61 อดีต สปช. ร่อน 9 ข้อเสนอแก้ร่างรัฐธรรมนูญให้ กรธ.

15 ก.พ. 2559 อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จำนวน 61 คน (ดูรายชื่อด้านล่าง) ทำหนังสือถึงประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เรื่อง ข้อเสนอแนะแก้ไขและปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. (ฉบับร่างเบื้องต้น) ลงชื่อ นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ ตัวแทนอดีต สปช. โดยมีข้อเสนอแนะในประเด็นต่างๆ 9 ประเด็น พร้อมระบุว่า ตระหนักดีว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีด้านดีอยู่ไม่น้อย และการร่างรัฐธรรมนูญไม่อาจทำให้ถูกใจทุกฝ่ายได้ แต่ก็หวังว่าข้อเสนอเหล่านี้จะช่วยอุดจุดอ่อนและช่วยให้ร่างรัฐธรรมนูญมีความสมบูรณ์มากขึ้นก่อนที่จะนำไปเสนอสู่กระบวนการลงประชามติของประชาชน

รายละเอียดหนังสือมีดังนี้

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559

เรื่อง ข้อเสนอแนะแก้ไขและปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. (ฉบับร่างเบื้องต้น)
กราบเรียน ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
สิ่งที่ส่งมาด้วย ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างรัฐธรรมนูญฯ

ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช... (ร่างเบื้องต้น) เสร็จเรียบร้อยและเปิดรับฟังความคิดเห็นโดยทั่วไปนั้น ทางอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติดังรายชื่อแนบท้ายซึ่งสนใจและติดตามศึกษาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีข้อคิดเห็นและร่วมจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อเป็นประโยชน์กับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและประเทศชาติโดยรวม จึงใคร่ขอเสนอข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะมาเพื่อการปรับปรุงให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดังนี้

1. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มุ่งเน้นเพิ่มอำนาจรัฐ ให้รัฐเป็นใหญ่ เป็นผู้ดูแลประชาชนในทุกมิติ ดังปรากฏในหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ประชาชนมีหน้าที่ร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินการของรัฐ ซึ่งจะมีผลเป็นการลดทอนอำนาจ การมีส่วนร่วม และความกระตือรือร้นของประชาชน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ขณะเดียวกับที่ร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มอำนาจและบทบาทให้กับรัฐ เป็นที่น่ากังวลอย่างยิ่งที่มาตรา 60 ในหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ กลับไประบุว่าบทบัญญัติในหมวดนี้ไม่ก่อให้เกิดสิทธิในการฟ้องร้องรัฐ (รายละเอียดตามเอกสารแนบ ข้อ 1)

2.  ร่างรัฐธรรมนูญไม่ปรากฏมาตราใดที่บัญญัติว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง” ซึ่งเคยปรากฏในรัฐธรรมนูญของไทยตลอดมา อันเป็นอุดมการณ์ของรัฐและหลักการที่สำคัญยิ่ง ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้และการตีความสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากองค์กรตุลาการหากขาดฐานของหลักการดังกล่าว (เอกสารแนบ ข้อ 2)

3. สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยถูกทำให้ถดถอยลงไปมาก ไม่ว่าจะเป็นสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน (เอกสารแนบ ข้อ 9) สิทธิผู้บริโภค (เอกสารแนบ ข้อ 7) สิทธิสวัสดิการพื้นฐานของมนุษย์ หรือสิทธิชุมชน (เอกสารแนบ ข้อ 3) ทั้งนี้ การที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญระบุว่า สิ่งใดที่ไม่ได้ห้ามหรือจำกัดไว้ ถือเป็นสิทธิเสรีภาพตามธรรมชาติ ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพเต็มร้อย ประเด็นนี้จะนำมาสู่การถกเถียงกันในทางวิชาการอย่างมาก และจะเป็นประเด็นปัญหาซึ่งถึงที่สุดจะไม่เป็นไปตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวอ้าง นอกจากนั้น ข้อบัญญัติเกี่ยวกับข้อจำกัดในการใช้สิทธิเสรีภาพตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะนำไปสู่ปัญหาการใช้สิทธิและเสรีภาพโดยรวมทั้งหมด (เอกสารแนบ ข้อ 2)

4. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังลดทอนความเข้มข้นในการปกป้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสุขภาวะของประชาชน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ อาทิ ตัดข้อกำหนดเรื่อง “การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ” และ “องค์กรอิสระสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ” ออกไป ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการสร้างกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะที่มีธรรมาภิบาล และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพ และชุมชน (เอกสารแนบ ข้อ 3)

5. การย้ายเรื่องคลื่นความถี่ฯ จากหมวดสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยไปอยู่หมวดหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าจะด้วยเจตนาใด อาจส่งผลให้คลื่นความถี่ฯกลับไปเป็นของรัฐ แทนที่จะเป็นทรัพยากรของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ และส่งผลกระทบต่อความเป็นอิสระขององค์กรกำกับดูแลฯ (เอกสารแนบ ข้อ 9) ขณะเดียวกันการขาดหายไปของมาตราที่เกี่ยวกับโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคพื้นฐานของรัฐ (มาตรา 84 วงเล็บ 11 รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550) ก็น่าเป็นห่วงว่าจะเป็นการเปิดทางให้กับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ (เอกสารแนบ ข้อ 6)

6. เรื่องการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น ร่างรัฐธรรมนูญได้บัญญัติหลักการพื้นฐานการปกครองท้องถิ่นเอาไว้ แต่ยังขาดสาระสำคัญอันเป็นหัวใจในการวางหลักการเพื่อพัฒนาการปกครองท้องถิ่นไทย อาทิ ไม่กล่าวถึงการกระจายอำนาจเอาไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ การเติมเต็มกลไกการปกครองท้องถิ่นทั้งระดับชาติ ระดับจังหวัด และระดับต่ำกว่าจังหวัด ให้มีความเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ (เอกสารแนบ ข้อ 5)

7. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ความสำคัญกับการบริหารกิจการที่ดีและหลักธรรมาภิบาล พอสมควร อย่างไรก็ตามเพื่อให้มั่นใจว่า หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีจะสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ควรที่จะได้พิจารณาย้ายสาระสำคัญของมาตรา 72 ที่ว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดินและงานของรัฐอื่น ๆ จากหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ ไปอยู่ที่หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ เพราะจะมีสภาพบังคับและความหนักแน่นมากกว่า (เอกสารแนบ ข้อ 4)

8. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มุ่งขจัดปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ตั้งฉายาว่าเป็นฉบับปราบโกง อย่างไรก็ตามเพื่อให้มาตรการและกลไกในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เห็นควรเพิ่มเรื่องการแสดงสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ย้อนหลังเป็นเวลา 3 ปีของผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองและองค์กรอิสระเข้าไปด้วย ที่สำคัญจะต้องให้ความสำคัญกับบทบาทของประชาชนในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมถึงการสร้างสังคมที่โปร่งใส (เอกสารแนบ ข้อ 8)

9. สำหรับเรื่องวัฒนธรรม ขอให้เพิ่มเข้าไปในหมวดหน้าที่ของรัฐด้วย นอกเหนือจากที่ปรากฏในหมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย (เอกสารแนบ ข้อ 10)

อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติตามรายชื่อแนบท้ายนี้ตระหนักดีว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีด้านดีอยู่ไม่น้อย และการร่างรัฐธรรมนูญไม่อาจทำให้ถูกใจทุกฝ่ายได้ อย่างไรก็ตามหวังว่าข้อเสนอเหล่านี้จะช่วยอุดจุดอ่อนของร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นี้ ช่วยให้ร่างรัฐธรรมนูญมีความสมบูรณ์มากขึ้นก่อนที่จะนำไปเสนอสู่กระบวนการลง ประชามติของประชาชน

ขอแสดงความนับถือ
นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์
ตัวแทนอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ

รายนามผู้ลงชื่อท้ายจดหมาย
1. นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์
2. นายอุดม ทุมโฆษิต
3. นางสีลาภรณ์ บัวสาย
4. นางถวิลวดี บุรีกุล
5. นายวสันต์ ภัยหลีกลี้
6. นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์
7. นายธรรมรักษ์ การพิศิษฎ์
8. นายสิระ เจนจาคะ
9. นางสาวสารี อ๋องสมหวัง
10. นายประชา เตรัตน์
11. นายเขมทัต สุคนธสิงห์
12. นายจุมพล รอดคำดี
13. นางเบญจวรรณ สร่างนิทร
14. นางสาวรสนา โตสิตระกูล
15. นายบุญเลิศ คชายุทธเดช
16. นางอุบล หลิมสกุล
17. นางสาวอรพินท์ สพโชคชัย
18. นายประสาร มฤคพิทักษ์
19. นางสาวสุภัทรา นาคะผิว
20. นายสุธรรม ลิ้มสุวรรณเกษม
21. นายสุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ
22. นายเดชฤทธิ์ ปัญจะมูล
23. นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
24. นายฐิติ วุฑฒิโกวิทย์
25. นายทนงศักดิ์ ทวีทอง
26. นายอำพล จินดาวัฒนะ
27. นางสาวอ่อนอุษา ลำเลียงพล
28. นายชูชัย ศุภวงศ์                                  
29. นายพงศ์โพยม วาศภูติ                            
30. นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์                       
31. นายศักดา ศรีวิริยะไพบูลย์
32. นายจิรวัฒน์ เวียงด้าน
33. นายชูชาติ อินสว่าง
34. นางสุกัญญา สุดบรรทัด
35. นายสุชาติ นวกวงษ์
36. นายธวัช สุวุฒิกุล
37. นายสืบพงศ์ ธรรมชาติ
38. นายโกวิทย์ ทรงคุณ
39. นายเทียนชัย ปิ่นวิเศษ
40. นายปรีชา เถาทอง
41. นายทรงชัย วงศ์สวัสดิ์
42. นายนิคม มากรุ่งแจ้ง
43. นายสายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์
44. นายชิตชัย จิวะตุวินันท์
45. นายวิทยา กุลสมบูรณ์
46. นายอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์
47. นายณรงค์ พุทธิชีวิน
48. นายสุพร สุวรรณโชติ
49. นายโกวิท ศรีไพโรจน์
50. นายจรัส สุทธิกุลบุตร
51. นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ
52. นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา
53. นายเชื้อ ฮั่นจินดา
54. นายนำชัย กฤษณาสกุล
55. นางกัญญ์ฐญาณ์  ภู่สวาสดิ์
56. นางสาวทัศนา บุญทอง
57. นายนิมิต สิทธิไตรย์                               
58. นายเฉลิมศักดิ์ อบสุวรรณ                                                           
59. นายสังศิต พิริยะรังสรรค์                          
60. นางผาณิต นิติทัณฑ์ปนะ
61. นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์

 

สิ่งที่ส่งมาด้วย

ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างรัฐธรรมนูญ
โดยอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และได้เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นต่อร่างเบื้องต้น  อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จำนวนหนึ่งจึงได้ร่วมกันจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะที่น่าจะเป็นประโยชน์ในการทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความสมบูรณ์ เป็นกลไกในการปฏิรูปประเทศและนำประเทศไทยกลับสู่สังคมที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเกิดสันติสุขสืบไป

ทั้งนี้ความเห็นและข้อเสนอเพื่อการพิจารณาของกรธ. มีดังนี้

1. การลดทอนพลังอำนาจประชาชน และเพิ่มอำนาจรัฐ

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่ได้สะท้อนพื้นฐานแนวคิดประชาธิปไตยที่ให้อำนาจแก่ประชาชน พื้นฐานแนวคิดไม่ได้มุ่งให้ประชาชนสามารถรวมกันได้อย่างมีพลังที่จะมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการของบ้านเมือง ไม่ว่าในระดับท้องถิ่นหรือประเทศ ในทางตรงกันข้าม กลับเน้นให้รัฐเป็นใหญ่ เป็นผู้ดูแลประชาชนในทุกเรื่องทุกมิติ ดังปรากฏในหมวดที่ 5 หน้าที่ของรัฐ แม้จะด้วยเจตนาดีในการบังคับรัฐให้ทำเพื่อประชาชน แต่กลับส่งผลเป็นการลดทอนพื้นที่ของประชาชนที่จะแสดงออกถึงอำนาจและการเป็นพลเมืองที่กระตือรือร้น (active citizen) ประชาชนเพียงมีหน้าที่ร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐเท่านั้น

การแสดงออกถึงอำนาจของประชาชนต้องการพื้นที่ ช่องทางและสถานะที่ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการรวมกลุ่มของประชาชนเพื่อให้มีอำนาจในการต่อรองผลักดันเรื่องที่ประชาชนเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้บัญญัติเรื่องของการรวมกลุ่มไว้เพียงแค่รับรองเสรีภาพในการรวมกลุ่ม (ในมาตรา 42) แต่นอกเหนือจากนั้นแทบไม่ได้ให้สถานะ ช่องทางหรือโอกาสใดๆในการนำความเป็นชุมชน สหกรณ์ สมาคม สหภาพ หรือรูปแบบการรวมกลุ่มอื่นไปมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศหรือท้องถิ่นเลย รัฐธรรมนูญได้มอบบทบาทภารกิจทั้งหมดที่กระทบถึงประชาชนเหล่านี้ให้กับรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น

เป็นที่ทราบทั่วไปและยืนยันในทางวิชาการว่าความเข้มแข็งของชุมชนเป็นรากฐานของประชาธิปไตย ลำพังปัจเจกชนจะมีพลังในการต่อสู้ต่อรองต่ำ เพราะในฐานะปัจเจกบุคคลประชาชนจะมีสิทธิตรวจสอบผู้กำหนดนโยบายของรัฐคือนักการเมืองได้เพียงวิธีเดียว คือ การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่หากมีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง ประชาชนจะสามารถตรวจสอบนักการเมืองได้อย่างมีพลังมากกว่า ผ่านการเรียกร้องทางตรงเพื่อปกป้องสิทธิหรือเสนอทิศทางนโยบายที่สอดคล้องกับเงื่อนไขปัญหาของชุมชน รวมทั้งมีอันตรายน้อยกว่าต่อความปลอดภัยของแต่ละบุคคล รวมถึงการรวมกลุ่มยังจะทำให้ประชาชนสามารถจัดการตนเองได้มากขึ้น ซึ่งย่อมหมายถึงการเป็นภาระต่อรัฐน้อยลงด้วย

ในขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญนี้เพิ่มพื้นที่ของอำนาจและบทบาทให้ภาครัฐ สิ่งที่น่ากังวลมาก คือ การระบุในมาตรา 60 ว่าการดำเนินงานของรัฐตามแนวนโยบายแห่งรัฐนั้น "ไม่ก่อให้เกิดสิทธิในการฟ้องร้องรัฐ" ซึ่งย่อมหมายถึงว่าหากรัฐไม่ทำประชาชนก็ไม่มีสิทธิฟ้องร้องรัฐ ยิ่งไปกว่านั้น การที่ประชาชนจะมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์และฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐได้ในเรื่องใดบ้างกลับไม่มีการระบุถึงสิทธิดังกล่าวไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ประเด็นนี้เป็นสาระสำคัญของการรับรองสิทธิของประชาชนและชุมชนที่ต้องระบุให้ชัดเจน มิใช่ปล่อยให้ "เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ” (มาตรา 41)

โดยสรุป เมื่อเชื่อมโยงประเด็นดังกล่าวข้างต้นเข้าด้วยกัน จะมองเห็นการออกแบบระบอบการปกครองที่รัฐเป็นใหญ่ ประชาชนมีสิทธิและบทบาทที่จำกัดในการดูแลจัดการตนเองท้องถิ่นและประเทศได้น้อยลง ส่วนใหญ่ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐ แต่หากรัฐไม่ทำ ประชาชนก็ไม่มีสิทธิฟ้องร้อง ระบอบการปกครองเช่นนี้ย่อมไม่อาจกล่าวได้เลยว่าเป็นการให้อำนาจประชาชนเป็นใหญ่ ตามความหมายของคำว่า "ประชาธิปไตย"

2. สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย

จากการศึกษาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช .... (ร่างเบื้องต้น) ฉบับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (ซึ่งในที่นี้จะเรียกว่า “ร่างรัฐธรรมนูญ 59”)เฉพาะหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย โดยการพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญนั้นอาจพิจารณาได้จาก 3 ส่วน กล่าวคือ  ส่วนที่ 1 บททั่วไป  ส่วนที่ 2 หมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย และ ส่วนที่ 3 สิทธิและเสรีภาพที่อยู่ในส่วนอื่นของรัฐธรรมนูญ  ซึ่งในที่นี้จะพิจารณาเฉพาะในส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 เท่านั้น โดยมีข้อสังเกตดังนี้

1. “หมวด 1 บททั่วไป” ของร่างรัฐธรรมนูญ 59 ไม่ปรากฏความของมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญ 50 ที่บัญญัติว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง” ความมุ่งหมายของมาตราดังกล่าวซึ่งอยู่ในบททั่วไปอย่างน้อยมีความมุ่งหมาย 2 ประการ คือ ประการที่หนึ่ง เป็นเสมือนการประกาศอุดมการณ์ของรัฐในการที่จะคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคล  ประการที่สอง ประกาศอุดมการณ์ของรัฐดังกล่าวอาจมีผลต่อการคุ้มครองบุคคลที่ไม่อยู่ในขอบเขตของบุคคลตาม หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย เพราะมักมีการตีความว่า “บุคคล” ในหมวด 3 หมายเฉพาะ “คนไทย” เท่านั้น

2. หมวด 3 “สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย” โดยทั่วไปแล้วสาระสำคัญในหมวดนี้ของรัฐธรรมนูญ 40 ก็ดี 50 ก็ดี จะมีสาระสำคัญอยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่งว่าด้วย “หลักประกันในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน”  ส่วนที่สองว่าด้วย “สิทธิและเสรีภาพ” ซึ่งในที่นี้มีข้อสังเกต ดังนี้

2.1 “หลักประกันในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน” ในหมวดสิทธิและเสรีภาพส่วนนี้เป็นส่วนที่มีความสำคัญที่สุดของการบัญญัติสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เพราะเป็นส่วนที่เป็นหลักประกันจะทำให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนบรรลุความมุ่งหมาย ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2540 ได้บัญญัติหลักในเรื่องดังกล่าวเป็นครั้งแรกของรัฐธรรมนูญไทย และต่อมารัฐธรรมนูญ 50 ได้ยืนยันและยังได้ปรับปรุงหลักดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น “หลักประกันในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน” มีหลักการสำคัญ 3 หลัก คือ (1) “หลักความผูกพันโดยตรงของสิทธิและเสรีภาพ”  (2) “หลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพโดยองค์กรตุลาการ” และ (3) “หลักประกันในการตรากฎหมายจำกัดสิทธิ”   จาการศึกษาร่างรัฐธรรมนูญ 59 ไม่ปรากฏ “หลักความผูกพันโดยตรงของสิทธิและเสรีภาพ”  และ “หลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพโดยองค์กรตุลาการ” ในขณะที่ “หลักประกันในการตรากฎหมายจำกัดสิทธิ” ซึ่งประกอบด้วยหลักย่อยอีก 5 หลักนั้น ปรากฏว่าบัญญัติไม่ครบทั้ง 5 หลัก ซึ่งขาด “หลักการจำกัดสิทธิและเสรีภาพจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพมิได้” และ “หลักการระบุบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายจำกัดสิทธิ”

กล่าวโดยสรุป ร่างรัฐธรรมนูญ 59 หมวดสิทธิและเสรีภาพมิได้บัญญัติหลักการที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้หลักประกันในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนบรรลุความมุ่งหมาย ซึ่งหลักที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นศาลได้เคยมีคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาที่ยืนยันหลักดังกล่าวไว้เกือบทุกกรณี  การที่ไม่บัญญัติหลักดังกล่าวย่อมส่งผลต่อการใช้และการตีความสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากองค์กรตุลาการที่ขาดฐานของหลักดังกล่าวที่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญของไทยมาโดยตลอด

2.2 การบัญญัติข้อจำกัดการใช้สิทธิและเสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญ 40 และ 50 ได้บัญญัติข้อจำกัดของการใช้สิทธิและเสรีภาพไว้ 3 ประการเหมือนกัน คือ (1) ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ (2) ไม่กระทบสิทธิของบุคคลอื่น และ (3) ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งเป็นหลักสากลทั่วไป  แต่ในขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญ 59 ฉบับนี้ได้ปรับปรุงแนวการเขียนใหม่เป็น

“...บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะกระทำการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิและเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น”

หลักการเดิม คือ “การใช้สิทธิเสรีภาพต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ” ในขณะที่หลักการใหม่การใช้สิทธิเสรีภาพต้อง “ไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ” ปัญหาคือแค่ไหนเพียงใดที่เป็นการ “กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ” ซึ่งท้ายที่สุดจะนำไปสู่ปัญหาการใช้สิทธิและเสรีภาพโดยรวมทั้งหมด

2.3 “สิทธิและเสรีภาพ” ในแต่ละเรื่อง ร่างรัฐธรรมนูญ 59 มีความพยายามที่จะเขียนให้สั้น จึงมีการปรับการเขียนให้กระชับ หรือมิเช่นนั้นนำไปบัญญัติไว้ใน “หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ” ซึ่งเป็นการปรับหลักการในเรื่องการเขียนในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งในส่วนนี้มีประเด็นสำคัญ คือ การมิได้บัญญัติหลักการที่สำคัญเกี่ยวกับสิทธิอย่างน้อย 2ประการ คือ “หลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” และ “สิทธิชุมชน” โดยมีข้อสังเกต ดังนี้

ก. “หลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ถือว่าเป็นรากฐานของสิทธิและเสรีภาพทั้งปวง ซึ่งศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำพิพากษาคดีเกี่ยวกับการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ยืนยันในหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ว่า เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์ถูกลดฐานะให้กลายเป็นวัตถุแห่งการกระทำของรัฐ เมื่อนั้นถือว่าเป็นการกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  ดังนั้น การที่มิได้บัญญัติหลักนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญอาจจะส่งผลกระทบต่อการใช้การตีความโดยองค์กรตุลาการได้

ข. “สิทธิชุมชน”  สิทธิชุมชนถือว่าเป็นสิทธิที่มีความสำคัญต่อสังคมเกษตรกรรมและวิถีชีวิตของชาวบ้าน ซึ่งสิทธิชุมชนถือว่าเป็น “สิทธิ”ประเภท “สิทธิกลุ่มบุคคล” หรือที่เรียกว่า “collective rights” ซึ่งแตกต่างจากสิทธิทั่วไปทั้งหลายที่เป็น “สิทธิของปัจเจกบุคคล” (individual rights) ดังนั้น การไม่บัญญัติรับรองสิทธิประเภทนี้ไว้อย่างชัดแจ้งย่อมเท่ากับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้รับรองแต่ “สิทธิของปัจเจกบุคคล” เท่านั้น  ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อการคุ้มครอง “ชุมชน” ของไทย

2.4 การนำสิทธิในบางเรื่องไปบัญญัติให้เป็น “หน้าที่ของรัฐ” ตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 5 ของร่างรัฐธรรมนูญ 2559  ซึ่งกรณีนี้เป็นการปรับหลักการการเขียนเกี่ยวกับ “สิทธิ” ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อหลักการคุ้มครองสิทธิ กล่าวคือ  การบัญญัติไว้ในหมวดสิทธิเท่ากับเป็นการกำหนดขอบเขตของ “ผู้ทรงสิทธิ” และย่อมมีผลก่อให้เกิดหน้าที่ของรัฐโดยปริยาย เพราะสิทธิและเสรีภาพเป็นส่วนที่มีผลผูกพันรัฐโดยตรง  แต่การนำ “สิทธิ” บางเรื่องไปบัญญัติไว้เป็นหน้าที่ของรัฐโดยขาดฐานของการเป็น “ผู้ทรงสิทธิ” ย่อมส่งผลกระทบต่อ “ผู้มีอำนาจฟ้อง” เพื่อให้องค์กรตุลาการบังคับการให้เป็นไปตามสิทธิในเรื่องนั้นๆ เช่น สิทธิของบุคคลในการเข้าถึงบริการสาธารณะอย่างทั่วถึง  กรณีที่บุคคลซึ่งพิการไม่สามารถเข้าถึงบริการรถไฟฟ้าได้ได้นำคดีมาฟ้องศาล กรณีนี้ศาลปกครองสูงสุดเคยพิพากษาว่าบุคคลดังกล่าวมีอำนาจฟ้องและพิพากษาให้กรุงเทพมหานครดำเนินการให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวเข้าถึงบริการสาธารณะนั้นได้ แต่หากนำหลักดังกล่าวไปบัญญัติไว้ให้เป็นหน้าที่ของรัฐเพียงถ่าย ท้ายที่สุดก็จะเกิดปัญหาในเรื่องการบังคับให้เป็นไปตามหน้าที่นั้นๆเพราะขาดผู้ทรงสิทธิในการที่จะฟ้องร้องเพื่อให้องค์กรตุลาการบังคับการให้เป็นไปตามสิทธิในเรื่องนั้นๆ ก็นี้จึงเป็นการเปลี่ยนหลักการที่สำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อการคุ้มครองสิทธิของประชาชน

จากข้อสังเกตดังกล่าวข้างต้น เป็นเพียงการพิจารณาเฉพาะหลักการสำคัญของ “หมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย” เท่านั้น ยังมิได้พิจารณาในส่วนของสิทธิและเสรีภาพเฉพาะเรื่อง ซึ่งหลักการที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของ “หมวดสิทธิและเสรีภาพ” ควรจะได้รับการยืนยันจากรัฐธรรมนูญต่อไปไม่ควรที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญจะตัดหลักดังกล่าวออกจากรัฐธรรมนูญ หากปราศจากหลักการดังกล่าวย่อมมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันจะทำให้หลักการในเรื่องเหล่านี้ถอยหลังกลับใช้หลักที่เคยใช้กันเมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา การร่างรัฐธรรมนูญควรมองไปข้างหน้าแต่ก็ไม่ทำลายหลักที่เป็นประโยชน์กับประชาชนที่เคยบัญญัติไว้ในอดีต

3.สิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน

บทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างของหมวดสิทธิและเสรีภาพ และสาระเนื้อหาของบทบัญญัติในหลายมาตรา ในทิศทางที่เป็นการลดทอนความเข้มข้นในการปกป้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สุขภาวะของประชาชน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย ดังนี้

  • ตัดข้อกำหนดเรื่อง “การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ” ซึ่งเป็นมาตรการ เครื่องมือที่สำคัญในการช่วยตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการหรือกิจกรรมพัฒนาที่อาจส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพ และชุมชน และกำหนดมาตรการในการปกป้องและลดผลกระทบ
  • ตัดข้อกำหนดเรื่อง “องค์การอิสระสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ” ซึ่งเป็นกลไกถ่วงดุลการตัดสินของรัฐในเกิดความรอบคอบ รอบด้าน และสร้างกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะที่มีธรรมาภิบาล
  • ตัดเรื่อง “สิทธิชุมชน” ในการมีส่วนร่วมจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืนออกไป สิทธิดังกล่าวเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้ “การเมืองภาคพลเมือง” มีความเข้มแข็งและมีพัฒนาการเติบโตต่อเนื่องมากว่า 2 ทศวรรษ และช่วยสนับสนุนให้การดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติมีประสิทธิภาพ การปรับเปลี่ยนในรัฐธรรมนูญซึ่งกระทบต่อเรื่องสิทธิชุมชนมีในหลายส่วนดังนี้
    • (หนึ่ง) ในหมวดสิทธิและเสรีภาพ สิทธิชุมชนในมาตรา 43 ไม่มีสิทธิชุมชนในเรื่องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด
    • (สอง) ในหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ ไม่มีมาตราใดที่เกี่ยวกับเรื่องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
    • (สาม) ในหมวดหน้าที่ของรัฐ มาตรา 53 และ 54 ข้อบัญญัติที่เขียนไว้เป็นการเปลี่ยนหลักการและสาระสำคัญของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 (มาตรา 66 และ 67) ประเด็นสำคัญเช่น การเปลี่ยนสถานะและบทบาทของประชาชนและชุมชนจากฐานะ “ผู้ทรงสิทธิ” ให้เป็นผู้รอรับสิ่งที่รัฐจะจัดให้ หรือการมีส่วนร่วมที่รัฐจะจัดขึ้น การตัดเรื่องกลไกการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) การตัดเรื่ององค์การอิสระสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่จะทำหน้าที่ถ่วงดุลการตัดสินใจของรัฐออก รวมทั้งการตัดสิทธิในการฟ้องรัฐออกไป
    • (สี่) ในหมวดการปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่มีการระบุเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่และบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ข้อเสนอเพื่อการปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญฯ

หมวดนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ : เพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับแนวนโยบายแห่งรัฐด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยยึดถือหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน สร้างความสมดุลระหว่างเป้าหมายการพัฒนาด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ รวมทั้งหลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม หลักความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม

หมวดสิทธิและเสรีภาพ : ต้องมีการรับรองและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในระดับไม่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 รวมทั้งเรื่องสิทธิชุมชนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเพิ่มเติมสิทธิที่ก้าวหน้า ตัวอย่างเช่น สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี เป้นต้น

หมวดการปกครองส่วนท้องถิ่น : เพิ่มเติมบทบาทหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยร่วมกับชุมชนท้องถิ่น และภาคประชาสังคม

หมวดปฏิรูป : เพิ่มเติมหมวดปฏิรูปประเทศในรัฐธรรมนูญ โดยมีสาระสำคัญ ตัวอย่างเช่น

  • การนำ “การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์”(Strategic Environmental Assessment : SEA) มาใช้ เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยการตัดสินใจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
  • การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายต่างๆ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ไม่สอดคล้องรองรับกับรัฐธรรมนูญ
  • การพัฒนาจัดทำกฎหมายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น กฎหมายด้านเครื่องมือเศรษฐศาสตร์เพื่อการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

บทเฉพาะกาล : การกำหนดรายการบัญชีกฎหมายที่ต้องจัดทำให้เสร็จเพื่อให้การใช้บังคับรัฐธรรมนูญเกิดความสมบูรณ์และกำหนดกรอบเวลาในการจัดทำกฎหมายดังกล่าว เช่น กฎหมายด้านสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กฎหมายด้านเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม เป็นต้น พร้อมทั้งบทกำหนดโทษหากเกิดความล่าช้าเกินสมควร

4.ประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐ

ธรรมาภิบาล (good governance) เป็นกลยุทธ์ เป็นหลักการในการบริหารราชการแผ่นดิน ที่เชื่อว่า เมื่อนำมาใช้จะก่อให้เกิดสังคมสันติสุข เพราะประชาชนได้รับการดูแล ได้รับความสุข มีความพอใจ รู้สึกยินดีต่อการบริหารงานของรัฐ จนเกิดความเชื่อมั่นศรัทธาในการบริหารราชการของผู้บริหารประเทศ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ หากเรานำแนวคิดนี้มาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2559 นี้ โดยในร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญใช้คำว่าการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ซึ่งเป็นเรื่องที่ครอบคลุมธรรมาภิบาลและการบริหารรัฐกิจแนวใหม่ อย่างไรก็ตามเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้มีความสมบูรณ์และนำมาซึ่งการเป็นกติกาของสังคมที่ทุกคนในประเทศไทยต้องยึดถือ จึงควรมีการพิจารณาในประเด็นที่สร้างความมั่นใจว่าหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีจะมีการนำไปปฏิบัติได้จริง นอกจากนี้การมียุทธศาสตร์ชาตินับเป็นเรื่องใหม่ที่สำคัญกับการมีทิศทางการบริหารประเทศซึ่งควรเป็นสิ่งที่ผูกพันรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย

ในหมวด 8 คณะรัฐมนตรี มาตรา 159 ในการบริหารราชการแผ่นดิน กำหนดให้ คณะรัฐมนตรีต้องปฏิบัติแหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ เปิดเผย รอบคอบ ระมัดระวัง เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและส่วนรวม รวมทั้งดูแลการใช้จ่ายเงินแผ่นดินอย่างเคร่งครัด ยึดถือและปฏิบัติตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ตลอดจนสร้างเสริมให้ทุกภาคส่วนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก  มาตรานี้นับเป็นมาตราสำคัญควบคู่ไปกับมาตรา 72 ในแนวนโยบายแห่งรัฐ ซึ่งรัฐพึงพัฒนาระบบบริหารราชการแผ่นดิน ให้บริการประชาชน ให้มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว ไม่เลือกปฏิบัติ ตามหลักการบริการกิจการบ้านเมืองที่ดี การบริหารบุคคลต้องเป็นไปตามระบบคุณธรรม (ตามที่กฎหมายบัญญัติ) และจัดให้มีมาตรฐานทางจริยธรรม

ปัญหาคือ ความมั่นใจในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญสองมาตรานี้ มีไม่มากพอ เพราะมีหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 60 ที่บัญญัติไว้ชัดเจน ไม่ให้เกิดสิทธิในการฟ้องร้องรัฐ ทั้งไม่ผูกมัดรัฐในการดำเนินการ ไม่เป็นหน้าที่และเป็นเพียงแนวนโยบายแห่งรัฐที่รัฐจะทำเมื่อพร้อม ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ และข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐไม่จำเป็นต้องรีบปฏิบัติ เพราะหากไม่ปฏิบัติ ประชาชนก็ไม่สามารถทำอะไรได้

นอกจากนี้มีประเด็นในมาตรา 139  ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีและร่างพระราชบัญญัติงบประมาณต่างๆ  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะแปรญัตติเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมมิได้  และมีการลงโทษผู้ฝ่าฝืนทั้ง ส.ส. และ ส.ว. และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องให้ต้องรับผิดชดใช้เงินนั้นคืนพร้อมด้วยดอกเบี้ยร่วมกับ ส.ส.หรือ ส.ว. ที่กระทำการ และเรียกเงินคืนภายในยี่สิบปีนับแต่วันที่มีการจัดสรรงบประมาณนั้น

มาตรานี้นับว่าสำคัญในการสร้างมาตรการในการสร้างความคุ้มค่าและประสิทธิภาพในการใช้เงินแผ่นดิน แต่จะทำให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐมิกล้าดำเนินการอย่างใด จะทำให้นโยบาย โครงการต่างๆนำไปสู่การปฏิบัติได้ยาก เกิดการชะงักงันในการพัฒนาประเทศเพราะการที่เจ้าหน้าที่ไม่ให้ความร่วมมือ ทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพ  ด้วยความเกรงกลัวต่อการทำหน้าที่ที่ขัดรัฐธรรมนูญ

ส่วนเรื่องการมียุทธศาสตร์ชาติมีการบัญญัติไว้ชัดเจนให้เป็นแนวนโยบายแห่งรัฐและอีกหลายมาตรา แต่ขาดหัวใจสำคัญคือการบังคับรัฐ และประชาชนไม่สามารถเรียกร้องได้เมื่อรัฐไม่ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ

ข้อเสนอ

เนื่องจากการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เป็นกลยุทธ์การบริหารที่ประกอบด้วยการนำหลักธรรมาภิบาล และหลักการบริหารรัฐกิจแนวใหม่มาใช้ให้เป็นผล เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เพื่อให้การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีเกิดขึ้นจริง จึงควรนำมาตรา 72 ไปเป็นหน้าที่ของรัฐและตัดข้อความ “ไม่ก่อให้เกิดสิทธิในการฟ้องร้องรัฐ” ออกจากมาตรา 60 เพื่อให้นโยบายแห่งรัฐนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง และทบทวนมาตรา 139 ให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถปฏิบัติงานได้ด้วยความเต็มใจ มากกว่าการนิ่งเฉยเพราะเกรงว่าจะกระทำผิด และนำยุทธศาสตร์ชาติมาเป็นหน้าที่ของรัฐ

5. การกระจายอำนาจ

การกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่นหัวใจสำคัญของประชาธิปไตยที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจและบริหารจัดการทรัพยากรต่างๆ เป็นหลักการปกครองที่สากลยอมรับว่ามีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ แต่เมื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2559 ตั้งแต่มาตรา 246 -251 รวม 6 มาตรา ได้บัญญัติหลักการพื้นฐานการปกครองท้องถิ่นเอาไว้ ส่วนรายละเอียดได้ผลักไปไว้ในกฎหมายลูก ซึ่งเมื่อวิเคราะห์แล้ว ยังขาดสาระสำคัญ อันเป็นหัวใจในการวางหลักการเพื่อพัฒนาการปกครองท้องถิ่นไทย ดังนี้

1. ไม่กล่าวถึงการกระจายอำนาจเอาไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งตามสภาพปัญหาในปัจจุบัน ควรพิจารณาเรื่องนี้ในประเด็นต่างๆ ดังนี้

ก) การถ่ายโอนและการจัดระเบียบภารกิจของส่วนกลาง และท้องถิ่นใหม่ให้ลงตัว โดย

ภารกิจใด ท้องถิ่นปฏิบัติได้ดีกว่า หรือดีเท่ากันให้โอนไปให้ท้องถิ่นทำ โดยส่วนกลางหันมาให้การสนับสนุน จัดมาตรฐานงาน และคอยกำกับดูแล

ภารกิจใดที่ร่วมมือกันทำได้ ให้ร่วมมือกัน โดยจัดระบบความร่วมมือให้ดี

ภารกิจที่ห้ามท้องถิ่นทำ คือ ด้านการทหาร ด้านต่างประเทศ ศาล เงินตรา โทรคมนาคม และการไปรษณีย์

ข) การกระจายอำนาจต้องกระจายไปเป็นชุด คือ (1) ด้านการบริการกิจการเพื่อแก้ไขปัญหา และการพัฒนาท้องถิ่น (2) ด้านการเงินการคลังท้องถิ่น (3) ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลท้องถิ่น (4) อำนาจในการอนุรักษ์ ปกป้อง คุ้มครอง และใช้ทรัพยากรท้องถิ่น (5) อำนาจในการออกข้อบัญญัติเพื่อบังคับใช้ในท้องถิ่น

ค) ให้อำนาจประชาชนในการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจการของท้องถิ่นได้อย่างกว้างขวาง รวมทั้งอำนาจในการตรวจสอบ ควบคุม แต่ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะเท่านั้น

ง) ควรกำหนดกรอบเวลา และเงื่อนไขความสำเร็จไว้ด้วย หากมีระบบจูงใจ (Incentive) และบังคับโดยกฎเกณฑ์ (Compulsory) ไว้ด้วยก็จะดีมาก

จ) เปิดทางให้จังหวัดที่มีความพร้อม จัดรูปแบบการปกครองท้องถิ่นเต็มพื้นที่จังหวัดได้ ตามที่รัฐธรรมนูญปี 40 และ ปี 50 เคยบัญญัติไว้ในหมวดแนวทางนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ

2. การเติมเต็มกลไกการปกครองท้องถิ่น ทั้งระดับชาติ ระดับจังหวัด และระดับต่ำกว่าจังหวัด ให้มีความเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ โดย...

  • ให้มีคณะกรรมการปกครองท้องถิ่นแห่งชาติ มีองค์ประกอบไตรภาคี คือ ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล อปท. และผู้ทรงคุณวุฒิ ทำหน้าที่บูรณาการและบริหารกิจการท้องถิ่นของชาติให้เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ
  • ปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของ อบจ. ให้ชัดเจน เชื่อมโยงกับส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และเทศบาล/อบต. รวมทั้งแบ่งขอบเขตแบ่งหน้าที่ระหว่างอบจ. และเทศบาล/อบต. ให้ชัดเจน
  • พัฒนาสมรรถนะเทศบาล/อบต. ให้เข้มแข็ง สามารถตอบสนองเจตนารมณ์ของประชาชนได้จริง โดยยึดหลักการของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน
  • ปรับปรุงระบบบริหาร ระบบการคลัง ระบบบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลท้องถิ่น ให้ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ
  • ขจัดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ โดยมีการสนับสนุน โอบอุ้มท้องถิ่นที่ยากจน ทุรกันดาร ให้มีโอกาสพัฒนาตนเองในอัตราเร่งที่สูงขึ้น

เนื่องจากประชาชนทั้งประเทศมีความใกล้ชิดกับท้องถิ่นมากกว่ารัฐ และการปกครองท้องถิ่นมีลักษณะเป็นการย่อส่วนการเมืองการปกครองของรัฐ ดังนั้น การพัฒนาท้องถิ่นให้เข้มแข็ง ก็คือ การพัฒนารัฐและประชาชนให้เข้มแข็งไปพร้อมกัน โดยหลักสากลเชื่อว่า หากรากฐาน คือ ประชาชนและกระบวนการปกครองตนเองของประชาชนอ่อนแอ รัฐก็จะอ่อนแอไปด้วย

ดังนั้น การพัฒนาประชาชนและการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่น จึงมีความสำคัญมาก สมควรที่จะต้องจัดระเบียบการปกครองในส่วนนี้ให้เข้มแข็งโดยเร็ว

อนึ่ง บทบัญญัติร่าง รธน. ปี 2559 ได้ละเลยสาระสำคัญอย่างยิ่งไปอยู่ 2 ประการ คือ 1) การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น 2) การพัฒนา/ปรับปรุง เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในด้านระบบ, กลไก และกระบวนการปกครองท้องถิ่น

ข้อเสนอ

ควรเพิ่มเติมบทบัญญัติในร่าง รธน. ปี 2559 ให้สมบูรณ์ขึ้นอย่างน้อยให้เทียบได้ไม่ต่ำกว่า รธน. ปี 2550 ดังนี้

1.เพิ่มเติมเรื่อง การกระจายอำนาจเข้าไปในหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ โดยยกเอามาตรา 78 (3) แห่ง รธน. ปี 2550 มาเพิ่มเติมไว้ในมาตรา 72 แห่ง รธน. ปี 2559 อีก 1 วรรค ดังนี้

“ รัฐต้องกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองท้องถิ่นพึ่งตนเอง และตัดสินใจในกิจการของท้องถิ่นได้ ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ พัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่น และระบบสาธารณูปโภค ตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในท้องถิ่นให้ทั่วถึง และเท่าเทียมกันทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น”

2. เพิ่มเติมเพื่อแสดงเจตนารมณ์เปิดทางให้มีการแก้ไข/ปรับปรุงจุดอ่อนของ “ระบบการปกครองท้องถิ่นของชาติ” ให้มีเอกภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเพิ่มเติม มาตรา 246 แห่ง รธน. ปี 2559 อีกวรรคหนึ่ง ดังข้อความต่อไปนี้

“ รัฐต้องพัฒนาระบบการปกครองท้องถิ่นของชาติให้เข้มแข็ง มีการบูรณาการ และมีเอกภาพเป็นระบบเดียวกัน โดยจัดให้มีคณะกรรมการปกครองท้องถิ่นแห่งชาติขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อน เพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

3. เพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำกฎหมายลูกจึงขอให้มีการบันทึกเจตนารมณ์การปกครองท้องถิ่นแห่งชาติ (ดังที่กล่าวมาในข้อ 1, 2, 3, 4) เอาไว้ในจดหมายเหตุ หรือบันทึกเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไว้ให้ชัดเจน

6. โครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคพื้นฐานของรัฐ

กิจการสาธารณูปโภคสาธารณูปการมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และความมั่นคงของประเทศ รัฐจึงจำเป็นต้องเป็นผู้ดูแลและเป็นเจ้าของเพื่อป้องกันการผูกขาดและเกิดผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง  ทั้งนี้มาตรา 84 (11) ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 บัญญัติว่า "รัฐต้องเป็นเจ้าของโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคพื้นฐานของรัฐอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน หรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ จะปล่อยให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนไม่ได้หรือรัฐเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ต่ำกว่า51% ไม่ได้" มิได้มีการกำหนดในร่างรัฐธรรมนูญนี้  อาจจะเป็นการเปิดทางให้กับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ครอบครองโครงข่ายพื้นฐานที่เป็นสาธารณสมบัติที่อาจมีสภาพการผูกขาดโดยธรรมชาติก็ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทบระบบเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ

ข้อเสนอ นำมาตรา 84 (11) ของรัฐธรรมนูญ 2550 มาบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญนี้

7.การคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค

ประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นเรื่องสำคัญที่จะประกันได้ว่าประชาชนในฐานะผู้บริโภคจะได้รับการปกป้องดูแล ไม่เกิดการเอารัดเอาเปรียบ   ซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และ 2550 รวมทั้งร่างรัฐธรรมนูญฉบับของนายบวรศักดิ์  อุวรรณโณ  ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจน ให้มี “องค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระซึ่งมิใช่หน่วยงานของรัฐ ประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตราและการบังคับใช้กฎหมายและกฎ ให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยไม่กระทำการอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค และเสนอทางแก้ไขเยียวยาความเสียหายที่ผู้บริโภคได้รับ ตลอดจนสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความรู้และทักษะที่จำเป็นด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และฟ้องคดีเพื่อสาธารณะประโยชน์ โดยให้รัฐสนับสนุนงบประมาณที่ในการดำเนินการขององค์การอิสระดังกล่าวด้วย”  แต่ร่างรัฐธรรมนูญนี้ในมาตรา 57 บัญญัติว่า รัฐต้องจัดให้มีมาตรการหรือกลไกการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้บริโภครวมกลุ่มกันเพื่อปกป้องสิทธิของตน ซึ่งการบัญญัติไว้ในลักษณะนี้ เป็นการยึดสิทธิของผู้บริโภคไปอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐ แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับเรื่องสิทธิของผู้บริโภคที่เคยบัญญัติ

ข้อเสนอ พิจารณานำข้อความเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคของรัฐธรรมนูญ 2550 มาบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญนี้

8. การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คณะกรรมการ่างรัฐธรรมนูญมุ่งหวังและตั้งฉายาให้เป็นฉบับปราบโกง ในร่างเบื้องต้นปรากฏมาตรการและกลไกหลายอย่างที่จะจัดการกับปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นที่กัดกร่อนประเทศชาติและสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้กับสังคมไทย อย่างไรก็ตามมาตรการและกลไกบางอย่างอาจยังไม่เพียงพอ ขณะที่บางอย่างดูเหมือนยังขาดหายไป

ในหมวดหน้าที่ของรัฐ รัฐต้องกำหนดให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นวาระแห่งชาติ ให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบ และจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันและขจัดการทุจริต ขณะเดียวกันการบริหารราชการแผ่นดินและการบริหารงานของรัฐจะต้องเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังมองไม่เห็นบทบาทของประชาชนในการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ

ข้อเสนอ

  • ควรกำหนดให้ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ติดตาม และร้องขอให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ แทนการกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการ ตามมาตรา 55 ซึ่งไม่ได้รับรองสิทธิของประชาชน
  • นอกจากนั้นควรกำหนดให้เป็นหน้าที่ของประชาชนในการให้ข้อมูล เฝ้าระวัง ป้องกัน และต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ แทนวงเล็บ 10 ในมาตรา 47 ที่ระบุเพียงว่า มีหน้าที่ไม่ร่วมมือหรือสนับสนุนการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ และให้สามารถฟ้องร้องคดีได้เอง
  • ที่สำคัญ ข้อเสนอของกรรมาธิการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบหลายประการควรได้รับการบรรจุไว้ เพื่อให้การป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อาทิ ควรกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกประเภทและทุกระดับ รวมทั้งผู้เข้ารับการสรรหาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ต้องแสดงสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ย้อนหลังเป็นเวลา 3 ปี หากไม่แสดงหรือแสดงอันเป็นเท็จให้สมาชิกภาพหรือความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง รวมทั้งให้เปิดเผยเอกสารดังกล่าว รวมถึงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อสาธารณชนโดยเร็ว
  • เอกสิทธิ์คุ้มครอง ส.ส. และส.ว. ตามมาตรา 120 ไม่ควรรวมไปถึงคดีเกี่ยวกับการทุจริต และคดีที่มีโทษร้ายแรงอื่น ๆ

ทั้งนี้หากทุกฝ่ายเห็นความจำเป็นของการใช้ยาแรงเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบที่รุนแรง และเรื้อรังมานาน หากกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะพิจารณาเพิ่มเติมมาตรการและกลไกต่าง ๆ ตามที่เสนอ เชื่อว่าจะตอบโจทย์มาตรา 35 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ได้ดียิ่งขึ้น

9.เสรีภาพของสื่อมวลชน

หลักการปกครองแบบประชาธิปไตยที่สำคัญคือประชาชนจำเป็นต้องมีสิทธิในการแสดงออก (Right to Expression) ซึ่งประกอบด้วยสิทธิที่จะรู้ (Right to Know) สิทธิที่จะพูด (Right to Speak) และสิทธิที่จะพิมพ์โฆษณา (Right to Print) หากประชาชนขาดสิทธิดังกล่าวแล้ว ก็ไม่สามารถรับรู้ถึงการดำเนินงานของรัฐ อาจนำมาซึ่งสาเหตุให้เกิดการคอร์รัปชั่นหรือปัญหาต่าง ๆ ตามมา อาจทำให้รัฐบาลล้มเหลวและเกิดวิกฤติกับประเทศชาติได้

โดยที่สื่อมวลชนเป็นองค์กรที่จะทำหน้าที่นำเสนอข่าวสารให้แก่ประชาชนได้รับทราบ การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและเที่ยงตรง ดังนั้น สื่อมวลชนย่อมจะต้องมีสิทธิและเสรีภาพในการแสวงหาข่าวสารและรายงานข่าวสารให้ประชาชนรับรู้เพื่อประโยชน์สาธารณะ  (Public Interest) หากสื่อมวลชนไม่มีเสรีภาพก็ไม่อาจนำเสนอข้อมูลข่าวสารสู่ความรับรู้ของประชาชนได้  และประชาชนก็ย่อมไม่สามารถที่เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับต่าง ๆ ได้

อย่างไรก็ตามจากติดตามศึกษาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เปรียบเทียบกับรัฐธรรมมนูญปี 2540 และ ปี 2550  และร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ไม่ผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งได้รับรองเสรีภาพของสื่อมวลชนไว้ในหลายมาตรา มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

9.1 การรับรองและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

รัฐธรรมมนูญปี 2540 และ ปี 2550 ได้รับรองสิทธิและเสรีภาพไม่ว่าเป็นสิทธิในการพูด  การเขียน  การพิมพ์  การโฆษณา  หรือการสื่อสารถึงกันด้วยวิธีการอื่นใดของประชาชนเอาไว้ สื่อมวลชนก็คือประชาชนก็ย่อมได้รับความคุ้มครองจากบทบัญญัติดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็รับรองหลักการดังกล่าว แต่ประเด็นที่แตกต่างกันคือ ข้อความตอนท้ายของร่างมาตรา 34 วรรค 1 “..เพื่อป้องกันมิให้เกิดความแตกแยก หรือเกลียดชังในสังคม” ซึ่งเป็นการเพิ่มเติมเงื่อนไขในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ตามร่างมาตรา 34 "การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำไม่ได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และสุขภาพประชาชน เพื่อป้องกันมิให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม”

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับด้านสื่อ ตามที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหลาย ๆ ฉบับที่ผ่านมาคือ "การจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนและสื่ออื่นฯ จะกระทำได้หากเป็นไปเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง  สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนบุคคล เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน"  มีเนื้อหาครอบคลุมดีแล้ว

หากร่างรัฐธรรมนูญนี้นำเรื่องความแตกแยกและเกลียดชังมาบัญญัติไว้ในส่วนของการจำกัดสิทธิอีก โดยที่ยังไม่มีความชัดเจนว่า “การพูด การแสดงความเห็น การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา ฯลฯ แค่ไหน ระดับใดจึงจะไม่สร้างความแตกแยกหรือสร้างความเกลียดชัง" ก็อาจเปิดช่องให้มีการออกกฎหมายควบคุมและจำกัดสิทธิของบุคคลได้ โดยอาศัยเหตุจากความแตกแยกและเกลียดชัง ซึ่งอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน รวมทั้งอาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อีกด้วย  ทั้งนี้การกำหนดเรื่องนี้ไว้ในหมวดหน้าที่ของปวงชนชาวไทยนั้นมีความเหมาะสมดีแล้ว นอกจากนี้การให้การศึกษากับประชาชนรู้เท่าทันสื่อน่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับเรื่องนี้

ข้อเสนอ ควรตัดข้อความเรื่องความแตกแยกและความเกลียดชังออกไปจากมาตรา 34 ของร่างรัฐธรรมนูญ

9.2 การรับรองคลื่นความถี่ วิทยุ โทรทัศน์ โทรคมนาคมเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และปี 2550  ได้กำหนดให้คลื่นความถี่ ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิทยุโทรคมนาคมเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ  รวมทั้งกำหนดให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระทำหน้าที่ในการจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลการประกอบกิจการเหล่านี้ เพราะเห็นว่าคลื่นความถี่วิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคม เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สื่อมวลชนใช้ในการนำเสนอข่าวสารสู่ประชาชน รัฐธรรมนูญจึงให้การรับรองและคุ้มครองความถี่เหล่านี้ให้เป็นของประชาชน

ทั้งนี้ในอดีต มีความเชื่อว่าสิทธิเสรีภาพในการใช้สื่อวิทยุและโทรทัศน์และโทรคมนาคมนั้นรัฐเป็นเจ้าของและอยู่ในความครอบครองของรัฐ แต่ในความเป็นจริงแล้วหน่วยงานของรัฐที่เป็นเจ้าของคลื่นความถี่วิทยุ โทรทัศน์และโทรคมนาคมไม่ได้ดำเนินกิจการเองแต่ให้เอกชนเข้าประมูลเช่าดำเนินการต่อ ไม่ได้เป็นประโยชน์ในการให้การบริการข้อมูลข่าวสารต่อประชาชนเท่าที่ควร

ข้อเสนอ ควรนำบทบัญญัติในมาตรา 56 ของร่างรัฐธรรมนูญ มาบัญญัตติไว้ในหมวดว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย โดยแก้ไขถ้อยคำเพื่อให้เกิดความชัดเจนในมาตรา 56 วรรคแรก

"คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิทยุโทรคมนาคมเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ”

และแก้ไขมาตรา 56 วรรค 3 ว่า “ให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระทำหน้าที่จัดสรรและกำกับดูแลการประกอบกิจการคลื่นความถี่...

ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันว่า จะยังมีองค์กรของรัฐที่มีความเป็นอิสระ ปราศจากการครอบงำของฝ่ายการเมืองและฝ่ายธุรกิจ เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ต่าง ๆ เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและสาธารณะ

นอกจากนี้ยังเห็นควรทบทวนความจำเป็นของมาตรา 262 ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมชุดปัจจุบันเป็นองค์กรตามมาตรา 56

9.3 การรับรองและคุ้มครองเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน

เป็นหลักการที่เป็นหลักประกันเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนไม่ว่าจะเป็นสื่อหนังสือพิมพ์  สื่อวิทยุ  สื่อโทรทัศน์  หรือสื่ออื่นใด  ไม่ว่าผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนนั้นจะเป็นพนักงานของรัฐ  ลูกจ้างของหน่วยราชการ  รัฐวิสาหกิจ  หรือพนักงานและลูกจ้างในบริษัทเอกชนก็ตาม เป็นการคุ้มครองเสรีภาพสื่อมวลชนให้มีอิสระและพ้นจากการควบคุมของรัฐ หรือบุคคลที่มีอิทธิพลกลุ่มต่าง ๆ  ได้อย่างเต็มที่ภายใต้กฎหมายที่กำหนดและไม่ขัดต่อจริยธรรมการประกอบวิชาชีพ

ข้อเสนอ ควรแก้ไขร่างมาตรา 35 ดังต่อไปนี้

3.1 ร่างมาตรา 35 วรรค1 "บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ”

โดยให้ใช้คำว่าวิชาชีพแทนคำว่าอาชีพ เพราะวิชาชีพสื่อมวลชนบ่งชี้ความเป็นสื่อที่ต้องมีองค์ความรู้ หลักการ  และอุดมการณ์ เป็นองค์ประกอบในการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน

3.2 ควรนำมาตรา 48 วรรค5 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ไม่ผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติมาแทนข้อความในมาตรา 35 วรรค 4 ที่ระบุว่า "เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย" เป็นดังนี้

"เจ้าของกิจการสื่อมวลชนต้องเป็นบุคคลสัญญาติไทยและบุคคลไม่อาจเป็นเจ้าของกิจการสื่อมวลชน หรือผู้ถือหุ้น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หลายกิจการ ในลักษณะที่อาจมีผลเป็นการครอบงำหรือผูกขาดการนำเสนอข้อมูลข่าวสารหรือความคิดเห็นต่อสังคมหรือมีผลเป็นการขัดขวางการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายของประชาชน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ"

ทั้งนี้เพื่อป้องการการครอบงำและผูกขาดกิจการหลายกิจการที่จะมีผลในการครอบงำหรือผูกขาดการเสนอข่าวสารที่อาจกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนได้

3.3 ตัดมาตรา 35 วรรคสุดท้ายของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกไปและใช้ข้อความเช่นเดียวกับมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญปี 2550

" พนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือสื่อมวลชนอื่น ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัดตามที่กฎหมายกำหนด โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าของกิจการนั้น แต่ต้องไม่ขัดต่อจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ ....

ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจในกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือสื่อมวลชนอื่น ย่อมมีเสรีภาพเช่นเดียวกับพนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนตามวรรคหนึ่ง”

9.4 การรับรองและคุ้มครองเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารหรือข่าวสารสาธารณะ

เสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนและสื่อมวลชนที่จำเป็นที่ต้องมีการรับรองและคุ้มครองโดยเฉพาะข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความครอบครองของรัฐ หากสื่อมวลชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารก็ย่อมไม่สามารถนำข้อมูลข่าวสารนั้นไปสู่การรับรู้ของประชาชนก็จะส่งผลกระทบต่อสิทธิในการรับรู้ของประชาชนไปพร้อม ๆ กัน การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจึงเป็นสิทธิ เสรีภาพที่สำคัญของประชาชนและสื่อมวลชน แต่เมื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้นำเรื่องข้อมูลข่าวสารบัญญัติไว้ในมาตรา 55 ในหมวดหน้าที่ของรัฐ

ข้อเสนอ ควรเขียนการรับรองและคุ้มครองเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารหรือข่าวสารสาธารณะไว้ในหมวดสิทธิและเสรีภาพปวงชนชาวไทยและให้ใช้มาตรามาตรา 56 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 แทนดังต่อไปนี้

"บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น เว้นแต่การเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารนั้นจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประชาชนหรือส่วนได้เสียอันพึงได้รับความคุ้มครองของบุคคลอื่น หรือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ"

10. ศิลปะ วัฒนธรรม  ศาสนา

งานวัฒนธรรม เป็นเรื่องสำคัญที่ควรเป็นทั้งหน้าที่ของปวงชนชาวไทย และหน้าที่ของรัฐ ที่มิควรเป็นเพียง สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยเท่านั้น  แต่ในร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้กำหนดในหมวด 3 มาตรา 43 และกำหนดไว้ใน หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ ที่เป็นเรื่องที่รัฐพึงกระทำเท่านั้น ดังใน มาตรา 66 ประกอบกับการให้ประชาชนเป็นเพียงผู้รอเข้ามาร่วมมือและสนับสนุนทำให้ขาดการเป็นพลเมืองที่กระตือรือร้น และในความเป็นจริงประชาชนก็มีศักยภาพที่จะเป็นหุ้นส่วนในการอนุรักษ์ได้ เป็นการทำงานแบบมีส่วนร่วมและลดภาระของภาครัฐไปได้ เป็นการสร้างจิตสำนึกในความเป็นเจ้าของร่วมกัน จะเกิดการหวงแหนและช่วยกันดูแล จึงควรเป็นการให้ประชาชนมีหน้าที่ในการมีส่วนร่วมมากกว่าการรอร่วมมือ

นอกจากนี้ในเรื่องศาสนา เพื่อให้เกิดสังคมสันติสุขและเกิดความเข้าใจในความหลากหลายและความแตกต่างในระหว่างผู้ที่นับถือศาสนาต่างกันจึงควรมีการส่งเสริมการสร้างความเข้าใจถึงหลักการสำคัญของศาสนาต่างๆด้วย

ข้อเสนอ

1. ควรปรับและเพิ่มเติมในหมวด4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย ใน (8) เป็นดังนี้

(8) มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ และคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรม

2. หมวด 5. หน้าที่ของรัฐ ควรเพิ่มคำว่า "ศิลปวัฒนธรรม" ในมาตรา 53 ต่อกับคำว่า "สิ่งแวดล้อม" เป็นดังนี้ คือ

มาตรา 53 รัฐต้องอนุรักษ์ คุ้มครอง บำรุงรักษา ฟื้นฟู บริหารจัดการ และใช้หรือจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรม....ฯลฯ

3. เรื่อง ศาสนา เพิ่มข้อความในมาตรา 63 วรรคแรก ต่อจากความว่า...และศาสนาอื่น....เป็นดังนี้

..พร้อมส่งเสริมให้ศาสนิกชนทำความเข้าใจและเข้าถึงหัวใจของศาสนาตน และเข้าใจหัวใจของศาสนาอื่น
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท