รอยช้ำบนกลีบบาง ตอนจบ: ชีวิตเด็กใจกลางความรุนแรงชายแดนใต้

ในตอนแรกของรายงาน เราได้รับรู้เรื่องราวของเด็กๆ สมาชิกบ้านลูกเหรียงหลายคนที่ได้รับการเยียวยาและช่วยเหลือไปแล้ว ในตอนที่สองเราจะได้รู้จักกับสมาชิกใหม่แห่งบ้านลูกเหรียงพร้อมเหตุการณ์สะเทือนใจที่เกิดขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัวและเตรียมใจ พร้อมกับการให้ความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐอย่าง พัฒนาสังคมจังหวัด, ศอ.บต. และหน่วยงานอื่นๆ

เด็กซนนัยน์ตาเศร้ากับความจริงที่ยังทำใจไม่ได้

เด็กชายตัวเล็ก นัยน์ตาเศร้า ดูเหงา และเลื่อนลอย แต่ยังแฝงไปด้วยความซนเหมือนเด็กทั่วไป  หากดูผ่านๆ เขาก็คงจะเหมือนกับเด็กชั้นป. 5 คนอื่นที่วิ่งเล่นไปทั่ว เตะบอล เกาะขอบหน้าต่างแล้วพึมพำอย่างมีจินตนาการ แต่จริงๆ แล้วชีวิตของเขามีแผลฉกรรจ์ และอาจเกินกว่าที่เด็กชั้นประถมธรรมดาๆ จะรับได้

เราได้พบกับ น้องฟุรกอน จากการจัดกิจกรรมค่ายเยียวยาและรับทุนการศึกษาของกลุ่มลูกเหรียงที่สำนักงานการศึกษาธิการ 12 จังหวัดยะลา ตอนนั้นมีการแบ่งกลุ่มกิจกรรมสร้างสรรค์งานศิลปะจากไหมพรม

ฟุรกอนนั่งทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ อย่าตั้งใจแต่เมื่อเวลาผ่านไป เพื่อนๆ ต่างก็แยกย้ายไปตามกลุ่มต่างๆ เหลือเพียงเขาคนเดียวที่นั่งม้วนไหมพรมอย่างช้าๆ และตั้งใจอยู่อย่างนั้น หลังจากนั่งสังเกตอยู่นาน บทสนทนาก็ได้เริ่มต้นขึ้น เขาเล่าให้ฟังว่า

 “ผมมาเข้าค่ายที่นี้ครั้งแรกครับ พี่ผมพามา” หลังจากนั้นเขาก็เงียบไปแล้วไม่พูดอะไรอีก เราใช้เวลาร่วมกิจกรรมกับเขาอีกนาน จนเขาเริ่มพูดคุย

“ทุกวันนี้ผมอยู่ที่บ้านยาย มีพี่ๆ ดูแล มาเข้าค่ายครั้งนี้สนุกมาก พี่ลูกเหรียงดูแลผมดี มีขนม มีพี่มาเล่นด้วย ผมได้รู้จักกับพี่ดำ ตอนนี้เวลาไปโรงเรียนผมได้เงินไปโรงเรียนวันละ 40 บาท ที่โรงเรียนผมสอนทั้งวิชาสามัญและวิชาศาสนา ผมชอบเรียนวิชาอัลกุรอ่าน อัลหะดีษ”

“โตขึ้นผมอยากเป็นทหาร เพราะพี่ทหารเขามาตั้งด่านที่ใกล้ๆ บ้าน ผมชวนเพื่อนไปเล่นกับพี่ๆ ทหาร เล่นฟุตบอลกัน พวกพี่ทหารมาเล่นกับผม  ผมจำได้ตอนนั้นผมเริ่มผมยาวแล้ว พี่ทหารชวนผมไปตัดผมที่กองร้อยพี่เขา ผมชอบ แล้วอีกอย่างเป็นทหารได้ถือปืนด้วย”  เขาเล่าเรื่องอย่างช้าๆ ส่วนในมือก็กำลังเรียบเรียงไหมพรมให้เป็นงานศิลปะอย่างตั้งใจ

 

ทุกวัน ป้าจะเป็นคนช่วยจัดเตรียมชุดนักเรียนให้ ส่วนการดูแลก็จะเป็นญาติๆ และพี่ๆของเขาที่ช่วยๆ กัน ในวันเสาร์-อาทิตย์เขาจะเข้ามาในตัวเมืองพร้อมกับพี่เพื่อนำยางมาขาย  

“วันเสาร์อาทิตย์ผมจะมาอยู่กับพี่ในตัวเมืองยะลา พายางมาขาย พี่ให้เงิน 20 บาท ตอนเย็นก็กลับบ้านยาย ไปเล่นกับเพื่อน ไปเตะบอล แล้วกลับมาอาบน้ำแต่งตัวไปละหมาด อ่านอัลกุรอ่านกับโต๊ะอีหม่ามที่บ้าน”

เมื่อกลับจากค่ายมอบทุนและเยียวยาที่กลุ่มลูกเหรียงจัดขึ้น น้องฟุรกอนได้โพสต์ลงในเฟสบุ๊กของเขาว่า

“วันนี้ครบรอบร้อยวันพ่อกับแม่ ใครจำได้บ้าง”

นายอิสมาแอ ตอกอย เจ้าหน้าที่กลุ่มลูกหรียงให้สัมภาษณ์ว่า ในกรณีของน้องฟุรกอน เหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้นช่วงน้องเรียน ป.4 ปิดเทอมใหญ่ ตอนนี้น้องก็เรียน ป.5 น้องเป็นเด็กใหม่มาเข้าค่ายนี้ครั้งแรก

“ผมได้รู้จักกับพี่สาวน้องเขาผ่านปลัดตำบลกาบา จังหวัดยะลา เนื่องจากทางปลัดเองก็ไม่แน่ใจว่าควรเยียวยาสภาพจิตใจของเด็กอย่างไร เราขอตัวของน้องมาเข้าค่าย สร้างกำลังใจ คือ เหตุการณ์มันเพิ่งเกิด พอพูดถึงพอแม่ เด็กจะเจ็บแค้นมาก” อิสมาแอเล่า

ช่วงเวลากลางคืนของค่ายนี้จะมีกิจกรรมให้น้องเล่าเรื่องที่อยู่ในใจให้เพื่อนๆ ฟัง บางคนร้องไห้ บางคนไม่กล้าพูด แต่พอได้พูดแล้วพวกเขามักจะเล่ามันออกมาหมดด้วยความอัดอั้นใจ กลุ่มลูกเหรียงบอกว่านี่เป็นวิธีการเยียวยาอย่างหนึ่ง เป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กๆ พร้อมมีเพื่อนๆ ของเขารับฟัง

เพชรดาว โต๊ะมีนา : ปัญหาสภาพจิตใจของเด็ก แสดงออกไม่ชัดและต้องดูแลยาว

เพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้อำนวยการศุนย์สุขภาพจิตที่ 16 กรมสุขภาพจิต จ.ปัตตานี ผู้มีประสบการณ์ในการทำงานกับเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้มายาวนาน เล่าว่า ความยาวนานของปัญหาความรุนแรงในภาคใต้นั้นเกิดขึ้น 12 ปีแล้ว ปัญหาในทางจิตวิทยาภาพรวมในหมู่เยาวชนก็คือ พวกเขาจะเกิดความชินชากับการสัมผัสกับความรุนแรงตั้งแต่เกิด แม้เด็กจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น เด็กเห็นรถถัง เห็นปืน เห็นทหารตั้งแต่เด็กจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ หากเปรียบเทียบกับเด็กในจังหวัดอื่นๆ เด็กที่อื่นแทบจะไม่เคยเห็นรถถัง เห็นปืนใกล้ขนาดนี้ เพราะฉะนั้นเด็กมีแนวโน้มจะชินชาและก้าวร้าว การใช้ความรุนแรงอาจกลายเป็นเรื่องปกติ หากไม่ได้รับการบอกกล่าวแนะนำเด็กอาจมีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรงตอบโต้หรือแก้ไขปัญหาต่างๆ แม้เป็นเพียงเรื่องเล็กๆ

สำหรับเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงโดยตรง หมอเพชรดาวกล่าวว่า การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักเป็นบาดแผลใหญ่มาก หากเป็นผู้ใหญ่ทั่วไปกว่าเราจะทำใจได้หรือรู้สึกดีขึ้นก็เมื่อ 1 เดือนผ่านไป แต่หากเป็นเหตุการณ์กระทันหันอย่างเหตุการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ ถ้าระยะเวลา 1 เดือนไม่หาย จะต้องมีการประเมินสุขภาพจิต

“เด็กมักเป็นโรคเครียดหรือซึมเศร้าภายหลังจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญ มันเป็นโรคที่ร้ายแรงที่สุด และเด็กก็เกิดโรคนี้มากด้วย ที่น่าเป็นห่วงคือ เรามักจะคิดว่าเด็กไม่รู้เรื่อง เด็กยังพูดไม่ได้ อันที่จริงแล้วเด็กจะมีพัฒนาการตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ ยกตัวอย่างว่า มีคุณครูโรงเรียนหนึ่งตั้งครรภ์ นั่งรถคุ้มครองครูเพื่อไปโรงเรียน ระหว่างทางมีการระเบิด คุณครูที่กำลังตั้งครรภ์ก็กระเด็นออกมาจากรถ เหตุการณ์นั้นมีทหารเสียชีวิตด้วย แต่คุณครูปลอดภัย ปรากฏว่าหลังจากนั้นหมอมีโอกาสไปเจอเขาหลายปีถัดมา น้องที่คลอดออกมากลายเป็นคนที่กลัวเสียงดังทุกชนิด เพราะแกรับรู้ตั้งแต่อยู่ในท้อง ทั้งที่ไม่ได้เห็นเหตุการณ์เลย ฉะนั้นผลกระทบต่อเด็กมันรุนแรงมากกว่าที่เราเห็นๆ กัน และที่สำคัญมันไม่แสดงออกมาให้เห็นชัด มันต้องไปค้น มันต้องไปประเมินโดยเฉพาะ ถึงจะบอกได้” พญ.เพชรดาวอธิบาย

“บางครั้งเราอาจจะคิดว่า ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็ดีขึ้น แต่ 10-20 ปีที่ผ่านมามีงานวิจัยพบว่า เด็กที่เกิดในสถานการณ์ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงจากภัยธรรมชาติหรือความรุนแรงจากน้ำมือมนุษย์อย่างบ้านเรา เราต้องดูแลเด็กระยะยาว” นักจิตวิทยาย้ำ  

อย่างไรก็ตาม การสังเกตผลกระทบที่เกิดกับเด็กนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เธอบอกว่าหากเป็นเด็กเล็กที่ยังพูดไม่ได้ เด็กแสดงออกผ่านพฤติกรรมกระจองอแง ไม่ยอมห่างพ่อแม่ ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นต้องให้ความรู้กับพ่อแม่ด้วย เพราะพ่อแม่บางคนก็มักจะรำคาญ

“ต้องเข้าใจด้วยว่าจิตใจของเด็กนั้นเซนสิทีฟกว่าผู้ใหญ่มาก” เพชรดาวกล่าวและว่า สำหรับเด็กที่พูดได้แล้วหากอายุเกิน 5 ขวบ เด็กมักมีปัญหาสุขภาพจิต ไม่อยากพูด ไม่อยากเล่า เด็กจะเริ่มแยกตัว ต่อหน้าคนทั่วไปอาจแสดงอาการว่าปกติดี แต่ถ้าสังเกตจะเห็นว่าเขาจะพยายามแยกตัว นั่งซึม กัดนิ้ว เล่นผม เช่นกรณีน้องฟุรกอนที่ปรากฏในบทสัมภาษณ์นั่นจำเป็นต้องดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด

เพชรดาวแสดงความกังวลว่า ปัญหาสุขภาพจิตในเด็กที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากความรุนแรงนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก แม้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขมีแผนกที่จะให้คำปรึกษา ดูแลรักษาด้านนี้อยู่ทุกแห่ง แต่พ่อแม่หรือญาติเด็กมักไม่พาเด็กเข้ามา  เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าเด็กมีปัญหาสุขภาพจิต ฉะนั้นจึงมีปัญหาว่าการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพจิตของเด็กในพื้นที่จะน้อยมาก ทั้งที่ยิ่งเด็กมาเจอผู้เชี่ยวชาญมากเท่าไร ผลกระทบระยะยาวก็จะน้อยลงเท่านั้น

จากสภาพปัญหานี้ทำให้เห็นว่า การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจะทำงานเชิงรับอย่างเดียวไม่ได้ ต้องรุกเข้าไปในพื้นที่ที่รู้ว่าเด็กมีปัญหา แต่หากจะให้โรงพยาบาลเป็นตัวหลักคงเป็นไปได้ยากเพราะงานของโรงพยาบาลก็มีเยอะมากอยู่แล้ว ฉะนั้นเพชรดาวเห็นว่าส่วนที่มีบทบาทหลักตรงนั้นได้ก็คือ โรงเรียน

หมอเพชรดาวเล่าถึงโครงการที่เธอร่วมกับองค์กรอื่นประสานงานกับ โรงเรียน โรงพยาบาล ชุมชน เพื่อให้ทำงานร่วมกันในการเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง โดยมีโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบ 800   แห่งทั้งที่ถูกเผา ถูกยิง ครูเสียชีวิต ฯลฯ โดยใช้ข้อมูลจากศูนย์วิจัยชายแดนใต้ (ศวชต.)

“เราขอคัดข้อมูลเพื่อให้ครูนำแบบประเมินไปให้เด็กทำ กรณีเด็กไม่ไปโรงเรียนหรืออยู่นอกระบบ และไม่รู้ว่าตัวเองป่วย กรณีนี้เป็นหน้าที่ของชุมชน ชุมชนต้องรู้ว่ามีกี่บ้านที่มีเด็กได้รับผลกระทบ พ่อหรือแม่เสียชีวิต เราก็บอกชุมชนให้ทำแบบประเมินง่ายๆ 2-3 ข้อ ถ้าพบว่าเสี่ยงก็ส่งต่อไปยังโรงพยาบาลหรือ รพ.สต.ใกล้เคียง เป็นระบบกรองไปเรื่อยๆ เมื่อมาถึงเราก็คือกรองมาแล้วจะได้รักษาตรงจุด” เพชรดาวกล่าว

สำหรับการดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาขององค์กรพัฒนาเอกชนอย่าง กลุ่มลูกเหรียง เพชรดาวเห็นว่า กลุ่มนี้มีจุดแข็งตรงที่สามารถรวบรวมน้องๆ ที่ได้รับผลกระทบได้ และเป็นกลุ่มที่มีประสบการณ์ตรงจากครอบครัวของพวกเขาเอง ฉะนั้นการที่คนที่มีประสบการณ์ร่วมใกล้เคียงกันมาอยู่รวมกัน พูดคุยกันก็ย่อมจะเข้าใจกันมากกว่า

“หมออาจจะพูดตามทฤษฎี แต่กลุ่มเหล่านี้พูดจากประสบการณ์ มีพี่เลี้ยงในการพัฒนาศักยภาพ น้องๆ ที่มีปัญหาตอนแรกทุกคนรู้สึกว่าปัญหาตัวเองนั้นหนักมาก แต่พอได้ฟังเรื่องของเพื่อน เธออยู่ได้ ฉันก็อยู่ได้ ฉะนั้นการรวมกลุ่มอย่างนี้มีจุดเด่นอย่างหนึ่งที่รู้สึกว่าเราเห็นมีคนที่มีประสบการณ์ใกล้เคียงกัน ทำให้ก้าวข้ามความรู้สึกว่าเราด้อยกว่า เราสูญเสียมากกว่า เมื่อก้าวข้ามได้ตรงนี้แล้วจะเดินไปสู่จุดอื่นได้ง่ายขึ้น กลุ่มลูกเหรียงถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่ทำงานได้ประสบความสำเร็จค่อนข้างดีในการเยียวยา” เพชรดาวกล่าว

หน่วยงานรัฐกับการดูแลให้ความช่วยเหลือและเยียวยา

ในกรณีของน้องฟุรกอนที่ได้กล่าวถึงไปในตอนต้นนั้น เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดยะลา รอฮานา เดะซอ เปิดเผย ว่า ฟุรกอนสูญเสียพ่อและแม่เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2558 ทางกรมฯ ได้ให้การดูแลและให้การช่วยเหลือพี่สาวของฟุรกอนวัย 17 ปีอีกคนหนึ่งด้วย ทุกวันนี้พี่ชายได้ขอเป็นครอบครัวอุปการะแทนพ่อกับแม่ที่เสียชีวิตไป โดยทางกรมจะโอนเงินช่วยเหลือให้กับครอบครัวอุปถัมภ์ 7,500 บาท/เดือน

สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

รอฮานา เดะซอ ผู้ช่วยปฏิบัติงานพัฒนาสังคม จ.ยะลา เล่าถึงทิศทางการเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐว่า กรมพัฒนาสังคมฯ จะเริ่มเข้าไปมีบทบาทตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ขึ้นใหม่ๆ โดยจะมีการแจ้งเหตุไปยังโรงพยาบาล มีการรับรองจากสนาม คือ ทหาร ตำรวจ และกรมการปกครอง จากนั้นจะมีการส่งเรื่องไปศูนย์เยียวยาจังหวัด จากนั้นทางศูนย์เยียวยาฯ จะส่งเรื่องมายังกรมพัฒนาสังคมฯ รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ เทศบาล กระบวนการยุติธรรม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกระทรวงศึกษาธิการหรือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา อย่างไรก็ตาม บทบาทของกรมพัฒนาสังคมฯ นั้นเป็นหน่วยงานหลักที่มุ่งเน้นในการช่วยเหลือเด็กที่ได้รับผลจากเหตุการณ์ทั้งในเรื่องของค่าครองชีพ ค่าเทอม และจัดหาครอบครัวบุญธรรมให้กับเด็ก

อัตราความช่วยเหลือเบื้องต้น แบ่งเป็น

1.สังคมสงเคราะห์เฉพาะหน้า กรณีบุคคลทั่วไปเสียชีวิต ครอบครัวจะได้รับรายละ 6,000 บาท ซึ่งยกเว้นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หากกรณีบาดเจ็บจะได้รายละ 3,000 บาท ยกเว้นเจ้าหน้าที่รัฐเช่นกัน

2.เงินยังชีพรายเดือนต่อเนื่องแก่เด็กก่อนวัยเรียน นักเรียน นักศึกษา ที่บิดามารดา หรือ ผู้อุปการะเสียชีวิต บาดเจ็บสาหัสและทุพพลภาพ หรือเด็กก่อนวัยเรียน นักเรียน นักศึกษา ที่บาดเจ็บสาหัส หรือทุพพลภาพ จนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี อายุไม่เกิน 25 ปี ดังนี้

ระดับอนุบาล/ประถมศึกษา รายละ 1,000 บาท/คน/เดือน

ระดับมัธยมศึกษา/กศน./เด็กก่อนวัยเรียน รายละ 1,500 บาท/คน/เดือน
ระดับอุดมศึกษา รายละ2,500 บาท/คน/เดือน

แต่ในกรณีที่ไม่ศึกษาจะไม่ได้รับค่าใช้จ่ายรายเดือน

ในส่วนของการจ่ายเงินให้กับช่วยเหลือครอบครัวผู้ที่อุปการะเด็กที่บิดามารดาเสียชีวิตจากจังหวัดชายแดนใต้ จชต. แบบครอบครัวอุปถัมภ์ รายละ 2,000 บาท/เดือน แต่ในกรณีอุปการะสองคนขึ้นไปจะเหมาจ่าย 5,000 บาทต่อเดือน”

นอกจากนี้รอฮานา ได้ให้ข้อมูลสรุปยอดเด็กกำพร้าจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ซึ่งเป็นตัวเลขเฉพาะในจังหวัดยะลา ตั้งแต่ปี 2547-2558 มีดังนี้

แยกตามระดับการศึกษา

ที่

ระดับชั้น

จำนวน(คน)

 

1

เด็กก่อนวัยเรียน

250

 

2

อ.1

85

 

3

อ.2

81

 

4

อ.3

24

 

5

ป.1

57

 

6

ป.2

82

 

7

ป.3

82

 

8

ป.4

74

 

9

ป.5

57

 

10

ป.6

80

 

11

ม.1

72

 

12

ม.2

59

 

13

ม.3

55

 

14

ม.4

43

 

15

ม.5

29

 

16

ม.6

25

 

17

ป.ตรี 1

40

 

18

ป.ตรี 2

30

 

19

ป.ตรี 3

16

 

20

ป.ตรี 4

20

 

21

กศน.

42

 

22

ปวช.1

12

 

23

ปวช.2

4

 

24

ปวช.3

10

 

25

ปวส.1

18

 

26

ปวส.2

7

 

27

ไม่ระบุ (ศาสนา)

47

 

รวม

1432

 
 

 

แยกตามระดับความกำพร้า

ที่

ประเภท

จำนวน

รวม

ชาย

หญิง

1

กำพร้าบิดา

647

683

1357

2

กำพร้ามารดา

21

25

46

3

กำพร้าบิดา-มารดา

(เสียชีวิตพร้อมกัน)

17

15

32

รวม

712

723

1435

รอฮานาตั้งข้อสังเกตว่า ตัวเลขค่อยๆ ลดลง เห็นได้จากงบประมาณด้านการเยียวยาที่ทางกรมฯ ใช้ในเรื่องนี้น้อยลง เช่น เมื่อเริ่มมีเหตุการณ์ใหม่ๆ งบจะลงมาจำนวน 50 บาท แต่ในปี 2558 ลงมาแค่ 19 ล้านบาท แม้นี่เป็นเพียงข้อมูลของจังหวัดเดียว แต่เธอยืนยันว่าข้อมูลในภาพรวม 3 จังหวัดก็มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน

ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศ.อบต.

นอกจากนี้การปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือเด็กที่ได้รับผลการกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ยังมีการจัดตั้งศูนย์เยียวยาประจำจังหวัดครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด ประกอบด้วย ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยใช้ชื่อว่า ‘สำนักงานให้การช่วยเหลือและเยียวยา’

ซุรญานีย์ ลิ่วลักษณ์ เจ้าหน้าที่เยียวยาจังหวัดปัตตานีให้ข้อมูลว่า  การทำงานของศูนย์ก็เหมือนจะเป็นด่านแรกของการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ เช่น เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นและได้มีการรับรองจาก 3  หน่วย ได้แก่ ทหาร ตำรวจ และ กรมการปกครอง เจ้าหน้าที่ของสำนักงานก็จะลงพื้นที่จ่ายเงินเยียวยาให้กับครอบครัวของผู้ที่ได้ผลกระทบจากเหตุการณ์ซึ่งผู้รับในส่วนของเงินเยียวยาของเราก็จะเป็นตัวผู้ประสบกับเหตุการณ์เองครอบครัว เครือญาติและรวมไปถึงเด็กๆ ด้วย

ทั้งนี้ การรับรองนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่รับรองอัตโนมัติ เช่น เมื่อเกิดเหตุระเบิด และการตรวจสอบก่อนการรับรอง เช่น การกราดยิง หรือ ลอบสังหาร ซึ่งต้องรอรับการรับรองจากทหาร ตำรวจ และกรมการปกครอง

ซุรญานีย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของเด็กนั้นทางสำนักงานจะทำงานร่วมกับหน่วยงานกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ซึ่งกรมฯ จะทำหน้าที่ติดต่อและประสานเพื่อช่วยเหลือเด็กๆ เหล่านั้นกับทางอำเภอและลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมเคสอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ทางสำนักงานฯ แจ้งเรื่องไป และเรื่องหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเยียวยาวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 31 พฤษภาคม 2548 และ 14 สิงหาคม 2555 และระเบียบของหน่วยงานนั้น กรณีเสียชีวิตจะได้รับการเยียวยาจำนวน 500,000 บาทต่อศพ กรณีบาดเจ็บสาหัส 50,000  บาท กรณีบาดเจ็บเล็กน้อย 10,000 บาท กรณีทุพพลภาพ 500,000 บาท กรณีบาดเจ็บปานกลาง 30,000 บาท กรณีบาดเจ็บจะจ่ายตามใบเสร็จของโรงพบาล และกรณีทรัพย์สินเสียหายก็จะประเมินโดยกรรมการประเมินของจังหวัดนั้นๆ

สำหรับอุปสรรคในการทำงานนั้น ซุรญานีย์ ระบุว่า ศูนย์เยียวยาเป็นด่านแรกของการเริ่มเยียม เหมือนเป็นต้นน้ำ แต่ไม่ค่อยมีใครรับรู้ว่ามีส่วนงานนี้ และตามแผนงานของศูนย์ก็มีการลงพื้นที่สำรวจ พูดคุยให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน เมื่อถือเอกสารไปให้ชาวบ้านกรอกเพื่อตรวจสอบ พวกเขาก็เริ่มมีความหวังว่าเราจะช่วยเขาเต็มที่ แต่เมื่อเกิดความล่าช้า เขาก็เริ่มตั้งคำถาม

“เราเองก็ได้ส่งข้อมูลต่อเพื่อดำเนินการแล้ว แต่ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น ขั้นตอนงบประมาณ ทำให้การเยียวยาเป็นไปอย่างล่าช้า ซึ่งก็ต้องปรับความเข้าใจกันต่อไป” ซุรญานีย์กล่าว

องค์กรอิสระและบทบาทช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในพื้นที่ชายแดนใต้

กลุ่มจู่โจมจิตอาสาเพื่อสังคม จ.ปัตตานี

กลุ่มจู่โจมจิตอาสาเพื่อสังคมนี้เป็นกลุ่มเล็กๆ ที่ทำงานเพื่อสังคม เน้นการเปิดเวที สร้างโอกาสให้กับเด็กนอกระบบซึ่งหมายถึงพวกเด็กๆ ที่ไม่ได้รับการศึกษาในโรงเรียนให้ได้มีพื้นที่ที่จะทำกิจกรรมดีๆ เพื่อสังคม โดยอาศัยการศึกษาดูงานในพื้นที่อื่นๆ แล้วนำมาปรับแนวทางเพื่อที่จะสร้างการพัฒนาชุมชนในรูปแบบของตนเอง

มูฮัมมัดคอยรี สะรารี ประธานกลุ่มจู่โจมจิตอาสาเพื่อสังคมกล่าวถึงที่มาที่ไปของกลุ่มว่า  กลุ่มจู่โจมจิตอาสาฯ มีแม่ข่ายมาจากกลุ่มพิราบขาว โดยกลุ่มนี้ก็เป็นเครือข่ายย่อยมาจากมูลนิธิพัฒนาเด็ก (มพด.) อีกชั้นหนึ่งซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณมาจากหน่วยงาน สสส. และมีเครือข่ายที่เชื่อมโยงกันไปอีกมากมาย การทำงานของกลุ่มจู่โจมจะไม่ค่อยได้ใช้งบประมาณแต่จะใช้ความสัมพันธ์ทางเครือข่ายมาเชื่อมโยงกัน

ประธานกลุ่มฯ กล่าวอีกว่า ทางกลุ่มทำงานกับเด็กๆ นอกระบบและพบว่าพวกเขาเหล่านั้นพร้อมที่จะเรียนรู้งานเพื่อสังคม มีการส่งเด็กๆ เหล่านี้ไปเรียนรู้โลกกว้าง ทำงานเป็น นั่นคือ การที่กลุ่มเด็กในชุมชนที่ไม่ได้เข้ารับการศึกษา ได้มีโอกาสที่จะได้รับการเรียนรู้นอกห้องเรียน ผ่านประสบการณ์ที่มาจากการอบรมเชิงปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชน จากหน่วยงานภาคประชาสังคมต่างๆ ที่เข้ามาสนับสนุนให้มีความรู้พื้นฐาน และกลับมาทำงานให้กับชุมชนของตนเอง นอกจากนี้ทางกลุ่มยังทำงานกับกลุ่มนักศึกษาที่รักและสนใจในกิจกรรมเพื่อสังคมด้วย ขณะนี้ขณะนี้เด็กนอกระบบที่อยู่ในความดูแลของกลุ่มพิราบขาวมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 30 คน

** เด็กนอกระบบ คือ เด็กช่วงอายุ 13-18 ปี อาศัยอยู่ในชุมชน เป็นเด็กที่ขาดทางการศึกษา เนื่องด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น ปัญหาครอบครัว ปัญหาเรื่องของการเงิน และเรื่องของยาเสพติด เมื่อพวกเขาไม่ได้รับการศึกษาการเป็นอยู่ของพวกเขา พวกเขาจะหาเลี้ยงตัวเองด้วยการรับจ้างทำงานต่างๆ เช่น พนักงานร้านน้ำชา

การเข้าถึงเด็กนอกระบบสามารถตรวจสอบได้จากการทำข้อมูลสำรวจพื้นที่ ส่วนกระบวนการเข้าถึงชีวิต ทำได้โดยการเข้าไปให้การช่วยเหลือ พูดคุย สร้างความไว้ใจ และเปิดโอกาสตามความใฝ่ฝันของเด็กที่เด็กมีความตั้งใจไว้ ยึดกระบวนการการศึกษาดูงาน การจัดค่าย และให้ความรู้การทำงานเพื่อชุมชน

มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้

นิฆอยรียะห์ มุสตาฟา ผู้ประสานงานภาคสนามของมูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ (มยส.) กล่าวว่า มูลนิธิทำงานใน 3 ส่วนหลัก คือ งานสมานฉันท์-ทำงานร่วมกับเครือข่ายสาธารณสุขในการขับเคลื่อนงานสมานฉันท์ในพื้นที่ ได้แก่การขอรับบริจาคงบประมาณและมอบทุนสนับสนุนเยียวยาให้คนในพื้นที่ชายแดนใต้ให้มีอาชีพ สร้างรายได้ และส่งเสริมคุณภาพชีวิต, งานวิชาการ-มีการทำวิจัยของอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิออกมาเป็นระยะเช่น การประเมินผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาวิกฤติสุขภาพจิตในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ , งานเยียวยา- หลักๆ แล้วจะเป็นการส่งเสริมอาชีพให้กับผู้ได้รับผลกระทบที่อยากทำอาชีพแต่ไม่มีทุน เริ่มด้วยการให้ทุน 5,000 บาท หากทำจริงและอยากต่อยอดก็จะประสานกับเครือข่ายเพื่อช่วยส่งเสริมต่อไป

ก๊ะย้ะ หนึ่งในสี่สตรีแห่งบ้านกูจิงลือปะ ผู้รับทุนเยียวยาอาชีพ 5,000 บาท ได้นำเงินที่ได้ไปซื้ออุปกรณ์ขายก๋วยเตี๋ยวตรงเพิงหน้าบ้าน ขายกล้วยทอด ขายของชำ มีรายได้วันละประมาณ 1,000 บาท เมื่อหักต้นทุนก็เหลือราว 500 บาท ซึ่งเป็นความหวังสำหรับครอบครัว ก๊ะย้ะตื่นแต่เช้าไปตัดยางราว 1 ไร่ แล้วไปจ่ายตลาด กลับมาเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยว ดูแลลูกสามคน สามีทำงานรับจ้าง ความฝันสำคัญของก๊ะคือ กำลังสร้างร้านค้าหลังใหม่ด้านหลังเพิงขายของที่ใช้อยู่ สร้างเองด้วยแรงงานของสามีและเพื่อนบ้าน กะว่าสักปีหรือสองปีคงเสร็จ แล้วจะได้ย้ายร้านมาอยู่ในอาคารใหม่หลังเล็กๆ เพื่อเป็นร้านที่ถาวรไว้เลี้ยงชีพไปยาวนาน

ภาพร้านค้าใหม่ของก้ะยะหลังจากที่ได้รับทุนส่งเสริมอาชีพจากมยส.

 อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ต้องทำงานนกลุ่มคนด้อยโอกาส บางคนมีความเดือดร้อนและจำเป็นต้องใช้ทุนมากกว่า 5,000 บาท เช่นนี้ก็จพิจารณาเป็นรายๆไป สำหรับการเยียวยาเด็กและเยาวชนนั้นมีบ้างเป็นบางกรณี แต่ยังไม่มาก อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2559 มยส. ตั้งใจที่จะขยายการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนให้เพิ่มมากขึ้น โดยจะสนับสนุนทุนให้กับบัณฑิตอาสา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทำกิจกรรมกับเด็กกำพร้า

“จริงๆ เราทำงานไม่ได้แยกกลุ่มที่ต้องได้รับการเยียวยาหรือไม่ได้รับการเยียวยา เพราะเราเห็นว่าทุกคนมีสิทธิ์ที่จะต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมกัน ถ้าถามถึงความแตกต่างแล้วที่มองเห็นและสัมผัสได้ คือ เรื่องเศรษฐกิจของครอบครัว เพราะเด็กที่ได้รับการเยียวยาก็จะได้รับค่าเล่าเรียนทั้งรายปีและรายเดือน ตรงข้ามกันเลยกับเด็กที่ไม่ได้รับการเยียวยา ส่งผลทำให้เด็กไม่อยากเรียน เพราะรู้สึกเป็นภาระ หรือตัวผู้ปกครองเองที่ไม่มีกำลังในการส่งเสียให้ลูกได้เรียน เท่ากับตัดโอกาสทางการศึกษาของน้องๆ ไปเลย ถ้าเป็นเด็กที่โตหน่อยก็อาจมีแนวโน้มที่จะเข้ากลุ่มกันชวนกันไปลองยาเสพติด” นิฆอยรียะห์กล่าว

“มยส.และเครือข่ายทำงานช่วยเหลือน้องๆ ที่ได้รับผลกระทบ เราจะใช้วิธีการใส่ใจและต่อเนื่อง ทั้งเด็กเล็กและเด็กโต เช่นเด็กประถม ครั้งที่เข้าร่วมกิจกรรมเด็กกำพร้าในอำเภอกรงปีนัง ซึ่งจัดที่วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนียะลา (ศวชต.ยะลา) จะมีการชวนน้องๆ มาทำกิจกรรมร่วมกับพี่ๆ นักศึกษาพยาบาลและมีการนอนค้างคืนด้วยกัน เราจะค่อยๆ สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ทำทุกกิจกรรมร่วมกับน้องๆ และคอยสังเกตพฤติกรรม ถ้าเห็นน้องคนไหนที่เก็บตัวหน่อยก็จะค่อยๆ คุย และลงเยี่ยมบ้านแล้วก็จะรู้ได้ว่ามันเกิดจากอะไร ที่สำคัญเราจะต้องทำกันอย่างต่อเนื่อง” นิฆอยรียะห์ กล่าว

ทางเจ้าหน้าที่มยส. ผู้ดูแลเคสที่เกี่ยวข้องกับเด็กได้เล่าการลงพื้นที่ทำงานเยียวยาว่า “มี 2 เคสอยู่ด้วยกัน ที่ลงไปทำ คือ เคสที่ 1 เคสที่เป็นผู้กระทำ เคสของน้องเซะ (เป็นลูกคนสุดท้อง ขึ้น ป.3) พ่อของเขาไปทำร้ายคนอื่น พ่ออยู่ในชุมชนไม่ได้ มีปัญหาครอบครัว แม่กังวลมาก ไม่วางใจ กลัวว่าเรา (มยส.) เป็นพวกรัฐ ต้องสร้างความสัมพันธ์ใช้เวลาลงพื้นที่ 2-3 รอบเขาถึงจะให้ข้อมูล ลูกโดนแม่ทำร้าย แขนหัก มีรอยมีดกรีดที่มือ แม่ใช้ความรุนแรงกับลูก ในครอบครัวมีลูก 4 คน  ผู้หญิง 1 ถ้าเทียบวุฒิอยู่ ม.2 แต่เขาไม่เรียนต่อแล้ว ตอนนี้ทำงานรับภาระทำงานส่งเสียเลี้ยงน้อง  ลูกผู้ชาย 3 ทุกคนถูกทำร้ายร่างกาย”

“หน่วยรับเข้ามาช่วยเหลือแต่แม่ไม่อนุญาต ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับหน่วยรัฐเลย  ลูกคนที่ 2 เป็นคนพิการ โดนอะไรสักอย่างแต่ไม่ได้พิการตั้งแต่เกิด เมื่อหน่วยรัฐมาให้เงินเยียวยาคนพิการ แต่แม่ไม่ให้รับ ก็ได้ประสานโต๊ะอิหม่ามกับชุมชนให้เป็นผู้จัดการ  เมื่อก่อนไม่ได้เงินเยียวยาแต่ในปัจจุบันได้รับเงินช่วยเหลือแล้ว ถึงแม้แม่ของเขาจะปิดกันหน่วยรัฐแต่มีโต๊ะอิหม่ามเข้ามาช่วยเหลือ”

“ส่วนอีกเคสเป็นกรณีรวมๆ ในอ.บันนังสตา จ.ยะลา โดยส่วนใหญ่แล้วในชุมชนบันนังสตาจะมีเด็กยากจนจำนวนมากที่หน่วยงานรัฐยังเข้าไม่ถึง จะมีหลายหมู่บ้าน ระบบขนส่งเป็นส่วนหนึ่งในการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ที่สมควรได้รับเต็มประสิทธิภาพ ในหมู่ 7 และ 10 มีคนยากจนมากๆ และไม่ได้รับทุนเลย เช่น น้องฮารูน มีฐานะลำบากและไม่มีที่ดินจะสร้างบ้าน ที่อยู่ปัจจุบันเป็นที่ดินเถ้าแก่ที่ให้กรีดยาง พ่อเขาขออนุญาตไปสร้างบ้านเป็นกระท่อมเล็กๆ อยู่บนเขา และยากจนมาก ตอนที่ มยส.เข้าไปช่วยเหลือ ไปให้ทุน ดูแลเยี่ยมบ้าน เขายินดีมาก เขาบอกว่า ไม่เคยมีหน่วยรัฐเข้ามา ไม่มีหน่วยงานไหนเข้าถึงบ้านเขา เขาดีใจที่มีหน่วยงานแบบนี้เข้ามาอย่างน้อยเขาจะได้เห็นถึงสภาพความเป็นจริงของเขา เขาขอทุนต่างๆ เช่น ทุนการศึกษาแต่ไม่เคยได้ เพราะหน่วยรัฐไม่เชื่อ อยากให้หน่วยงานอื่นๆ เข้ามาดูสภาพว่าสิ่งที่เขาพูดเป็นความจริง”

00000

นี่คือภาพเพียงส่วนเดียวของการพยายามเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาเด็กๆ ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ซาหดัม แวยูโซะ หนึ่งในเจ้าหน้าที่กลุ่มลูกเหรียง ซึ่งผ่านเหตุการณ์ความสูญเสียคนในครอบครัวตั้งแต่เขายังอยู่ในวัยเด็กเช่นกัน ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า

“อยากให้สังคมให้โอกาส อยากให้เปิดพื้นที่ ให้พวกเขามีพื้นที่เหมือนเด็กคนอื่นทั่วไป อย่ามองว่าเขาเป็นลูกโจร เป็นเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ไม่อยากให้มองแบบนั้น อยากให้มองว่าเขาปกติ เป็นเด็กคนหนึ่งที่ต้องการพื้นที่ในสังคม ต้องการแค่นั้นเอง” ซาหดัมกล่าว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท