Skip to main content
sharethis

องค์การแรงงานระหว่างประเทศเผยในช่วง 20 ปีระหว่างปี 2538-2558 มีการลดช่องว่าเรื่องการจ้างงานระหว่างเพศเพียงร้อยละ 0.6 เท่านั้น ด้านรายได้ผู้หญิงยังได้น้อยกว่าผู้ชายร้อยละ 23 นักวิจัยชี้อาจต้องใช้เวลาถึง 70 ปีในการลดช่องว่างรายได้ชาย-หญิงนี้ได้

สัดส่วนอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานชาย-หญิง เปรียบเทียบปี 2538 กับปี 2558 (ที่มาภาพ: ILO)

สัดส่วนการจ้างงานชาย-หญิง เปรียบเทียบปี 2538 กับปี 2558 (ที่มาภาพ: ILO)

จากรายงาน Women at Work: Trends 2016 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่เก็บรวมรวมข้อมูลการจ้างงาน 178 ประเทศ พบว่าผู้หญิงมีอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานต่ำกว่าอัตราส่วนของผู้ชายในปี 2558 ที่ระดับเกือบร้อยละ 26 โดยในปี 2558 ที่ผ่านมาอัตราจ้างงานผู้หญิงต่อจำนวนประชากรทั้งหมดอยู่ที่ร้อยละ 46 และส่วนผู้ชายนั้นมีสูงถึงเกือบร้อยละ 72  ซึ่งช่องว่างการจ้างงานระหว่างชายหญิงนี้ขยับลดลงมาเล็กน้อยเพียงร้อยละ 0.6 ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา

นอกจากนี้ผู้หญิงยังมีอัตราว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 6.2 ซึ่งสูงกว่าผู้ชายที่มีอัตราการว่างงานร้อยละ 5.5 และมีผู้หญิงร้อยละ 52.1 และผู้ชายร้อยละ 51.2 อยู่ในตลาดแรงงาน ในภาคที่ได้ค่าตอบแทน ตัวเลขในระดับโลกมีผู้หญิงถึงร้อยละ 38 ที่ถึงแม้จะมีเงินเดือนแต่ก็ไม่มีสวัสดิการทางสังคมที่จำเป็นต่าง ๆ ที่ควรจะได้รับ (ส่วนผู้ชายมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 36) ซึ่งในภูมิภาคที่ผู้หญิงไม่มีสวัสดิการทางสังคมที่มีสัดส่วนสูง ได้แก่ ภูมิภาคได้แก่ภูมิภาคซับ-ซาฮาราน ร้อยละ 63.2 และภูมิภาคเอเชียใต้ที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 74.2

ในด้านชั่วโมงการทำงานพบว่าผู้หญิงมีชั่วโมงการทำงานที่สูงกว่าผู้ชาย โดยจากรายงานระบุว่าผู้หญิงทำงานเป็นเวลายาวนานมากกว่าผู้ชาย ทั้งงานที่ได้รับค่าตอบแทนและงานที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ผู้หญิงในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วทำงาน โดยเฉลี่ย 8 ชั่วโมง 9 นาที ต่อวัน  ส่วนผู้ชายทำงานเฉลี่ยเพียงวันละ 7 ชั่วโมง 36 นาที ส่วนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนานั้น ผู้หญิงต้องใช้เวลาทำงานเฉลี่ยถึงวันละ 9 ชั่วโมง 20 นาที ส่วนผู้ชายใช้เวลาทำงานเฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมง 7 นาที

ทั้งนี้สำหรับงานที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น การดูแลครอบครัวและงานบ้านนั้นส่วนใหญ่แล้วผู้หญิงยังคงแบกภาระนี้ทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาแม้ความเหลื่อมล้ำจะลดลงบ้างก็ตาม โดยในประเทศพัฒนาแล้วผู้หญิงใช้เวลาในการทำงานที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ประมาณวันละ 4 ชั่วโมง 20 นาที เมื่อเทียบกับผู้ชายที่ใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง 16 นาที ส่วนในประเทศกำลังพัฒนาผู้หญิงใช้เวลาในการทำงานที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 4 ชั่วโมง 30 นาที ส่วนผู้ชายใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง 20 นาที

และมีผู้หญิงวัยเกษียณ (อายุมากกว่า 60-65 หรือตามกฎหมายของแต่ละประเทศ) กว่าร้อยละ 65 หรือประมาณ 200 ล้านคนไม่มีเงินบำนาญใด ๆ ส่วนผู้ชายวัยเกษียณที่ไม่มีเงินบำนาญนั้นมีอยู่ประมาณ 115 ล้านคน

ลอว์เรนซ์ จอห์นสัน (Lawrence Johnson) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ ILO ระบุกับ VOA ว่าเมื่อพิจารณาถึงรายได้จากการทำงาน พบว่าผู้หญิงได้เงินเดือนเฉลี่ยน้อยกว่าผู้ชายประมาณร้อยละ 23 และอาจต้องใช้เวลาถึง 70 ปีเพื่อที่จะลดช่องว่างความไม่เท่าเทียมนี้ได้.

 

ที่มาเรียบเรียงจาก:

http://www.voanews.com/content/ilo-labor-and-wage-gender-gap-remains-wide/3223404.html

http://www.ilo.org/global/about-the-ilo/newsroom/news/WCMS_457267/lang--en/index.htm

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net