Skip to main content
sharethis

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ม.ค.59 ติดลบร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ธปท.เตรียมปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจใหม่ หลังแรงส่งทางเศรษฐกิจแผ่วลง สรรพากรขยายเวลาลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีก 1 ปี ขณะที่บินไทยขาดทุนปี 58 กว่าหมื่นล้าน เดินเครื่องแผนปฏิรูปองค์กร

29 ก.พ. 2559 นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI เดือน ม.ค. 2559 ติดลบร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค. 2558 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.25

สำหรับดัชนีอุตสาหกรรมสำคัญที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เหล็กและเหล็กกล้า เนื่องจากกำลังซื้อถูกใช้ไปแล้วในช่วงปลายปี 2558 จากมาตรการกระตุ้นยอดขายสินค้า อุตสาหกรรมสำคัญที่ดัชนีผลผลิตลดลง คือ รถยนต์ผลิตลดลงร้อยละ 11.69 จำนวนผลิต 147,651 คัน ขณะที่ยอดส่งออกรถยนต์มีจำนวน 93,714 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.38 แต่สินค้าน้ำมันพืช น้ำมันเชื้อเพลิง ผลิตภัณฑ์กระดาษขยายตัวร้อยละ 1.04 เนื่องจากความต้องการภายในประเทศเพิ่มขึ้น

ส่วนดัชนีส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไม่รวมทองคำติดลบร้อยละ 7 โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ลดลงหลายรายการ เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์ยาง รวมถึงเม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์พลาสติกและเคมีภัณฑ์ แต่ยังมีปัจจัยบวกจากการที่ตลาดหลักนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น สหภาพยุโรป (อียู) สหรัฐและญี่ปุ่น ส่งผลให้อุตสาหกรรมไฟฟ้าเดือนมกราคม 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.34 โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทั้งหมด เช่น เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่ง เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยยูนิต เป็นต้น ด้านการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวร้อยละ 0.9 ขณะที่การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปไม่รวมทองคำติดลบร้อยละ 16.9

ธปท.เตรียมปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยใหม่ หลังแรงส่งทางเศรษฐกิจแผ่วลง

วันเดียวกัน น.ส.พรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ้นเดือนมี.ค.นี้ ธปท. จะปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจใหม่ จากเดิมที่คาดว่าการขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้จะเติบโตได้ร้อยละ 3.5 และการส่งออกไม่ขยายตัว หรือโตร้อยละ 0 เนื่องจากแรงส่งของเศรษฐกิจไทยในเดือนม.ค. มีทิศทางแผ่วลง เมื่อเทียบกับเดือนธ.ค. และเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ปีนี้ แผ่วลง เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2558 ทั้งการบริโภคภาคเอกชน หลังจากหมดมาตรการช้อปช่วยชาติ ประกอบกับการใช้จ่ายภาครัฐเริ่มแผ่วลง เพราะมีการเร่งเบิกจ่ายไปก่อนหน้านี้ขณะเดียวกันการส่งออกเดือนม.ค.หดตัว ร้อยละ 9.3 มูลค่าส่งออก 15,560 เหรียญสหรัฐ ซึ่งน้อยกว่าอัตราเฉลี่ยที่ธปท. ประเมินไว้ว่า หากการส่งออกจะไม่ขยายตัว จะต้องมีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ย 17,700 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน

ทั้งนี้การส่งออกที่หดตัวมาก มาจาก 3 ปัจจัยจากเศรษฐกิจจีนและอาเซียนหดตัว การส่งออกรถยนต์รุ่นใหม่และอิเล็กทรอนิกส์ที่ลดลง และ การหดตัวด้านราคาสินค้าส่งออกในกลุ่มปิโตรเลียมที่หดต้วร้อยละ 41 ปิโตรเคมีหดตัวร้อยละ 13 และเคมีภัณฑ์หดตัวร้อยละ 16 ส่วนการนำเข้าหดตัวร้อยละ 17.8 จากช่วงเดียวกันในปีก่อน จากการนำเข้าเชื้อเพลิงที่หดตัวสูงตามราคาน้ำมันที่ลดลงต่อเนื่อง

สรรพากรขยายเวลาลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีก 1 ปี

ขณะที่ กรมสรรพากรชี้แจงว่าด้วยขณะนี้พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 600) พ.ศ.2559 ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559 แล้ว โดยพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเป็นการขยายเวลาการใช้อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบ 7 ขั้น ต่อไปอีก 1 ปีภาษี คือ ปีภาษี 2559 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 ซึ่งเป็นอัตราภาษีที่ใช้คำนวณสำหรับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี วันที่ 1 มกราคม 2560 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2560

ที่มา สำนักข่าวไทย 

เผยบินไทยขาดทุนปี 58 กว่าหมื่นล้านบาท เดินเครื่องแผนปฏิรูปองค์กร

วันเดียวกัน นายจรัมพร  โชติกเสถียร  กรรมการผู้อำนวยการใหญ่  บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า  ผลการดำเนินงานของการบินไทยประจำปี 58 มีรายได้รวม 188,747 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 13,047 ล้านบาท  นับว่าขาดทุนลดลงจากปี 57 ซึ่งได้ขาดทุน 15,573 ล้านบาท  ยอมรับยังขาดทุนต่อหุ้น  5.99 บาท/หุ้น และมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยร้อยละ 72.9% สูงกว่าปีก่อนเฉลี่ยร้อยละ  68.9  โดยในปีนี้จึงตั้งเป้าอัตราการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยร้อยละ 80

หลังจากการบินไทยได้ปฎิรูปองค์กรตามแผนที่กำหนดไว้  ทั้งเรื่องการลด หรือยกเลิกเส้นทางบินที่ไม่มีกำไร  การลดค่าใช้จ่ายด้านครัวการบิน,หน่วยซ่อมบำรุง -ลานจอด, คลังสินค้า ,การบริการผู้โดยสาร, การบริการภาคพื้น ซึ่งได้ปรับลดไปแล้ว หลังจากนี้การบินไทยจะเดินหน้าตามแผนงานในปี  59 ทั้งเรื่องเปิดจุดบินใหม่เพิ่มในภูมิภาคอาเซียน 3-4จุดบิน และจะพิจารณาเปิดเส้นทางบินที่เคยขาดทุนกลับมาบินใหม่ เช่น เส้นทางบิน กทม-สหรัฐ , เส้นทางบินมอสโก เปิดบินในตารางบินฤดูหนาว เดือนตุลาคม นี้ และเดินหน้าเต็มรูปแบบในปี 60 สำหรับสาเหตุที่ปรับเส้นทางบินใหม่เนื่องจากมองว่าจะต้องใช้ประโยชน์จากเครื่องบินเพิ่มมากขึ้น
 
เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net