Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

มิ่ง ปัญหา เขียนสเตตัสแสดงความเห็นต่างต่อกรณี 'ติ่งเกาหลี' ที่กำลังก่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบจากกรณีการรวมตัวต้อนรับ EXO ศิลปินบอยแบนด์ชื่อดัง จนเกิดปัญหาการจราจร

0000



สิ่งที่จะเขียนต่อไปนี้ยาว ขอบพระคุณที่อ่านถ้าอุตส่าห์อ่าน ขอบพระคุณที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมและวิพากษ์วิจารณ์

เคยได้รับเกียรติจากอาจารย์ชนิดาให้ไปช่วยวิจารณ์งานนำเสนอของโครงการสตรีศึกษาภาคฤดูร้อน มีผู้นำเสนอคนหนึ่งมาพูดเรื่อง "ติ่งเกาหลี" ในเชิงมานุษยวิทยา เธอเองก็เป็นติ่งคนหนึ่ง (จำไม่ได้ว่าวงไหน) และศึกษาเรื่องนี้ด้วยหวังจะเปลี่ยนภาพลักษณ์ของ "ติ่ง" ที่ผู้คนมี เธอพูดถึงการติวหนังสือให้กันในกลุ่มแฟนคลับศิลปินเกาหลี การดูแลกันแบบพี่น้อง ฯลฯ

จริงๆ session นั้น ดิฉันไม่ได้ทำหน้าที่วิจารณ์หรอกค่ะ 5555555 ตามกำหนดการเป็นอาจารย์เมธาวีกับอาจารย์จากจุฬาฯ อีกท่านหนึ่ง (ขออภัยค่ะ จำชื่ออาจารย์ไม่ได้) แต่ด้วยเหตุอะไรสักอย่าง อาจารย์จากจุฬาฯท่านเดินทางมาไม่ทัน ท่านน่าจะติดธุระ อาจารย์ชนิดาเลยให้ดิฉันไปนั่งข้างอาจารย์เมธาวีแทน

จำไม่ได้ว่าอาจารย์เมธาวีพูดถึงอะไร (ขอโทษอีกรอบค่ะ) แต่จำได้ว่า ตัวเองวิจารณ์เปเปอร์ไปว่า มีอีกหลายมุมที่นำไปต่อยอดได้ ประเด็นที่เรามองว่าน่าสนใจคือ หนึ่ง เราเป็นโรคกลัวมวลชนกันหรือเปล่า ตามประสาคนที่เรียนศตวรรษที่สิบเก้ามา โรคกลัวมวลชนเป็นอะไรที่เด่นมากในสมัยศตวรรษที่ิสิบเก้าอังกฤษและอเมริกัน (คิดว่าประเทศอื่นในยุโรปด้วย) เรากลัวคนเยอะๆ ออกมาทำอะไรสักอย่าง เห็นเป็นยักษ์เป็นมารไว้ก่อน ไม่ว่าเขาจะมาทำอะไร เหมือนเป็นตัวทำลายอารยธรรม Gustave Le Bon เปรียบเทียบมวลชนที่ออกมาเคลื่อนไหวช่วงปลายศตวรรษที่สิบเก้าว่าไม่ต่างจากพวก Goth ที่ทำลายอารยธรรมโรมันอันสูงส่ง

สอง คำถามต่อไปคือ เรากลัวว่ามวลชนกลุ่มนี้ หรือ "ติ่ง" เนี่ย จะมาทำลายอะไรเหรอ เราจะเห็นได้ชัดเลยว่าความรักศิลปินแบบมหาศาลนั้นท้าทายความคิดเกี่ยวกับความรักและการเทิดทูนในสังคมหนึ่งๆ เมื่อวงการบันเทิงถูกมองว่าเป็นวงการที่ไม่มีคุณค่าและควรจะเป็นวงการเล่น กลายเป็นเรื่องจริงจังและมีคนคลั่งไคล้มากมายมหาศาล หลายๆคนมักจะโจมตีติ่งว่ารักสิ่งที่ไม่มีคุณค่า ทำสิ่งที่ไม่มีคุณค่า เช่น ทำไมไม่ไปเรียนหนังสือ ทำไมไม่ไปทำงานให้มันดีๆ ทำไมไม่ไปรักพ่อรักแม่ตัวเองให้มากกว่านี้ ทำไมไม่ไปปลูกป่า (ล่าสุดเลย)

ไม่เถียงนะคะว่ามีคนไม่ใส่ใจอะไรเลยจริงๆ ติ่งมันอย่างเดียว แต่จะใส่ใจการเรียนการทำงานจริงๆ คนด่าเขาก็ไม่ได้สนใจ เพราะอะไรน่ะหรือ เพราะเขามองว่าเราไปสนใจเรื่องสาระอะไรกันขนาดนี้ ทำไมมีคนเรือนแสนมาสนใจเรื่องบันเทิงเริงรมย์อะไรขนาดนี้ แต่นั่นแหละ บางทีก็เปิดเผยให้เห็นว่าคนที่วิจารณ์เขาเลือกที่รักมักที่ชังอยู่เหมือนกัน

อีกอย่างหนึ่งที่อาจจะอธิบายความกลัวนี้ได้คือการเข้าใกล้ศิลปินชนิดตามไปไหนๆ ที่เปลี่ยนแปลงจากการติดตามศิลปินแบบเดิมที่เรานั่งดูหน้าจอ ไปงานคอนเสิร์ต แต่เราตามไปที่สนามบิน ตามไปที่ศิลปินทำงานได้ ชีวิตศิลปินเริ่มเข้าถึงได้มากขึ้น การตามเขาไปทุกขณะชีวิตนั้นไม่ได้เป็นเพียงเพราะ"ติ่ง"วิ่งตามศิลปิน แต่เป็นเพราะค่ายหรือศิลปินเองเป็นคนบอกต่างหากว่าตัวเองไปที่ไหนบ้าง ศิลปินกลายเป็นสินค้าในทุกมิติและช่วงเวลา ให้แฟนคลับตามไปไหนๆได้เมื่อตัวเองสะดวกจะไปเจอแฟนคลับ อันนี้ตัวเองไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าเปลี่ยนแปลงอย่างไร ศิลปินบอกข้อมูลเองหรือแฟนคลับเป็นคนเดา (เข้าใจว่าบางทีก็เดาเอา) แต่ตอนนี้กลายเป็นศิลปินหรือผู้จัดการเป็นคนบอกเองว่าศิลปินจะไปไหนบ้าง งานที่มีลักษณะเป็นอีเวนท์โชว์ตัวก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก ศิลปินไม่ต้องร้องเพลงก็ได้ มาเป็นพรีเซนเตอร์สินค้าหรือแค่มาแจกผลิตภัณฑ์ของตัวเองเท่านี้ก็พอ แต่ทุกอย่างก็ตกไปอยู่ที่ติ่ง เวลาคนจะโทษก็โทษติ่งกับศิลปิน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะภาพรวมมันน่ากลัวกว่า มันคือตัวสร้างอันตรายแบบเห็นได้ชัดเจน และโทษง่าย ทำไมไม่คิดบ้างว่าระบบการบริโภคสื่อบันเทิงมันเปลี่ยน ทำไมไม่คิดว่าคนจัดงานไม่คำนึงถึงความสะดวกของคนอื่นที่ไม่ได้เป็นแฟนคลับศิลปิน เพราะมันไม่เป็นคนๆล่ะมั้ง จับตัวไม่ได้ ตรงนี้เข้าใจว่าเมื่อค่ายหรือบริษัทจัดการให้มีงานอีเวนท์มาก เส้นแบ่งระหว่างติ่งและศิลปินก็จะพร่าเลือน เมื่อคุณมี application ที่ทำให้คุณเชื่อว่าคุณเข้าถึงศิลปินได้มากขึ้น คุณก็อาจเข้าไปคุกคามศิลปิน อันนี้เราไม่เชียร์และไม่เห็นด้วย แต่เราจะไปโทษติ่งอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องโทษทุกๆอย่างที่สร้างติ่งขึ้นมา

สุดท้าย "ติ่ง" มีอะไรน่ากลัว ส่วนตัวมองว่า "ติ่ง" สำหรับคนที่ไม่พอใจนั้นเป็นตัวแทนของความปรารถนาทางเพศที่เกิดขึ้นต่อชายหรือหญิงต่างชาติ ประเด็นนี้แยกได้สองประเด็นคือ "ความปรารถนาทางเพศ" กับ "ต่างชาติ" ประเด็นเรื่องการหลงใหลคลั่งไคล้ศิลปินนั้นชวนให้คนในสังคมที่กดทับเรื่องเพศไม่พอใจ เพราะเป็นการแสดงสิ่งที่ไม่สมควร หรือเป็นการทำให้สิ่งที่ถูกปฏิเสธว่าไม่มี ปรากฏขึ้น โดยเฉพาะแฟนคลับหญิงทีคลั่งไคล้ศิลปินชาย ที่มักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความไม่เหมาะสม เคยได้ยินว่ามีเด็กผู้หญิงสี่ห้าคนวิ่งตามบีม กวีขึ้นไปที่ลานจอดรถที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ เพื่อเอาของขวัญมาให้ แล้วมีผู้หญิงคนนึงออกมาต่อว่าว่าทำตัวไม่งาม (จริงๆน่าคิดมากว่า ถ้าบีม กวีไม่ใช่ดาราดัง แต่เป็นผู้ชายหน้สตาดีมากคนหนึ่ง ผู้หญิงคนนั้นจะออกมาตะโกนต่อว่าไหม) ข้อสองคือ "ต่างชาติ" คำว่าติ่งถูกใช้กับคำว่า "เกาหลี" ก่อนเป็นอันดับแรก ก่อนจะมาปรับใช้กับดาราชาติอื่นและชาติไทย เข้าใจว่าคนที่วิจารณ์หลายคนคงจะเกิดในยุคสมัยที่เกาหลีไม่ได้เป็นชาติที่ใหญ่โตอะไรในสายตาเขา คงจะมองว่าชาติเกาหลียังต้องให้ไทยไปช่วยในสงครามอารีรังอยู่ล่ะมั้ง หรือเขาอาจจะชอบญี่ปุ่นมากกว่าเกาหลี อันนี้ก็ตอบไม่ได้ แต่ที่แน่ๆ จะมีคนอยู่กลุ่มหนึ่ง (และอาจบอกได้ว่าช่วงวัยหนึ่ง) ที่ไมไ่ด้เห็นว่าเกาหลีเป็นประเทศชั้นนำในเอเชีย ซึ่งอาจเป็นเพราะเกาหลีเลือกใช้ soft power จากสื่อบันเทิงเป็นหลักและมาก่อน ต่างจากญี่ปุ่นที่ใช้ความเหนือกว่าทางเทคโนโลยี อย่างรถไฟหรือคอมพิวเตอร์ ศิลปินเกาหลีเข้ามาแทนศิลปินญี่ปุ่นและจีนอย่างรวดเร็ว ตามด้วยเทคโนโลยีเกาหลี ซึ่งอันที่จริงมีมาตลอดแต่ถูกขายผนวกกับ soft power อย่างวงการบันเทิง ยิ่งทำให้ของขายดียิ่งขึ้น เทคโนโลยีนี่ไม่ได้หมายถึงแค่มือถือ แต่รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ความงาม สำหรับคนที่อาจจะมีหัวคิดชาตินิยมสุดโต่ง ก็อาจจะมองว่าความคลั่งไคล้สิ่งที่เป็นต่างชาติคือหายนะ

เอาล่ะค่ะ ดิฉันไม่ใช่"ติ่งเกาหลี" ดิฉันว่าดาราเกาหลีหล่อๆมากมาย แต่ไม่ได้อยากจะไปตาม ไม่ใช่ว่าดิฉันคิดว่ามันบ้าบอไร้สาระ สังขารค่ะ สังขาร 55555555 จะดาราชาติไหนก็ตามไม่ไหว เว้นเสียแต่ว่า เขาอยู่ใกล้มากๆๆๆๆ แล้วก็เออ ไปชมโฉมแล้วกลับบ้าน ตามประสาคนที่รู้สึกว่าตัวเองแก่ 555 ปรากฏการณ์การหวาดกลัวแฟนคลับหรือมวลชนมันก็มีอยู่เรื่อยๆแหละค่ะ คิดว่าเป็นปกติ เพียงแต่ว่าเราอาจจะต้องถามตัวเองว่าการรวมตัวของคนกลุ่มนี้มันเกิดจากอะไร มันเกิดได้ยังไง มากกว่าจะไปเริ่มด่าเขาเสียๆหายๆ อีกอย่างหนึ่ง พูดกับแบบ practical คนที่จัดอีเวนท์เหล่านี้ควรลองหาที่ทางที่ดีๆ และเตรียมแก้ปัญหาเรื่องมวลชนด้วยค่ะ

สุดท้ายแล้วความรังเกียจ "ติ่ง" ของเราๆ แท้ที่จริงอาจเแสดงให้เห็นความน่ากลัวหรือปีศาจร้ายในใจเราที่ทั้งชุบเลี้ยงเราและเราชุบเลี้ยงมันมาตลอด ทั้งชาตินิยมสุดโต่ง ทั้งอคติเรื่องเพศ ทั้งโลกทุนนิยมที่ถูกฉาบเคลือบด้วยภาพสวยงามของศีลธรรมอันดี

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net