Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การที่บรรดาคนที่มาถล่มสรยุทธวันนี้ "โดนคดีอาญามาแล้วทั้งนั้น" (คำของรายการ Wake Up News ว้อยซ์ทีวี) หรือเป็นเรื่องของ "ริษยาของชนชั้นกลาง" (คำของมติชน)

ไม่ได้แปลว่า สิ่งที่สรยุทธ-ไร่ส้มทำ ไม่ใช่อะไรที่แย่มากนะครับ

เท่าที่มีหลักฐานอยู่ (และผมคิดว่ายากจะหักล้าง) สิ่งที่่คุณสุรยุทธ-ไร่ส้มทำ คือเรื่องประเภท "เอานิดเอาหน่อยก็เอา" (ก็เป็นร้อยล้านอยู่) แม้จะได้เยอะอยู่แล้ว คือการโฆษณาเกินเวลาตามทีสัญญาไว้ แล้วก็ไม่ยอมแจ้ง และไม่ยอมจ่ายในตอนแรก (มิหนำซ้ำยังมีประเภท "ใต้โต๊ะ" กับ พนักงานบางคนเพื่อปิดเรื่องไว้) จน อส.มท.จับได้ จึงยอมมาจ่ายที่หลัง

(ที่ "ว้อยซ์" โดยคุณ "ศิโรตม์" ยกกรณีที่สรยุทธฟ้อง อส.มท.ต่อศาลปกครอง - เห็นได้ชัดว่าเพื่อพยายาม"เพิ่มเครดิต"กับฝ่ายสรยุทธ-ไร่ส้ม - เรื่องนี้ความจริงเป็นการยกมาไม่หมดของคุณ "ศิโรตม์" คือใครที่ศึกษาเรื่องนั้นดีๆ จะเห็นว่าการฟ้องของสรยุทธ เป็น "แทคติก" แก้เกี้ยวเสียมากกว่า คือหลังจากจ่ายเงิน(ที่ควรแจ้ง-จ่ายแต่แรก)ไปแล้ว พอมีเรื่องขึ้นมา ก็เพิ่งมาฟ้องว่า อส.มท.เก็บเกินไป ไม่มีส่วนลดอะไรแบบนั้น (ตอนเขาจับได้ตอนแรก และยอมจ่าย ไม่เคยบ่นเลย เพราะรู้อยู่ว่าทำผิด) เรื่องนี้มันไม่มีน้ำหนักในการหักล้างเรื่องการ "ตุกติก" ของ ไร่ส้ม และ จนท. อส.มท.คนที่ถูกจับได้)

ถ้าถามว่า เมืองไทย ในระบบราชการและการติดต่อของราชการกับเอกชนเชิงธุรกิจ มีเรื่องทำนองนี้ไหม ("ตุกติก เอานิดเอาหน่อยก็เอา" อะไรแบบนั้น) ผมว่าคนไทยทุกคนคงตอบว่า ก็มีอยู่เยอะแหละ ปัญหาอยู่ที่จะจับได้ไหม ..

และถึงจุดนี้ มันกลายมาเป็นประเด็นสำคัญอีกอันว่า ถ้ามีการจับได้ และมีการเล่นงาน คนที่ถูกจับได้ เป็น "พวกใคร" หรือ "พวกที่ใครเชียร์/ด่า"

คือภาวะ "แตกขั้วการเมือง" (political polarization) ทียืดเยื้อมา 10 ปีนี้ มันถึงจุดทีว่า ตอนนี้ ถ้าพวกนึง "ถล่ม" ใคร อีกพวกก็จะบอกว่า "ทีพวกมรึง หรือพวกทีมรึงเชียร์ ทำบ้าง ทำไมไม่โวยวาย?" อะไรแบบนั้นเลย หรือถ้า "ทำไมตอนนั้น มรึงออกมาโวยวาย ทีตอนนี้ เกิดเรื่องเหมือนกัน ทำไมไม่โวยวาย"

มุกยกเรื่อง "สองมาตรฐาน" มาด่าแบบนี้ กำลังเป็นมุกหลักที่ทั้งสองฝ่ายใช้ ดูง่ายๆกรณีรถยนต์สมเด็จช่วง, หรือดู "กลอน" ของอีตา จักษ์ ล่าสุด ("ทำไมเวลามีการฆ่ากัน ไม่โวยวาย" บลา บลา) - ฝ่ายเสื้อแดงก็ใช้มุกนี้เหมือนกัน กรณีศศินกับเขื่อนแม่วงก์

จริงๆมุกนี้ รวมๆแล้ว มันก็จะมาลงว่า "ในเมื่อพวกมรึงสองมาตรฐานได้ พวกกรูก็จะสองมาตรฐานเช่นกัน" "ถ้าพวกมรึงไม่ยอมให้เอาผิดพุทธอิสระ พวกกรูก็ไม่ยอมให้เอาผิดสมเด็จช่วง(ต่อให้สมเด็จช่วงผิดจริงก็ตาม)" อะไรประมาณนั้น

พูดง่ายๆคือ ณ จุดนี้ สังคมการเมืองไทย มาถึงจุดที่ไม่มีใครยอมรับใครหรืออะไรที่ "อีกฝ่าย" พูดหรือทำ และทีสำคัญคือ ไม่มีอำนาจ (authority) อะไรที่ "อยู่ตรงกลาง" ที่ทั้งสองฝ่ายสามารถยอมรับได้

และนี่ก็โยงเข้ากับปัญหาสำคัญมาก คือ "ตุลาการภิวัฒน์"

สิ่งที่ธีรยุทธเรียกว่า "ตุลาภิวัฒน์" ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการ "เปิดสวิทช์" ของในหลวงด้วยพระราชดำรัสต่อศาลเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 (จะครบสิบปีของเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์นี้ในไม่กีสัปดาห์นี้)

คือการทำให้เป็นการเมืองของ "กระบวนการยุติธรรม" ทั้งกระบวนการ (POLITICIZATION of the whole judicial process)

คือการที่การวินิจฉัย ดำเนินคดี การตัดสิน ฯลฯ ตั้งแต่ระดับพนักงานที่ทำคดี ตำรวจ, ดีเอสไอ, อัยการสูงสุด, ปปช. ไปถึง ศาล ต่อคดีสำคัญๆ ในลักษณะ "มีการเมืองนำ" (แน่นอน ไม่ใช่ทุกคดีความ ไปถึงเรื่องลักเล็กขโมยน้อย ฆ่ากันทั่วๆไป)

เริ่มตั้งแต่ที่ศาล "โมฆะ" การเลือกตั้งปี 2549 (ตามการชี้แนะของพระราชดำรัสของในหลวงครั้งนั้น) ด้วยข้ออ้างห่วยๆประเภท "หันบู้ธเลือกตั้งออกด้านนอก" นั้นเลย และหลังจากนั้น ก็ go down hill หรือ "ลงเขา" เรื่อยมา....

ถึงตอนนี้ ไม่ว่ากรณีอะไรทีสำคัญๆหรือมี "การเมือง" ทั้งในแง่แคบ (คนเกี่ยวข้องเป็นแอ๊คติวิสต์ของฝ่ายใด) หรือในแง่กว้าง (เป็นคนที่ฝ่ายไหนด่า-เชียร์) เข้ามาเกี่ยวข้อง

ก็ไม่มีใครยอมรับการดำเนินการหรือวินิจฉัยตัดสินของ "กระบวนการยุติธรรม" อะไรอีก ผมได้เขียนไว้ตั้งแต่เริ่ม "ตุลาการภิวัฒน์" ใหม่ๆ (คือร่วม 10 ปีแล้ว) ว่า

"การทำให้เป็นการเมืองของตุลาการครั้งนี้ จะใช้เวลาหลายปีกว่าจะแก้ได้This politicization of the judiciary will take years to undo."

ตอนนั้นก็ไม่ถึงกับนึกอย่างจริงจังว่า "หลายปี" ทีว่าจะกี่ปี คือแน่ใจแหละว่าต้องหลายๆปีแน่ ตอนนี้ 10 ปีแล้ว และไม่มีทีท่าว่าปัญหา "แตกสองขั้ว" "สองมาตรฐาน" "ไม่มีอำนาจกลางที่ทุกฝ่ายยอมรับ" "การเป็นการเมืองของกระบวนการยุติธรรม" - ซึ่งเป็นปัญหาผูกกันหมด - จะยุติลงในอีกกี่ปีข้างหน้า ....

 

ที่มา: Facebook Somsak Jeamteerasakul

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net