CAROL: ความรัก เพศสภาพ อำนาจ และความปรารถนา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

CAROL เป็นหนังรักที่เล่าเรื่องอย่างเรียบง่าย ภาพสวย ดนตรีที่นุ่มนวล การแสดงที่หมดจดงดงาม การแฝงสัญญะที่ชาญฉลาด องค์ประกอบ ฉาก ข้าวของ สีสันและแสงเงา ทำออกมาได้ละเมียดละไม สร้างจากนวนิยาย The Price of Salt ของแพทริเซีย ไฮสมิท ว่าด้วยความรักและการตกหลุมรักของผู้หญิงสองคนที่ทั้งต่างวัย ต่างฐานะ และต่างสถานะทางสังคม มีฉากหลังเป็นมหานครนิวยอร์กในปี ค.ศ. 1952 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่นวนิยายได้รับการตีพิมพ์ แพทริเซียยอมรับว่าได้รับแรงบันดาลใจของฉากการพบเจอกันระหว่างตัวละครสำคัญ แครอล แอรด์ และ เธเรส เบเลเว็ต ในแมนฮัตตันดีพาร์ทเมนท์สโตร์ จากเหตุการณ์จริงที่เธอเกิดตกหลุมรักผู้หญิงสูงศักดิ์คนหนึ่ง ขณะที่ทำงานเป็นพนักงานขายตุ๊กตาในช่วงคริสมาสต์ปี ค.ศ. 1948 กล่าวได้ว่าแพทริเซียวาดฉากอันน่าประทับใจนี้ผ่านสายตาของ เธเรส เบเลเว็ต นั่นเอง หรือเหตุการณ์จริงบางอย่างที่ไม่สามารถพูดออกมาอย่างตรงไปตรงมา กำลังถูกแทรกซ่อนเอาไว้ภายใต้เรื่องเล่าที่ดูฟุ้งฝัน

การเมืองเรื่องเพศสภาพ

การบอกว่า CAROL เป็นหนังรักที่นำเสนอเรื่องราวการตกหลุมรักที่เกิดขึ้นกับใครก็ได้ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน หรือเป็นหนังรักเลสเบี้ยน (Lesbian; หญิงรักหญิง) ต่างเป็นมุมมองที่สะท้อนการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศอย่างมาก แครอลและเธเรสแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพวกเธอรักและมีความสัมพันธ์ทางเพศได้ทั้งกับเพศตรงข้ามและเพศเดียวกัน อย่างน้อยที่สุดสิ่งที่พอจะอธิบายได้ในการกระทำของตัวละครหลักทั้งสองคือวิถีทางเพศแบบ Bisexual ความเป็นคนรักสองเพศมักถูกทำให้เลือนรางทั้งจากมุมมองแบบ Heterosexuality หรือมุมมองแบบ Homosexuality ถ้าผู้หญิงคนหนึ่งรักกับผู้ชาย ก็ง่ายที่จะถูกเข้าใจว่าเธอคือคนรักต่างเพศ แต่ถ้าเธอรักกับผู้หญิงด้วยกัน ก็ง่ายที่จะถูกเข้าใจว่าเป็นเลสเบี้ยน อันที่จริงไม่ว่าเธอจะรักกับผู้หญิงหรือผู้ชายอยู่ในเวลานั้น เธอก็มีวิถีทางเพศแบบ Bisexual นั่นแหละค่ะ ตราบใดที่เธอชัดเจนกับตัวเองว่าเธอสามารถรักและมีความสัมพันธ์ได้กับเพศตรงข้ามและเพศเดียวกัน ดังนั้น กล่าวอย่างตรงไปตรงมา CAROL เป็นหนังรัก Bisexual ค่ะ

อำนาจ

ความสูญเสียของคนที่มี “อำนาจ” มากกว่าเป็นเรื่องใหญ่กว่าเสมอ ความรักความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ รวมถึงอัตลักษณ์และบทบาททางเพศของคนแต่ละคนส่งผลให้มีแหล่งอำนาจที่ไม่เท่ากัน ช่วงต้นทศวรรษที่ 50 ความปรารถนาต้องการของใครได้รับการรับฟังมากกว่ากัน รูปแบบของความสัมพันธ์แบบไหนที่ได้รับการยอมรับ CAROL ไม่ได้บอกเล่าเพียงเรื่องราวความรักแสนหวาน แต่ชี้ให้เห็นกระบวนการที่กรอบจารีตเรื่องเพศ ขนบครอบครัว ชุดคุณค่า ศีลธรรม และกฎหมายครอบครัวที่ควบคุมตัวละครทุกคนในเรื่องนี้

ฮาร์จ แอร์ด สามีของแครอลเป็นผู้ชายชนชั้นสูง ผิวชาว มีฐานะทางเศรษฐกิจ ไม่ได้แค่สูญเสียผู้หญิงที่เขารักหากกำลังสูญเสียภรรยา แม่ของลูก (ที่เชื่อมโยงกับเขาในฐานะพ่อ) และครอบครัวสมบูรณ์แบบ กล่าวให้ชัด เขากำลังสูญเสียตัวตนทุกแง่มุมที่ถูกอธิบายผ่านความสัมพันธ์ที่มีต่อแครอล การสูญเสียเธอทำให้เขาไม่อาจเป็นตัวเขาในแบบที่ต้องการได้อีกต่อไป พื้นที่เชิงอำนาจที่เขามีในความสัมพันธ์นี้ในฐานะสามี หัวหน้าครอบครัวหรือผู้ชายที่สมบูรณ์พร้อมคนหนึ่ง (หรือรวมถึงศักดิ์ศรีความเป็นชาย) จึงสูญสลายไปด้วยในทันทีที่เธอเดินจาก มันจึงไม่ใช่แค่การสูญเสียความรักหรือคนรักแต่คือตัวตนของตัวเอง เขาจะเป็น “ใคร” หากไม่มีเธอ

น่าขบคิดว่าเหตุการณ์จะแตกต่างไปมากน้อยแค่ไหนหากเขาสูญเสียมันไปด้วยเงื่อนไขอื่น เช่น เขาหมดรักเธอ ตายจาก พลัดพราก หรือการเข้ามาแทนที่ของผู้ชายที่มีฐานะทัดเทียมกันอีกคน ในชั้นต้นแครอลเลือกที่จะเดินจากไปด้วยตัวเธอเองโดยไม่มีใครเป็นจุดอ้างอิงในชีวิต (แอ๊บบี้ไม่ได้อยู่ในความสัมพันธ์ฉันท์คนรักในขณะนั้น) เธอเลือกชีวิตของตัวเองที่ไม่มีเขา ในระดับนี้ฮาร์จยังพร้อมที่จะต่อรองแม้จะรู้สึกเสียศูนย์อยู่ไม่น้อย แต่ทันทีที่มีใครอีกคนเดินเข้ามาโดยเฉพาะคนคนนั้นเป็น “ผู้หญิง” ที่มีสถานะทุกอย่างด้อยกว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นดูจะทบทวีจนเขาต้องใช้แหล่งอำนาจทุกอย่างที่มีทั้งครอบครัว กฎหมาย การบำบัดในทางการแพทย์ จารีตเรื่องเพศ การว่าจ้างนักสืบ เรี่ยวแรงทางร่างกายที่มีมากกว่า และแม้แต่สิทธิในการดูแลลูกสาวตัวน้อย เพื่อปกป้องตัวตนที่มีความสำคัญน้อยลงเรื่อยๆในความสัมพันธ์นี้ ที่สำคัญกลไกทางสังคมทั้งหมดกระโดดออกมาปกป้องเขาในทันที

ขณะเดียวกันแครอลสามารถทำสิ่งที่เธอทำได้ก็เพราะเธอก็มีแหล่งอำนาจเช่นกัน ในฐานะผู้หญิงชนชั้นสูง ผิวขาว ฉลาด มีรสนิยมดี มีการศึกษา มีฐานะทางเศรษฐกิจ เข้าถึงการต่อสู้ต่อรองในระบบกฎหมาย ได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนสนิทซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นคนรัก ทั้งยังมีอำนาจภายใน เข้มแข็ง รู้จักและยอมรับในตัวเอง เธอจึงสามารถจัดการชีวิตตัวเองได้ดีในระดับหนึ่ง ผู้หญิงแบบนี้จึงมีอำนาจในการ “เลือก” ทำตามสิ่งที่ตัวเองต้องการ นอกจากนั้น แหล่งอำนาจสำคัญที่เธอมีเหนือฮาร์จคือเธอหมดรักเขาแล้วขณะที่เขายังรักเธออยู่ แต่แครอลจะกล้าพูดหรือทำในสิ่งที่เธอต้องการไหม หากเธอจำเป็นต้องพึ่งพาสามีมากกว่านี้ หากเธอไม่เห็นคุณค่าไม่เชื่อมั่นในตัวเอง ไม่มีการศึกษา ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ไม่มีใครสนับสนุน หรือเป็นผู้หญิงแบบที่การดำรงอยู่ของเธอจำเป็นต้องถูกอธิบายผ่าน “ใคร” สักคนในชีวิตอยู่เสมอ

การอยู่หรือออกจากความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งคู่จึงเป็นการต่อรองเชิงอำนาจซึ่งมีมิติทางเพศ (Gender) ที่อิงกับอารมณ์ความรู้สึก กลไกหรือปัจจัยทางสังคม รวมถึงอัตลักษณ์ที่ซับซ้อน

ความเป็นแม่กับความปรารถนา (ทางเพศ)

ภายใต้กรอบคิดเรื่องเพศ "แม่" ไม่เคยถูกยินยอมให้มีความปรารถนาเป็นของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความปรารถนาทางเพศ เพราะความปรารถนาทางเพศสะท้อนถึงธาตุแท้และ "อิสระ" เหนือร่างกายตัวเองของผู้หญิงคนนั้น ความปรารถนาทั้งหมดของผู้หญิงที่เป็น "แม่" ผูกโยงกับคนอื่นรอบตัว ผัว ลูก ปู่ย่า ตายาย ครอบครัวหรือแม้แต่ความมั่นคงของรัฐ ความปรารถนาของแม่ถูกอธิบายอย่างเบ็ดเสร็จผ่านอุดมการณ์ "แม่ที่ดี" "แม่ที่เสียสละ" ราวกับเป็นความจริงสากลที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงและเป็นกฎธรรมชาติ โดยละเลยมิติที่ละเอียดอ่อนจากการพัฒนาความรู้สึกใกล้ชิดสนิทซึ้งของผู้หญิงในฐานะปัจเจกที่สามารถมีเจตจำนงของตัวเอง ความเป็น "แม่" เป็นบทบาทใหญ่โตที่ทาบทับทุกตารางนิ้วในตัวตนของผู้หญิงคนหนึ่ง ทำให้เธอเชื่ออย่างสนิทใจว่าเมื่อเป็นแม่แล้ว เธอก็ไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างอื่นอีกต่อไป แม่ที่ทำตามความปรารถนาของตัวเอง มากกว่าจะอุทิศตัวตอบสนองความต้องการของคนอื่นคือแม่ที่บกพร่อง เห็นแก่ตัว และมักถูกประณาม สังคมเคร่งครัดกับเรื่องนี้จึงพร่ำสอนและหล่อหลอมอุดมการณ์ความเป็นแม่ที่สูงส่งแบบใดแบบหนึ่ง พร้อมกับปิดตาเราจากความเป็นไปได้อื่นๆแทบทั้งหมด

เราจึงอึดอัดเมื่อเห็นแววตาที่เต็มไปด้วยความปรารถนาของผู้หญิงที่เป็นแม่อย่างแครอล โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันคือความปรารถนาทางเพศที่มีต่อเพศเดียวกัน และเกิดขึ้นในระหว่างที่เธอยังมีพันธะผูกพันอยู่กับผู้ชายอีกคน

สิ่งที่หนังไม่ค่อยได้พูดหรือพูดด้วยน้ำเสียงที่แผ่วเบาเหลือเกินคือ เกิดอะไรขึ้นก่อนหน้านี้ในความสัมพันธ์ระหว่างแครอลและสามี อะไรที่ทำให้สามีภรรยาคู่นี้ต้องเดินมาสู่ช่วงเวลาของการแยกกันอยู่เพื่อเตรียมตัวที่จะเลิกลา “เขาไม่เคยอยู่ฉลองคริสมาสต์กับฉัน” รวมถึงความสัมพันธ์อันเลยเถิดระหว่างแครอลและแอ๊บบี้เพื่อนสนิท ความยุ่งยากบางอย่างในอดีตถูกซ่อนเอาไว้ภายใต้สถานการณ์ใหม่ จึงทำให้ผู้ชมพร้อมจะลืมเลือนไปว่าเคยเกิดเรื่องที่ยุ่งยากไม่น้อยกว่ากัน และเป็นไปได้ว่าอาจจะรุนแรงกว่าในแง่ที่ว่าเป็น “ครั้งแรก”

มองจากมุมของแครอล เธอค้นพบและรับมือกับความรักในหลากหลายแบบ รักที่มี “กรอบ” บางอย่างและวางวิถีทางเอาไว้แล้วอย่างเคร่งครัด รักจากมิตรภาพความเชื่อใจ รักจากความปรารถนาที่ว้าวุ่น อ่อนไหว รักที่ห่วงหาอาทรเกินกว่าจะครอบครองเป็นเจ้าของ และรัก...ที่จะให้ตัวเองได้ตกหลุมรัก และได้รับความรักชนิดเดียวกันจากใครอีกคน แต่เรามองแครอลจากมุมไหน เราตัดสินเธออย่างไร และอะไรที่แฝงอยู่ในการตัดสินเหล่านั้น

ความรักของแครอลกับเธเรสกลายเป็นเรื่องเล่าที่งดงามไม่ใช่แค่พวกเธอต่างตกหลุมรัก แต่เพราะพวกเธอกล้าที่จะปล่อยให้ตัวเองตกหลุมรักภายใต้เงื่อนไขที่แทบจะเป็นไปไม่ได้และท้าทายทุกกรอบของสังคมต่างหาก ภายใต้แววตาที่มาดมั่นปรารถนาของแครอล เรามองเห็นอะไร เราจินตนาการถึงความเจ็บปวดสูญเสียที่เธอผ่านพบมาได้ไหม เกิดอะไรขึ้นตลอดสิบปีของความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับสามี เกิดอะไรขึ้นเมื่อความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างเธอกับแอ๊บบี้เริ่มต้นขึ้นและจบลง และเกิดอะไรขึ้นเมื่อเธอต้องยืนยันที่จะมีชีวิตและทำตามความปรารถนาของตัวเอง

ความรักครั้งใหม่ยิ่งใหญ่กว่าเสมอ?

ในตอนเริ่มต้น ความรักไม่เคยเผยออกมาอย่างน่าเกลียด ไม่ว่าจะว้าวุ่นหวั่นไหวแค่ไหนมันยังคงน่ารักน่าเอ็นดู ส่งผลสะเทือนไหวจนอาจเปลี่ยนแปลงเราไปตลอดกาล ทว่าสิ่งที่ทำให้ความรักยิ่งใหญ่ไม่ใช่มันเริ่มต้นอย่างไร แต่ “จบลง” อย่างไร ความรักครั้งใหม่อาจไม่ได้ยิ่งใหญ่กว่า มันเพียงน่ารักน่าเอ็นดูอย่างที่มันเคยเป็นในครั้งก่อน ความรักที่กำลังจะจบลงต่างหากเล่าที่เผยโฉมหน้าของตัวเองออกมา จะกล่าวให้ชัดเจน “ตัวเรา” หรือ “คน (ที่เคย) รัก” ของเราคนนั้นแท้จริงแล้วคือใครและทำอะไรเมื่อมาถึงวันที่ถูกทำให้เจ็บปวดร้าวรานอย่างที่สุด เราใช้ความรุนแรง ใช้แหล่งอำนาจและเงื่อนไขทุกอย่างที่มีมาต่อรองเพื่อที่จะยึดครองสิ่งที่เราเชื่อมั่นว่าเป็นของเราใช่ไหม เรากลายเป็นปีศาจที่คอยหลอกหลอนกันและกันหรือไม่ เรายังจำภาพที่น่ารักน่าเอ็นดูของตัวเอง ภาพที่งดงามหมดจดงดงามของคนรักในวันก่อนได้ไหม คนมีรักในครั้งที่มันเริ่มต้นไม่เคยเป็นคนที่น่าเกลียด ความกลัวและความเจ็บปวดต่างหากที่ทำให้คนเรากลายเป็นเช่นนั้น ความรักยิ่งใหญ่เสมอเมื่อมันเริ่มต้นและจะกลายเป็นมหากาพย์เมื่อเดินทางไปถึงวันที่ลาจาก เราบอกลากันอย่างไร คือสิ่งที่สะท้อนว่าที่ผ่านมาเรารักกันอย่างไร และเราจะอยู่ในความสัมพันธ์เมื่อความรักไม่เหลือที่ทางของมันอีกต่อไปแล้ว...อย่างไร

ในความรัก บางครั้งเราเดินจาก บางครั้งเราถูกละทิ้ง แต่ในความเจ็บปวดแหลกสลาย เราเท่าทันมากน้อยแค่ไหนกับสิ่งที่อยู่เบื้องหลังคำอธิบายหรือเรื่องเล่าที่เราบรรจงสร้างเพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าการตระหนักว่าฉันไม่ได้รักเธอแล้ว อาจจะง่ายกว่าเขาไม่ได้รักเราแล้ว โดยวิธีหรือศักยภาพในการรับมือกับมันก็แตกต่างกันไป ตบท้ายด้วยฉากสำคัญของเรื่อง ในห้องเจรจาที่อึงอลด้วยการโต้เถียงอย่างเร่าร้อนเรื่องสิทธิในการดูแลเด็กหญิงตัวน้อย แครอลตัดสินใจยืนยันในความรักความปรารถนา ตัวตน และชีวิตต่อไปเบื้องหน้าของตัวเอง เธอตระหนักว่าไม่จำเป็นต้องยื้อแย่งในสิ่งที่ "เป็น" ของเรา ขณะเดียวกันก็ไร้ประโยชน์ที่จะเหนี่ยวรั้งหรือยึดครองสิ่งที่ไม่มีวันเป็นของเราเช่นกัน ในตอนเริ่มต้นเราไม่ได้น่าเกลียดเช่นนั้น เธอกล่าวกับสามีก่อนจากลา

นแง่นี้แครอลคงเป็นเพียงเรื่องเล่าของความรัก การตกหลุมรัก การเลิกราที่เห็นได้ดาษดื่นทุกวี่วัน หากมิใช่คนรักใหม่ที่เธอเลือกคือเพศเดียวกัน จุดต่างเล็กๆนี้เองที่ทำให้เราพบว่าเรื่องเล่านี้มีอีกหลายมิติที่น่าขบคิดว่ามนุษย์พยายามจะควบคุมความรักความสัมพันธ์ระหว่างกัน ด้วยขนบจารีต ชุดคุณค่า บทบาททางสังคม ศีลธรรม ตลอดจนกฎหมายอย่างเข้มข้นเพียงไหน เรามอบอำนาจจัดการและตัดสินให้กับใคร หากพิจารณาให้ซับซ้อนยิ่งขึ้น ความรักและความสัมพันธ์มนุษย์ มิได้ถูกทำให้เรียบง่ายเช่นนั้น หากมันถูกอธิบายภาพในกรอบคิดเรื่องเพศ อำนาจ จารีต ศีลธรรม อุดมการณ์และชุดคุณค่ามากมาย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท