Skip to main content
sharethis

สำรวจการใช้ไอทีเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยในแอฟริกา โดยที่บูร์กินา ฟาโซ ใช้วิธีเปิดเผยผลเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ ที่เคนย่า มีแอพลิเคชัน "Go To Vote" ใช้ค้นหาสถานที่ลงคะแนนเลือกตั้งในช่วงที่เกิดวิกฤตความรุนแรง โดยแอพนี้ยังถูกนำไปใช้ที่กานา ซิมบับเว และมาลาวี - การตรวจสอบ "บัตรเลือกตั้งผี" ในอูกันดา - ไนจีเรียมีแอพตรวจสอบนโยบายหาเสียงของนักการเมืองว่าทำสำเร็จกี่เรื่อง - และในอูกันดา-แอฟริกาใต้ก็มีเว็บไซต์ช่วยให้ประชาชนตรวจสอบการร่างกฎหมาย

ที่มาของภาพประกอบ: Code for Africa

25 ก.พ. 2559 สตีเฟน แอบบอต โพกห์ ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานว่าผู้คนเริ่มความตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของข้อมูลมากขึ้น จากที่แต่เดิมแล้วข้อมูลเหล่านี้มักจะถูกเก็บและปิดกั้นโดยรัฐบาล

โดยมีการยกตัวอย่างกรณีในประเทศเคนยา และบูร์กินา ฟาโซ ที่เคยเกิดเหตุความวุ่นวายหลังการเลือกตั้งเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้ในการเลือกตั้งปี 2558 บูร์กินา ฟาโซใช้วิธีการเปิดเผยข้อมูลการเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ซึ่งหมายถึงการรายงานผลการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องทันที ในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มภาคประชาสังคมช่วยสร้างความโปร่งใสด้วยการคอยตรวจสอบความแม่นยำ

โพกห์ระบุว่าหลังเกิดเหตุรุนแรงในเคนยา ทีมงานโครงการ 'โค้ดฟอร์แอฟริกา' (Code for Africa) ของเขาก็ได้สร้างชุดเครื่องมือออนไลน์แบบโอเพ่นซอร์สที่ชื่อ 'โกทูโหวต' (Go To Vote) ที่เป็นช่องทางให้ผู้คนสามารถส่ง "ข้อความเชิงสันติ" และค้นหาว่าพวกเขาจะสามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ที่ใดบ้าง หลังจากนั้นก็มีการนำเครื่องมือเดียวกันนี้ไปใช้ในประเทศอื่นๆ แถบแอฟริกาอย่างกานา ซิมบับเว และมาลาวี ที่สามารถช่วยเหลือผู้คนในประเทศเหล่านี้ได้ 300,000 คน นอกจากนี้ยังทำให้กลุ่มผู้ที่มีความรู้เรื่องข้อมูลพบความไม่ชอบมาพากลในผลการเลือกตั้งที่เผยแพร่โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งของอูกันดาที่มีการลงทะเบียน "บัตรผี" ราว 20,000 รายชื่อ

นอกจากนี้ยังมีการยกตัวอย่างโปรแกรมติดตามผลคำมั่นสัญญาของนักการเมืองในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งว่ามีการทำตามคำมั่นสำเร็จกี่เรื่องเช่น 'บูฮารีมิเตอร์' (Buharimeter) ในไนจีเรีย ขณะที่ในอูกันดาและในแอฟริกาใต้ก็มีเว็บไซต์ตรวจสอบการทำงานของนักการเมืองและกระบวนการร่างกฎหมายที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย

โพกห์ระบุว่าการทำให้มีการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อสร้างความโปร่งใสเหล่านี้ได้โดยเสรีเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติที่มีการลงนามเมื่อเดือน ก.ย. 2558 แต่ก็ยังประสบปัญหาเรื่องคุณภาพของข้อมูล การดึ้อดึงของรัฐบาลและการขาดความรู้ด้านเทคโนโลยีในการเผยแพร่ข้อมูลออนไลน์

ถึงแม้ว่าทางโค้ดฟอร์แอฟริกาจะพยายามสร้างโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนมากขึ้น แต่ก็ยังมีความกังวลในเรื่องที่รัฐบาลหลายแห่งออกกฎหมายจำกัดการปฏิบัติการข้อมูลของกลุ่มเอ็นจีโอ มีการสอดแนมข้อมูลประชาชนจากรัฐ และรัฐบาลบางแห่งก็มีการปราบปรามสื่อและภาคประชาสังคมหนักหน่วงขึ้น นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคเรื่องการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยที่ประชากรโลก 4,000 ล้านคนยังไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้จากข้อมูลของธนาคารโลก อย่างไรก็ตามประชากรโลกเริ่มสามารถเข้าถึงข้อมูลออนไลน์ผ่านทางโทรศัพท์มือถือได้มากขึ้น ซึ่งโพกห์เชื่อว่าการเพิ่มการตระหนักรู้ในเรื่องการใช้ข้อมูลและวัตถุประสงค์ของข้อมูลจะเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนในสังคม

 

เรียบเรียงจาก

Can democracy spread at the push of a button?, The Guardian, 24-02-2016 http://www.theguardian.com/global-development/datablog/2016/feb/24/can-democracy-spread-data-monitor-governments-africa

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net