T4A สำรวจลิฟต์ MRT สายสีม่วง สร้างไม่ครบ-เพิ่มอุปกรณ์ใหม่ที่ใช้งานไม่ได้จริง

ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A) สำรวจการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเอ็มอาร์ทีพบสร้างไม่ครบ หนำซ้ำเพิ่มแพลตฟอร์มลิฟต์-ตีนตะขาบ ซึ่งอันตรายและใช้งานไม่ได้จริง ย้ำการสร้างต้องคำนึงถึงคนทุกคน

3 มี.ค. 2559 ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A) นำโดย มานิตย์ อินทรพิมพ์ ประธานคณะติดตามระบบราง อัปเดตความคืบหน้าการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกบนรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีสายสีม่วง ซึ่งกำลังดำเนินการก่อสร้าง ว่าเป็นไปตามกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา พ.ศ. 2548 หรือไม่ ซึ่งต้องประกอบไปด้วย สิ่งอำนวยความสะดวก ลิฟต์ พื้นผิวต่างสัมผัส และมีความกว้างสุทธิที่เพียงพอต่อการใช้งาน หลังพบปัญหาบีทีเอสสายสีน้ำเงินสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดไม่ทันตามกำหนดเวลา (อ่านข่าวที่นี่)

ทั้งนี้ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ประกอบไปด้วย 16 สถานี ได้แก่ สถานีคลองบางไผ่ (S01) สถานีตลาดบางใหญ่ สถานีสามแยกบางใหญ่ สถานีบางพลู สถานีบางรักใหญ่ สถานีท่าอิฐ สถานีไทรม้า สถานีสะพานพระนั่งเกล้า สถานีแยกนนทบุรี 1 สถานีศรีพรสวรรค์ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี สถานีกระทรวงสาธารณสุข สถานีแยกติวานนท์ สถานีวงศ์สว่าง สถานีบางซ่อน และสถานีเตาปูน โดยมีสถานีเตาปูนเป็นสถานีเปลี่ยนเส้นทาง (Interchange Station) ระหว่างสายสีม่วงและสายสีน้ำเงิน
 
T4A ตั้งข้อสังเกตว่า มีการติดตั้งลิฟต์ และสร้างทางลาดไม่ครบตามจำนวนทางเข้าออก โดยส่วนใหญ่ 1 สถานี จะมี 4 ทางเข้าออก แต่พบว่า มีทางลาด และลิฟต์เพียง 2 ทางเข้าออก ซึ่งทำให้สุดท้ายแล้ว กลุ่มบุคคลที่ต้องการใช้สิ่งอำนวยความสะดวก ไม่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง 


ภาพจาก http://www.transportationforall.org

อีกทั้งยังพบว่า มีการนำเอาแพลตฟอร์มลิฟต์ (แพลตฟอร์มลิฟต์มีลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยม ขนาดพอดีวีลแชร์ ติดตั้งขนาบข้างไปกับราวบันไดที่มีอยู่ ทำงานโดยการกดปุ่มขึ้น-ลง ด้านข้างของตัวแพลตฟอร์ม สามารถใช้งานได้ดีในความสูงที่ไม่มาก ใช้เวลานาน เฉลี่ยต่อเที่ยวที่ความสูงครึ่งชั้น ประมาณ 6 นาที-ประชาไท) มาติดตั้งบริเวณบันได แทนที่จะมีการติดตั้งลิฟท์ ตามคำสั่ง ซึ่งแพลตฟอร์มลิฟต์นี้ ทางT4Aแจ้งว่า เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกที่อันตราย เพราะบริเวณที่ติดมีความสูงมากจากพื้นดิน หากต้องใช้อุปกรณ์นี้ในเวลาเร่งด่วน คนเบียดเสียด หรือไม่มีเจ้าหน้าที่คอยดูแล อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ อีกทั้งยังไม่เอื้อต่อการใช้งานของทุกคน ซึ่งรวมถึง คนแก่ คนท้อง คนที่มีสัมภาระ ฯลฯ โดยสามารถใช้งานได้สะดวก เฉพาะผู้ใช้วีลแชร์ที่แขนแข็งแรงเท่านั้น เพราะต้องกดปุ่มขึ้น หรือลงค้างไว้ตลอดเวลา โดยผู้ช่วยเหลือไม่สามารถขึ้นไปพร้อมกันได้
 


หน้าตาของแพลตฟอร์มลิฟต์
ภาพจาก http://www.transportationforall.org
 

 

 

เอาลิฟท์คนพิการมาให้ชมกันครับ อยู่ที่สถานีบางพลู โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ

Posted by การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย on Monday, 9 February 2015

สาธิตการใช้แพลตฟอร์มลิฟต์ ที่สถานีบางพลู
ที่มา: เพจเฟซบุ๊ก 
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

นอกจากแพลตฟอร์มลิฟต์ดังกล่าว ทางT4A ยังแจ้งอีกว่า เอ็มอาร์ทีมีการวางแผนที่จะนำเอาลิฟต์ขึ้น-ลงบันได (อุปกรณ์ต่อเชื่อมวีลแชร์ เพื่อเคลื่อนย้ายขึ้นบันไดหรือพื้นที่ต่างระดับ เหมาะกับการใช้งานในพื้นที่ที่ไม่สูงมาก เช่นภายในบ้าน และต้องอาศัยผู้ช่วยที่มีทักษะเพื่อเคลื่อนย้ายอุปกรณ์-ประชาไท) หรือตีนตะขาบมาใช้ ซึ่งเรื่องนี้ นายมานิตย์ กล่าวกับประชาไทว่า เป็นอุปกรณ์ที่น่ากลัว ไม่ปลอดภัย และไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ซ้ำยังชี้ว่า ตนเองเคยบอกกับทางผู้เกี่ยวข้องให้ทราบแล้วว่า อุปกรณ์เช่นนี้ไม่สามารถใช้งานได้จริง แต่ทำไมยังมีการนำกลับมาเพื่อใช้งานอีก

“ผมถามไปดังๆ เลยในที่ประชุม ว่ามีใครกล้านั่งบนตีนตะขาบบ้าง ทุกคนก็พูดโพล่งขึ้นมาว่า ผมไม่กล้า” มานิตย์กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งร่วมประชุมกับ รฟม.


หน้าตาของลิฟต์ขึ้น-ลงบันได หรือตีนตะขาบ

ภาพจาก http://www.transportationforall.org

มานิตย์กล่าวต่อว่า ทั้งแพลตฟอร์มลิฟต์ หรือตีนตะขาบ ล้วนเป็นอุปกรณ์ที่ไม่ได้สร้างมาเพื่อให้คนทุกคนใช้ได้ การสร้างอุปกรณ์อำนวยความสะดวกควรคำนึงถึงคนทุกคน (Inclusive Design) ไม่ใช่คิดแก้ปัญหาไปทีละอย่าง หรือทำมาแล้วสามารถใช้งานได้เพียงเฉพาะผู้นั่งวีลแชร์เท่านั้น

“อยากจะบอกว่าเราเข้าใจสถานการณ์การทำงานของราชการ และหน่วยงานรัฐ ที่มีข้อจำกัดในการประสานงาน แต่สิ่งเหล่านี้คือกฎหมาย เป็นสิ่งที่ชี้ไปถึงสิทธิของคนหนึ่งคน ซึ่งมีค่าเท่ากันกับคนอื่นๆ เช่น สิทธิของคนพิการที่มักจะขาดหาย และถูกลืมจนกลายเป็นเรื่องปกติ สิ่งที่เราต้องการคือให้ทุกคนเข้าใจอย่างแท้จริง และสร้างสิทธิเหล่านี้ให้เกิดขึ้นเสียที” เขากล่าว

ทั้งนี้มานิตย์กล่าวว่า ทางภาคีจะเดินหน้ากดดัน และสำรวจความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง หากพบข้อสังเกตเพิ่มเติมใดๆ การก่อสร้างที่ไม่ตรงตามคำสั่ง หรือใช้ประโยชน์ไม่ได้จริง อีกทั้งไร้ความคืบหน้า ก็จะดำเนินการร้องเรียนต่อผู้เกี่ยวข้องโดยทันที เพื่อให้การก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกนี้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อคนทุกคน

 

หมายเหตุ : เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 9 มี.ค. 2559 ทางประชาไท ได้แก้คำผิดจาก บีทีเอส สายสีม่วง เป็น เอ็มอาร์ที สายสีม่วง 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท