Skip to main content
sharethis
กรมควบคุมโรค และภาคีเครือข่าย สานพลังยุติการเลือกปฏิบัติผู้ติดเชื้อเอชไอวี เน้นเอดส์ไม่ติดง่าย...เราอยู่ร่วมกันได้เป็นเพื่อนกันได้
 
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559 ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายแพทย์สมบัติ แทนประเสริฐสุข ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค พร้อมด้วยนายจอน อึ้งภากรณ์ ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์, Dr.Tatiana Shoumilina UNAIDS, นายวชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์(ออกัส) ดารา/นักแสดง และนายอนันต์ เมืองมูลไชย ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี ร่วมแถลงข่าววันยุติการเลือกปฏิบัติ "เปิดใจ เข้าใจเอชไอวี...เราเป็นเพื่อนกันได้" โดยในปีนี้เป็นปีแรกที่ประเทศไทยร่วมรณรงค์การยุติการเลือกปฏิบัติ หลังจากที่โครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ เริ่มเชิญชวนประเทศต่างๆ เมื่อปี 2557 และได้กำหนดให้เป็นวันรณรงค์สากลเพื่อยุติการเลือกปฏิบัติ ตั้งแต่ปี 2557 โดย "ผีเสื้อ" ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของการเชิญชวนให้ทุกคนเปิดใจ ร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลง เพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกที่ปราศจากการเลือกปฏิบัติ ให้สังคมตระหนักและช่วยกันยุติการเลือกปฏิบัติ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573
 
นายแพทย์สมบัติ แทนประเสริฐสุข ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากผลการสำรวจการตีตราและเลือกปฏิบัติในสถานบริการสุขภาพ 2 จังหวัด ในปี 2557 โดยภาพรวมพบว่ามากกว่าร้อยละ 60 มีความกังวลว่าจะติดเชื้อเอชไอวีจากการให้บริการผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์, มากกว่าครึ่งของผู้ปฏิบัติงานในสถานบริการสุขภาพ ใช้วิธีการป้องกันตัวเองมากกว่าปกติระหว่างการให้บริการผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ และ 1 ใน 5 (ร้อยละ 23) เคยสังเกตเห็นการเลือกปฏิบัติระหว่างการให้บริการผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
 
ซึ่งข้อมูลสถานการณ์การตีตราและการเลือกปฏิบัติ ชี้ให้เห็นว่าการตีตราและการเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับเอดส์ยังคงมีปรากฏในสังคม และเป็นอุปสรรคที่ทำให้คนไม่เข้าสู่ระบบบริการดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ดังนั้น เพื่อยุติปัญหาเอดส์ให้ได้ ภายในปี 2573 จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลด "การตีตราและการเลือกปฏิบัติ" โดยมาตรการตามแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์แห่งชาติ พ.ศ.2557-2559 ประกอบด้วย 2 มาตรการสำคัญ คือ 1. มาตรการในเชิงการป้องกันการละเมิดสิทธิด้านเอดส์ คือการสร้างความเข้าใจเรื่องการตีตราและการเลือกปฏิบัติในทุกระดับ ได้แก่ การรณรงค์สาธารณะ "เอดส์เป็นเรื่องธรรมดา" การสร้างความเข้าใจเรื่องการตีตราและเลือกปฏิบัติในสถานบริการสุขภาพ และเสริมศักยภาพผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี และ 2. มาตรการในเชิงการปกป้องคุ้มครองสิทธิ เพื่อแก้ไขการละเมิดสิทธิ ได้แก่ การพัฒนากลไก/คณะทำงานส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิระดับจังหวัด
 
นายแพทย์สมบัติ กล่าวอีกว่า กรมควบคุมโรค ได้ดำเนินการร่วมกับคณะอนุกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ โครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์แห่งประเทศไทย โดยในส่วนของกรมควบคุมโรค ได้เริ่มดำเนินการพัฒนารูปแบบการสร้างความเข้าใจและลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติในสถานบริการสุขภาพ โดยในปีแรกนี้ จะเริ่มดำเนินการในสถานบริการสุขภาพ เพราะเป็นหน่วยงานที่ให้บริการใกล้ชิดผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวี เพื่อจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการให้บริการที่ปราศจากการตีตราและเลือกปฏิบัติ ซึ่งการลดการตีตราและเลือกปฏิบัติฯ ไม่ได้เกิดผลดีต่อผู้รับบริการอย่างเดียว แต่ยังเกิดผลดีต่อคนทำงาน เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างสุขใจ ไม่มีข้อกังวลการร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิของผู้รับบริการ อย่างไรก็ดี มาตรการสำคัญที่ต้องดำเนินการ คือ การสร้างสภาวะแวดล้อมมีความสำคัญ และโดยลำพังเพียงหน่วยงานภาครัฐที่จะรณรงค์สร้างความเข้าใจเรื่องเอดส์อย่างเดียว คงไม่พอ ดังนั้น อยากขอให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะสื่อมวลชนร่วมกันให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับสังคมว่า ขณะนี้ เอดส์ไม่ใช่โรคร้ายแรงที่ติดต่อกันได้ง่าย แต่ "เอดส์ รักษาได้" โรคเอดส์เป็นโรคธรรมดาเหมือนกับโรคเรื้อรังชนิดอื่นๆ และไม่ว่าจะมีเอชไอวีหรือไม่มี ทุกคนยังคงเป็นเพื่อนกันได้ อยู่ร่วมกัน ทำงานด้วยกันได้
 
นายจอน อึ้งภากรณ์ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าวว่า จากการร้องเรียนเรื่องการเลือกปฏิบัติและการละเมิดสิทธิด้านเอดส์ที่ได้รับเป็นจำนวนมาก คณะอนุกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์พบว่าในปัจจุบันแม้ผู้มีเชื้อเอชไอวีจะมีสุขภาพแข็งแรง มีอายุยืนยาว เนื่องจากการไดรับสูตรยาสมัยใหม่ และไม่ได้มีโอกาสแพร่เชื้อต่อผู้อื่นในชีวิตประจำวัน แต่การไม่เข้าใจของสังคมและการเลือกปฏิบัติต่อผู้มีเชื้อที่ไร้เหตุผลยังมีอยู่กว้างขวาง โดยเฉพาะยังมีนายจ้างเอกชนหลายรายยังบังคับผู้สมัครงานตรวจเลือดเอชไอวีและในกรณีที่พบว่ามีเชื้อก็ไม่รับเข้าทำงาน คณะอนุกรรมการฯได้ไปเจรจากับนายจ้างรายใหญ่ที่เป็นห้างที่มีสาขาทั่วประเทศ ประสบความสำเร็จ โดยนายจ้างตกลงยกเลิกการตรวจเอชไอวีในการตรวจสุขภาพผู้สมัครงาน แต่ยังมีนายจ้างอีกบางส่วนไม่ยอมเปลี่ยนนโยบายและยังละเมิดสิทธิโดยไม่รับผู้มีเชื้อเอชไอวีเข้าทำงาน
 
นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการยังพบว่ามีมหาวิทยาลัยเอกชนบังคับนักศึกษาตรวจเชื้อเอชไอวี ทั้งๆที่ขัดต่อแนวปฏิบัติของมหาวิทยาลัยทั่วโลกและมหาวิทยาลัยอื่นในประเทศไทย เมื่อไปพูดคุยปรึกษาหารือทางมหาวิทยาลัยไม่ยอมเปลี่ยนแนวปฏิบัติ ซึ่งเรื่องนี้ได้นำไปสู่คดีฟ้องร้องในศาลปกครอง นอกจากนี้ยังมีกรณีของโรงเรียนบางแห่งที่เลือกปฏิบัติต่อนักเรียนที่มีเชื้อเอชไอวี ซึ่งต้องอาศัยการทำความเข้าใจกับครูและผู้ปกครองจึงแก้ปัญหาได้ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันคณะอนุกรรมการฯกำลังศึกษาหามาตรการทางกฏหมายที่จะช่วยคุ้มครองสิทธิของผู้มีเชื้อเอชไอวีให้สามารถเข้าถึงการศึกษาและการจ้างงานเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป
 
ด้านนายวชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์ หรือ "ออกัส" นักแสดงวัยรุ่น เล่าถึงประสบการณ์และความรู้สึกในฐานะประชาชนทั่วไป ซึ่งได้เปลี่ยนความคิดความเชื่อเดิมที่เคยเห็นเคยได้ยิน ทำให้รู้สึกกลัว แต่เมื่อมีข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ก็ช่วยให้เข้าใจเอชไอวีได้ว่า จริงๆ ไม่ได้น่ากลัวหรือน่ารังเกียจ ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกัน เป็นเพื่อนกันได้ ไม่ว่าจะมีเชื้อเอชไอวีหรือไม่มีเชื้อเอชไอวีก็ตาม และสุดท้าย "ออกัส" ได้กล่าวเชิญชวนให้ทุกคนร่วมกันยุติการเลือกปฏิบัติ โดยเริ่มที่ตัวเราก่อน
 
ส่วนนายอนันต์ เมืองมูลไชย ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่คนในสังคมรู้และเข้าใจ ไม่รังเกียจ กีดกันและเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ย่อมเปิดโอกาสให้คนที่ประเมินความเสี่ยง ได้เข้าสู่กระบวนการคัดกรองหาการติดเชื้อและเข้าสู่กระบวนการการรักษาได้ทันท่วงทีที่รู้ว่าติดเชื้อ นั่นเท่ากับเป็นการรักษาทรัพยากรบุคคลที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในยามที่ประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและขาดแคลนบุคคลากรวัยแรงงาน วันนี้เรารู้ดีว่าสถานการณ์การติดเชื้อรายใหม่พุ่งไปที่เยาวชนและวัยเริ่มทำงาน ซึ่งเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศในอนาคต ดังนั้น ถ้าพวกเราเชื่อใน "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน"และ"การมีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ" ถ้าพวกเราเชื่อว่า"ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ" เราต้องเชื่อว่า เด็ก เยาวชน คนที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีช่วยพัฒนาประเทศได้
 
 
เอกชนควักเงินส่งนักศึกษาเรียนตรงความต้องการ หวังเข้าทำงานได้ทันที ไม่ต้องฝึกงานใหม่ นำร่องอุตสาหกรรมยานยนต์
 
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังส.อ.ท. ร่วมลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) จัดทำหลักสูตรวิศวกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)ว่า การลงนามเอ็มโอยูครั้งนี้ เป็นมิติใหม่ของการผลิตบุคลากรให้ตรงกับเป้าหมายอุตสาหกรรมโดยตรง โดยนำร่องจากอุตฯ ยานยนต์ เนื่องจากเป็นอุตฯ ที่ยังขาดแคลนแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญในระดับสูง และถือเป็นอุตฯ ที่มีความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย และจะช่วยแก้ปัญหาการผลิตบุคคลกรไม่ต้องกับอุตฯอีกด้วย โดยภาคเอกชน จะเสียค่าใช้จ่ายในการผลิตนักศึกษาหลักสูตรดังกล่าว ฯ ส่วนหนึ่ง หรือประมาณ 60,000 – 80,000 บาทต่อคนต่อปี
 
“อุตฯ ยานยนต์ จะเป็นอุตฯนำร่องที่จะดำเนินโครงการนี้ หากประสบความสำเร็จ ก็จะนำไปใช้ในอุตฯอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งตอนนี้หลายอุตฯ ก็สนใจแนวทางนี้ เพราะเท่ากับว่า เป็นการผลิตแรงงานให้ตรงกับเป้าหมายทันที ไม่ต้องเสียเวลามานั่งฝึกงานกันใหม่ จากแต่ก่อนหลักสูตรการศึกษาจบมา ก็ไม่ค่อยตรงกับความต้องการในบริษัทมากนัก”
 
นายถาวร ชลัษเฐียร รองประธานส.อ.ท. ในฐานะประธานคลัสเตอร์ยานยนต์ กล่าวว่า กลุ่มคลัสเตอร์ส.อ.ท. และมจธ. ได้พัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ระหว่างกัน เพื่อให้ตรงกับความต้องการแรงงานของอุตฯ มากที่สุด ไม่ต้องเสียเวลามาฝึกปฏิบัติงานใหม่ในสถานประกอบการ ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย 1 คลัสเตอร์ 1 มหาวิทยาลัย เรียนรู้ตั้งแต่วิชาการ จนถึงเรื่องวัสดุศาสตร์ , การประกอบชิ้นส่วนยานยนต์ และสามารถจัดซื้อจัดจ้างชิ้นส่วนยานยนต์ได้ โดยช่วงภาคการเรียนปี 3 และปี 4 จะให้นักศึกษาไปทำงานจริงในสถานที่ประกอบการ
 
 
สรส.สาขาหาดใหญ่ ออกแถลงการณ์ ประณามเหตุยิงเจ้าหน้าที่ไฟฟ้าปัตตานี - สงขลา ยังคุมเข้ม เตือนอย่าแชร์ข่าวลือ
 
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ สาขาหาดใหญ่ หรือ สรส.สาขาหาดใหญ่ ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำอันอำมหิตโหดเหี้ยมไร้มนุษยธรรม จากกรณีที่ นายสุทัศน์ ไกรวรรณ อายุ 50 ปี ผู้ช่วยหัวหน้าแผนกปฏิบัติการบำรุงรักษาสำนักงานการไฟฟ้า จ.ปัตตานี ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิต ขณะลงพื้นที่ปฏิบัติหน้าที่ ในหมู่ 2 บ้านบาซาเวาะเซ็ง ต.ปิตูมุดี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เมื่อวานนี้ พร้อมกับแสดงความเสียใจกับครอบครัว และเรียกร้องให้หน่วยงานด้านความมั่นคง เพิ่มมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยให้ประชาชน พนักงานรัฐวิสาหกิจและเจ้าหน้าที่รัฐทุกหน่วย ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในส่วนของพนักงานรัฐวิสาหกิจทุกหน่วยงาน และทุกคนยังคงมุ่งปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาชนต่อไป โดยไม่เลือกเชื้อชาติ หรือศาสนาใด แต่ได้แจ้งเตือนให้พนักงานรัฐวิสาหกิจทุกคน อย่าประมาทในการลงปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยง และให้ทำงานกันเป็นทีม
 
ส่วนมาตรการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ จ.สงขลา ขณะนี้ทางฝ่ายความมั่งคง ได้แจ้งเตือนให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงทั้ง 7 อำเภอของจังหวัด ตั้งแต่ 4 อำเภอรอยต่อ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้ง อ.จะนะ เทพา นาทวี และ อ.สะบ้าย้อย และ 3 เมืองเศรษฐกิจ ทั้ง อ.เมือง หาดใหญ่ และ สงขลา โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ มีกำลังตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง เฝ้าระวังรถต้องสงสัยที่มีการแจ้งเตือน มีการตั้งจุดตรวจจุดสกัด 3 ชั้น ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมกันนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้ขอความร่วมมือประชาชนอย่าตื่นตระหนก หรือแชร์ข้อความผ่านสังคมออนไลน์ เรื่องที่เกี่ยวกับระเบิด และขอให้รับฟังข่าวสารการแจ้งเตือนจากฝ่ายความมั่นคงเป็นหลัก
 
 
ออกกฎคุม "ช่างแอร์" มีใบวิชาชีพ
 
กระทรวงแรงงานร่วมกับหน่วยงานรัฐและเอกชนยกระดับฝีมือแรงงานไทยเพื่อเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยปีนี้ตั้งเป้าหมายส่งเสริมแรงงานให้ผ่านมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติกว่า 5 หมื่นคน และมีศูนย์ทดสอบมาตรฐานเพิ่มขึ้นอีก 77 แห่งทั่วประเทศนอกจากนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(กพร.)ได้ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมในการเร่งเตรียมความพร้อมและกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานเพื่อประกาศสาขาวิชาชีพควบคุม จากเดิมที่ประกาศในสาขาช่างไฟฟ้า จะเพิ่มในสาขาเครื่องทำความเย็น (ช่างแอร์) เพื่อความปลอดภัยกับช่างแอร์และผู้รับบริการ รวมทั้งส่งเสริมให้สถาบันการศึกษานำมาตรฐานฝีมือแรงงานไปบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนด้วย
 
 
ผ่อนผันแรงงานต่างด้าว รายงานตัวเพื่อขอรับบัตรใหม่
 
กรมการจัดหางานเปิดให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชาที่ถือบัตรอนุญาตทำงานชั่วคราว (บัตรสีชมพู) และอยู่ระหว่างการรอพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 31 มีนาคม 2559 อาศัย และทำงานอยู่ในประเทศไทยได้เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยนายจ้างนำแรงงานต่างด้าวหรือแรงงานต่างด้าวมาด้วยตนเองพร้อมใบอนุญาตทำงานบัตรสีชมพูมารายงานตัวตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 29 กรกฎาคม 2559 เพื่ออนุญาตทำงานใหม่
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวสัญชาตเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่ถือบัตรอนุญาตทำงานชั่วคราว หรือบัตรสีชมพู และอยู่ระหว่างการขอพิสูจน์สัญชาติจากประเทศต้นทาง ซึ่งจากเดิมจะครบกำหนดในวันที่ 31 มีนาคม 2559 สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และทำงานอยู่ในประเทศไทยต่อได้เป็นระยะเวลา 2 ปี ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561 โดยนายจ้างจะต้องนำแรงงานต่างด้าวหรือแรงงานต่างด้าวมาด้วยตนเองพร้อมใบอนุญาตทำงานชั่วคราวหมดอายุไปตรวจสุขภาพ ทำประกันสุขภาพและมารายงานตัวเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติและขออนุญาตทำงาน (บัตรสีชมพู) ใหม่ภายในเวลา 120 วัน ระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 29 กรกฎาคม 2559 ซึ่งใบอนุญาตทำงานใหม่นี้มีอายุ 2 ปี
 
โดยแรงงานต่างด้าวในกลุ่มที่สามารถยื่นขอรับบัตรใหม่ ได้แก่ 1.กลุ่มที่จดทะเบียน (บัตรชมพู) ตามนโยบาย คสช. เมื่อปี 2557, 2.กลุ่มที่มีบัตรชมพูซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 31 มีนาคม 2559,3.ผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของแรงงานต่างด้าวที่อายุไม่เกิน 18 ปี และ 4.กลุ่มที่มีหนังสือเดินทาง/เอกสารที่ใช้แทนหนังสือเดินทางชั่วคราว/เอกสารรับรองบุคคลของประเทศต้นทาง 3 สัญชาติ ซึ่งกำลังจะหมดอายุ ทั้งนี้ ยกเว้นไม่รวมแรงงานต่างด้าวกลุ่มที่เข้ามาทำงานในรูปแบบ MOUและที่จดทะเบียนในกิจการประมงทะเล และแปรรูปสัตว์น้ำใน 2 ระยะที่ผ่านมา
 
กรมการจัดหางานจึงขอประชาสัมพันธ์ให้นายจ้างนำแรงงานต่างด้าวหรือแรงงานต่างด้าวต้องมารายงานตัวตามวัน เวลาที่กำหนด เนื่องจากระหว่างที่แรงงานต่างด้าวยังไม่มีใบอนุญาตทำงานนายจ้างจะจ้างแรงงานต่างด้าวทำงานไม่ได้ ซึ่งนายจ้างที่ลักลอบจ้างแรงงานต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติการทํางานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 มีความผิดปรับสูงสุดถึง 100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน
 
ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบทํางานโดยไม่ได้รับอนุญาตจะมีความผิดจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับสูงสุดถึง 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1-10 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694
 
 
เปิดโปงขบวนการส่งหญิงไทยไปขายตัวในยุโรป
 
6 มีนาคม 2559 บุญธง ก่อมงคลกูล ผู้สื่อข่าวไทยรัฐประจำเบลเยียม รายงานว่า การเดินทางของบรรดาหญิงไทยไปยุโรปเพื่อประกอบอาชีพโสเภณีกำลังเพิ่มจำนวนอย่างน่าวิตก แม้ว่าจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม แต่บรรดาสาวไทยทั้งหลายก็ไม่ได้ถูกลงโทษ เพราะว่าการประกอบอาชีพโสเภณีในหลายประเทศยุโรปไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และมักจะได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรท้องถิ่นที่ช่วยหาที่พักชั่วคราว ยื่นเรื่องขอเงินช่วยเหลือเพื่อยังชีพ โดยคำนึงว่า หญิงไทยที่เดินทางไปประกอบอาชีพขายตัวเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ระหว่างประเทศ ถูกกดขี่แรงงาน บางรายถูกทำร้ายข่มขู่เอาชีวิต ฯลฯ จึงได้รับการคุ้มครองตามหลักมนุษยธรรม
 
ลองมาดูเส้นทางและวิธีการเดินทาง ไปขายตัวในยุโรปของหญิงไทยว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรกันบ้าง
 
หญิงไทยบางคน อาจจะเคยประกอบอาชีพขายตัวมาก่อนในประเทศไทย หรือบางคนอาจจะมีเพื่อนที่ประกอบอาชีพขายตัวอยู่แล้วแนะนำชักชวน ส่วนใหญ่แล้วก็จะมีการประกาศผ่านโปรแกรมไลน์ที่สะดวกในการส่งต่อข้อความ ระหว่างกลุ่มเพื่อนที่รู้จักกัน และกระจายไปยังกลุ่มอื่นได้อย่างง่ายดาย การประกาศเพื่อหาหญิงสาวเดินทางไปทำงานขายตัวประเทศในยุโรปด้วยข้อความที่น่าสนใจและดึงดูดให้สาวไทยหลายคนต้องตกเป็นเหยื่อ เช่น สนใจทำงานที่ประเทศ... งานอิสระ รายได้ดี รับส่วนแบ่งทุกเดือน ออกข้างนอกได้ ถูกต้องตามกฎหมาย แทค 600,000 บาท (ราว 15,000 ยูโร) เดือนเดียวหมดแทค ทำสามเดือนเก็บเงินได้เป็นล้าน หุ่นดี หน้าท้องไม่ลาย สนใจติดต่อ...เป็นต้น
 
หลังจากนั้น ผู้ที่สนใจก็จะส่งรายละเอียดของตนเองพร้อมรูปถ่ายหน้าตรงและเต็มตัว พร้อมสัดส่วนความสูง อายุ ให้กับเอเย่นต์หรือนายหน้าจัดหาหญิงไทยส่งนอก
 
หญิงสาวแต่ละคนจะต้องถ่ายรูปในชุดว่ายน้ำโดยช่างถ่ายภาพมืออาชีพที่เอเย่นต์จัดหาให้ก่อนออกเดินทางและส่งไปให้ประเทศปลายทางเพื่อใช้ลงประกาศทางอินเทอร์เน็ตในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ให้บริการนวด ฯลฯ พร้อมเบอร์โทรศัพท์สำหรับนัดหมาย
 
เมื่อตกลงเงื่อนไขกันเรียบร้อยแล้ว เอเย่นต์หรือนายหน้าก็จะทำการจัดเตรียมเอกสารปลอมเพื่อยื่นขอวีซ่าท่องเที่ยว โดยจะพาไปยื่นขอประเทศยุโรปใต้ เช่น อิตาลี สเปน กรีซ ที่ออกวีซ่าให้ง่ายและไม่ต้องใช้เอกสารต้นฉบับประกอบการยื่นขอ แต่ต้องเป็นประเทศในกลุ่มเชงเก้น เพื่อให้หญิงสาวเหล่านี้เดินทางเข้าประเทศที่ได้วีซ่าเสียก่อน นายหน้าจะพาไปถึงสถานทูต แต่จะรออยู่ด้านล่างและให้หญิงสาวที่ส่วนใหญ่ไปครั้งละสองคนขึ้นไปยื่นขอเอง
 
วันเดินทางออกนอกประเทศ เอเย่นต์ก็จะจัดเตรียมตั๋วเครื่องบิน (เที่ยวเดียว) เดินทางจากกรุงเทพไปกรุงโรม ประเทศอิตาลี กรุงมาดริด หรือเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน โดยหญิงสาวที่ออกเดินทางมักจะไปกันสองคน และมอบเงินสดประมาณ 300€ ติดตัวสำหรับเป็นค่ารถแท็กซี่และค่าโรงแรมที่ตั้งอยู่ใกล้สนามบินเพื่อค้าง คืนหนึ่งคืน ก่อนที่จะเดินทางต่อไปถึงจุดหมายปลายทาง
 
วันรุ่งขึ้นจึงออกเดินทางต่อไป ยังประเทศเป้าหมายโดยเครื่องบิน เช่น กรุงเวียนนา กรุงบรัสเซลส์ ฯลฯ เมื่อเดินทางไปถึงก็จะมีหญิงไทยที่เป็นเหมือนแม่เล้าดูแลมารับจากสนามบิน แล้วพาไปยังที่พักที่จัดไว้ให้สำหรับพักและบางครั้งก็เป็นสถานที่ทำงานหรือรับแขกด้วย
 
สิ่งที่หญิงไทยผู้มาใหม่จะได้รับคือ โทรศัพท์มือถือสำหรับใช้ในการติดต่อนัดหมายเมื่อมีลูกค้าสนใจต้องการรับ บริการ นอกจากนั้น ยังใช้สำหรับการตรวจสอบว่า เธออยู่ในบ้านและพร้อมที่จะให้บริการ ปกติจะทำงานทุกวันไม่มีวันหยุด ตั้งแต่เวลา 10.00 น. ถึง 02.00 น. หรือบางครั้งหากมีลูกค้าจะมาใช้บริการตอนเช้าก่อน 10.00 น. ก็ต้องพร้อมที่จะให้บริการ ช่วงเวลาที่มีประจำเดือนก็จะถูกบังคับให้ใช้ผ้าอนามัยแบบสอดใส่สำหรับดูดซับประจำเดือน แม่เล้าจะเป็นผู้จัดหาถุงยางอนามัย เยลหล่อลื่น กระดาษอนามัยสำหรับทำความสะอาด ฯลฯ
 
เมื่อลูกค้าเห็นประกาศการให้บริการของหญิงสาวที่สนใจก็จะโทรศัพท์ ติดต่อเข้ามา แม่เล้าก็จะแจ้งอัตราค่าบริการ พร้อมให้ที่อยู่ที่หญิงสาวรอให้บริการอยู่พร้อมกับการนัดหมายเวลาและตกลง ราคา จากนั้นแม่เล้าก็จะโทรไปแจ้งหญิงสาวให้เตรียมเปิดประตูต้อนรับลูกค้าและให้บริการครั้งละครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมงแล้วแต่จะตกลงกับแม่เล้าแต่แรก เมื่อให้บริการเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะต้องส่งเอสเอ็มเอสไปบอกแม่เล้าว่า โอเค หรือ พร้อมสำหรับการให้บริการลูกค้ารายต่อไป
 
อัตราค่าบริการคือ 100 ยูโร ต่อครึ่งชั่วโมง (แม่เล้าหักค่านายหน้า 40 ยูโร) และ 175 ยูโร ต่อหนึ่งชั่วโมง (แม่เล้าหักค่านายหน้า 55 ยูโร) แต่ถ้ามีบริการเพิ่มเติมอย่างอื่น ก็สามารถปฏิเสธได้หรือหากยินยอมก็เป็นรายได้เฉพาะตนเอง
 
หญิงสาวจะจดบันทึกรายได้ในแต่ละวัน พร้อมหักค่านายหน้าในแต่ละครั้ง เหลือเท่าไหร่ก็จะต้องจดบันทึกหักกลบกับหนี้ที่ตกลงกันก่อนออกเดินทางมา จำนวน 15,000 ยูโร จนกว่าจะชดใช้หมดจึงจะมีอิสระ และสามารถหารายได้เป็นของตนเอง แต่หากยังผ่านแม่เล้าก็จะถูกหักค่าส่วนแบ่ง 60:40 เหมือนเดิม
 
แม่เล้าส่วนใหญ่ก็จะเป็นหญิงไทยที่เดินทางไปทำงานขายตัวก่อนหน้า อาจจะมีความสัมพันธ์กับผู้ชายที่เคยเป็นลูกค้าหรือเป็นผู้ดูแลธุรกิจหญิง บริการมาก่อน ไต่เต้าขึ้นมาทำหน้าที่จัดหาหญิงไทยไปขายบริการทางเพศในยุโรปผ่านนายหน้าทาง เมืองไทยที่มักจะเคยเดินทางไปทำงานหรือมีครอบครัวกับชาวต่างชาติ โดยจะทำการแบ่งรายได้จากค่านายหน้ากันคนละ 300,000 บาท ต่อหญิงไทยที่เดินทางไปทำงานหาเงินในยุโรปหนึ่งคน เมื่อส่งให้เดินทางไปครั้งละสองคนก็สร้างรายได้ให้กับเอเย่นต์หรือนายหน้าใน เมืองไทยถึง 600,000 บาท โดยต้องรับผิดชอบชำระค่าตั๋วเครื่องบินเที่ยวเดียวและค่าวีซ่า ค่าถ่ายรูป พร้อมค่าเงินติดกระเป๋าประมาณ 300 ยูโร ค่าแท็กซี่และค่าโรงแรมหนึ่งคืน ฯลฯ
 
ปัญหาที่หญิงไทยประสบเมื่อเดินทางไปถึงคือ เงื่อนไขไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันก่อนออกเดินทาง มักจะถูกเรียกค่าเช่าที่พัก 200 ยูโร และค่าอาหารอีก 150 ยูโร ต่อสัปดาห์ มีหญิงไทยบางคนที่ไหวตัวทันก็หนีกลับเมืองไทยเอง แต่คนที่ไม่สามารถหนีกลับได้ก็จะถูกยึดหนังสือเดินทางและถูกข่มขู่ว่า หากพยายามหลบหนีก่อนคืนหนี้ครบถ้วน จะถูกตามไปทำร้ายถึงครอบครัวในประเทศไทย ทำให้ต้องจำทนยินยอมทำงานขายตัวหาเงินให้กับแม่เล้าและแมงดาในยุโรปต่อไป จนกว่าจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมและส่งตัวกลับประเทศบ้านเกิด
 
ความโลภ และความเชื่อว่าจะสามารถหาเงินล้านได้ภายในสามเดือน คือมูลเหตุจูงใจให้หญิงไทยหลายคนเสี่ยงชีวิตเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปขาย บริการหรือขายตัวในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศในยุโรปที่เจริญแล้ว หรือประเทศในตะวันออกกลาง แต่ขอให้หญิงไทยที่กำลังคิดจะเดินทางไปหาเงินในต่างแดนได้ตระหนักว่า การประกอบอาชีพโสเภณีมักจะแวดล้อมด้วยบรรดาแมงดาหรือแม่เล้าที่จะทำหน้าที่ ดูแลพร้อมกับหาเงินบนความยากลำบากของหญิงขายบริการ หลายคนถูกทำร้ายทารุณ มีบางคนถึงกับเสียชีวิต การใช้ชีวิตที่ต้องอยู่ในมุมมืด การทำงานเจ็ดวันต่อสัปดาห์ ไม่มีอิสระแม้แต่น้อย อดมื้อกินมื้อ ฯลฯ ความฝันที่เชื่อว่า การไปขายตัวที่เมืองนอกจะสร้างความร่ำรวยให้ได้ภายในระยะเวลาอันสั้นจะสลาย ไปทันทีท่ีเดินทางไปถึง หลายคนที่ต้องเอาชีวิตไปทิ้งในต่างแดน
 
 
ส่งออก "สิ่งทอ" ติดลบ ส่อเลิกจ้างพุ่ง!
 
นักวิชาการด้านแรงงาน มหาวิทยาลัยศิลปากร นายตะวัน วรรณรัตน์ บอกว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2558 การส่งออกเครื่องนุ่งห่มไทยติดลบถึงร้อยละ 8 และคาดว่าจะติดลบต่อเนื่องในปีนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา และเวียดนามกลับมาแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วมาก มองว่าในอนาคตอันใกล้แรงงานไทยในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะถูกเลิกจ้าง โดยเฉพาะแรงงานหญิงวัย 40 ปีขึ้นไป ซึ่งหมายความว่าอายุมากขึ้น แต่ความมั่นคงลดลง ยากต่อการหางานใหม่จึงได้ทำการศึกษาตลาดแรงงานที่จะมารองรับคนกลุ่มนี้ โดยผลการศึกษาพบว่าตลาดแรงงานแม่บ้านและพี่เลี้ยงยังมีความต้องการสูง เพราะปัจจุบันครบครัวเดี่ยวที่ผู้หญิงต้องออกไปทำงานนอกบ้าน งานบ้านและการดูแลเด็ก ดูแลผู้สูงอายุจึงมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น แต่ตอนนี้ภาครัฐยังไม่มีแผนรองรับแรงงานกลุ่มนี้ จึงเสนอแนะให้ภาครัฐจัดอบรมอาชีพหลังเลิกงานหรือวันหยุดให้กับแรงงานวัยกลางคน เน้นสร้างกลุ่มและการตลาดในอาชีพอิสระ ทั้งแม่บ้าน ทำความสะอาด การดูแลเด็กปฐมวัย ผู้สูงอายุ ซึ่งควรเน้นทดสอบฝีมือแรงงาน ทั้งให้ความรู้เรื่องประกันสังคม ปรับปรุงสิทธิประโยชน์การว่างงานให้เหมาะสม สามารถประคับประคองชีวิตหลังถูกเลิกจ้าง
 
 
ลูกจ้างหวั่นตกงานร้องรัฐช่วย
 
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ และมูลนิธิฟรีดริด เอแบร์ท ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "คนงานหญิง.....วัยกลางคน....ความมั่นคงอาชีพและรายได้?" โดยตัวแทนสมาพันธ์แรงงานสิ่งทอ นางสาวกรชนก ธนะคูณ จากจังหวัดเชียงใหม่ สะท้อนถึงสถานการณ์แรงานว่าขณะนี้แรงงานส่วนใหญ่ห่วงอนาคตที่มีแนวโน้มถูกเลิกจ้าง เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี ซึ่งตอนนี้บริษัทที่ทำงานอยู่ถูกเลิกจ้างพนักงานไปแล้ว 2 พันคน จึงอยากให้รัฐบาลหาแนวทางรองรับแรงงานกลุ่มนี้ด้านองค์การแรงงานระหว่างประเทศ นางสาวระกาวิน ลีชนะวินิชพันธ์ บอกว่า แรงงานวัยกลางคนหากถูกเลิกจ้าง คนกลุ่มนี้จะกลายเป็นคนจนไปเลย ดังนั้นการตั้งรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น โดยการฝึกทักษะการประกอบอาชีพ ที่ภาครัฐต้องขยายงาน ไม่ว่าจะเป็นการให้ตัดเย็บชุดนักเรียน ทำความสะอาดสถานที่ราชการ การประกันราคาผลผลิต และการให้กู้เงิน การลดภาษีให้ครอบครัวที่มีภาระเลี้ยงดูลูก เป็นต้น ซึ่งมีตัวอย่างความสำเร็จของประเทศสิงคโปร์ ที่สามารถนำคนวัยกลางคนเข้าทำงานได้
 
โดยมีนโยบายเพิ่มอายุเกษียณเป็น 64 ปี การจ้างผู้เกษียณทำงาน เช่น ขับรถแท็กซี่ ให้กู้เงิน ซึ่งถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญเรื่องนี้จริงจัง
 
 
“ไทยมาร์ท”ประกาศหยุดดำเนินธุรกิจชั่วคราว-หวั่นปมขัดแย้งลุกลาม
 
เมื่อวันที่ 7 มี.ค. นายจตุภัทร์ ตั้งคารวคุณ ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจและผู้ถือหุ้น บริษัท ไทยมาร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ประกาศแจ้งสถานการณ์การบริหารงานในบริษัท ไทยมาร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด ถึงปัจจุบันนี้ว่า บริษัท ไทยมาร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด มีปัญหาขัดแย้งเกี่ยวกับการบริหารกิจการภายในบริษัทฯ ระหว่างกรรมการบริษัท และผู้ถือหุ้น จนเป็นเหตุให้ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวตามคำสั่ง แจ้งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวที่ ศย.300.011(พ)141 ในคดีของศาลล้มละลายกลาง “คดีหมายเลขดำที่ ล.107/2559”
 
"เป็นเหตุให้บริษัทต้องหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มาจนบัดนี้ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2559 ทั้งนี้ศาลจะมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวแล้ว แต่คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลล้มละลายกลาง ซึ่งมีกำหนดนัดสืบพยานโจทก์จำเลย ในวันที่ 10-11 พฤษภาคม 2559"
 
นายจตุภัทร์ เผยว่า หากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ก็จะทำให้เจ้าหน้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้มีอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว ประกอบกับผู้ถือหุ้น 2 กลุ่ม ได้มีความขัดแย้งในการบริหารกิจการ จนไม่สามารถบริหารกิจการร่วมกันต่อไปได้ การที่จะปล่อยให้กรรมการ และ/หรือ ตัวแทน ของผู้ถือหุ้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยลำพังบริการกิจการต่อไป ย่อมทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งลุกลาม ก่อภาระหนี้สินให้แก่บริษัท รวมถึงช่องทางให้มีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของบริษัทมากยิ่งขึ้น
 
 
ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นชั้นนำจับมือรัฐบาลไทย ต่อยอดสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
 
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำคณะผู้บริหารระดับสูงของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ได้แก่ นาย Kyoichi TANADA จากโตโยต้า นาย Takashi KIKUCHI จากอีซูซุ นาย Kazutaka NAMBU จาก Nissan นาย Noriaki ABE จาก Honda เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ตามกำหนดการ "Prime Minister meet CEOs" ครั้งที่ 2 การพบหารือกับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ในครั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การค้าการลงทุน การส่งออกและการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย
 
ภายหลังการหารือ พลตรีวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในนามของรัฐบาลไทย เพื่อขอบคุณนักลงทุนชาวญี่ปุ่นที่ไม่เคยทอดทิ้งประเทศไทย โดยที่รัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่ในการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนเพื่อให้การดำเนินธุรกิจและการลงทุนในไทยเป็นไปอย่างราบรื่น และขอให้ยังคงรักษาฐานการผลิตในไทยต่อไป หากมีปัญหาหรืออุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ ขอให้แจ้งเพื่อจะนำไปพิจารณาดำเนินการแก้ไขอย่างเหมาะสม พร้อมย้ำนโยบายของรัฐบาลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่ส่งเสริมการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานแบบ Eco Car รถยนต์ Hybrid ซึ่งจะเป็นต้นแบบการพัฒนาไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าชนิดต่าง ๆ รวมถึงรถยนต์ไฮโดรเยนที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยรัฐบาลยังให้ความสำคัญกับรถยนต์ที่ลดการปล่อยก๊าซ co2 และรถยนต์ที่ใช้พลังงานจากเอธานอลและไบโอดีเซล ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มจำนวนความต้องการใช้พืชพลังงานชนิดอื่น ๆ อาทิ ปาล์มและอ้อยในประเทศ ทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์โดยตรง
 
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังได้เปิดโอกาสให้ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นกล่าวถึงการดำเนินการของบริษัทในประเทศไทย รวมถึงปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อให้รัฐบาลนำมาปรับปรุงแก้ไขต่อไป
โดยบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทั้งโตโยต้า อีซูซุ นิสสัน ฮอนด้า ต่างกล่าวถึงแผนการและเป้าหมายในอนาคตที่จะให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่แข็งแกร่งในภูมิภาคอาเซียนและเอเชีย โดยสำหรับหลายบริษัทแล้ว ประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดรองจากบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น และพร้อมที่จะสนับสนุนให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถรุ่นใหม่ ๆ และใช้เทคโนโลยีระดับสูง อาทิ บริษัทโตโยต้า มีแผนที่จะให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถไฮบริด ซึ่งจะเทคโนโลยีพื้นฐานสำหรับการพัฒนายานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีสูงในอนาคตที่จะขับเคลื่อนโดยใช้พลังงานไฟฟ้าและเซลล์พลังงาน
 
สำหรับอีซูซุมีแผนที่จะต่อยอดให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถกระบะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และรถกระบะไฮบริด รวมทั้งจะมีการใช้ผลิตผลทางเกษตรส่วนเกินที่มีอยู่ในการผลิตน้ำมัน ไบโอ-ดีเซล
 
บริษัทนิสสันนับเป็นบริษัทแรก ๆ ที่พัฒนารถยนต์ไฟฟ้า (Electronic Vehicles - EV) และมีเป้าหมายที่จะให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถไฟฟ้าเพื่อการส่งออก ในขณะที่บริษัทฮอนด้าต้องการส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานในการวิจัยและพัฒนารถยนต์ในระดับภูมิภาค เพื่อพัฒนาขีดความสามารถให้ไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนารถยนต์ พร้อมแสดงความขอบคุณรัฐบาลที่ได้ปรับแก้กฎหมาย ที่ช่วยให้การนำเข้าส่งออกรถต้นแบบไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนในการวิจัยและพัฒนาต่ำลงและมีการผลิตรถยนต์ที่มีคุณภาพสูงขึ้น รวมทั้งยังช่วยสนับสนุนไปสู่การพัฒนาของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ด้วย
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) โดยกำหนดให้มีการพัฒนาและสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive) ซึ่งข้อเสนอแนวทางการพัฒนายานยนต์ของค่ายรถยนต์ทุกค่ายสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลเป็นอย่างมาก และสามารถพัฒนาไปพร้อม ๆ กันเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง อย่างไรก็ดี ไทยยินดีที่จะเห็นการลงทุนเพิ่มเติมของกลุ่มยานยนต์ในประเทศไทย ทั้งการเปิดโรงงาน การเปิดศูนย์ทดสอบ แต่ขอให้กลุ่มขยายการผลิตโดยเน้นการใช้เทคโนโลยีสูง และถ่ายทอดความรู้ให้กับคนไทยและ SMEs ไทยมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐที่ต้องการให้อุตสาหกรรมใหญ่ ๆ เป็นพี่เลี้ยงให้กับ SMEs ตลอดจน หน่วยงานภาครัฐของไทย อาทิ โรงงานผลิตแบตเตอรี่
 
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังเคยหารือกับนายกรัฐมนตรีอาเบะ เกี่ยวกับการที่ไทยพร้อมที่จะเปิดศูนย์ทดสอบรถยนต์ต้นแบบบางชนิดให้กับญี่ปุ่น อาทิ การรถยนต์ไร้คนขับ ซึ่งไม่สามารถทำการทดสอบที่ญี่ปุ่นได้ในแง่การส่งออก ประเทศไทยพร้อมเป็นฮับในการกระจายสินค้า ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังเปิดการเจรจาเขตการค้าเสรีกับตลาดใหม่ อาทิ รัสเซีย กลุ่มประเทศยูเรเซีย ตะวันออกกลาง ประเทศในแถบแอฟริกา ตลอดจนประเทศหมู่เกาะ และกำลังพิจารณาการเข้าร่วมความตกลง TPP ซึ่งทั้งหมดนี้ จะช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตที่ใช้ไทยเพื่อเป็นฐานในการส่งออกด้วย สำหรับประเด็นอื่น ๆ ที่ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นมีความกังวล อาทิ ปัญหาเรื่องการขนส่งรถจากลานจอดรถในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมไปยังท่าเรือ การเสนอให้ปรับความสูงของรถบรรทุกรถยนต์ การปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการซื้อรถปิกอัพของราชการ ซึ่งไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งในประเด็นเหล่านี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการและกำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ให้เร่งรัดแก้ไขปัญหาและความกังวลเหล่านี้โดยเร็วที่สุด
 
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียังได้เชิญชวนให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น ศึกษาลู่ทางการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อใช้ประโยชน์จากการที่ไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคต่อไป
 
 
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ยื่นหนังสือนายกฯ เพิ่มมาตรการแก้ปัญหา 3 ชายแดนใต้ เร่งด่วน
 
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นำโดย นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอให้เพิ่มมาตรการดำเนินการแก้ไขปัญหา นำความสงบสุขกลับคืนมาในพื้นที่เสี่ยงภัย 3 จังหวัดชายแดนใต้โดยเร่งด่วน เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ รวมทั้งการรักษาชีวิตของประชาชน และบุคลากรของรัฐวิสาหกิจที่ให้บริการในพื้นที่เกิดความมั่นใจในการดำรงชีพในพื้นที่ต่อไป
 
 
กรมการจัดหาเตือนแรงงานไทยระวังถูกนายหน้าเถื่อนหลอกไปทำงานนวดไทยที่รัสเซีย ชี้ถูกเบี้ยวค่าจ้าง ยึดพาสสปอร์ต
 
อธิบดีกรมการจัดหางาน(กกจ.) นายอารักษ์ พรหมณี กระทรวงแรงงาน บอกว่าขณะนี้มีสายนายหน้าเถื่อนได้หลอกลวงแรงงานให้ไปทำงานต่างประเทศโดยอ้างว่าจะส่งไปทำงานนวดไทยที่โดยได้รับค่าตอบแทนที่ดี ซึ่งล่าสุดเจ้าหน้าที่ได้รับการร้องเรียนว่า มีแรงงานไทยไปทำงานด้วยตัวเองที่รัสเซีย ด้วยวีซ่านักท่องเที่ยวเป็นพนักงานนวดแผนโบราณและถูกนายจ้างยึดพาสปอร์ต ทำให้กระทรวงแรงงานประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือจึงขอเตือนแรงงานให้ตรวจสอบข้อมูลให้รอบคอบ เนื่องจากปัจจุบันมีแรงงานไทยจำนวนมากสนใจจะไปทำงานนวดแผนโบราณที่รัสเซีย และเคยมีแรงงานเข้าไปร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมอสโก ว่านายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง หรือค้างจ่ายค่าจ้างหลายเดือน และยังพบปัญหานายจ้างยึดพาสปอร์ตทำให้สถานเอกอัครราชทูตฯ ต้องออกหนังสือเดินทางชั่วคราวเพื่อกลับไทยได้
 
 
สั่ง 2,300 โรงงานอุตสาหกรรม ปันน้ำช่วยชาวนา 5 หมื่นไร่
 
นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง "หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรมนำน้ำทิ้งของโรงงานไปใช้ ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรมในช่วงภัยแล้ง ปี พ.ศ. 2559" โดยให้ให้โรงงานจำพวกที่ 3 ประกอบกิจการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหาร จำนวน 2,300 โรงงาน จาก 6,000 โรง งาน นำน้ำทิ้งที่บำบัดแล้วไปช่วยเหลือประชาชน โดยการออกไปสู่ภาคการเกษตรรอบ ๆ พื้นที่โรงงานในช่วงที่ประสบปัญหาภาวะภัยแล้ง ในขณะนี้ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคมถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2559 ซึ่งจะสามารถช่วยปันน้ำให้ภาคการเกษตรเกือบ 500,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน สำหรับเกษตรกรรายใดต้องการความช่วยเหลือดังกล่าวให้ติดต่อไปยังอุตสาหกรรมจังหวัดของตนเอง
 
สำหรับพื้นที่ที่โรงงานจะปล่อยน้ำช่วยเหลือเกษตรกรได้จะมีทั้งสิ้น 50,000 ไร่ แบ่งเป็นในพื้นที่ภาคเหนือ มีโรงงานที่ปล่อยน้ำทิ้งช่วยเกษตรกรได้ 552 โรง ครอบคลุมพื้นที่ 12,000 ไร่ คิดเป็นสัดส่วน 24% ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด ภาคกลาง มีโรงงานปล่อยน้ำได้ 253 โรง ครอบคลุมพื้นที่ 5,600 ไร่ คิดเป็นสัดส่วน 11% ของพื้นที่การเกษตร ภาคตะวันออก มีโรงงานปล่อยน้ำได้ 322 โรง ครอบคลุมพื้นที่ 6,800 ไร่ คิดเป็นสัดส่วน 14% ของพื้นที่การเกษตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีโรงงานปล่อยน้ำทิ้งได้ 851 โรงงาน ครอบคลุมพื้นที่ 18,000 ไร่ คิดเป็นสัดส่วน 37% ของพื้นที่การเกษตร ภาคตะวันตกมีโรงงานที่ปล่อยน้ำทิ้งได้ 276 โรง ครอบคลุมพื้นที่ 5,800 ไร่ คิดเป็นสัดส่วน 12% และภาคใต้ มีโรงงานที่ปล่อยน้ำทิ้งได้ 46 โรง ครอบคลุมพื้นที่ 965 ไร่ คิดเป็นสัดส่วน 2% ของพื้นที่การเกษตร
 
นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในส่วนของโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้วนั้น พบว่ามีโรงงานจำพวกที่ 3 ที่มีการใช้น้ำมากและคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ จำนวน 3,616 โรงงาน ส่วนโรงงานที่ใช้น้ำมากสูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมฟอกย้อม อุตสาหกรรมแป้งมัน และอุตสาหกรรมฆ่าสัตว์ ซึ่งมีโรงงาน จำนวน 1,131 โรงงาน ซึ่งจะต้องปรับตัวใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
 
สำหรับมาตรการระยะสั้น เช่น ส่งเสริมให้โรงงานใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือให้ใช้น้ำบาดาล หากพื้นที่นั้น ๆ ยังมีน้ำใต้ดินมีคุณภาพดีสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมได้ แต่ต้องขออนุญาตก่อน รวมทั้งขอความร่วมมือลดการระบายน้ำทิ้งหรือไม่ระบายน้ำทิ้งออกจากโรงงาน
 
ส่วนมาตรการระยะยาว ได้วางแผนให้โรงงานที่มีพื้นที่ค่อนข้างมาก พิจารณาขุดบ่อเก็บน้ำเพื่อเก็บกักน้ำฝนในช่วงฤดูฝนเป็นแหล่งน้ำสำรองใช้ใน ช่วงฤดูแล้ง และพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำน้ำทะเลหรือน้ำทิ้งมาผลิตเป็นน้ำใช้อุตสาหกรรม
 
นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า ได้ตรวจสอบข้อมูลพื้นที่ขุมเหมืองเก่าทั่วประเทศเบื้องต้นพบว่ามีพื้นที่เหมืองแร่ที่สามารถใช้เป็นแหล่งน้ำได้ทั้งสิ้น 36 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้นประมาณ 166 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ในปัจจุบันมีพื้นที่เหมืองแร่จำนวน 9 แห่งในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้มีการพัฒนาเป็นแหล่งน้ำเพื่ออุปโภค และการเกษตรกรรมโดยรอบ มีปริมาตรน้ำรวม 32.7 ล้านลูกบาศก์เมตร
 
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ.ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ กนอ.เฝ้าระวังปัญหาภัยแล้งของภาคอุตสาหกรรมสำหรับโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคตะวันออก กรุงเทพและปริมณฑล ภาคใต้ ภาคเหนือ และอื่น ๆ มีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อติดตามสถานการณ์
 
 
นายกระบุไทยเจอปัญหาแรงงาน จำเป็นพึ่งพาแรงงานต่างด้าว
 
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ในที่ประชุมได้หารือเรื่องความคืบหน้าการใช้จ่ายงบประมาณ นั้น ทุกอย่างคืบหน้าไปตามลำดับ ซึ่งดีขึ้นและคืบหน้าไปแล้ว 70-80% โดยทั้งหมดจะเริ่มงานกันปี 2559-2560 ที่ผ่านมาใช้เวลาในการทำความเข้าใจ ขจัดข้อขัดแย้งต่างๆมากมาย แต่ก็ยังมีอยู่ บางโครงการอาจจะทำไม่ได้เช่น โครงการขนาดใหญ่ ตนจึงบอกว่าภายในเดือนมีนาคมนี้ หากโครงการไหนติดขัดให้แบ่งโครงการจากโครงการให้แบ่งย่อยเป็นโครงการเล็กลงมา เพื่อให้โครงการเกิดขึ้น ไม่อย่างนั้นประชาชนก็จะไม่เข้าใจอีก คนไทยมักจะรอไม่ได้ ใจร้อน ดังนั้นการใช้จ่ายงบประมาณตั้งแต่มีนาคมนี้เป็นต้นไปต้องทำในสิ่งที่ทำได้ ต้องไม่ติดขัดอะไรทั้งสิ้น จะต้องรู้ว่าที่ผ่านมามันยากแสนเข็ญ ไม่เคยทำได้ เพราะไม่เคยคิดจะทำกันมาก่อน และตนไม่อยากจะใช้อำนาจมากนักนี่คือความแตกต่าง
 
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ในที่ประชุมที่เน้นย้ำคือ การสร้างธรรมาภิบาลให้ได้ ถ้าเรามองในแง่เศรษฐกิจการลงทุน เพิ่มการกระจายรายได้ และจากที่ได้หารือกับบริษัทที่มาประกอบการรถยนต์ ตนได้ย้ำถึงนโยบายของรัฐบาลรัฐบาลจะสนับสนุนในการแข่งขันที่เป็นธรรม และตามหลักเกณฑ์สากลให้มีความทัดเทียมกับการลงทุนในประเทศอื่นๆเพราะไม่ต้องการให้เกิดการย้ายฐานการลงทุนไปที่อื่น ซึ่งนโยบายวันนี้เราวางไว้ถึง 5-20 ปีข้างหน้าที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ ให้มีการพัฒนามากขึ้น ให้คนไทยมีส่วนร่วมมากขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์แนวใหม่เราจะต้องคิดถึงอนาคต ที่ต่อไปบางบริษัทจะใช้ไทยเป็นฐานการผลิต จึงจำเป็นต้องพึ่งแรงงานต่างด้าว คนพวกนี้ทำงานในภาคอุตสาหกรรมกว่า 2 ล้านคน และในอนาคตก็มีความต้องการมากขึ้นเพราะมีขยายกิจการมากขึ้น เนื่องจากเราต้องการเป็นศูนย์กลางของอาเซียน แต่วันนี้ปัญหาเราคนไทยมาทำงานประเภทใช้ แต่นิยมไปทำงานบริการ เราจึงจำเป็นต้องพึ่งพาคนเหล่านี้ นอกจากนี้ในส่วนการทำประมงเรายังขาดแรงงานมีฝีมืออีกร่วม 6 หมื่นคน และแรงงานธรรมดาอีกมหาศาล ขอให้คนไทยเข้าใจว่าวันนี้หากเราไม่มีแรงงานต่างชาติจะดำเนินการยาก เรื่องเหล่านี้ตนอยากจะสร้างความเข้าใจร่วมกับรัฐบาล เพื่อลดความขัดแย้งใน ไม่มีรัฐบาลไหนทำอย่างที่รัฐบาลตนทำ
 
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องการท่องเที่ยว ที่ทุกคนบอกว่าเราให้ความสำคัญกับต่างชาติ หรือไปหลงปลื้มเออีซีมากไปหรือไม่ อยากจะบอกว่าไม่ใช่การหลงปลื้ม แต่เป็นเรื่องสังคมโลกเราอยู่คนเดียวไมได้ จึงต้องมองให้ทุกมิติ เรื่องการส่งเสริมงานในประเทศของเราอย่างไร และกิจการการลงทุนของประเทศอื่นต้องไปควบคู่กัน ถ้ายังไปยึดติดกับนโยบายเดิมๆที่ใครจะทำอะไรก็ทำ ไม่ส่งเสริม ไม่เลือกกิจการ ไม่เลิกศักยภาพ ไม่ปรับปรุงกฎหมายหรือเรื่องสิทธิประโยชน์ วันข้างหน้าเราจะทำอย่างไร หากทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอยู่ที่อื่นหมดเราจะทำอย่างไร จึงอยากให้ทุกคนเข้าใจการการดำเนินงานของรัฐบาล
 
 
กลุ่ม 'สตรี สรส.'ชูปฏิรูปเพื่อการพัฒนายั่งยืน
 
วันสตรีสากล 8 มี.ค.ของทุกปี หน่วยองค์กรจัดกิจกรรมนี้ เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ เริ่มที่กลุ่มสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และกลุ่มสตรีบูรณาการจัดกิจกรรมวันสตรีสากล ประจำปี 2559 ปีนี้จัดหัวข้อ “คนทำงานหญิงกับการปฏิรูปเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยื่น” โดยรวมตัวกันเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สู่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมี คุรหญิงทิพาวดี เมฆสวรรณ์ นายกสมาคมติดตามการพัฒนาสตรีในประเทศไทย เป็นประธาน โดยเรียกร้องสิทธิชาย-หญิงเท่าเทียมกัน 50:50
กลุ่มสตรียื่น"ประยุทธ์"แก้ปัญหาที่ดินทำกิน
 
ส่วนที่หน้าสำนักงาน ก.พ. ถนนพิษณุโลก (ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล) กลุ่มสตรีในนาม ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ มาชุมนุมเนื่องในวันสตรีสากล พร้อมยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์บริการประชาชน เพื่อให้แก้ปัญหาที่ดินทำกิน เช่น ยกเลิกนโยบายทวงคืนผืนป่า เพราะทำให้เกษตรกรไร้ที่ดินทำกิน รวมทั้งให้ทบทวนนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเสนอให้รัฐบาลมีมาตรการชดเชยให้ชุมชนที่ต้องออกจากพื้นที่ที่รัฐประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ
 
ส่วนที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ ให้เครือข่ายสตรี 4 ภาค เข้าพบ เนื่องในวันสตรีสากล โดยกลุ่มสตรีได้ผูกผ้าขาวม้าให้กับนายกรัฐมนตรี และเสนอแนะเชิงนโยบาย เช่น มาตรการคุ้มครองสตรีจากความรุนแรงในครอบครัว มาตรการเข้าถึงการศึกษาของเด็กหญิงและเยาวชนหญิง มาตรการการกำหนดในกฏหมายรัฐธรรมนูญ โดยขอให้รัฐกำหนดในกฏหมายรัฐธรรมนูญ เรื่องการมีส่วนร่วมของผู้หญิงและชาย โดยเฉพาะการกำหนดสัดส่วน ส.ส.หญิง ให้เท่ากับ ส.ส.ชาย เพื่อรณรงค์ให้ผู้หญิงเข้ามาทำงานการเมืองมากขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรี ตอบกลับว่าคงทำไม่ได้ เพราะขึ้นกับความสามารถแต่ละคน
 
 
ชาวบุรีรัมย์แห่สมัครงานคาดพิษภัยแล้งทำผู้ว่างงานกว่า 5,000 คน
 
(8 มี.ค.) สำนักงานจัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมกับภาคเอกชน จัดวัน“นัดพบแรงงาน ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ว มีงานทำทันที” ที่บริเวณชั้น 2 ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน สาขาบุรีรัมย์ เพื่อช่วยเหลือผู้ว่างงาน และแรงงานจากภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งไม่สามารถเพาะปลูกพืชได้
 
ทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้นายจ้าง และแรงงานที่ต้องการมีงานทำ รวมไปถึงนักศึกษาที่จบการศึกษาใหม่ได้พบปะตกลงจ้างงานกันโดยตรงตามความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งเป็นการลดปัญหาการว่างงานและป้องกันการอพยพเคลื่อนย้ายแรงงานออกนอกพื้นที่ในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งคาดว่าปีนี้จะมีผู้ว่างงานมากกว่า 5,000 คน
 
ภายในงานได้มีผู้ประกอบการทั้งในและต่างจังหวัดกว่า 20 บริษัท มาให้บริการรับสมัครงาน แบ่งเป็นตำแหน่งงานว่างในจังหวัดจำนวน 366 อัตรา และตำแหน่งงานว่างในต่างจังหวัดจำนวน 5,171 อัตรา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานประเภทพนักงานฝ่ายผลิต พนักงานขาย พนักงานบัญชี พนักงานต้อนรับ และงานบริการทั่วไป ซึ่งการจัดนัดพบแรงงานในครั้งนี้ได้มีแรงงานสนใจมาขึ้นทะเบียน และกรอกใบสมัครงานกว่า 500 คน
 
นางรุ่งนภร รักพินิจ ผู้ช่วยจัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า การจัดนัดพบแรงงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง มีงานทำทันทีในครั้งนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและช่วยเหลือผู้ว่างงาน รวมถึงแรงงานภาคการเกษตร ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งได้มีงานทำ โดยเปิดโอกาสให้แรงงานและนายจ้างตกลงจ้างกันโดยตรงตามความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย ซึ่งคาดว่าปีนี้จะมีผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งไม่น้อยกว่า 5,000 คน
 
พร้อมกันนี้ยังได้แจ้งเตือนผู้ว่างงาน อย่าหลงเชื่อกลุ่มแก๊งมิจฉาชีพที่จะฉวยโอกาสหลอกลวงพาไปขายแรงงานทั้งในและต่างประเทศ หากต้องการหางานทำให้มาติดตามสอบถามได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด
 
 
คนพิการโคราชเฮ! สถานประกอบการ 137 แห่งจ้างงานแล้วกว่า 1,200 ราย
 
(8 มี.ค.) ที่ MCC HALL ชั้น 3 ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์นครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา น.ส.อัญชลี สินธุพันธ์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน และ นายสุวิทย์ คำดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ร่วมเป็นประธานเปิดงาน “CSR ต้นแบบ คนพิการมีงานทำ มีอาชีพ” จัดโดยกรมการจัดหางาน สำนักงานจัดหางานจังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับสถานประกอบการในจังหวัดนครราชสีมา โดยมีสถานประกอบการ องค์กรคนพิการและคนพิการ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนเข้าร่วมงานจำนวนกว่า 500 คน
 
น.ส.อัญชลี สินธุพันธ์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ มุ่งการบริหารตามแบบประชารัฐ คือ ภาครัฐและภาคเอกชนทุกภาคส่วนบูรณาการร่วมกันช่วยเหลือประชาชนให้อยู่ดี กินดี มีความสุข โดยเฉพาะคนพิการซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลให้ความสำคัญได้มีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ ได้รับสิทธิและโอกาสเท่าเทียมกับบุคคลอื่น
 
ในปี 2559 กระทรวงแรงงานได้กำหนดให้เป็นปีแห่งการจ้างงานคนพิการ ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดช่วยเหลือคนพิการให้มีงานทำ โดยให้นายจ้าง สถานประกอบการมีการจ้างงานคนพิการ เนื่องจากตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 กำหนดให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 100 คนต้องจ้างงานคนพิการ 1 คน หรือสถานประกอบการให้สัมปทาน จัดพื้นที่ขายสินค้า จ้างเหมาช่วงงาน ฝึกงาน หรือการให้ความช่วยเหลืออื่นใดในการประกอบอาชีพนั้น
 
ส่วนการจัดงานที่จังหวัดนครราชสีมาครั้งนี้ถือเป็นจังหวัดนำร่อง หรือจังหวัดต้นแบบของการจัดงาน “CSR ต้นแบบคนพิการ มีงานทำ มีอาชีพ” เพื่อยกย่องสถานประกอบการด้านสังคมที่เป็นต้นแบบการจ้างงานคนพิการเข้าทำงาน คนพิการได้รับการจ้างงานหรือได้รับสัมปทาน จัดพื้นที่ให้ขายสินค้า ฝึกงาน หรือการช่วยเหลือด้านการประกอบอาชีพเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสถานประกอบการอื่นจะได้ทราบและนำไปเผยแพร่ในกลุ่มนายจ้าง สถานประกอบการด้วยกัน
 
สำหรับจังหวัดนครราชสีมามีสถานประกอบการจำนวน 327 แห่ง มีการจ้างงานคนพิการแล้วจำนวน 137 แห่ง คนพิการมีงานทำทั้งสิ้น 1,221 คน คิดเป็นมูลค่า 8,793,000 บาทต่อเดือน ในปี 2558 มีการจ้างงานคนพิการเข้าทำงานในสถานประกอบการแล้ว 350 คน คิดมูลค่าตามค่าแรง 37 ล้านบาท ได้รับการส่งเสริมประกอบอาชีพอิสระ 544 คน คิดเป็นมูลค่า 16 ล้านบาทต่อปี
 
 
สมุทรสาครจัดอบรม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
 
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 9 มีนาคม 2559 ที่ บก.ภ.จว.สมุทรสาคร พล.ต.ต.สรไกร พูลเพิ่ม ผบก.ภ.จว.สมุทรสาคร เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการอบรมเผยแพร่ความรู้ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยมี รองผบก.ภ.จว.สมุทรสาคร ผกก.หัวหน้าสถานี พร้อมข้าราชการตำรวจในสังกัดภ.จว.สมุทรสาครเข้าร่วมจำนวน 200 นายโดยได้รับเกียรติจาก รศ. พ.ต.อ.กู้เกียรติ เจริญบุญ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้
 
โดยทาง พล.ต.ต.สรไกร กล่าวว่า จังหวัดสมุทรสาครเป็นเมืองแห่งเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ และมีการพัฒนาที่เร็วมาก อันเนื่องมาจากเป็นจังหวัดที่รองรับความเจริญและการขยายตัวจากกรุงเทพฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมและชุมชนมีอัตราการขยายตัวที่สูงมาก มีการอพยพย้ายถิ่นของประชากรจากจังหวัดต่างๆเข้ามาประกอบอาชีพเป็นจำนวนมาก และมีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะชาวพม่า ลาว และกัมพูชา ที่เดินทางเข้ามาประกอบอาชีพรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม การประมง และรับจ้างทั่วไป
 
จนกลายเป็นประชากรแฝง เกือบเท่าๆกับประชากรทั้งจังหวัด ตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรสาครได้ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญดังกล่าวจึงได้จัดทำโครงการอบรมเผยแพร่ความรู้ตามพ.ร.บ.ป้องกันและและปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อให้ข้าราชการตำรวจในสังกัดมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายการค้ามนุษย์ และเพื่อเป็นการขับเคลื่อนการป้องกันและการปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับการค้ามนุษย์และการรณรงค์พร้อมแจกสติกเกอร์ประชาสัมพันธ์ให้แก่ผู้ประกอบการและแรงงานในจังหวัดสมุทรสาครอีกด้ว
 
 
คกก. ค่าจ้าง เห็นชอบอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 5 กลุ่มอุตสาหกรรม 20 สาขา เตรียมนำเข้า ครม. ในเดือนนี้ 
 
มล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ครั้งที่ 2/2559 มีมติเห็นชอบกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 5 กลุ่มอุตสาหกรรม รวม 20 สาขาอาชีพ จำนวน 2 ระดับ คือ 1.กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 4 สาขา ประกอบด้วย พนักงานประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้าและแสงสว่าง ระดับ 1 ค่าจ้าง 360 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 430 บาท /พนักงานประกอบมอเตอร์สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า ระดับ 1 ค่าจ้าง 370 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 445 บาท /ช่างเทคนิคบำรุงรักษาเครื่องจักรกล ระดับ 1 ค่าจ้าง 410 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 490 บาท /ช่างเทคนิคระบบรักษาความปลอดภัย ระดับ 1 ค่าจ้าง 400 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 480 บาท 2.กลุ่มชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ จำนวน 4 สาขา อัตราค่าจ้างเท่ากันทั้ง 4 สาขา ระดับ 1 ค่าจ้าง 400 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 480 บาท ประกอบด้วย สาขาช่างกลึง /ช่างเชื่อมมิก-แม็ก /ช่างเทคนิคบำรุงรักษาเครื่องจักรกล /ช่างเทคนิคเครื่องกลึงอัตโนมัติ 3.ยานยนต์ จำนวน 4 สาขา อัตราค่าจ้างเท่ากันทั้ง 4 สาขา ระดับ 1 ค่าจ้าง 400 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 480 บาท ประกอบด้วย ช่างเทคนิคพ้นสีตัวถัง /ช่างเทคนิคพ้นซีลเลอร์ตัวถัง /พนักงานประกันคุณภาพผลิตภัณฑ์ยานยนต์ (ขั้นสุดท้าย) /ช่างเทคนิคเชื่อมสปอตตัวถัง 4.อัญมณี จำนวน 4 สาขา อัตราค่าจ้างเท่ากันทั้ง 4 สาขา ระดับ 1 ค่าจ้าง 420 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 550 บาท ประกอบด้วย ช่างเจียระไนพลอย/ ช่างหล่อเครื่องประดับ /ช่างตกแต่งเครื่องประดับ /ช่างอัญมณีบนเครื่องประดับ 5.โลจิตติกส์ จำนวน 4 สาขา ประกอบด้วย นักบริหารการขนส่งสินค้า ระดับ 1 ค่าจ้าง 415 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 500 บาท /ผู้ควบคุมรถยกสินค้าขนาดไม่เกิน 10 ตัน ระดับ 1 ค่าจ้าง 360 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 430 บาท /ผู้ควบคุมสินค้าคงคลัง ระดับ 1 ค่าจ้าง 350 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 420 บาท /ผู้ปฏิบัติการคลังสินค่า ระดับ 1 ค่าจ้าง 340 บาท ระดับ 2 ค่าจ้าง 410 บาท
 
 
เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น! ป.ตรีจบใหม่ส่อเตะฝุ่น เผยเอกชนลดจ้างงาน
 
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) กล่าวว่าขณะนี้การขยายการลงทุนภายในประเทศของภาคธุรกิจยังคงมีอัตราต่ำ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวกระทบต่อการส่งออกที่ยังคงติดลบ ทำให้อัตรากำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 60-63% ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานใหม่ในระบบยังคงมีทิศทางชะลอตัวลง
 
"แนวโน้มอัตราการว่างงานของคนไทยที่ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 0.92-1% จะมีอัตราเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้เป็น 1.1-1.2% ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากเด็กจบการศึกษาใหม่ที่จะเข้ามาในระบบช่วง มี.ค.-เม.ย.2559 โดยเฉพาะระดับปริญญาตรีสายสังคมที่ตลาดแรงงานต้องการต่ำ"
 
สำหรับแรงงานไทยจะเพิ่มเข้ามาในระบบเฉลี่ยปีละ 5.8 แสนคน ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่จบการศึกษาระดับปริญญาปีละประมาณ 3 แสนคน ซึ่งหากเป็นสาขาสายสังคมอัตราการว่างงานจะสูงเนื่องจากสำนักงานออฟฟิศต่าง ๆ ขณะนี้จ้างงานใหม่น้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นการจ้างทดแทนแรงงานเดิม และบางครั้งกลับจ้างใหม่ในจำนวนที่ลดลงกว่าเดิมจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่เอื้ออำนวยนัก ทางสถาบันการศึกษาและรัฐจะต้องเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง
 
ส่วนเด็กสายอาชีวะพบว่า ระดับ ปวช.และ ปวส.ประมาณ 1.2 แสนคน เมื่อแยกเป็น ปวส.แรงงานส่วนนี้ส่วนใหญ่จะเข้าสู่ระบบการทำงาน แต่อัตราการจบมาเมื่อเทียบกับตลาดแรงงานยังไม่เพียงพอ ขณะที่สาย ปวช.ตลาดมีความต้องการอย่างมาก แต่เข้ามาในระบบงานจริงเพียง 20% เนื่องจากส่วนใหญ่เรียนต่อ ส่วนที่เหลือเป็นแรงงานระดับล่าง และจบการศึกษาไม่เกินมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งภาพรวมพบว่าตลาดแรงงานไทยมีทั้งขาด และเกินความต้องการ
 
"เราจะพบว่าตลาดแรงงานของไทยในระดับล่างได้หันไปใช้แรงงานต่างด้าวกว่า 3 ล้านคน เวลาที่นายจ้างจะลดคนงานจึงลดแรงงานต่างด้าวแทน จึงจะเห็นว่าระยะหลังไม่มีการประท้วง และตลาดนี้คนไทยเองก็ไม่ยอมทำงาน แต่ช่วงนี้ตลาดนี้ก็ทรงตัวเช่นกันจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่วนเด็กจบใหม่ก็คงจะเหนื่อยหน่อย โดยเฉพาะปริญญาสายสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ และอื่น ๆ ที่ตลาดต้องการต่ำ แต่กลับผลิตออกมาเฉลี่ยปีละ 2 แสนคน"
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net