เราอยู่จุดไหนของสันติภาพ(ปาตานี/ชายแดนใต้) : อ่านความก้าวหน้าของ‘วิทยาลัยประชาชน’

สัมภาษณ์พิเศษ 'แวอิสมาแอล์ แนแซ' ผอ.วิทยาลัยประชาชน ประชาสังคมขับเคลื่อนความรู้สันติภาพ กับ 4 ปีที่ก้าวมาไกล แต่เพิ่งอยู่แค่จุดเริ่มต้นของการทำความเข้าใจสันติภาพ จากระยะเตรียมคนรุ่นใหม่ สู่ระยะตื่นตัวเพื่อการเปลี่ยนผ่าน-สร้างคนในให้พร้อมเจรจาสันติภาพ วางยุทศาสตร์หนุนเสริมและสร้างพื้นที่ถกความรู้แล้วสื่อสาร ท่ามกลาง 3 ข้อที่ผกผันของสันติภาพ

แวอิสมาแอล์ แนแซ ผอ.วิทยาลัยประชาชน 

หากจะดูความก้าวหน้าของงานขับเคลื่อนความรู้สันติภาพขององค์กรระดับล่างจริงๆในชายแดนใต้หรืปาตานี ก็ต้องไปดูที่วิทยาลัยประชาชน [People’s College] ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรภาคประชาสังคมที่ก่อตั้งโดยคนหนุ่มสาวในพื้นที่ที่เริ่มก่อตัวและทำงานขับเคลื่อนงานความรู้มาตั้งแต่ปี 2555

วิทยาลัยประชาชนเป็นหนึ่งในไม่กี่องค์กรที่เน้นงานให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งและกระบวนการสันติภาพแก่ผู้นำประชาชน ผู้นำชุมชน กลุ่มเยาวชนคนรุนใหม่ในพื้นที่ ด้วยการจัดหลักสูตรอบรมและจัดหาผู้เชี่ยวชาญมาเป็นวิทยากร

มาถึงวันนี้ในโอกาสที่จะครบรอบ 3 ปีของกระบวนการสันติภาพปาตานี/ชายแดนใต้ งานขับเคลื่อนความรู้สันติภาพของวิทยาลัยประชาชนมีความก้าวหน้าไปถึงไหนและอยู่ตรงไหนของกระบวนการสันติภาพ “แวอิสมาแอล์ แนแซ” หรืออาดำหรือตูแวแอ ผู้อำนวยการวิทยาลัยประชาชนจะเล่าถึงเรื่องนี้แบบเน้นๆ เป็นระยะๆ ดังนี้

00000

ระยะเตรียมคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจสันติภาพ

“วิทยาลัยประชาชนตั้งขึ้นเมื่อ 4 ปีที่แล้วเพื่อจัดอบรมผู้นำเยาวชน ผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ โดยพูดถึงบทบาทของเยาวชนกับการพัฒนาชุมชน ซึ่งช่วงนั้นยังไม่พูดถึงกระบวนการสันติภาพเพราะกระบวนการสันติภาพเพิ่งเริ่มในช่วงต้นปี 2556

แม้ยังไม่พูดถึงกระบวนการสันติภาพแต่ความมุ่งหวังของวิทยาลัยประชาชนก็เพื่อปูทางไปสู่กระบวนการสันติภาพอยู่แล้ว เพราะตอนนั้นเราคิดว่ากระบวนการสันติภาพต้องมาแน่นอนในยุคของพวกเขา เพียงแต่จะมาเมื่อไหร่ยังไม่ทราบ ดังนั้นก่อนที่ถึงวันนั้นเยาวชนในพื้นที่ก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพเตรียมไว้ก่อน

ตอนนั้นเราอบรมเยาวชนอายุ 18-19 ปีใช้เวลาอบรม 2 ปีและทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาศักยภาพของพวกเขาให้สามารถทำงานขับเคลื่อนได้ โดยจะเป็นตัวเชื่อมระหว่างองค์กรภาคประชาสังคมกับชุมชนหรือพื้นที่ที่จะลงไปทำงาน

ระยะตื่นตัวต่อกระบวนการสันติภาพ

ต่อมาในระยะที่ 2 ของวิทยาลัยประชาชน เริ่มตั้งแต่เริ่มมีการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งทำให้หลายฝ่ายและหลายองค์กรมีการพูดถึงกระบวนการสันติภาพกันอย่างจริงจังและเจาะลึก เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการดำเนินกระบวนการสันติภาพอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะ

หลังจากวันนั้นภาคประชาสังคมมีการตื่นตัวกันมาก มีการพูดถึงโมเดลต่างๆของกระบวนการสันติภาพว่า รูปแบบไหนถูก แบบไหนผิด แบบไหนที่เหมาะสม และยอมรับได้ มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง มีการจัดเวทีพูดคุยแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้กันมาก

2 หลักสูตรเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง

จากสถานการณ์ดังกล่าว วิทยาลัยประชาชนก็เห็นความสำคัญเรื่องนี้จึงได้จัดหลักสูตรความขัดแย้งในระยะเปลี่ยนผ่านขึ้นมา เพื่อจัดอบรมเรียนรู้และทำความเข้าใจกระบวนการสันติภาพ ขณะเดียวกันก็ได้จัดให้มีหลักสูตรอบรมกระบวนกรเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งสู่สันติภาพ หรือ Training of Trainers

ทั้ง 2 หลักสูตรนี้เน้นการศึกษาความขัดแย้งในช่วงเวลาต่างๆของกระบวนการสันติภาพ เช่น ก่อนเจรจาสันติภาพ ระหว่างเตรียมเจรจาสันติภาพและระหว่างเจรจาสันติภาพ โดยพานักศึกษาไปดูงานที่จังหวัดอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซียเพื่อพบคณะเจรจาสันติภาพอาเจะห์และภาคประชาสังคมอาเจะห์ เพื่อศึกษาว่าทั้ง 3 ช่วงเวลาดังกล่าวที่นั่นมีการเตรียมตัวอย่างไร มีรูปแบบการทำงานอย่างไร เราไปพบผู้ว่าราชการจังหวัดอาเจะห์แล้วถามว่าคุณมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

ที่นั่นเราพบว่าการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งในอาเจะห์มีความสำคัญมากต่อการสร้างสันติภาพ มีนักศึกษาและภาคประชาสังคมที่พูดคุยกันเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง

จากที่เราให้นักศึกษาได้เรียนรู้เรื่องนี้ทำให้หลายคนได้นำความรู้ไปใช้และหลายคนกลับไปเป็นแกนนำในองค์กรขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วย หลายคนไปเปิดหลักสูตรแบบเดียวกันในองค์กรของตัวเองและในชุมชน เช่น กลุ่มเยาวชน กลุ่มที่ทำงานด้านกฎหมาย เป็นต้น

ระยะสร้างคนในให้พร้อมเจรจาสันติภาพ

ระยะที่ 3 คือช่วงก่อนที่จะมีการเจรจาสันติภาพ ก็คืออยู่ในช่วงเวลาปัจจุบันซึ่งเริ่มตั้งแต่รัฐบาลคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คสช.เข้ามาบริหารประเทศ

ในระยะนี้เราเห็นว่าจำเป็นต้องสร้างคนในที่มีความรู้เกี่ยวกับการเจรจาสันติภาพและการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เพื่อจะได้หนุนเสริมภาคประชาสังคมและองค์กรระดับรากหญ้าต่อไป จึงเกิดหลักสูตร Peace Mediation Program ขึ้นมา เนื้อหาคือศึกษาเรื่องการเจรจาในกระบวนการสันติภาพทั้งหมด ซึ่งในหลักสูตรนี้เราได้พานักศึกษาไปดูงานมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

หลักสูตรวางยุทศาสตร์หนุนเสริมสันติภาพ

อีกหลักสูตรหนึ่งที่เกิดขึ้นในระยะนี้คือหลักสูตรการทำยุทธศาสตร์การทำงานสันติภาพ ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละองค์กรก็มียุทธศาสตร์ของตัวเองอยู่แล้ว แต่ถ้าแต่ละองค์กรจะทำงานหนุนเสริมสันติภาพหรือกระบวนการสันติภาพจะต้องวางยุทธศาสตร์อย่างไร เช่น กลุ่มวัฒนธรรมหรือกลุ่มเยาวชนจะวางยุทศาสตร์อย่างไร เพื่อให้เกิดการหนุนเสริมสันติภาพได้

ในการอบรมเราโฟกัสไปที่อะไรบ้างที่ส่งผลให้ต้องทำยุทศาสตร์องค์กรในการขับเคลื่อนสันติภาพ เราจึงต้องเรียนรู้แนวทางการขับเคลื่อนขององค์กรต่างๆ ทั้งภาคประชาสังคม ภาครัฐและอื่นๆ โดยนำยุทศาสตร์ของภาครัฐและภาคประชาสังคมมากางให้นักศึกษาดู เพื่อให้เห็นว่าองค์กรเหล่านั้นทำงานอย่างไรและส่งผลต่อยุทศาสตร์ในการหนุนเสริมสันติภาพอย่างไร

จะเห็นได้ว่าทั้ง 3 ระยะเป็นการปูทางสู่การหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพทั้งที่กำลังดำเนินอยู่และในอนาคต เราต้องการให้คนที่ทำงานสันติภาพมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันว่า จะทำอย่างไรให้เกิดการทำงานร่วมกันมากขึ้น ซึ่งวิธีการแบบนี้ เราสังเกตจากความสำเร็จของสถาบันพระปกเกล้าที่มีหลักสูตรที่เชิญคนหลากหลายเข้ามาเรียน และสามารถขับเคลื่อนประเด็นต่างๆได้

Patani Peace Contact Group (PPCG)

เมื่อรวมนักศึกษาทุกหลักสูตรของวิทยาลัยประชาชนแล้วจะได้ประมาณ 300 คนที่มีความหลากหลายมาก ทั้งตำแหน่งหน้าที่ อาชีพการงาน การศึกษาและอายุ

สำหรับศิษย์เก่าทั้งหมด เราก็มีกิจกรรมหนึ่งขึ้นมาเพื่อให้เป็นพื้นที่ร่วมของศิษย์เก่าทุกคน ก็คือวงสนทนา Patani Peace Contact Group หรือ PPCG ซึงไม่ใช่หลักสูตรและไม่ใช่การเรียนการสอน แต่เป็นวงคุยในเรื่องต่างๆ เช่น ความคืบหน้าของกระบวนการสันติภาพ

วงสนทนา PPCG ครั้งล่าสุดจัดขึ้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา ที่คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่มีพอลลีน ทวีดี้ รองผู้แทนมูลนิธิเอเชีย ประจำประเทศไทยเป็นผู้นำกระบวนการ มีนักปฏิบัติการทางสังคม ปัญญาชนและผู้นำประชาชนเข้าร่วมเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนกระบวนการสร้างสันติภาพ การสร้างความรู้และการสร้างความร่วมมือระหว่างคนท้องถิ่นกับคนนอกต่อกระบวนการสันติภาพปาตานี/ชายแดนใต้

ถกความรู้สันติภาพแล้วมาสื่อสารสาธารณะ

PPCG เป็นวงคุยหรือที่เรียกว่า Bicara ในเรื่องที่เกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ ขณะเดียวกันเราก็นำเนื้อหาหรือประเด็นจากวงสนทนามาสื่อสารต่อสาธารณะด้วย เพราะที่ผ่านมาแม้ในพื้นที่มีการจัดวงคุยกันเยอะมากแต่ก็ไม่ได้สื่อสารออกมาให้สาธารณะได้รับรู้ เพราะถ้าไม่มีการสื่อสารเราก็ไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาให้ดีขึ้นได้

ส่วนวิธีการสร้างสันติภาพจะทำอย่างไรหรืออนาคตสันติภาพจะเป็นอย่างไรนั้นก็ให้เป็นเรื่องวงสนทนา PPCG แต่สิ่งที่สำคัญคือต้องไว้ใจกันและมีความเข้าใจ เพื่อจะเป็นแนวทางที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งต่อการสร้างสันติภาพในอนาคตได้

ตอนนี้เราอยู่จุดไหนของสันติภาพ

ถามว่าตอนนี้เราอยู่จุดไหนของการสร้างสันติภาพ คำตอบคือ เราเพิ่งอยู่ในจุดเริ่มต้นของการทำความเข้าใจกระบวนการสันติภาพเท่านั้น ถึงแม้ว่ากระบวนการสันติภาพของคู่ขัดแย้งหลักหรือ Track1 คือ ปาร์ตี้ A กับปาร์ตี้ B จะไปไกลถึงขั้นมีข้อตกลงกันแล้วก็ตาม แต่กระบวนการสันติภาพของคนใน Track2 และ 3 ยังอยู่ในขั้นการศึกษาเรียนรู้เท่านั้น ทั้งเรื่องรูปแบบหรือวิธีการต่างๆ เป็นต้น

เพราะสันติภาพระหว่าง Track 1 กับ Track 2 (ระดับภาคประชาสังคม ปัญญาชนฯลฯ) และ Track 3 (ระดับประชาชนรากหญ้า) มีความแตกต่างกัน ที่เป็นเช่นนั้นเพราะภาษาสันติภาพของ Track 1 กับ Track 2 และ 3 ต่างกัน ทำให้มีความเข้าใจต่างกัน

เพราะสันติภาพใน Track 1 คือเรื่องของอำนาจทางการเมือง แต่สันติภาพของ Track 2 และ 3 คือชะตากรรม ความต้องการ ความปลอดภัย ผลประโยชน์และอื่นๆอีกหลายอย่าง ซึ่งแต่ละอย่างต้องทำความเข้าใจและอธิบายอย่างละเอียด จะต้องใช้ประสบการณ์หรือความรู้หลายๆอย่างมาพิจารณา เพราะฉะนั้นกระบวนการสันติภาพของ Track 1 จะไปเร็วมากกว่า ก้าวหน้ามากกว่ากระบวนการสันติภาพของ Track 2 และ 3

3 ข้อที่ผกผันของสันติภาพ

ในการประเมินเพื่อขับเคลื่อนงานความรู้สันติภาพของวิทยาลัยประชาชนมี 3 เรื่อง คือ 1.การเมืองภายในประเทศ 2.ข้อเรียกร้องที่มาจากประชาชนในช่วงเวลานั้นๆ และ 3.การรุกคืบขององค์กรระหว่างประเทศหรือฝ่ายที่สาม

ทั้ง 3 ข้อมีความผกผันกัน แต่ข้อที่สำคัญที่สุดคือข้อ 2 เพราะความต้องการหรือข้อเรียกร้องจากประชาชนจะทำให้ฝ่ายที่สามสนใจ เกิดเป็นวาระที่จะเดินไปข้างหน้าได้ในเรื่องการสร้างการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ

แต่ในการดำเนินกระบวนการสันติภาพนั้นก็ขึ้นอยู่กับข้อแรก เช่น ใครจะคิดว่ารัฐบาลทหารที่เข้ามาบริหารประเทศจะตั้งคณะทำงานพูดคุยสันติภาพขึ้นมาได้ เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ซึ่งทำให้เราสามารถที่จะมาวางเป้าหมายได้ว่าเราจะทำอะไรได้อย่างไรและแค่ไหน

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

Pauline Tweedie มูลนิธิเอเชีย: ‘28 กุมภาฯ’ คือวาระของสันติภาพปาตานี/ชายแดนใต้ที่โลกจะสนใจ

ภารกิจก่อนถึงปลายทางสันติภาพ ‘วิทยาลัยประชาชน’ มุ่งสร้างนักสร้างสันติภาพที่ฟาฏอนีย์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท