Skip to main content
sharethis

สุริยุปราคาเต็มดวง 9 มี.ค. - เริ่มจากมหาสมุทรอินเดียถึงแปซิฟิก ผ่านเกาะสุมาตรา-บอร์เนียว-สุลาเวสี ไทยจะมองเห็นสุริยุปราคาบางส่วน เบตง 69% นราธิวาส 67% สงขลา 64% สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเตือนห้ามชมด้วยตาเปล่า ควรรับชมผ่านอุปกรณ์ หรือสังเกตผ่านฉากรับภาพ

ที่มาของแผนผัง: Nasa/eclipse.gsfc.nasa.gov/eclipse.html

8 มี.ค. 2559 - ในการเกิดสุริยุปราคาเช้าวันที่ 9 มี.ค. 2559 นั้น สถาบันวิจัยดาราศาสตร์เปิดเผยว่า ที่ประเทศไทยจะเห็นเป็น“สุริยุปราคาบางส่วน” สามารถเห็นได้ทุกภูมิภาคของประเทศในเวลาแตกต่างกัน ตั้งแต่เวลาประมาณ 6:20 น. จนถึง 8:40 น.

โดยที่กรุงเทพฯ ดวงจันทร์จะเริ่มเข้าสู่สัมผัสที่ 1 เวลาประมาณ 06:38 น. และสิ้นสุดในเวลาประมาณ 08:32 น. แต่ละภูมิภาค จะมองเห็นคราสการบังไม่เท่ากัน ร้อยละการบังขึ้นอยู่กับระยะทางที่ผู้สังเกตอยู่ห่างจากแนวคราสเต็มดวง ปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนในประเทศไทยครั้งนี้ดวงอาทิตย์จะถูกบังมากที่สุดบริเวณภาคใต้ ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ประมาณร้อยละ 69 ส่วนทางภาคเหนือที่จังหวัดเชียงรายดวงอาทิตย์จะถูกบังเพียงร้อยละ 23

 

เตือนห้ามชมสุริยุปราคาด้วยตาเปล่าเด็ดขาด ต้องใช้อุปกรณ์หรือสังเกตทางอ้อม

ทั้งนี้สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเตือนว่า ห้ามรับชมสุริยุปราคาด้วยตาเปล่า โดยเตือนว่า "ดวงอาทิตย์นอกจากจะให้ความร้อนแล้ว ยังให้แสงสว่างที่มีความเข้มสูงมาก แม้ขณะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนหรือสุริยุปราคาวงแหวน แสงอาทิตย์ก็ยังเป็นอันตรายต่อสายตาจนส่งผลให้ตาบอดได้" โดยระบุคำเตือนดังนี้ "1. ห้ามมองดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่า 2.ห้ามสังเกตผ่านอุปกรณ์ที่ไม่ทึบแสงพอ 3. ห้ามสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์และกล้องสองตาที่ไม่มีฟิลเตอร์กรองแสง"

นอกจากนี้ยังเตือนด้วยว่า "ห้ามบันทึกภาพดวงอาทิตย์ด้วยกล้องดิจิทัล กล้องจากโทรศัพท์มือถือ หรือกล้องถ่ายภาพ DSLR ที่ติดเลนส์ที่มีกำลังขยายสูง เนื่องจากเลนส์ของกล้องต่างๆ เหล่านี้มีคุณสมบัติในการรวมแสงและความร้อน การมองภาพที่ส่องจากเลนส์ไปยังดวงอาทิตย์โดยตรง ภาพของดวงอาทิตย์ที่ได้จากอุปกรณ์ ดังกล่าวจะมีความสว่างจ้ามาก อาจทำให้สูญเสียความสามารถในการมองเห็นอย่างถาวรทันที"

ทั้งนี้ ดร. ศรัณย์  โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวถึงข้อควรระวังเกี่ยวกับการสังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนในประเทศไทย ในวันพุธที่ 9 มีนาคม 2559 ตั้งแต่เวลา ประมาณ 06:20 จนถึง 8:40 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ว่า การสังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคาเป็นการสังเกตดวงอาทิตย์โดยตรง จึงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง ห้ามสังเกตด้วยตาเปล่าเด็ดขาด การจ้องมองดวงอาทิตย์โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน อาจนำอันตรายมาสู่ดวงตาถึงขั้นทำให้ตาบอดได้ วิธีการสังเกตดวงอาทิตย์โดยทั่วไป แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การสังเกตดวงอาทิตย์ทางตรงผ่านอุปกรณ์กรองแสง และการสังเกตดวงอาทิตย์ทางอ้อม

 

วิธีที่ 1 การสังเกตดวงอาทิตย์ทางตรง  เป็นวิธีการการสังเกตดวงอาทิตย์ด้วยตาผ่านอุปกรณ์ต่างๆ เช่น กล้องโทรทรรศน์สำหรับดูดวงอาทิตย์โดยเฉพาะ กล้องโทรทรรศน์ที่ติดแผ่นกรองแสง แว่นดูดวงอาทิตย์ที่ทำจากแผ่นพอลิเมอร์ดำหรือแผ่นกรองแสงไมลาร์ หรืออุปกรณ์ง่ายๆ เช่น กระจกแผ่นกรองแสงสำหรับหน้ากากเชื่อมโลหะ เบอร์ 14 หรือมากกว่า

ตัวอย่างอุปกรณ์ช่วยในการสังเกตการณ์ 1) กล้องโทรทรรศน์สำหรับดูดวงอาทิตย์โดยเฉพาะ หรือกล้องโทรทรรศน์ที่ติดแผ่นกรองแสงแบบกระจกเคลือบโลหะ 2) แว่นดูดวงอาทิตย์ทำจากแผ่นกรองแสงพอลิเมอร์ดำ 3) แผ่นกรองแสงอะลูมิเนียมไมลาร์ 4) กระจกแผ่นกรองแสงสำหรับหน้ากากเชื่อมโลหะเบอร์ 14 หรือมากกว่า

การใช้อุปกรณ์อื่นๆ ไม่ควรใช้ฟิล์มเอกซเรย์(หากใช้ต้องซ้อนกันสองชั้น)  ฟิล์มถ่ายรูปใช้แล้ว แผ่นซีดี  แว่นกันแดด กระจกรมควัน แผ่นฟิล์มกรองแสงสีดำที่ใช้ติดกระจกรถยนต์แม้จะมีสีดำสนิทก็ตาม แต่ก็ยังไม่ปลอดภัยต่อสายตา เพราะสิ่งเหล่านี้ยังมีประสิทธิภาพในการกรองแสงไม่เพียงพอ ถึงแม้จะกรองความเข้มแสงออกไปได้ แต่ยังไม่สามารถกรองแสงบางช่วงคลื่นที่เป็นอันตรายต่อสายตาออกไปได้ การสังเกตดวงอาทิตย์ทางตรงจึงต้องมีอุปกรณ์กรองแสงที่มีคุณภาพสำหรับกรองแสงอาทิตย์โดยเฉพาะ ขณะทำการสังเกตไม่ควรจ้องดวงอาทิตย์นานเกิน 5 วินาทีต่อครั้ง และควรหยุดพักเป็นระยะๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย

วิธีที่ 2 การสังเกตดวงอาทิตย์ทางอ้อม เป็นการดูเงาของแสงอาทิตย์ผ่านฉากรับภาพหรือใช้หลักการของกล้องรูเข็ม  การสังเกตดวงอาทิตย์ทางอ้อมเป็นวิธีที่มีความปลอดภัยไม่เกิดอันตรายต่อดวงตาและช่วยให้สามารถดูปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ทีละหลายคน มีวิธีการดังนี้

1) ใช้กล้องโทรทรรศน์รับแสงจากดวงอาทิตย์แล้วตั้งฉากรับภาพที่ออกมาจากเลนส์ใกล้ตา

2) การฉายภาพดวงอาทิตย์จากกล้องสองตาและใช้ฉากรับ โดยทั่วไปแล้วกล้องสองตาเป็นอุปกรณ์ที่ค่อนข้างที่จะหาได้ง่ายที่สุด ซึ่งกล้องสองตาขนาดเล็กทั่วไปเหล่านี้มักมีกำลังขยายประมาณ 7 – 10 เท่า

3)  การฉายภาพดวงอาทิตย์จากโซลาร์สโคป (Solarscope)  ใช้หลักการรวมแสงให้ไปฉายบนฉากรับภาพ

4)  ใช้หลักการของกล้องรูเข็ม ประดิษฐ์กล้องรูเข็มด้วยวิธีง่าย ๆ โดยการเจาะรูเล็กๆ บนวัสดุที่ต้องการ นำไปส่องกับแดด แสงแดดก็จะลอดผ่านรูที่เจาะไว้ตกลงบนฉาก ซึ่งอาจเป็นกระดาษ พื้นโต๊ะ หรือพื้นดิน รูปร่างของรูที่เจาะไม่มีผลต่อภาพบนฉาก แต่จะมีผลต่อความคมชัดและความสว่างของภาพ โดยรูปขนาดเล็กจะให้ภาพที่คมชัดแต่มีความสว่างน้อย รูขนาดใหญ่จะให้ความสว่างมากแต่ความคมชัดของภาพจะลดน้อยลง

5) การสังเกตการณ์ทางอ้อมผ่านแสงอาทิตย์ที่ลอดผ่านต้นไม้ตกบนพื้นหรือกำแพง

 

เตรียมจุดสังเกตหลัก 5 แห่งทั่วประเทศ

สำหรับจุดสังเกตการณ์หลัก 5 แห่ง ตามที่ระบุในเว็บของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติได้แก่ จ.เชียงใหม่ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดกิจกรรม ณ ดาดฟ้า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัลเชียงใหม่

กรุงเทพฯ - สวนเบญจกิติ ถนนรัชดาภิเษก แขวงคลองเตย เขตคลองเตย

ฉะเชิงเทรา - หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ต.วังเย็น อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา

นครราชสีมา - หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.นครราชสีมา

สงขลา - ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จัดกิจกรรม ณ ลานชมวิวนางเงือก หาดสมิหลา

 

สุริยุปราคาเต็มดวงเห็นได้ที่อินโดนีเซียเริ่มจากสุมาตรา - บอร์เนียว - สุลาเวสี - โมลุกกะ

สำหรับปรากฏการณ์สุริยุปราคาในวันที่ 9 มี.ค. เป็นสุริยุปราคาลำดับที่ 52/73 ชุดซารอสที่ 130 แนวคราสเต็มดวงเคลื่อนที่จากมหาสมุทรอินเดียสู่มหาสมุทรแปซิฟิก แม้ว่าแนวคราสเต็มดวงส่วนใหญ่จะพาดผ่านมหาสมุทรแปซิฟิก แต่ในช่วงต้นของคราสเงามืดของดวงจันทร์จะเคลื่อนที่ผ่านแผ่นดินที่เป็นเกาะใหญ่ๆ ของประเทศอินโดนีเซียหลายเกาะด้วยกัน อาทิ เกาะสุมาตรา กาลิมันตัน หรือบอร์เนียว สุลาเวสี และหมู่เกาะโมลุกกะ ตั้งแต่เวลาประมาณ 8:30 น. - 11:20 น. (ตามเวลา ณ หมู่เกาะโมลุกกะ) การเกิดคราสครั้งนี้ดวงอาทิตย์จะถูกดวงจันทร์บดบังนานที่สุดถึงกว่า 4 นาที แม้ว่าจุดที่เกิดคราสเต็มดวงนานที่สุดนี้จะอยู่ในมหาสมุทร แต่ในช่วงต้นของปรากฏการณ์การเกิดคราสที่พาดผ่านแผ่นดินบริเวณหมู่เกาะโมลุกกะและสุลาเวสี จะนานถึงกว่า 3 นาที

เงามืดของดวงจันทร์จะข้ามผ่านเส้นศูนย์สูตรในบริเวณทะเลโมลุกกะ (Molucca Sea) และผ่านเกาะ น้อยใหญ่หลายเกาะในหมู่เกาะโมลุกกะ หรือมาลูกู (Molucca or Maluku Islands) เมืองใหญ่สุดในบริเวณนี้ได้แก่ เตอร์นาเต (Ternate) ซึ่งอยู่บนเกาะภูเขาไฟชื่อเดียวกัน เมืองนี้เป็นที่ตั้งของภูเขาไฟกามาลามา (Gamalama) และมีประชากรราว 220,000 คน แม้ว่าเมืองเตอร์นาเตนี้จะอยู่ห่างจากแนวกึ่งกลางคราสไปทางเหนือประมาณ 44 กิโลเมตร แต่เวลาที่คราสเต็มดวงยังนานถึง 2 นาที 41 วินาที

จากนั้นเมื่อเงามืดเคลื่อนที่ออกจากเกาะฮัลมาเฮรา (Halmahera) ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ที่สุดของหมู่เกาะโมลุกกะ เงามืดนี้จะเคลื่อนที่ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจุดที่เกิดคราสเต็มดวงนานที่สุด (Maximum Eclipse) จะอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะกวม (Guam) ที่ละติจูด 10 องศา 7 ลิปดา เหนือ ลองจิจูด 148 องศา 30 ลิปดา ตะวันออก ทั้งนี้ เวลาที่คราสเต็มดวงนานที่สุดในบริเวณนี้ จะนานถึง 4 นาที 9 วินาที ต่อจากนั้นเงามืดจะเคลื่อนที่ไปในมหาสมุทรแปซิฟิก แทบไม่ได้สัมผัสแผ่นดิน เว้นแต่เกาะขนาดเล็กในหมู่เกาะไมโครนีเซียเท่านั้น เงามืดจะเคลื่อนที่ผ่านเส้นแบ่งเขตวันสากล (International Date Line) และหลุดพ้นจากผิวโลก สิ้นสุดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในขณะที่ดวงอาทิตย์ตกของวันที่ 8 มีนาคม ทางตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่เกาะฮาวาย

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โดยศูนย์บริการวิชากรและสื่อสารทางดาราศาสตร์ จัดทีมเจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์เดินทางไปเก็บข้อมูลเพื่อศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความเข้มของแสง และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศขณะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ณ เมืองเตอร์นาเต หมู่เกาะโมลุกกะ ประเทศอินโดนีเซีย โดยเมืองเตอร์นาเต ซึ่งถูกเลือกให้เป็นสถานที่สังเกตการณ์ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในครั้งนี้ พิจารณาจาก สถิติลมฟ้าอากาศ สภาพทางภูมิศาสตร์ การเดินทาง ที่พัก และปัจจัยสนับสนุนอื่นๆ ทั้งนี้ แม้ว่าจุดสังเกตการณ์นี้จะไม่ได้อยู่ในแนวกึ่งกลางของคราสเต็มดวง (Central line) แต่ก็มีระยะเวลานานถึง 2 นาที 41 วินาที

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net