไต้หวันหลายแห่งมีการใช้แรงงานบังคับ และวิธีการจ้างงานที่ขาดจริยธรรม

แดน วีเดอร์แมน (Dan Viederman) ผู้บริหาร Verité กล่าวว่า “ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา Verité ได้มีส่วนร่วมในการเปิดเผยข้อมูลของสองแบรนด์ยักษ์ใหญ่ และบทเรียนสำคัญที่เราได้รับคือ ไม่มีแบรนด์ใดที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสภาพการใช้แรงงาน แต่กลับได้รับความชื่นชมจากความกล้าหาญที่จะยอมรับและเปิดเผยข้อเท็จจริง”

“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า นี่จะเป็นตัวอย่างที่ช่วยขับเคลื่อนบริษัทให้กล้าหาญขึ้น และสืบค้นข้อมูลลึกขึ้น เพราะในอนาคตอันใกล้ ความเสียหายจากชื่อเสียงจากการเพิกเฉยต่อปัญหาจะเพิ่มมากขึ้น”

สำหรับวีเดอร์แมน ประเด็นสำคัญที่สุดคือการหาทางที่จะจัดการให้การเปิดเผยข้อมูลนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมต่อกลุ่มผู้ใช้แรงงานซึ่งมีความเปราะบางและติดกับดักอยู่ใต้ฐานห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าระดับโลก

ทำความสะอาดห่วงโซ่อุปทาน

ทุกวันนี้ ความสำคัญทางกฎหมายเริ่มเพิ่มขึ้นในประเด็นการละเมิดสิทธิแรงงานในการดำเนินงานของบรรษัทข้ามชาติ กฎหมายในประเทศทั้งสหรัฐอเมริกาและอังกฤษระบุให้บริษัทต้องเผยแพร่รายงานประจำปีในประเด็นเรื่องความพยายามในการทำให้ธุรกิจของพวกเขาปราศจากแรงงานทาส

แม้ว่ากฎหมาย “ความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทาน มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ค.ศ. 2010 (California Transparency in Supply Chain Act 2010)” จะยังไม่ประสบความสำเร็จอย่างชัดเจนนัก แต่กฎหมายดังกล่าวก็นับว่าเป็นก้าวแรกการฟ้องร้องคดีอาญาจำนวนมาก โดยกลุ่มผู้บริโภคและแรงงานใช้กฎหมายดังกล่าวเพื่อดำเนินการต่อบริษัทมีแถลงการณ์ในประเด็นการต่อต้านการค้าแรงงานทาสที่นำไปสู่ความเข้าใจผิด

เนสท์เล่คือหนึ่งในบริษัทที่โดนฟ้องร้องในสหรัฐอเมริกา และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เนสท์เล่ไม่สามารถเรียกร้องให้ศาลสูงสุดยกฟ้องในกรณีความเกี่ยวข้องกันระหว่างบริษัทและการใช้แรงงานเด็กในไร่โกโก้ในไอวอรี่โคสต์

กรณีดังกล่าวทำให้บริษัทตกอยู่ในสถานภาพไม่สู้ดีนัก เนื่องจากมีการเปิดเผยว่าพบการใช้แรงงานทาสในธุรกิจส่วนหนึ่ง ในขณะที่กำลังต่อสู้ในชั้นศาลเพื่อปัดป้องคำกล่าวหาว่ามีการใช้แรงงานทาสในอีกธุรกิจหนึ่งซึ่งมีสัดส่วนกำไรมากกว่า

แอนดรูว์ วอลลิส (Andew Wallis) ผู้บริหารองค์กร Unseen UK องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ต่อต้านการค้ามนุษย์และเรียกร้องให้มีความรับผิดชอบในห่วงโซ่อุปทานกล่าวว่า “สำหรับผม นับว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่บางส่วนของเนสท์เล่บอกว่า ‘โอเค เราถูกลากเข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้าแรงงานทาสในประเทศไทย เรามาเริ่มโครงการเพื่อแก้ปัญหากันเถอะ’ แต่ในเวลาเดียวกันก็ต่อสู้อย่างเต็มกำลังในชั้นศาลเพื่อปฏิเสธการฟ้องร้องให้รับผิดชอบต่อการใช้แรงงานเด็กในไอวอรี่โคสต์ในธุรกิจหลักของตน”

เขากล่าวว่า รายงานของเนสท์เล่อาจเป็นหนึ่งในเทคนิคที่จะป้องกันอีกหลายคดีอาญาที่ยังคงค้างคาอยู่

“มันเป็นเรื่องง่ายที่จะยอมรับผิดในเรื่องที่ถูกเปิดเผยอยู่แล้ว” เขากล่าว “ก่อนที่เนสท์เล่จะมาเปิดเผยว่ามีการใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมงไทย ประเด็นดังกล่าวก็มีได้รับการยอมรับแล้วในระดับสาธารณะ เราจะเข้าสู่โลกใหม่ที่แท้จริงก็ต่อเมื่อบริษัทได้ทำการสืบสวนอย่างแท้จริงในห่วงโซ่อุปทานของตน และเปิดเผยปัญหาที่อยู่นอกเหนือความสนใจของสาธารณชน”

“เราต้องเดินไปยังจุดที่เราสามารถพูดได้ว่า ‘เราทั้งหมดล้วนกระทำความผิด แต่เราต้องก้าวผ่านจุดนี้ไปสู่การแก้ปัญหาอย่างถูกวิธี’ ซึ่งผมมองว่าปัจจุบันเรายังไม่ถึงขั้นนั้น”
 

หมายเหตุ:  แปลจาก  Nestlé admits slavery in Thailand while fighting child labour lawsuit in Ivory Coast โดย Annie Kelly

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท