Skip to main content
sharethis
4 ม.ค.2559 สำนักข่าวไทย รายงานว่า นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงข่าวถึงคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน จากกรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา ได้เข้ายื่นหน้งสือร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) กรณีเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะ ที่สมควรได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชตามมติของมหาเถรสมาคม (มส.) ไปยังนายกรัฐมนตรีไม่เป็นไปตามขั้นตอนตามบทบัญญัติของกฎหมายในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ 2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535
 
นายรักษเกชา กล่าวว่า คณะกรรมการผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้ว เห็นว่าการเสนอชื่อของสมเด็จพระสังฆราชจะต้องเริ่มจากสำนักพระพุทธศาสนาฯ คัดเลือกพระราชาคณะที่เหมาะสม เสนอให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เลือก ก่อนที่จะให้ มส.ลงมติเห็นชอบ และส่งกลับให้นายกรัฐมนตรี เพื่อนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช แต่ทางสำนักพระพุทธศาสนาฯ กลับดำเนินการเสนอรายนามพระราชาคณะให้กับ มส.ลงมติเลือก แล้วส่งให้นายกรัฐมนตรียื่นทูลเกล้าฯ ทันที จึงทำให้นายกรัฐมนตรีเปรียบเสมือนเป็นเพียงบุรุษไปรษณีย์เท่านั้น
 
นายรักษเกชา  กล่าวอีกว่า ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงใช้อำนาจตามความในมาตรา 32 ตามพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ประกอบกับประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (เฉพาะที่24/2557) เพื่อเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการให้นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกิจการทางพระพุทธศาสนาจัดส่งบันทึกของสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ในมติของ มส.ที่เห็นชอบให้สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาศวัดปากน้ำ หรือ สมเด็จช่วง คืนไปยังสำนักพระพุทธศาสนาฯ เพื่อดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนกฏหมายว่าด้วยคณะสงฆ์หมวด 1 ต่อไป แต่ทั้งนี้จะต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของนายกรัฐมนตรี
 
รองผอ.พศ.ไม่ก้าวล่วง
 
ขณะที่ นายชยพล พงษ์สีดา รองผู้อำนวยการ พศ.ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามกรณีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 กล่าวว่า กรณีสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินมีความเห็นในการตีความมาตรา 7 ของพ.ร.บ.คณะสงฆ์พ.ศ.2505 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมพ.ศ.2535 โดยเห็นว่าการพิจารณาเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะ ซึ่งเริ่มต้นจากมหาเถรสมาคม(มส.)เพื่อเสนอรายชื่อสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์แสนอไปยังนายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อโปรดเกล้าฯสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 เป็นการดำเนินการที่ผิดขั้นตอน โดยที่ถูกต้องนั้น ต้องเริ่มต้นที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณารายชื่อสมเด็จพระราชาคณะ และเสนอมายังมส.นั้น  ตนขอยืนยัน พศ. และ มส.ได้พิจารณาเรื่องการเสนอรายชื่อสมเด็จพระราชาคณะเพื่อเสนอสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่  20 อย่างรอบคอบและเป็นไปโดยชอบตามกฎหมายคณะสงฆ์และจารีตประเพณี
 
ขณะนี้ส่งเรื่องไปยังนายสุวพันธุ์  ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายก รัฐมนตรีที่กำกับ พศ.เรียบร้อยแล้วเพื่อพิจารณาเสนอไปยังนายกรัฐมนตรี จึงจบขั้นตอนในส่วนที่ พศ.และมส.รับผิดชอบไปแล้ว หากหน่วยงานใดมีความเห็นแตกต่างออกไปจากที่ พศ.และมส.ดำเนินการก็เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่จะตัดสินใจและเป็น ผู้ชี้ขาดว่าที่ถูกคืออะไร ซึ่ง พศ.ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องและไม่สามารถไปก้าวล่วงได้ เพราะเป็นอำนาจพิจารณาของนายกรัฐมนตรี เชื่อว่าสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินคงจะมีหนังสือแจ้งไปถึงรัฐบาลโดยตรง แต่หากรัฐบาลมีหนังสือสอบถามความเห็นกรณีการตีความของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินมายัง พศ.ทาง พศ.ก็พร้อมให้ความเห็นและแจ้งตอบรัฐบาล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net