Skip to main content
sharethis

คณะทนายความของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่เดินทางเข้ายื่่นหนังสือต่อสภาทนายความฯ ขอให้มีการตรวจสอบการคุกคามทนายความที่ปฏิบัติตามกฎหมายในสองกรณี สภาทนายความรับนำเรื่องเข้าที่ประชุมหาคุ้มครอง-ประสาน สตช. หารือแนวทางในการปฏิบัติต่อทนายความ

18 ก.พ. 2559 รายงานจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลา 16.30 น. ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พร้อมคณะ เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ถ.ราชดำเนิน เพื่อขอให้ดำเนินการตรวจสอบการคุกคามทนายความโดยมีการแจ้งความดำเนินคดีจากการปฏิบัติหน้าที่ทนายความ ทั้งในกรณีของตนเองคือการเป็นทนายความให้กับสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ซึ่งถูกจับกุมในวันที่ 26 มิ.ย. 2558 และในกรณีของ เบญจรัตน์ มีเทียน ทนายของ ธนกฤต ทองเงินเพิ่ม หนึ่งในผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์จากการถูกล่าวหาว่าร่วมกันวางแผนป่วนกิจกรรม Bike for Dad โดยมี สุวิทย์ เชยอุบล อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ และนายสุนทร พยัคฆ์ อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายเป็นผู้รับหนังสือ แทนนายกสภาทนายความที่ไม่สามารถมาพบได้ในวันนี้

กฤษฎางค์ นุตจรัส หนึ่งในคณะทนายความของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ กล่าวต่อที่ประชุมว่า จากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามค้นรถยนต์ของ ศิริกาญจน์ ซึ่งจอดอยู่หน้าศาลทหาร ในคืนวันที่ 26 มิ.ย. 2558 ภายหลังจากสมาชิกทั้ง 14 คน ของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ถูกนำตัวมาฝากขังที่ศาล จนวันถัดมาตำรวจจึงนำหมายค้นมาแสดง ซึ่ง ศิริกาญจน์เห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายจึงเข้าแจ้งความที่ สน.ชนะสงคราม แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่แจ้งความกลับด้วยข้อหาแจ้งความเท็จและขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานเป็นการกลั่นแกล้งอย่างชัดเจน

พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวถึงกรณีของน เบญจรัตน์ มีเทียนซึ่งได้มอบอำนาจให้มายื่นหนังสือถึงสภาทนายความแทนว่า ศูนย์ทนายความฯ เห็นว่า เบญจรัตน์ได้ถูกคุกคามจากการปฏิบัติหน้าที่ทนายความด้วยเช่นกันและยังได้เคยยื่นหนังสือถึงสภาทนายความมาครั้งหนึ่งแล้ว โดยครั้งนี้มีข้อมูลเพิ่มเติมอีกคือ ขณะนี้เบญจรัตน์ตกเป็นผู้ต้องหาแล้วโดยได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่กองบังคับการปราบปรามเมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา น.ส.เบญจรัตน์จึงอยากขอให้มีการตรวจสอบและช่วยเหลือในกรณีนี้ด้วย ตนเห็นว่ากรณีนี้เป็นประเด็นเดียวกันและเห็นว่าทนายความไม่ควรถูกคุกคามจึงมายื่นหนังสือพร้อมกันในครั้งนี้

กฤษฎางค์เสนอว่า อยากให้สภาทนายความแสดงท่าทีอย่างชัดเจนต่อรัฐหรือหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนและการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความ ซึ่งทางกลุ่มได้มีการปรึกษากันแล้วว่า หากทางสภาทนายความเห็นว่าเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องของรัฐ ซึ่งในกรณีนี้ก็คือเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงอยากทราบว่าเป็นไปได้หรือไม่ถ้าสภาทนายความจะมีการแสดงท่าทีที่ชัดเจนหรือมีการพบปะกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อเจรจาว่าจะยุติเรื่องเหล่านี้อย่างไร เพราะคนเดือดร้อนก็คือลูกความไม่ใช่ทนายความ

กฤษฏางค์กล่าวต่ออีกว่าอยากให้สภาทนายความบรรจุเรื่องการคุกคามทนายความเข้าเป็นวาระในการประชุมใหญ่ของสภาทนายความที่จะมีขึ้นในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ด้วย เพื่อที่จะดูว่ามีทนายความคนอื่นๆ อีกหรือไม่ที่ถูกคุกคามอีก เพราะนอกจากสองกรณีนี้แล้วยังทราบมาว่ามีกรณีทนายความในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือกรณีล่าสุด นายชูชาติ กันภัยที่เป็นทนายความให้กับนายอาเดม คาราดัก (ชื่อจริงคือนายบิลาล โมฮำเหม็ด) ได้ให้สัมภาษณ์ว่าลูกความของตนถูกซ้อมทรมาน แต่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ได้ให้ข่าวต่อสื่อมวลชนในเวลาต่อมาว่าให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบดูแล้วว่าจะดำเนินคดีด้วยข้อหาใดบ้าง ซึ่งหากว่าเห็นสมควรนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมว่าทนายความทั่วประเทศเห็นว่าอย่างไร และต้องมีมาตรการอย่างไร

สุนทร พยัคฆ์ กล่าวว่ากรณีการค้นรถของ ศิริกาญจน์การมาขอค้นตอนตีหนึ่งและไม่มีการแจ้งเหตุขัดข้อง เขาเห็นว่าเป็นการปฏิบัติโดยมิชอบ เพราะฉะนั้นย่อมสามารถดำเนินการทางกฎหมายได้อยู่แล้วและเหตุก็ชัดเจนว่าเขาไปขอหมายศาลก็ต้องไปดูว่าตำรวจให้เหตุผลอะไรในการขอหมายศาล แต่ตอนที่มาขอค้นรถกลับไม่มีการแจ้งเหตุผล ซึ่งในเรื่องนี้ก็มีคำพิพากษาศาลฎีกา

โอฬาร กุลวิจิตร ประธานสภาทนายความภาค 9 (ภาคใต้) กล่าวว่า ที่ผ่านมาเรื่องทนายความถูกคุกคามก็พอมีอยู่บ้างในพื้นที่ภาคใต้ กรณีนี้เห็นว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาวะที่ไม่ปกติ ไม่มีรัฐธรรมนูญที่วางเรื่องสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ในตอนนี้เห็นว่าที่ทางสภาทนายความพอจะทำได้คือการมีหนังสือถึง สตช. เพื่อให้ดูแลเรื่องนี้และทำอย่างตรงไปตรงมา

ดุสิต พรหมสิทธิ์ ตัวแทนของสภาทนายความจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า เมื่อมีการร้องขอให้สภาทนายความช่วยเหลือแล้วจะตรวจสอบข้อเท็จจริง และนอกจากนั้นในกรณีในจังหวัดภาคอีสานที่มีทนายความที่ถูกคุกคามจากการปฏิบัติหน้าที่เหมือนกัน ซึ่งประเด็นนี้ก็จะเอาเข้าที่ประชุมด้วย เพื่อหารือกันว่าจะมีมาตรการอย่างไร

สุวิทย์ เชยอุบล กล่าวว่าจะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม แต่ในความเห็นของตนอาจจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาและประสานกับทาง สตช. เพื่อพูดคุยหาแนวทางในการปฏิบัติต่อทนายความจะต้องเป็นอย่างไร แต่รอเข้าที่ประชุมแล้วให้ที่ประชุมสรุป หากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบ

กฤษฎางค์กล่าวว่า ถ้าสภาทนายฯ ให้เป็นวาระเร่งด่วนได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นๆ แล้วหลังจากนี้ทางกลุ่มก็จะยังคงเดินหน้าในการดำเนินการทางกฎหมายตามมาตรา 157 ต่อ แต่ที่นำเรื่องมาสู่สภาทนายความเพราะต้องการทำให้มีกติกาที่คุ้มครองสมาชิกสภาทนายความทุกคนไม่ใช่เฉพาะแต่พวกตนเอง และทางกลุ่มยินดีจะเข้าให้ข้อมูลต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหากสภาทนายความจะมีการเข้าพบ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net