Skip to main content
sharethis
นักสิทธิฯ หญิงจากปาตานีผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มด้วยใจโดนคุกคามและข่มขู่หลังเปิดโปงการซ้อมทรมานในค่ายทหารใน 3 จว.ชายแดนใต้ เปิดใจตั้งแต่วันที่เป็นครอบครอบของผู้ต้องขัง จนถึงวันที่เธอถูกข่มขู่เสียเอง และความหวังต่อสันติภาพในบ้านเกิด
 
อัญชนา หีมมิหน๊ะ หรือ มุมตัส วัย 42 ปี ถูกทหารไปเยี่ยมและเรียกไปพบรวมแล้วถึงสามครั้งด้วยกันตั้งแต่ต้นปี 2559 ด้วยเหตุว่า เธอเป็นคนสำคัญในการจัดทำรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายประจำปี 2557-2558 จัดทำโดยกลุ่มด้วยใจ และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานดังกล่าวรวบรวมข้อมูลจากเหยื่อมากกว่า 50 ราย ซึ่งเล่าเรื่องข้อร้องเรียนการทรมานผู้ต้องขังในค่ายทหารอย่างละเอียด (อ่านรายงานที่นี่)
 
นอกจากการ “เยี่ยม” และ “เชิญดื่มกาแฟ” แล้วเธอยังพบกับกระแสต่อต้าน ทั้งจากทหารและเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 59 พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. กล่าวว่า ผู้จัดทำรายงานนี้มีเจตนาทำลายความน่ารัฐ และทำลายภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีสากล กล่าวหาว่าเป็นการนำข้อมูลเก่ามารีไซเคิลเพื่อ “ให้สมกับเงินทุนที่ได้รับมา” และยังพูดในทำนองว่า เป็นเทคนิค “เดิมๆ” ของภาคประชาสังคมในการทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐ ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ อัญชนาก็ถูกโจมตีว่ารับเงินต่างชาติมาทำลายประเทศไทยเช่นกัน 
 
ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อประมาณ 12 ปีที่แล้ว เมื่อ อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ยุบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายเเดนใต้ (ศอบต.) และใช้กำลังตำรวจที่ไม่เป็นที่นิยมมาปฏิบัติหน้าที่แทน หลังจากนั้นรัฐไทยตอบโต้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนใต้ด้วยการใช้นโยบายทางทหารเข้มข้น สืบเนื่่องจนถึงในรัฐบาลต่อ ๆ มาเพื่อเเก้ปัญหา โดยการส่งกำลังทหารลงพื้นที่จำนวนมาก เเละการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคง ซึ่งคือ พระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และกฎอัยการศึก กฎหมายพิเศษนี้เองที่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่คุมตัวผู้ต้องหาโดยไม่มีข้อหาได้สูงสุดถึง 37 วัน ซึ่งกลายเป็นช่วงเวลาที่วิธีนอกกฎหมาย อย่างการซ้อมทรมานและการอุ้มหายถูกนำมาใช้กับผู้ต้องหาคดีความมั่นคง 
 
อัญชนาเป็นคนอำเภอสะบ้าย้อย จ.สงขลา เรียนจบปริญญาตรี วนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ และปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจเกษตร จาก มอ. หาดใหญ่ เธอทำงานออฟฟิศ และต่อมาทำธุรกิจของตัวเองดังเช่นคนทั่วไป จนวันหนึ่งเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันกับคนในครอบครัว เกิดเป็นความมุ่งมั่นที่จะไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับประชาชนในปาตานี แม้ปัจจุบันเธอจะทำงานภาคประชาสังคมมากมาย ธุรกิจส่วนตัวคือร้านรับล้างอัดฉีดและร้านขายผ้าอยู่ก็ยังทำอยู่ ซึ่งเธอบอกว่า “เพื่อเลี้ยงตัวเอง” ส่วนงานเอ็นจีโอน้้นทำเพื่อ “ตอบสนองความต้องการทางใจ” “เหมือนอัลลอฮ์ให้โอกาสเรา ส่งคนมาช่วยเรา และเปิดโอกาสให้เเราเห็นปัญหาของพี่น้องมุสลิมในพื้นที่ แล้วทำไมเราถึงจะไม่ตอบแทนอัลลอฮ์โดยไปช่วยคนอื่นบ้างล่ะ” อัญชนากล่าว  
 
ในขณะที่ภาคประชาสังคมในพื้นที่กำลังตื่นตัวและโฟกัสกับการพูดคุยสันติภาพที่กำลังมีความคืบหน้า อัญชนาเป็นคนหนึ่งที่ยังเกาะติดการเปิดโปงการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้สาธาณะได้รับรู้ เพราะเธอเชื่อว่า สันติภาพจะเกิดไม่ได้ หากไม่มีความยุติธรรม 
 
 

อัญชนา หีมมิหน๊ะ (ภาพจากเฟซบุ๊กส่วนตัว)

ทำไมจึงมาทำงานด้านสิทธิมนุษยชนได้ ก่อนหน้านี้ทำอะไร

ก่อนหน้านี้เวลาดูข่าวทีวี เห็นข่าวก็จะมีคำถามว่าทำไมมุสลิมรุนแรง ขัดกับหลักศาสนาที่สอนให้สันติสุข เราก็ไม่ได้ตั้งคำถามเท่าไร ยังมองว่าทหาร ตำรวจนั้นดี เราก็ทำธุรกิจส่วนตัวของเราไป แต่พอเจอเหตุการณ์ที่น้องเขยเราถูกจับในปี 2551 ก็เปิดโลกใหม่ของเรา น้องเขยถูกจับหลังแต่งงานกับน้องสาว (ปัทนา หีมมิหน๊ะ) แต่งงานได้สองเดือน เราตกใจมากว่ามาเกิดกับเราได้อย่างไร ร้านเราก็มีลูกค้าเป็นทหารและตำรวจด้วยซ้ำไป พอรู้ข่าว เราก็ขับรถจาก อ.สะบ้าย้อย (จ.สงขลา) ไปยะลาทันที เราก็เห็นน้องสาวยืนเกาะลูงกรง คุยกับสามีที่โรงพัก เราก็ติดต่อคนนู่นนี้อย่างไม่รู้กระบวนการ แล้วก็หาทนาย เราโดนหลอกให้จ่ายเงินไปก่อนหลายครั้ง 
 
ศาลไม่ให้ประกันตัวน้องเขย เราก็ร้องเรียนเรื่องของเราที่ค่ายทหารหลายค่าย รอพบทหาร ตำรวจ ระดับผู้ใหญ่ เพื่อร้องเรียนเรื่องน้องเขยของเรา แต่ก็ไม่เกิดผลอะไร ค่าทนายแค่สี่เดือนก็หมดไปเกือบสองแสนแล้ว เราเลยเปลี่ยนวิธี ไปร้องเรียนตามเวทีเสวนาเรื่องสันติภาพหรือความยุติธรรมต่างๆ เราจะยกมือถามว่า “สิ่งที่เราเจอมา ไม่เห็นเป็นความยุติธรรมเลย” พอเกิดเรื่องขึ้น เราก็เข้าใจเลยเรื่องการถูกตราหน้าจากคนในชุมชน อย่างน้องสาวเรา เขาก็พูดกันว่า เป็นภรรยาผู้ก่อความไม่สงบ 
 
หลังจากเดินสายงานเสวนาไม่นาน เราก็ได้เจอพี่หน่อย (พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผอ. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม) และอ่านหนังสือเพื่อศึกษาเรื่องกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนด้วยตัวเอง
 
ปี 2553 ศาลตัดสินยกฟ้องน้องเขย เราก็มาเดินเรื่องเพื่อให้ได้รับการเยียวยา จึงได้เรียนรู้เรื่องการเยียวยาอีก ประสบการณ์จากกรณีน้องเขยทำให้เห็นว่า ใครก็ตามที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีความมั่นคง มันทารุณจิตใจเขามาก ต้องคุยกับคนที่รักผ่านกระจกและลูกกรง มีโซ่ตรวนล่ามที่ข้อเท้าเวลาเดิน เรารู้สึกว่า คนนะไม่ใช่สัตว์ที่จะมาใส่โซ่ตรวน แล้วถ้าลูกของผู้ต้องหาเห็นพ่อเขาสภาพแบบนี้จะรู้สึกอย่างไร 
 
เรากับน้องสาวก็ตั้งกลุ่ม “ด้วยใจ” ขึ้นมา เพื่อให้ความช่วยเหลือ คำปรึกษา กับครอบครัวผู้ต้องขัง ให้เขารู้ถึงสิทธิ และได้รับความเป็นธรรม การทำงานกับผู้ต้องขังก็นำไปสู่งานที่เราทำเรื่องการซ้อมทรมาน เพราะหลังจากเราเข้าไปให้ความรู้เรื่องกระบวนการยุติธรรม และสร้างกำลังใจกับผู้ต้องขัง เราก็ได้ฟังเรื่องราวที่ผู้ต้องขังถูกซ้อมทรมาน ก็นำข้อมูลนี้มาเขียนรายงาน 
 
คนที่เคยผ่านการถูกจับกุมคดีความมั่นคง โดยเฉพาะคนที่ถูกทรมาน มักเป็นโรคเครียดจากเหตุการณ์ร้ายแรง (Post Traumatic Stress Disorder: PTSD) เขาจะนอนไม่หลับ คิดซ้ำๆ ว่ามันจะเกิดกับเราอีก หดหู่ อยากอยู่คนเดียว อยากฆ่าตัวตาย และยังโทษตัวเองว่าทำให้ครอบครัวลำบาก ทำให้ครบครัวซวย สำคัญมากว่าหากเขาไม่ได้รับการเยียวยา เขาอาจถลำลึก ถูกชักจูงไปใช้ความรุนแรง

 

แนวโน้มการทรมานสองสามปีมานี้เป็นอย่างไร 

การทรมานไม่ลดลงเลย มีแต่เพิ่มมากขึ้น เจ้าหน้าที่รัฐไม่เคยยอมรับว่ามีการทรมานเกินขึ้น เจ้าหน้าที่มักคิดว่า คนที่ถูกจับเป็นคนที่ผิดร้อยเปอร์เซนต์ เพราะฉะนั้นจะใช้วิธีอะไรก็ได้ ทั้งยังมองผู้ต้องหาไม่ใ่ช่คน และมองว่าตัวเองกำลังทำภาระกิจที่ยิ่งใหญ่อยู่ ว่าเขาได้ช่วยสังคมและประเทศชาติในการจับคนร้าย นอกจากนี้ กระบวนการต่างๆ มันกดทับทำให้คนมาร้องเรียนได้ยาก เราจึงไม่ค่อยได้ยินเสียงของเหยื่อการทราน
 
พอมีการร้องเรียนไปที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กสม.ก็ทำได้อย่างมากคือ ส่งข้อแนะนำไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ได้มีการสอบสวนใด พอมูลนิธิผสานวัฒนธรรมส่งรายงานไปยูเอ็น เขาก็เต้นกันใหญ่เลย เขาก็พยายามไม่ให้ข่าวรอดออกไป โดยการไปข่มขู่เหยื่อ 
 
คนภายนอกอาจรู้สึกว่าสถานการณ์มันดีขึ้น นั่นเป็นเพราะเราได้ยินเสียงของรัฐที่ว่าจะยึดหลักสิทธิมนุษยชน ดังกว่าเสียงของประชาชนที่บอกว่าถูกรัฐละเมิด รัฐเองก็พยายามปิดทางไม่ให้เกิดการร้องเรียน หรือดิสเครดิตการร้องเรียน 
 
เราอยากบอกรัฐว่า การซ้อมทรมานมีแต่จะขยายความรุนแรงและทำให้ไม่ได้มวลชน ผู้ต้องหาบางคนอาจเคลื่อนไหวกับขบวนการจริง แต่แทนที่จะทำให้เขาเปลี่ยนใจ กลับซ้อมทรมานเขา สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เขาเป็นผู้เห็นต่างจากรัฐก็เพราะเขารู้สึกว่ารัฐทำลายเขานั่นแหละ 

 

การซ้อมทรมานในสามจังหวัดมี “พัฒนาการ” บ้างไหม เช่น แนบเนียนขึ้น ไม่ทิ้งร่องรอย

วิธีการก็เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ใช้การซ้อม ก็เปลี่ยนเป็นวิธีที่ไม่เห็นบาดแผลมากขึ้น เช่น เอาผ้าเปียกปิดหน้าทำให้หายใจไม่ออก ล่าสุดที่มีการร้องเรียนมาคือ เรื่องการถูกวางยาพิษ เกือบทุกกรณี ผู้ต้องขังบอกเราว่า ไม่กล้ากินน้ำและอาหาร เพราะกลัวถูกวางยาพิษ แต่ยังไม่มีการพิสูจน์   

 

จากรายงานของกลุ่มด้วยใจและมูลนิธิผสานวัฒนธรรมล่าสุด เห็นแนวโน้มว่าผู้ถูกคุมตัวมีแนวโน้มอายุน้อยลง คุณมองแนวโน้มนี้อย่างไร

จากสถิติ ชาวมลายูที่ถูกควคุมตัวอยู่ในช่วงอายุ 25-35 ปี และมีแนวโน้มอายุน้อยลง แปลว่า รัฐมองว่า เยาวชนคือทหารใหม่ ถ้าสมมติฐานนี้ถูก ก็แปลว่า ขบวนการเริ่มฝึกคนตั้งแต่ยังวัยรุ่น แต่ถ้าไม่ใช่ ก็คือจับคนผิด และจะทำให้เยาวชนเหล่านี้อาจไปเข้าร่วมขบวนการจริงๆ เพราะรู้สึกว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกรังแก

 

ไม่ค่อยได้ยินเรื่องการบังคับสูญหายแล้ว เพราะอะไร 

ตอนนี้ไมีค่อยมีเรื่องการอุ้มหายเท่าไร เพราะมีการวิสามัญฆาตกรรมมาแทน ส่วนใหญ่คือเหตุการณ์ยิงปะทะ เหยื่อส่วนใหญ่เป็นอดีตผู้ต้องขังที่ศาลยกฟ้อง หรือได้รับการประกันตัว เพราะเขามีความกลัวว่าจะถูกกระทำซ้ำ พอถูกล้อมบ้าน เขาก็ไม่ยอม ไม่อยากติดคุกอีก ก็จะสู้ รู้สึกว่า ยอมตายดีกว่า บางคนก็เพียงแค่หวาดกลัว เมื่อเจ้าหน้าที่บุกล้อม ก็วิ่งหนีและถูกยิงเสียชีวิต ในบางกรณี เราได้ยินว่า เขามอบตัวแล้ว แต่เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าบ้าน เขากลับถูกยิงตาย 

 

นอกจากการโดนทหารมาเยี่ยมที่บ้าน และเชิญไปพบแล้ว โดนคุกคามแบบอื่นบ้างไหม  

ก็เจอทหารโทรศัพท์มาข่มขู่ เจอการดิสเครดิต ว่าด้วยใจเป็นองค์กรที่ปลุกปั่น ปลุกระดม จงใจให้เกลียดรัฐ สร้างข้อมูลเท็จ 

 

ทำงานที่ท้าทายรัฐแบบนี้กลัวบ้างไหม

มองเป็นความท้าทายมากกว่า ว่าจะทำอย่างไรให้เขาเข้าใจในความมุ่งมั่นและปรารถนาดีของเรา ที่จะไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

คิดว่า ความยุติธรรมสัมพันธ์กับสันติภาพอย่างไร หลังๆ มานี้ทหารชอบพูดว่า เขาได้ “ก้าวข้าม” ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาแล้ว 

สองอย่างนี้สันพันธ์กันมาก หลายคนชอบพูดถึงเรื่องเจตจำนงค์ทางการเมืองมากกว่าพูดถึงเรื่องความยุติธรรม เพราะการให้ความเป็นธรรมกับทุกคนเป็นโจทย์ใหญ่และยาก การพูดเรื่องสิทธิในการปกครองตัวเอง เป็นอะไรที่นามธรรม พูดง่ายกว่า 
 
เรามองว่า ความยุติธรรมเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว เช่น การไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ตอนนี้ ทั้งคนไทยพุทธและมลายูต่างก็รู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติ เช่น คนไทยพุทธมองว่า รัฐให้โอกาสการศึกษากับคนมลายูมากกว่า ผ่านการให้ทุนการศึกษาและโควต้าเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย แต่คนมลายูมุสลิมมองว่า พวกเขาถูกมองอย่างเหมารวมว่าเป็นขบวนการแบ่งแยกเดินแดน ทำไมเวลารถของซีแย (คนไทย) ผ่านด่านไม่ถูกตรวจ แต่พอเป็นรถคนมลายูกลับถูกตรวจ 
 
ชนชั้นนำในสังคมต่างพูดถึงการแก้ไขความขัดแย้งด้วยการให้สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตัวเอง แต่ถ้าคุณไปสำรวจว่าประชาชนต้องการอะไร คำตอบอันดับแรกๆ คือ เรื่องปากท้อง การละเมิดสิทธิ และความปลอดภัย เพราะมันจับต้องได้ ส่วนคำถามเรื่อง การปกครองควรเป็นอย่างไร เป็นเรื่องไกลตัว

 

ปัญหาความยุติธรรมควรแก้อย่างไร

รัฐควรปรับทัศนคติ ไม่ควรคิดแต่ว่ามาทำงานเพื่อความมั่นคงของชาติ แต่มาทำงานเพื่อประชาชน เอาคำว่าความมั่นคงออกไป เอาคำว่าประชาชนและความเป็นมนุษย์มาแทน “ประเทศ” นั้นไม่มีชีวิตจิตใจ แต่คนที่ถูกละเมิดสิทธิเขามีชีวิตจิตใจ ชีวิตจิตใจของคนในพื้นที่ควรมีความสำคัญเป็นอันดับแรก 
 
ทหารไทยถูกสอนมาให้สู้รบ ทำให้ฮึกเหิมว่ามาปกป้องชาติ เรารู้เลย เพราะเวลาเราพูดกับเขาเรื่องสิทธิ เขาจะตอบว่า ทำไมคนที่ฆ่าตัดคอพระ เผาโรงเรียนควรได้รับการปกป้องสิทธิ? และมองว่าเรากำลังช่วยคนผิด เขาไม่เห็นว่า คนทำผิดก็ควรได้รับความยุติธรรม และไม่ควรถูกกระทำซ้ำ เพราะจะกลายเป็นไฟสุมวงจรความรุนแรงอย่างไม่สิ้นสุด เราอยากตัดวงจรความรุนแรงนี้ 

 

มีความหวังกับสันติภาพไหม 

เราหาแสงสว่างของสันติภาพที่ปลายอุโมงก์ตลอดเวลา เราต้องเห็นมัน เป็นแรงผลักดันให้เราจะเดินไปข้างหน้า เราอาจหลงทางบ้าง แต่เราต้องหาทางให้เจอ 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net