'เนชั่น' ขออภัย ปมถูกดักเงิบข้อมูลแรงบันดาล 'กระเป๋าสีรุ้ง' ดีไซเนอร์ดัง

'เนชั่น' ขออภัย ปมถูกดักเงิบข้อมูลที่มา 'กระเป๋าสีรุ้ง' ของดีไซเนอร์ดัง นักวิชาการเตือนสื่อกระแสตรวจสอบข้อมูลก่อนนำข้อมูลจากโลกออนไลน์ไปใช้ กันถูกดักควาย ด้านเพจ 'ฮิปสเตอร์ไปฆ่าพ่อมึงเหรอ' ต้นตอเรื่องอำ โพสต์ชัดว่าเป็นเรื่องแต่ง

โพสต์ข่าวที่ผิดพลาดก่อนที่เนชั่นจะออกมาชี้แจงและขออภัย

8 มี.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 11.12 น. ที่ผ่านมา ทีมข่าวเว็บไซต์เนชั่นทีวี ได้โพสต์ผ่าน เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'NationTV 22' ชี้แจงเรื่องข้อมูลผิดพลาด กรณีกระแสข่าวกระเป๋าแบรนด์ดัง ที่มีข่าวว่าดีไซเนอร์ได้แรงบันดาลใจมาจากอพยพครอบครัวมาอยู่ในรัฐฉานและค้าขายอยู่แถวสามเหลี่ยมทองคำและเกิดไอเดียทำกระเป๋าจากถุงปุ๋ยจนเป็นแรงบันดาลใจให้ออกแบบกระเป๋าแบรนด์ดังนั้น จากการตรวจสอบ พบว่าข้อมูลดังกล่าวคลาดเคลื่อน และทางเว็บไซต์เนชั่นทีวี ได้แก้ไขข้อมูลแล้ว จึงขออภัยในความผิดพลาดที่เกิดขึ้น พร้อมระบุด้วยว่าจะเพิ่มความระมัดระวังและคัดกรองในการนำข้อมูลจากโซเชียลมีเดียมาใช้ต่อไป

โพสต์ชี้แจงและขอโทษของ 'NationTV 22

โดยก่อนหน้านี้ข้อมูลในลักษณะที่เดียวกันกับที่เนชั่นรายงานนั้น วานนี้(7 มี.ค.59) เวลา 16.20 น. เพจ 'ฮิปสเตอร์ไปฆ่าพ่อมึงเหรอ' ได้นำมาเล่าเพื่อล้อเลียน อย่างไรก็ตามจากนั้นเวลา 17.36 น. ของวันเดียวกัน เพจนี้ได้เขียนไว้ตอนท้ายเพิ่มเติมในโพสต์ดังกล่าวแล้วว่า "ขอบคุณที่เสียเวลาอ่าน ณ ครับ ‪#‎มันจะไปจริงได้ไงวะครับ‬ ‪#‎เง้อ‬"

โพสต์ของเพจ 'ฮิปสเตอร์ไปฆ่าพ่อมึงเหรอ' ที่แสดงให้เห็นชัดเจนในตอนท้ายว่าเป็นเรื่องแต่ง

นักวิชาการเตือนสื่อกระแสตรวจสอบข้อมูลก่อนนำข้อมูลจากโลกออนไลน์ไปใช้ กันถูกดักควาย

นายมานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา  ถึงกรณีนี้ว่า การที่สื่อนำข้อมูลจากโลกออนไลน์ไปใช้ ต้องระวังเรื่องการตรวจสอบข้อมูล เพราะไม่อย่างนั้นอาจตกเป็นเหยื่อของข้อมูลปลอม หรือที่ส่วนใหญ่เรียกกันว่าดักควาย และหลายครั้งหลังก็มีหลายสื่อที่ตกเป็นเหยื่อข้อมูลดังกล่าว ซึ่งบางครั้งเป็นข้อมูลที่สร้างขึ้นเพื่อความสนุก ล้อเลียนจากข้อเท็จจริง ซึ่งไม่ได้มีเจตนาจะหลอกลวงประชาชนแต่อย่างใด หากสื่อไม่มีการตรวจสอบ ก็จะเกิดปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ ดังนั้นหากสื่อ โดยเฉพาะสื่อกระแสหลักหากต้องการหยิบจับข้อมูลในโลกออนไลน์ จะต้องตรวจสอบซ้ำเพื่อยืนยันข้อมูล

เมื่อถามว่า กรณีดังกล่าวสะท้อนวงการสื่ออย่างไร นายมานะ กล่าวว่า เป็นเรื่องการแข่งขันในเชิงธุรกิจของอุตสาหกรรมสื่อ จำเป็นต้องมีความรวดเร็ว ไม่อย่างนั้นจะตกกระแส เมื่อเจอบางข้อมูลที่เป็นเท็จก็ไม่ได้ตรวจสอบ ทั้งที่ความจริงต้องตรวจสอบทุกข้อมูล ไม่ว่าจะต้องการความรวดเร็วแค่ไหน ก็ต้องตรวจสอบก่อน 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท