'อินดี้เกาหลี' กับพื้นที่การขัดขืนในย่านฮงแดของกรุงโซล

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ช่วงต้นเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมสัมมนาดนตรีสมัยนิยมในเอเชียที่ศูนย์วัฒนธรรมเอเชีย เมืองกวางจูเกาหลี  แล้วกลับมาที่โซลเพื่อร่วมเวิร์คช็อปการเตรียมงานสัมมนาดนตรีสมัยนิยมในเอเชียที่จะจัดในปลายปีนี้ หลังจากเสร็จธุระเรื่องงาน เพื่อนในกลุ่มก็ชวนไปดูดนตรีในงานเปิดอัลบั้มรวมเพลงอินดี้ BBang Compilation 4  ณ Club  BBang ย่านฮงแด แหล่งศูนย์รวมวัยรุ่นของกรุงโซล ที่จริงๆการไปดูดนตรีนี้เหมือนจะเป็นโปรแกรมแถมเพิ่มเข้ามาในการไปเกาหลีครั้งนี้  แต่กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้เขียนเข้าใจในมิติของวัฒนธรรมวัยรุ่นและดนตรีสมัยนิยมในเอเชียมากขึ้น

( 1 )

งาน BBang จัดแสดงในผับ/คอฟฟี่ช็อป/อาร์ตสเปซ  6 แห่งพร้อมกัน โดยมีศิลปินและวงต่างๆร่วมเล่น 39 วง    เรียกว่าใครอยากดูวงไหนเชิญเลือกชมกันได้ตามสบาย  งานนี้ไม่มีค่าใช้จ่าย  ซื้อแผ่นหรือไม่ซื้อก็ไม่ว่าอะไร (แผ่นซีดีรวมเพลงราคาราวๆ 250 บาท)  ที่ผ่านมาเราจะรู้จักเพลงสมัยนิยมที่มาจากเกาหลีในนาม K-Pop  คำว่า “ K-Indie” ดูเหมือนจะเป็นอะไรที่ยังไม่แพร่หลายนักในหมู่ผู้ฟังเพลงเกาหลี  ไม่ต้องนับรวมถึงเพลงอินดี้จากเกาหลีที่นักฟังเพลงบ้านเราแทบไม่รู้จักกันเลย  จริงๆแล้วการเกิดขึ้นของเคอินดี้ในเกาหลีดูจะไม่ใช่เรื่องง่าย  เมื่อนโยบายอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม( cultural industries)เป็นนโยบายสร้างอัตลักษณ์ของชาติ (national identity)อันเกาหลีประสบความสำเร็จ ทั้งในแง่ของอุตสาหกรรมและการสร้างภาพลักษณ์ให้กับชาติ  และที่สำคัญอุตสาหกรรมดนตรีและอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีที่รวบเอาโอกาสของการสร้าง “พื้นที่ทางเลือก”ของวัยรุ่นในเกาหลีให้เกิดยากขึ้นตามไปด้วย  ง่ายๆเลยคุณจะเป็นอินดี้อยู่ทำไม?  เมื่อคุณสามารถเขียนโครงการของงบประมาณเพื่อสร้างสรรค์ผลงานได้  ในขณะที่อุตสาหกรรมดนตรีของเกาหลีก็ใหญ่มากพรั่งพร้อมทั้งบุคลากรที่มีความสร้างสามารถและเครื่องไม้เครื่องมือที่ดี  ดังนั้นที่ผ่านมาภาพของเคอินดี้จึงอยู่ใต้ภาพของเคป็อปมาตลอด   แต่หากเราจะเข้าใจ “อินดี้เกาหลี”ภาพที่ควรจะมอง  น่าเริ่มจากส่วนที่อยู่นอกเหนืออุตสาหกรรมการบันทึกเสียง( record industry)เป็นหลัก  เช่นพื้นที่ทางวัฒนธรรมของฮงแด  อย่างไรก็ดี คงไม่อาจกล่าวได้ว่าฮงแดคือพื้นที่ดนตรีแต่เพียงอย่างเดียว  แต่สำหรับในงานนี้ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตจากเรื่องของดนตรีเท่านั้น

พื้นที่อินดี้เกาหลีเกิดขึ้นในโซล  โดยเฉพาะในย่านฮงแด ย่านนี้อยู่แถบตอนใต้ของโซลและติดกับ"มหาวิทยาลัยฮงงิก" Hongik  University) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านการเรียนการสอนทางด้านศิลปะของเกาหลี  ในสมัยเกาหลียังอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหารย่านฮงแดเคยเป็นย่านคลับ( ร้านดื่มเหล้า มีดนตรีและสาวพาร์ทเนอร์)มาก่อนในยุค 70s - 80s แต่ก็ทรุดโทรมไปเมื่อหมดยุคสมัยของคลับ หลังจากนั้นในช่วงกลาง 90s ร้านขายหนังสือเป็นกลุ่มแรกๆที่เข้ามา  ตามด้วยกลุ่มนักศึกษาที่ตั้งวงดนตรีอัลเทอร์เนทีฟร็อคเล่นแสดงสดกันกลางแจ้ง  แต่ย่านนี้กลับมาคึกคักในช่วงกลางคืนอีกครั้งเมื่อวัยรุ่นเหล่านั้นเริ่มเห็นว่าคลับเก่าที่ปิดร้างเหล่านั้นมีราคาค่าเช่าที่ไม่แพงเท่าไร พวกเขาจึงเขามาเช่าร้าน( ซึ่งส่วนใหญ่เป็นห้องที่จุผู้คนเข้าชมดนตรีได้และอยู่ในชั้นใต้ดินไม่ส่งเสียงรบกวนผู้อาศัยในยามค่ำคืน) ช่วงปลาย 90s ย่านฮงแดก็กลับมาคึกคักอีกครั้งในยามค่ำคืน  มีผับที่เปิดเป็นร้านให้มีการแสดงดนตรีอีกครั้งอย่างเช่น  Club FF, Freebird, No Brain, Crying Nut,  DGBD( เลียนแบบ CBGB ผับดังในนิวยอร์ค)พ  ร้าน Club BBang ที่ผู้เขียนได้ไปมาก็เริ่มเปิดกิจการเป็นไลฟ์เฮาส์( live house)ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1994  ลักษณะที่สำคัญของ “ไลฟ์เฮาส์”คือเน้นการแสดงดนตรี  ผู้เข้าชมซื้อบัตรเข้าชม(หรือจ่ายค่าเข้าชมด้วยเงื่อนไขต่างๆกันไป)  จำหน่ายเครื่องเดิม(แต่ไม่มีที่โต๊ะนั่ง)  ว่ากันว่าในยุค 90s วงดนตรีหน้าใหม่(ที่ไม่ใช่วงในกระแสหลัก)หลากหลายสไตล์ล้วนผ่านเวทีการแสดงในผับที่เกิดใหม่ในย่านฮงแดมาแล้วทั้งนั้น  เกิดคำเรียกที่ว่า "ฮงแดซาวด์"ขึ้นมา
 

( 2 )

อย่างไรก็ตามแต่ผู้ที่อยู่เดิมจำนวนหนึ่งยังคงอยู่ได้ คลับ Club BBang ที่จัดงานที่ผู้เขียนไปชมงานในวันนั้น  แม้ไม่ได้เป็นผับฮิตในย่านนั้น(ที่สุดถนนหลักในฮงแดง)แต่การจัดงานดนตรีอย่างต่อเนื่องและเปิดโอกาสให้กับวงหน้าใหม่ หลากหลาสไตล์ทำให้เป็นสถานที่ที่กลายเป็นสัญญลักษณ์ของ “ฮงแดซาวน์”ไปแล้ว   วงดนตรีหลายๆที่เกิดขึ้นด้วยการสนับสนุนการของร้านในย่านนี้  อย่างเช่นศิลปินคู่ ศิลปินคู่ Kim Sawol และ Kim Heawon ที่ผู้เขียนได้ชม ณ ร้าน Strange Fruit  ในวันนั้น Kim Sawol (จากงานอัลบั้มเดียว Susan)ก็เพิ่งคว้ารางวัลดนตรีโฟล์ค ยอดเยี่ยมของ Korean Music Award 2016 ที่ผ่านมาได้ 

แต่ใช่ว่าร้านเหล่านั้นในย่านฮงแดงจะอยู่อย่างยั่งยืนในเชิงธุรกิจได้ทุกร้าน  มีการเปลี่ยนมือผู้เช่าเปิดกิจการผับไปด้วยเหตุผลต่างๆ  แต่นั้นยังไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่ทำให้ย่านดนตรีในฮงแดเปลี่ยนไป  ในปัจจุบันสิ่งที่เกิดขึ้นในการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่เมือง โดยเฉพาะพื้นที่เมืองชั้นใน หรือย่านเก่าที่ทรุดโทรม)ตามเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก ก็คือ การพัฒนาย่านเหล่านี้ให้กลายเป็นพื้นที่ที่มูลค่าในเชิงสัญลักษณ์  โดยการให้ผู้เช่าเดิม ( ซึ่งไม่จำเป็นต้องผู้อยู่อาศัยมาตั้งแต่แรก ส่วนใหญ่คือผู้เช่า)ออกไป โดยการขึ้นราคาค่าเช่าหรือไม่ต่อสัญญาการเช่า  แล้วอาคารพื้นที่เดิมนั้นจะถูกปรับปรุงเพื่อเปิดกิจการใหม่หรือกิจการในลักษณะที่คล้ายกิจการของเดิม  ประเด็นสำคัญของย่านฮงแดตรงนี้ก็คือ  พอย่านนี้กลายเป็นย่านดังขึ้นมา  บริษัทที่ดำเนินธุรกิจพัฒนาที่ดินก็จะเข้ามาจัดการ ด้วยการเข้ามาบริหารการเช่า, ราคาค่าเช่าและระยะเวลาการเช่า  ทำให้ค่าเช่าแพงขึ้นจนผู้เช่าเดิมอยู่ไม่ได้  หลังจากนั้น  ร้านกาแฟดัง ร้านแฟชั่นแบรนด์เนม์ แกลลอรี่ก็จะค่อยๆเข้ามา  ร้านกาแฟในละครโทรทัศน์ชื่อดังอย่าง Coffee Prince ก็ตั้งอยู่ในย่านฮงแด  และมีส่วนให้ฮงแดกลายเปลี่ยนเป็นย่านท่องเที่ยวไป  เมื่อนักท่องเที่ยวทั้งหลายแห่กันไปชมสถานที่ถ่ายร้านกาแฟดังกล่าว  เดินเที่ยวถ่ายรูปหรือซื้อสินค้าแบรนด์เนม( ที่หาซื้อที่ไหนก็ได้) ย่านเหล่านี้ค่อยกลายเป็นฮิปสเตอร์หรือผู้ใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์(ในความหมายที่เป็นวาทกรรมสื่อ) 

(3)

ปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในย่านฮงแด ศัพท์ทางสังคมวิทยาเรียกปรากฏการณ์นี้ว่าเป็นการ “gentrification”  ซึ่งจะต่างออกไปจากทำให้การเป็นเมืองในอดีตซึ่งนั่นเป็นการมุ่งไปที่การพัฒนาที่ดิน หรือเปลี่ยนแปลงพื้นที่ทั้งหมดด้วยการก่อสร้างอาคาร  รวมถึง gentrification ไม่ได้มุ่งที่จะการก่อสร้างใหม่ หากแต่แค่ปรับปรุง พื้นที่และสร้างขึ้นมาเพื่อสร้างมูลค่าสัญลักษณ์ใหม่(คิดถึงย่านนิมมานฯในเชียงใหม่ และซอยนานาแถววงเวียน 22 ในกรุงเทพฯ  หรือย่านถนนพระอาทิตย์ที่เริ่มปรับสัญลักษณ์เชิงพื้นที่ตั้งแต่กลาง 90s ) 

ที่สำคัญ  gentrification  เป็นลักษณะของดำเนินการโดยเอกชน(บริษัทพัฒนาที่ดิน)กับเอกชน(ผู้ค้าที่เป็นผู้เช่าเดิม) ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับกระบวนการไล่ รื้อหรือเบียดขับผู้คนชายขอบ  และไม่ได้เกี่ยวอะไรกับแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์หรือฟื้นฟูย่านเก่าในนโยบายเกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมเมืองของหน่วยงานรัฐ  เพราะพื้นที่เช่นฮงแด หรือซอยนานา เป็นย่านกินดื่มและเสพศิลปะวัฒนธรรมร่วมสมัย (ที่ง่ายต่อการเข้าถึงในการเสพงานทางศิลปะ หรือไม่ต้องเสียเงินจ่ายในราคาที่สูงในการชม) 

อย่างไรก็ตาม   gentrification  เป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดคำถามสำคัญที่ว่า “ใครควรจะในเกี่ยวข้องในเรื่องนี้” ในเมื่อค่าเช่าที่เป็นของกลไกตลาด  รัฐจะเข้ามากำหนดราคาค่าเช่าก็ดูกระไรอยู่ (ในเมื่อเป็นที่เอกชน)  รัฐจะสนับสนุนผู้เช่าเดิมในแง่ใด  ในเมื่อผู้เช่าก็เป็นผู้ประกอบการ  สร้างสถานที่แสดงหรือการจัดตั้งพื้นที่ให้นั่นก็ไม่เคยเป็นที่ต้องการของกลุ่มอินดี้จริงๆ สักที   จากที่สังเกตของผู้เขียนผับต่างๆที่เดินดูดนตรีทั้ง 6 ร้านในคืนนั้น ล้วนแล้วแต่อยู่ในสภาพที่ดูทรุดโทรม  กลิ่นอับๆ ตกแต่งร้านด้วยสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมต่อต้าน (สติกเกอร์  โปสเตอร์และปกแผ่นเสียงศิลปินยุค 70s ฯลฯ) ส่วนใหญ่เฟอร์นิเจอร์และของแตกแต่งร้านเป็นของยุค 70s-80s ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือสัญลักษณ์ที่ต้องการการหยุดการเปลี่ยนแปลงไว้ ณ จุดหนึ่งในอดีต พวกเขาพอกับการพัฒนา
 

(4)

ที่จริงนอกจากย่านฮงแดแล้ว ในย่านกังนัมซึ่งพัฒนาจากย่านเกษตรกรรมชานเมืองมาเป็นส่วนหนึ่งของกรุงโซลในยุค 80s ก็กำลังเกิดปรากฏการณ์เช่นเดียวกับฮงแด  และอีกหลายที่ๆในกรุงโซลก็กำลังเกิดปรากฏการณ์คล้ายกันนี้  ทั้งกลุ่มอินดี้ในพื้นที่  นักวิชาการและนักกิจกรรมมีการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้เพื่อให้คนและพื้นที่เหล่านี้สามารถอยู่ต่อไปได้ไม่หายไปกับการเข้ามาของธุรกิจ งานการแสดงด้านศิลปะและอัลบั้มเพลง Stop Psy ( Psy คือศิลปินที่มีผลงานเพลง Gangnam Style อันโด่งดัง ชื่ออัลบั้ม Stop Psy ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของการการต่อต้าน) เป็นงานที่ผลิตออกมาเพื่อการณรงค์ต่อต้าน  gentrification ในกรุงโซล

อีกไม่นานพวกอินดี้ในฮงแดและกังนัมของโซลอาจต้องเป็นผู้ลี้ภัยการพัฒนาของทุนนิยมอันรวดเร็ว.... ที่จริงพวกเขาไม่ได้ต่อต้านทุนนิยม  หากแต่ต้องการ “พื้นที่ทางเลือก”ที่แทบจะไม่เหลือให้ใคร “เลือก”อีกแล้วเท่านั้นเอง!!!!

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท