Skip to main content
sharethis

23 ก.พ. 2559 สำนักข่าวบีบีซีไทย รายงานว่า การเพิ่มขึ้นของทีวีจากระบบอนาล็อกเดิมที่มีอยู่เพียง 6 ช่อง เป็น 26 ช่องดิจิทัล เมื่อปีที่ผ่านมา ผลักดันให้สื่อทีวีดิจิทัลไทยต้องปรับตัวกันอย่างหนักในภาวะที่แข่งขันกันสูง โดยมี 2 สถานีที่ต้องปรับลดพนักงานลง ขณะที่บริษัทไทยทีวี จำกัด ซึ่งผู้บริหารเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจากนิตยสารทีวีพูลนั้น ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองให้คุ้มครอง กรณีที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรียกชำระเงินค่าประมูลงวดที่ค้างอยู่ จำนวน 1,748 ล้านบาท ภายใน 30 วัน ซึ่งวันนี้มีการไต่สวนที่ศาลปกครอง

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. ที่เข้าให้ปากคำต่อศาลปกครองระบุว่า ได้ชี้แจงต่อศาลว่าหากศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ตามที่บริษัทไทยทีวีร้องขอนั้นจะเกิดความเสียหายมาก รวมทั้งส่งผลกระทบต่อการบริหาร ของ กสทช. โดยหากศาลสั่งคุ้มครองให้บริษัทไทยทีวี ก็อาจจะส่งผลให้อีก 22 ช่อง ใช้เหตุผลเดียวกันเพื่อไม่ต้องจ่ายเงินประมูลงวดที่เหลืออยู่ และอาจส่งผลต่อการประมูล 4G ที่เพิ่งเสร็จสิ้นลง เพราะอาจทำให้เกิดการไม่จ่ายเงินประมูลในงวดถัดๆ ไปได้ โดยอ้างจากการพิจารณาคดีนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของแผ่นดินที่เกิดจากการประมูล และการจัดเก็บรายได้ที่เกี่ยวข้อง

ในด้านของผู้ประกอบการ แหล่งข่าวจากทีวีดิจิทัลอย่างน้อย 3 ช่อง บอกกับบีบีซีไทยว่า การที่ กสทช. อนุมัติช่องทีวีดิจิทัลพร้อมกัน 26 ช่องนั้นส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่มากขึ้นหลายเท่าในทันที จากที่ก่อนหน้านี้ประเทศไทยมีสถานีโทรทัศน์ช่องหลักเพียง 6 ช่องเท่านั้น ในจำนวนนี้บางช่องอัตราค่าโฆษณาลดราคาลงเหลือเท่ากับช่องดาวเทียม คือราว 5,000-7,000 บาท ต่อนาที หรือในบางช่วงเวลาอาจลดลงไปต่ำถึงราว 2,000 บาท ขณะที่บางช่องมีโปรโมชั่นโฆษณา 1 นาที แถม 3 นาที เป็นต้น ซึ่งรายรับในระดับนี้ ส่งผลกระทบต่อการผลิต และค่าตอบแทนคนทำงานในองค์กรต่างๆ

นายสุวิทย์ มิ่งมล สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สวัสดิการพนักงานของ อสมท. นั้นได้รับผลกระทบและกล้าพูดว่าเป็นผลกระทบโดยตรงจากการเปิดทีวีดิจิทัลพร้อมกันถึง 26 ช่อง โดยคำถามที่เขาทวงถาม กสทช. มาตลอดก็คือ “กสทช. เอาหลักเกณฑ์อะไรมาพิจารณาในการเปิดทีวีดิจิทัลพร้อมกันมากขนาดนี้ และจะรับผิดชอบอย่างไร”

ทั้งนี้ ในส่วนของสวัสดิการพนักงานของ อสมท. นั้น นายสุวิทย์กล่าวว่า ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันกับสถานีดิจิทัลอื่นๆ โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ ซึ่งถือว่าล่าช้ากว่าปกติแล้ว

สำหรับกรณีล่าสุด ที่วอยซ์ทีวีมีการปลดพนักงานจำนวน 57 คน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยนายพยุงศักดิ์ ชาญด้วยวิทย์ ผู้อำนวยการอาวุโสบริษัทวอยซ์ทีวี จำกัด ยืนยันว่า มีการปลดพนักงานจริง เพื่อปรับองค์กรให้มีขนาดเหมาะสมในการทำงานที่มีภาวะการแข่งขันสูงมากในธุรกิจทีวีดิจิทัล และชี้แจงว่าได้จ่ายค่าชดเชยอย่างเป็นธรรมตามกฎหมายแรงงาน ขณะที่จะมีการแถลงแนวทางธุรกิจของบริษัทในวันที่ 29 ก.พ. นี้

ก่อนหน้านี้ ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว สถานีสปริงนิวส์ได้ลดอัตราพนักงานลงไปเกือบ 100 อัตรา โดยให้เหตุผลว่า ทางสถานีมีการปรับโครงสร้างขององค์กรเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย และมีเป้าหมายในการเป็นสถานีข่าวอันดับ 1 ของประเทศในทุกแพลตฟอร์ม ในปี 2559 ซึ่งนอกจากปรับลดพนักงานลงแล้วยังวางนโยบายพัฒนาเนื้อหาข่าวด้านเศรษฐกิจและต่างประเทศ รวมถึงมีการเปิดคลื่นสถานีข่าว “FM98.5 สถานีข่าวจริง สปริงเรดิโอ” ด้วย

สำหรับผลกระทบในด้านธุรกิจนั้น บางช่องดิจิทัลได้เลือกวิธีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจาก กสทช. ในฐานที่ไม่ส่งเสริม สนับสนุน และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้หรือมั่นใจในการเปลี่ยนมารับชมทีวีดิจิทัล ทั้งละเลยต่อหน้าที่ในการออกกฎเกณฑ์ประกาศ เพื่อส่งเสริมให้มีการแข่งขันทางการค้าในการประกอบการทีวีดิจิทัล โดย จีเอ็มเอ็ม วัน, จีเอ็มเอ็ม ชาแนล, ไทยรัฐทีวี และไบร์ททีวี ได้รวมตัวกันฟ้องร้องต่อศาลปกครองโดยเรียกค่าเสียหายกว่า 9,000 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และศาลปกครองได้เรียกคู่กรณีทั้งหมดไต่สวนเมื่อวันที่ 31 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มผู้ฟ้องได้เรียกร้องให้ กสทช. เยียวยา 5 ประเด็นหลักคือ

1. กำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาต (รายปี) และการกำหนดเงินเรียกเก็บเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) 2. สนับสนุนค่าใช้จ่ายส่งสัญญาณดาวเทียม ตามกฎมัสแครี่ (บังคับให้ออกอากาศในทุกช่องทาง) 3. สนับสนุนการจัดทำเรตติ้งทีวีดิจิทัล 4. เลื่อนจ่ายค่าธรรมเนียมงวด 3 (พ.ค.2559) และ 5. ออกประกาศจัดลำดับช่องทีวี

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการไต่สวนของศาลปกครอง และฝ่ายโจทก์ได้ยื่นข้อเรียกร้องเพิ่มเติมเรียกค่าเสียหายเป็นวันละ 21 ล้านบาท โดยระบุว่า กสทช. ได้แก้ปัญหาไปเพียง 1 ข้อ จากทั้งหมด 5 ข้อ คือ การออกประกาศจัดลำดับช่องทีวีเท่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net