Skip to main content
sharethis

จากความเดือดร้อนการถูกแย่งยึดทรัพยากรที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ส่งผลกระทบความเดือดร้อนต่อชุมชนในส่วนของภาคอีสาน และในสถานการณ์ปัจจุบันความเคลื่อนไหวทางด้านนโยบายได้เกิดขั้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ ที่ดิน และสิ่งแวดล้อมต่างๆ มีแนวโน้มก่อผลกระทบต่อชาวบ้านอย่างรุนแรงในอนาคต จึงเป็นที่มาของการจัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการทนายความและนักสิทธิมนุษยชน (ภาคอีสาน) เรื่อง ยุทธศาสตร์ในงานคดีที่ดินและป่าไม้ ในช่วงวันที่ 20 - 21 ก.พ. 59 ณ ห้องอินทนิล คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม จัดโดย ศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมกับ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ Asian Institute for Human Rights (AIHR) หรือ สถาบันเอเชียเพื่อสิทธิมนุษยชน

โดยมีนักสิทธิมนุษยชน เช่น นายสมชาย หอมลออ และนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ (มูลนิธิผสานวัฒนธรรม) นักกฎหมาย ทนายความ อาทิ นายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา และนายถนอมศักดิ์ ระวาดชัย (ศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน) และตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน รวมทั้งนักวิชาการ เช่น ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ และ ดร.อลงกรณ์ อรรคแสง จากมหาวิทยาลัยสารคาม เข้าร่วมเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ รวมทั้งประเมินสถานการณ์ เพื่อร่วมกำหนดการทำงานเชิงยุทธศาสตร์บทบาทของนักกฎหมาย ทนายความ นักวิชาการ และนักสิทธิมนุษยชน โดยใช้กลไกทางกฎหมายและสิทธิมนุษยชนในการสนับสนุนเพื่อปกป้องสิทธิ และสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนและชุมชนในภาคอีสาน

นายสมนึก ตุ้มสุภาพ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนากฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ชี้แจงว่า จากสภาพปัญหาข้อพิพาทและความขัดแย้งในแต่ละกรณีที่เกิดขึ้น ล้วนมีมูลเหตุสำคัญมาจากโครงสร้างรัฐที่ได้กำหนดการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยผ่านกลไกหลักต่างๆ ที่ส่วนใหญ่ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เช่น ระเบียบกฎเกณฑ์ กฎหมาย ข้อบังคับ ทั้งจากนโยบายต่างๆ เช่น แผนแม่บทป่าไม้ฯ นโยบายทวงคืนผืนป่า ทำให้ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่ใช้ประโยชน์ในพื้นที่มาก่อน กระทั่งเกิดเป็นปัญหาคดีความขึ้นมา จากสถิติที่เป็นทนายความทำคดีให้กับชาวบ้านในภาคอีสาน พบว่าผู้ได้รับผลกระทบถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก ซึ่งคดีส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นชาวบ้านที่ถูกข้อพิพาทในเรื่องที่ดินทำกิน โดยส่วนมากจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งในสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรของประชาชนและชุมชน

“จากที่ได้มีการวิเคราะห์ร่วมกัน คาดว่าในอนาคตมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชนมากขึ้น จึงได้ร่วมกันจัดเวที “ยุทธศาสตร์ในงานคดีที่ดินและป่าไม้” เป็นการรวมตัวของ ทนายความ นักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน และนักศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ คณะวิทยาลัยการเมืองการปกครอง จากมหาวิทยาลัยสารคาม รวมทั้งตัวแทนองค์กรภาคประชาชนที่เป็นผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่  เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเด็นต่างๆของแต่ละพื้นที่ ในการที่จะเข้ามาร่วมกันสร้างเครือข่ายเข้าไปหนุนเสริมการทำงาน ยกระดับการดำเนินงานกับชาวบ้านในพื้นที่ให้เกิดการเรียนรู้ในด้านกฎหมาย ทันต่อสถานการณ์ และให้ความช่วยเหลือชาวบ้านในด้านคดีความที่เกิดขึ้น"

นายสมนึก เพิ่มเติมอีกว่า นอกจากนี้ยังจะเป็นการพัฒนาคุณภาพไปสู่การเป็นอาสาสมัครของนักศึกษา รวมทั้งนักกฎหมายรุ่นใหม่  ให้มีความรู้ในการเข้ามาร่วมกันศึกษา เกิดความเข้าใจถึงปัญหาคดีความ และความไม่เป็นธรรมต่างๆ นอกจากเป็นการให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายให้กับผู้ถูกละเมิดสิทธิ์แล้ว ยังจะได้ร่วมกันรณรงค์เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะ โดยใช้กลไกทางกฎหมายและหลักด้านสิทธิมนุษยชนในการสนับสนุน ถือเป็นบทบาทสำคัญในอีกช่องทางหนึ่งของ ทนายความ นักสิทธิมนุษยชน รวมทั้งนักศึกษา และนักกฎหมายรุ่นใหม่ๆ ที่จะมาร่วมกันปกป้องสิทธิ และร่วมกันสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนและชุมชน เป็นการต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net