เกษตรกรชัยนาทเชื่อ มาตรการภัยแล้งช่วยเกษตรกร 9 หมื่นล้านไม่ได้ผล

เกษตรกรชัยนาทระบุ โครงการให้เกษตรกรกู้ 12,000 ต่อหัวช่วยได้แค่เกษตรกรที่มีที่ดิน ไม่เอื้อคนส่วนใหญ่ที่ไร้ที่ดิน ส่วนโครงการหนุน SME น่าห่วง ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนหนี้บาน ขายทอดตลาดเยอะแล้ว แก้ไม่ตรงจุด

4 มี.ค.2559 จากกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกมติเมื่อวันที่ 23 ก.พ.เรื่องมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาภัยแล้งและมาตรการเพิ่มขีดความสามารถทางการเกษตร 3 โครงการ วงเงิน 99,000 ล้านบาท  ได้แก่ 1. สินเชื่อค่าใช้จ่ายฉุกเฉินและจำเป็นของเกษตรกร ให้กู้รายละไม่เกิน 12,000 บาท  2.สินเชื่อ 1 ตำบล 1 SME เกษตร 3.ชุมชนเปลี่ยนการผลิตสู้วิกฤตภัยแล้ง ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่กลอง  

กิมอัง พงษ์นารายณ์ (แฟ้มภาพ : ประชาไท)

กิมอัง พงษ์นารายณ์ เกษตรกรจังหวัดชัยนาท และสมาชิกกลุ่มเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ให้ความเห็นต่อนโยบายดังกล่าวว่า น่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด และไม่ใช่การช่วยเหลือเกษตรกรส่วนใหญ่

“โครงการนี้ถือว่าดีแต่แก้ไม่ทันกับปัญหาของเกษตรกร เหมาะกับเกษตรกรที่แค่ประสพภัยแล้งที่ไม่มีปัญหาหนี้สิน” กิมอังกล่าว

สำหรับโครงการแรก สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินและจำเป็นของเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง  กิมอังเห็นว่าจะมีเกษตรกรที่ได้ประโยชน์กลุ่มเดียวคือ เกษตรกรที่ไม่มีปัญหาหนี้สินและมีที่ดิน โดยกลุ่มนี้เป็นจำนวนไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับเกษตรกรส่วนใหญ่ที่ไม่มีที่ดินทำกินและมีปัญหาหนี้สิน

กรณีโครงการที่สอง สินเชื่อ 1 ตำบล 1 SME เกษตร  กิมอังเห็นว่า โครงการนี้ก็ไม่น่าจะเป็นการช่วยเหลืออย่างตรงจุดเช่นกัน เนื่องจากตัวโครงการตั้งใจจะสนับสนุนกลุ่มอาชีพที่มีอยู่แล้วในชุมชน เช่น กลุ่มสินค้าโอทอปที่ทอผ้าพื้นเมือง กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงหม่อนไหม แต่กลุ่มเหล่านี้ล้วนมีสภาพกิจการย่ำแย่ เป็นหนี้ ธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์จำนวนมากอยู่แล้ว  หลายกลุ่มถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาดไปแล้ว จึงไม่สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ ดังนั้น รัฐควรหามาตรการแก้ปัญหาหนี้สิ้นเก่าของกลุ่มเหล่านี้ด้วยอีกทาง

ขณะที่โครงการที่สาม ชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตสู้วิกฤติภัยแล้ง กิมอังเห็นว่า โครงการนี้จะดีต้องมีความต่อเนื่องในการช่วยเหลือ

รายละเอียดมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาภัยแล้งและมาตรการเพิ่มขีดความสามารถทางการเกษตร : 

วันที่ 23 ก.พ. 2559 ครม. เห็นชอบ มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาภัยแล้งและมาตรการเพิ่มขีดความสามารถทางการเกษตร 2558/2559 ที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งที่เกิดขึ้นแก่เกษตรกร เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งในระยะเร่งด่วนที่จะส่งผลต่อความเป็นอยู่ รายได้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และสภาวะสังคม ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถภาคการเกษตรของประเทศและจะเป็นการบรรเทาผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและภัยธรรมชาติอื่น ๆ ในระยะกลาง โดยมีรายละเอียดโครงการ ดังนี้

1. โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินและจำเป็นของเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง ปี 2558/2559 วงเงินรวมทั้งสิ้น 6,000 ล้านบาท โดยให้สินเชื่อไม่เกิน 12,000 บาทต่อราย กำหนดชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 12 เดือน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 0 ต่อปี ในระยะเวลา 6 เดือนแรก และตั้งแต่เดือนที่ 7 - 12 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี สำหรับเกษตรกรลูกค้ารายย่อยของ ธ.ก.ส. ที่ปัจจุบันมีวงเงินกู้ต่อรายรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท

2. โครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 SME เกษตร เพื่อสร้างความยั่งยืนของภาคเกษตรไทย วงเงินสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 72,000 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ภาคการเกษตร ประกอบด้วย ผู้ประกอบการรายคน วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร หรือบริษัทชุมชน จำนวน 7,200 ราย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร และกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน (ประมาณการจ้างงานได้ 5 - 30 คนต่อกิจการ) โดย ธ.ก.ส. ให้สินเชื่อระยะเวลาเงินกู้ไม่เกิน 10 ปี ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี เป็นเวลาไม่เกิน 7 ปี และปีที่ 8 - 10 อัตราดอกเบี้ยปกติตามชั้นลูกค้า วงเงินกู้ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย

3. โครงการชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตสู้วิกฤติภัยแล้ง วงเงินสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 15,000 ล้านบาท สำหรับเกษตรกรในพื้นที่ประสบวิกฤติภัยแล้งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง จำนวน 26 จังหวัด จำนวน 100,000 ราย ที่มีความสมัครใจและตั้งใจในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตอย่างแท้จริงและผ่านการคัดเลือกจากชุมชน (ชุมชน ได้แก่ กลุ่มลูกค้า ธ.ก.ส. กลุ่มอาชีพ หรือวิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพและอยู่ในพื้นที่ประสบวิกฤติภัยแล้งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง จำนวน 26 จังหวัด) ใช้เป็นค่าเช่าที่ดิน ค่าปัจจัยการผลิต และค่าจ้างแรงงานให้กับเกษตรกร โดยกำหนดวงเงินกู้กลุ่มละไม่เกิน 3 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี กำหนดชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 12 เดือน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท