Skip to main content
sharethis

11 มี.ค.2559  ที่ โรงแรมสุโกศล คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ICJ)  ฮิวแมนไรท์วอทช์ (HRW) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย ร่วมกับ มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพจัดเวทีอภิปรายในหัวข้อ “การบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทยโดยเน้นประเด็นคำพิพากษาศาลฎีกาคดีทนายสมชาย นีละไพจิตร และ ร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย" เนื่องในวาระครบ 12 ปี การบังคับบุคคลให้สูญหายกรณีทนายสมชาย 

โดย ICJ แถลงเนื่องในวาระนี้ โดยระบุว่าการยกจำเลยทั้ง 5 คนในคดีทนายสมชายเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2558 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยจำเป็นต้องให้สัตยาบันต่อ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) เป็นการด่วน
 
ทั้งนี้ ICJ ยืนยันว่าแม้คดีความของครอบครัวนีละไพจิตรและจบลง แต่รัฐบาลไทยยังคงต้องสืบหาความจริงต่อไป
 
“คําพิพากษาฎีกาดังกล่าวไม่ได้ทําให้คดีทนายสมชายยุติลง รัฐบาลไทยยังมีพันธกรณีที่ต้องสืบหาและสอบสวนข้อเท็จจริงรวมถึงนําความยุติธรรมมาสู่ทนายสมชายและครอบครัว” นายแซม ซาริฟี่ ผู้อํานวยการ ICJ สํานักงานเอเชีย กล่าว
 
ICJ  ระบุด้วยว่า เพื่อเป็นแนวทางร่างผ่านกฎหมายให้ผู้เสียหายมีสิทธิเต็มที่ในการสู้คดี การชดเชยแก่ผู้เสียหายไม่ใช่แค่ชดเชยด้วยเงินเท่านั้น แต่ต้องประกาศให้เป็นที่ทราบว่าเขาถูกละเมิดสิทธิ ให้ DSI ทบทวนสำนวนคดีหลักฐานทั้งหมด โดยหน่วยงานที่เป็นอิสระและมีอำนาจในการสอบสวน และให้นำข้อมูลแสดงต่อสาธารณะ
 
นอกจากนี้ ICJ ยังย้ำเตือนด้วยว่าเมื่อเดือน พ.ค. 2551 รัฐบาลไทยได้ให้คํามันสัญญาต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ไว้ว่า “จะดําเนินการอย่างสุดความสามารถและละเอียดถี่ถ้วนในการนําความยุติธรรมมาสู่คดีทนายสมชาย” โดยขณะนี้ ICJ รับทราบแล้วว่ากระทรวงยุติธรรมของไทยกำลังอยู่ในระหว่างยกร่าง พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคลให้สูญหาย ซึ่งนิยามและกำหนดให้การบังคับให้สูญหายและทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นความผิดทางอาญา
 

ขณะที่ Laurent Mellan รักษาการผู้แทนระดับภูมิภาค สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า คดีสมชาย  มีความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์ สะท้อนความท้าทายต่อกรมตำรวจ และตุลาการที่จะสื่อหาความจริงให้ได้  ในปีนี้รัฐบาลจะถูกตั้งคำถามต่อสหประชาชาติและประชาคมโลกในการประชุม UPR เดือน พ.ค. 59 ในวาระครบรอบ 12 ปี คดีของทนายสมชาย เราต้องเตือนความจำให้รัฐบาลไทยว่าไม่ว่ากรณีทนายสมชาย กรณีบิลลี่(นายพอละจี รักจงเจริญ) หรือคนอื่นๆ ที่ถูกทำให้สูญหาย ไม่มีใครถูกลืมเลือนไปไม่ว่าจะอยู่ในช่วงรัฐบาลพลเรือน หรือรัฐบาลทหาร เราก็จะยังต่อสู้ในประเด็นนี้จนกว่าจะให้คำชี้แจงที่น่าพอใจให้ได้

นายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษา HRW ประจำประเทศไทย กล่าวว่า คดีของทนายสมชาย เป็นกระจกสะท้อนของความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมและระบบกฎหมายไทย โดยเตือนว่าประเทศไทยขณะนี้อยู่ในบริบทที่เอื้อต่อการบังคับสูญหาย เมื่อเกิดการสูญหายไม่สามารถเอาผิดกับบุคคลใดได้ มาตรา 44 รัฐธรรมนูญชั่วคราว คำสั่ง คสช.ที่ 3 ที่มารองรับ คำสั่งนี้โดยสาระหลักก็คือการ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการควบคุมตัวบุคคลในที่ปิดลับได้ ไม่มีกลไกตรวจสอบไม่ให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบใดๆก็ตาม และยังมีมาตราอื่นของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่สอดรับกับ ม. 44 ว่า เมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือการทำผิดใดที่สืบเนื่องจากการใช้อำนาจตามคำสั่งม. 44 ไม่สามารถเอาผิดในทางแพ่ง อาญา วินัย และปกครอง ตรวจสอบไม่ได้ยิ่งตอกย้ำให้สถานการณ์เลวร้ายหนักขึ้นไปอีก

“คําพิพากษาของศาลฎีกาที่ตัดสินว่าจําเลยทั้งห้าไม่มีความผิด และปฏิเสธสิทธิของดิฉันและลูกๆ ที่จะมีสิทธิเข้าร่วมในกระบวนพิจารณาคดีนั้น แสดงให้เห็นว่าเหยื่อของการบังคับให้สูญหายไม่มีที่พึ่งที่จะเรียกร้องความยุติธรรมในประเทศไทย และก็เป็นที่ชัดเจนว่าจะไม่มีสิ่งใดที่จะเปลี่ยนแปลงได้ จนกว่าประเทศไทยจะให้สัตยาบันอนุสัญญาต่อต้านการบังคับให้บุคคลสูญหายโดยด่วน รวมทั้งแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อประกันสิทธิของเหยื่อ” นางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาทนายสมชาย กล่าว

ฮิวแมนไรท์วอทช์ ร้องรัฐบาลเปิดการสอบสวนกรณีทนายสมชาย

ฮิวแมนไรท์วอทช์ (HRW) ได้แถลงในโอกาสครบ 12 ปีการหายตัวไปของทนายสมชาย โดยเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเปิดการสอบสวนกรณีทนายสมชาย ซึ่งเป็นทนายความมุสลิมคนสำคัญของประเทศ ใหม่อีกครั้ง หลังศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยในคดีทั้ง 5 คนไปเมื่อปลายปี 2558 ที่ผ่านมา

โดย นายแบรด แอดัมส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียของ HRW กล่าวด้วยว่า “ความล้มเหลวของรัฐในการตอบสนองต่อการหายตัวไปของทนายสมชาย ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าเป็นการลักพาตัวและฆาตกรรม ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทย และการที่กฎหมายไทยไม่ได้ระบุให้การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นอาชญากรรมก็ได้เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐหลีกเลี่ยงการสืบหาตัวบุคคลที่สั่งลักพาตัวทนายสมชาย” 

HRW ระบุว่าเมื่อปี 2549 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้น เปิดเผยว่ามีหลักฐานที่ระบุว่าทนายสมชายเสียชีวิตแล้ว และมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องอย่างน้อย 4 คน อย่างไรก็ตาม ในคำตัดสินของศาลฎีกาเมื่อปลายปี 2558 ไม่มีจำเลยคนใดในคดีถูกลงโทษฐานฆาตกรรม โดยศาลระบุว่าไม่มีหลักฐานการเสียชีวิตของทนายสมชาย ขณะที่ครอบครัวนีละไพจิตรไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นโจทก์ร่วมด้วยเหตุผลเดียวกัน

HRW ได้เรียกร้องความยุติธรรมต่อรัฐบาลปัจจุบันของไทยมาอย่างต่อเนื่อง ครั้งล่าสุดคือเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2559 โดยเป็นการเรียกร้องให้รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัตยาบันต่อ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ซึ่งไทยลงนามไว้ตั้งแต่ปี 2555 ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายในประเทศให้สอดคล้องกับข้อบทของอนุสัญญาดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการทำให้การบังคับสูญหายมีความผิดทางอาญาด้วย

แอมเนสตี้ร้องรบ.สอบการหายตัว ผ่านกม.ป้อง-ปราบการทรมาน-บังคับบุคลให้สูญหาย ให้สัตยาบันอนุสัญญาคุ้มครองบุคคลถูกบังคับสูญหาย

ด้านแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความจำเป็นที่จะต้องทำให้เกิดความจริงและความยุติธรรมต่อผู้ตกเป็นเหยื่อของการบังคับบุคคลให้สูญหาย รวมทั้งครอบครัวของคนเหล่านั้นที่ได้รับผลกระทบ และดำเนินการให้เกิดบรรยากาศที่เป็นมิตรต่อการเข้าแจ้งความเพื่อการดำเนินคดีต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนและหาทางเยียวยาโดยไม่ต้องหวาดกลัวต่อการตอบโต้เพื่อเอาคืน   โดยเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้

·       สอบสวนการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร และผู้ที่คาดว่าถูกบังคับให้สูญหายทุกคนในประเทศไทย อย่างเป็นอิสระ โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสั่งพักงานเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นไปได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการอุ้มหายในกรณีต่างๆ

·       ผ่าน พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคลให้สูญหาย พ.ศ. .... โดยที่เนื้อหาต้องสอดคล้องกับ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ซึ่งรวมถึงการกำหนดให้การทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดทางอาญาอย่างชัดเจนตามนิยามในอนุสัญญาฉบับดังกล่าวด้วย

·       ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ และบังคับใช้กฎหมายในประเทศให้สอดคล้องกับอนุสัญญาดังกล่าว

·       ระบุที่อยู่และชะตากรรมของผู้ที่คาดว่าถูกบังคับให้สูญหายและรับประกันว่าจะนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

·       รับประกันว่าผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนและครอบครัวจะได้รับการเยียวยาอย่างเต็มที่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net