เวียดนามร่วมแล้ว TPP ตื่นตัวทั่วภูมิภาค

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เศรษฐกิจไทย ซึมหนัก เสียเปรียบการค้านอกภูมิภาค ด้าน เวียดนาม ร่วมแล้ว TPP คาดหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางใน 20 ปี

สร้างความตื่นตัวเป็นวงกว้างหลังจากที่ เวียดนามอีโคโนมิก  ไทมส์ รายงาน การบรรลุความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans – Pacific Strategic Economic Partnership Agreement: TPP) เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 ที่เมืองโอ๊คแลนด์  ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2561 และส่งผลให้เวียดนามกลายเป็นประเทศที่มีความสามารถด้านการผลิต และส่งผลให้จีดีพีของประเทศขยับตัวขึ้นมามากกว่า 10% โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่จะเด่นชัดมากที่สุด สำหรับ TPP นั้นถือว่าเป็นข้อตกลงทางการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบด้วย 12 ประเทศได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น แคนาดา ชิลี เปรู เม็กซิโก ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม

ด้านสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(สคร.) ณ กรุงฮานอย เปิดเผยว่า การคาดการณ์ของสถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศปีเตอร์สัน(PIIE) ระบุว่า หลังจากที่เวียดนามลงนามใน TPP แล้วจะกลายเป็นประเทศที่มีรายได้โตขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 13.6 และภาคการส่งออกขยายตัวที่ร้อยละ 13.7 จากบรรดา 12 ประเทศทั้งหมดใน TPP และจะกลายเป็นสร้างความน่ากังวลต่อประเทศที่ไม่เข้าร่วม TPP จากการเปลี่ยนทิศทางการค้า โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจอย่างจีนจากสถานการณ์ความตึงเครียดแนวชายแดนระหว่างจีนและเวียดนามในปีที่ผ่านมา ทำให้สินค้าจีนในเวียดนามถูกปฏิเสธอีกทั้งจากนโยบายเน้นบริโภคภายในตนเองของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ที่ทำให้ภาคการส่งออกจีนลดลงถึงร้อยละ 1.2 เช่นเดียวกับสภาวะทางเศรษฐกิจไทยที่ยังซึมอยู่

นอกจากนี้จากการร่วมลงนามความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจระหว่างอียูและเวียดนาม ตามข้อตกลงการค้าเสรีระหว่าง EU (EVFTA) เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ที่ผ่านมาโดยเว็บไซต์  VIETNAMNET Bridge ได้เปิดเผยว่า หากสัมฤทธิ์ผลจะช่วยผลักดันจีดีพีประเทศเวียดนามให้พุ่งขึ้นสูงถึง 15% ของฐานจีดีพีเดิม ซึ่งข้อตกลงการค้าเสรีหรือ FTA จากสหภาพยุโรปจะทำให้เวียดนามมีความแข่งแกร่งทางด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อม การอำนวยความสะดวกทางการค้า และส่งเสริมรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จนทำให้เวียดนามกลายเป็นประเทศที่หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางอีกด้วย

ซึ่งประชากรที่มีรายได้ปานกลางในเวียดนามนั้นจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 20 – 30 ล้านคน ในปี 2020 จากปัจจุบันที่มีเพียง 7 – 8 ล้านคน และมากกว่า 60% ของประชากรมีอายุน้อยกว่า 30 ปี ทำให้การเติบโตด้านการบริโภคในปี 2016 จีดีพีจะโตเกิน 6.5%  ขณะที่ประเทศในอาเซียนอย่าง สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน ก็ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(TPP) ก่อนหน้าเวียดนามที่มีประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นแกนสำคัญ จะสามารถสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเวียดนามที่ตั้งเป้าจะพ้นจากประเทศกำลังพัฒนาใน 20 ปี

สวนทางกับสถานการณ์ประเทศไทยที่ภาคการส่งออกหดตัวเกือบทุกหมวดจากภาวะตลาดโลกที่ชะลอตัว ทั้งปิโตรเลียม ยางพารา และเคมีภัณฑ์ อีกทั้งสินค้าประมงไทยก็ได้รับผลกะทบจากการถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป(GSP) ของสหภาพยุโรป (EU) อีกทั้งยังไม่มีความกระตือรือร้นจากทางภาครัฐในการเร่งพิจารณาเข้าร่วม TPP รวมถึง ข้อตกลงการค้าเสรีหรือ FTA ระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศไทยยังคงไม่มีความคืบหน้าและไร้วี่แววที่จะบรรลุผลในเร็ววัน ด้วยสถานการณ์การเมืองในประเทศที่ไม่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ทำให้การเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างไทยและสหภาพยุโรปอยู่ในภาวะติดขัด ซึ่งจากการประเมินของสมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์ (EABC) ระบุว่า การขาดแคลนนวัตกรรม และตลาดที่แข่งขันอย่างเสรี รวมถึงการถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) อาจทำให้ประเทศไทยสูญเสียรายได้จากการส่งออกกว่า 5,500 ล้านบาท จุดยิ่งทำให้ไทยเป็นประเทศที่ยังติดกับดักรายได้ปานกลาง อาจส่งผลให้ประเทศไทยมีสิทธิ์เสียเปรียบเพื่อนบ้านอย่างมหาศาล โดยเฉพาะเวียดนามที่ได้สิทธิพิเศษทางการค้านอกภูมิภาคอาเซียน

แม้ว่าก่อนหน้านี้ภาครัฐจะพยายามแสดงศักยภาพในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พร้อมให้สิทธินักลงทุน แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงอยู่ในความน่าสนใจระดับปานกลาง เนื่องจากการให้สิทธิกับนักลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของไทยนั้นยังอ่อนกว่าประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่น สปป.ลาว ที่นักลงทุนนั้นสามารถถือครองที่ดินได้นานถึง 99 ปี ส่วนเวียดนามได้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 15 ปี จากปัจจัยทั้งหมดทั้งมวลนั้นรัฐบาลอาจต้องทบทวนอย่างหนัก เพื่อทำให้ความตกลงทางการค้านอกภูมิภาคบรรลุผลสัมฤทธิ์ เป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยที่ยังคงซึมและจากสถานการณ์เสียเปรียบทางเศรษฐกิจนอกภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท