Skip to main content
sharethis
นักวิจัยประจำโครงการติดตามนโยบายสื่อ NBTC Policy Watch ชี้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยและร่าง พ.ร.บ. กสทช. ปูทางให้รัฐกลับมาครอบงำกิจการสื่อสาร
 
เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2559 ที่ผ่านมานายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักวิจัยประจำโครงการติดตามนโยบายสื่อ (NBTC Policy Watch) ได้กล่าวในงาน NBTC Public Forum ในหัวข้อ “อนาคตการสื่อสารไทย โฉมหน้าใหม่ กสทช. ในร่างรัฐธรรมนูญ” ว่า รัฐธรรมนูญฉบับมีชัยและร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ... (ร่าง พ.ร.บ. กสทช.) เป็นกฎหมายที่เพิ่มบทบาทหน้าที่ของ “รัฐบาล” ในการจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลกิจการสื่อสาร ลดบทบาทขององค์กรอิสระอย่าง กสทช. รวมถึงลดความสำคัญของการแข่งขันเสรี ขณะที่เพิ่มบทบาทหน้าที่ของรัฐในการทำ “เพื่อประโยชน์สาธารณะ” ซึ่งเป็นการปูทางให้รัฐกลับมาครอบงำกิจการสื่อสารอีกครั้ง
 
นายวรพจน์ชี้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับมีชัยเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 แล้ว มีข้อแตกต่างหลักๆ คือ 1) ปรับเรื่อง กสทช. และการจัดสรรคลื่นความถี่ จากหมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย เป็นหมวดหน้าที่ของรัฐ 2) ปรับนิยามคลื่นความถี่จาก “ทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ” เป็น “สมบัติของชาติ” 3) ลดบทบาทของ กสทช. จากองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่เป็น “องค์กรที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อรับผิดชอบและกำกับการดำเนินการเกี่ยวกับคลื่นความถี่” 4) ปรับเป้าหมายการจัดสรรคลื่นความถี่ โดยตัด “การแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม” ขณะที่เพิ่ม “กำหนดสัดส่วนขั้นต่ำที่ผู้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่จะต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ” 5) ลดความสำคัญของการจัดสรรคลื่นความถี่ให้ภาคประชาชน จากเดิมกำหนดให้ “ต้องจัดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะ” เป็น “การให้ประชาชมีส่วนได้ใช้ประโยชน์ด้วย” และ 6) เพิ่มเติมเรื่องสิทธิในการใช้วงโคจรของดาวเทียมให้เป็นอำนาจของหน่วยงานรัฐ
 
นายวรพจน์กล่าวต่อว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์ในการดึงอำนาจในการบริหารและจัดสรรคลื่นความถี่กลับไปอยู่ในมือของภาครัฐมากขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มบทบาทของภาครัฐในการทำเพื่อ “ประโยชน์สาธารณะ” ขณะที่ลดความสำคัญของการกำกับดูแลโดยตลาด ซึ่งเจตนารมณ์ดังกล่าวสะท้อนอยู่ในร่าง พ.ร.บ. กสทช. เช่นกัน โดยนักวิจัยแบ่งการวิเคราะห์เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวออกเป็น 4 ส่วน คือ 1) คุณสมบัติและการคัดเลือก กสทช. 2) การปรับเปลี่ยนอำนาจ กสทช. ตามคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (คณะกรรมการดิจิทัลฯ) 3) กองทุนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดิจิทัลฯ) และ 4) อำนาจในการบริหารและจัดสรรคลื่นความถี่
 
ในส่วนแรก นักวิจัยชี้ว่า ร่าง พ.ร.บ. กสทช. กำหนดประสบการณ์ของผู้ที่จะเข้ารับการสรรหาโดยไม่ได้สะท้อนถึงความเชี่ยวชาญในการกำกับดูแล อีกทั้งยังเอื้อให้คนจากภาครัฐเข้าสู่ตำแหน่งได้มากขึ้น เช่น กำหนดว่าต้องเคยเป็นนายทหารหรือนายตำรวจที่มียศตั้งแต่พลโท พลอากาศโท พลเรือโท หรือพลตำรวจโทขึ้น ฯลฯ ทั้งที่ประสบการณ์ดังกล่าวไม่ได้สะท้อนถึงเชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร นอกจากนั้น คณะกรรมการสรรหายังไม่มีตัวแทนจากภาควิชาชีพซึ่งมีความเชี่ยวชาญในกิจการสื่อสาร จึงทำให้สุ่มเสี่ยงว่าอาจได้ตัวแทนจากหน่วยงานรัฐเป็นส่วนมากมาเป็น กสทช.
 
ในประเด็นเกี่ยวกับการปรับอำนาจ กสทช. ตามคณะกรรมการดิจิทัลฯ กฎหมายกำหนดให้การจัดทำแผนแม่บทต่างๆ ของ กสทช. ต้องสอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงให้อำนาจคณะกรรมการดิจิทัลฯ วินิจฉัยชี้ขาดในกรณีที่มีปัญหาว่าการดำเนินการของ กสทช. สอดคล้องกับนโยบายและแผนดังกล่าวหรือไม่ นักวิจัยชี้ว่า บทบัญญัติดังกล่าวนอกจากจะไม่มีความจำเป็น เนื่องจาก พ.ร.บ. กสทช. ปี 2553 ระบุไว้อยู่แล้วว่า กสทช. ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายที่คณะรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภา ยังเปิดโอกาสให้ภาคการเมือง (คณะกรรมกรรมการดิจิทัลฯ) เข้าแทรกแซงการทำงานอันเป็นอิสระขององค์กรกำกับดูแลอย่าง กสทช. ได้ เพราะต่อให้ กสทช. ต้องดำเนินตามนโยบายรัฐ แต่องค์กรกำกับดูแลจำเป็นต้องมีความเป็นอิสระในการเลือกเครื่องมือและวิธีในการบรรลุเป้าหมายนั้นเอง
 
ในส่วนของกองทุนดิจิทัลฯ กฎหมายบัญญัติให้มีการจัดสรรเงินที่ได้จากการอนุญาตให้ใช้คลื่นถี่ (ร้อยละ 25) จากรายได้สำนักงาน กสทช. (ร้อยละ 25) และเงินสำหรับจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง (ทั้งหมดหรือบางส่วน) เข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ ซึ่งมีปัญหาเนื่องจาก 1) ถือเป็นการนำเงินที่เก็บจากกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ไปใช้เพื่อพัฒนากิจการอื่น และ 2) กองทุนดิจิทัลฯ อยู่ภายใต้หน่วยงานราชการ ไม่ใช่องค์กรอิสระแบบ กสทช. การจัดสรรเงินทุนจึงควรทำผ่านวิธีการงบประมาณของรัฐ นอกจากนั้น นักวิจัยยังมองว่า การดึงงบประมาณที่ควรดูแลและบริหารโดยองค์กรอิสระอย่าง กสทช. ไปให้กับกองทุนดิจิทัลฯ สะท้อนถึงการดึงอำนาจในการกำกับกิจการด้านการสื่อสารไปยังหน่วยงานรัฐด้วย
 
ในประเด็นสุดท้าย คืออำนาจในการบริหารและจัดสรรคลื่นความถี่ มี 4 ประเด็นในร่าง พ.ร.บ. กสทช. ฉบับแก้ไข คือ 1) มีการเพิ่มเติมการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ประเภทธุรกิจด้วยวิธีการประมูล ทว่า “ต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ” ด้วย (สุ่มเสี่ยงต่อการทำลายหลักการเรื่องความโปร่งใสและการใช้กลไกราคาในการคัดเลือกผู้ที่สามารถใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ได้มีประสิทธิภาพสูงสุด) 2) ให้อำนาจ กสทช. เรียกคืนคลื่นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์โดย “ต้องมีการชดเชย” (ไม่มีความจำเป็นต้องชดเชยให้หน่วยงานรัฐที่ต้องคืนคลื่นตามกฎหมายอยู่แล้ว) 3) เพิ่มเติมให้ กสทช. จัดสรรรคลื่นโดยให้ความสำคัญกับ “กิจการบริการสาธารณะแก่ประชาชน” (น่ากังวลว่าจะถูกใช้เพื่อเป็นข้ออ้างในการจัดสรรคลื่นให้หน่วยงานรัฐเข้ามาประกอบกิจการสื่อสารโดยไม่จำเป็น) และ 4) กำหนดให้ส่วนราชการเป็นผู้ประสานงานเกี่ยวกับกิจการดาวเทียมในส่วนนโยบายและการเจรจาเพื่อให้มีดาวเทียม (กำหนดให้หน้าที่ดังกล่าวเป็นของกระทรวงไอซีที ไม่ใช่ กสทช. ทั้งที่ กสทช. เหมาะสมกว่าที่จะเป็นหน่วยงานอำนวยการเมื่อพิจารณาจากความเชี่ยวชาญและกฎหมายสากล นอกจากนั้น การตีความว่าการยื่นวงโคจรดาวเทียมเป็นหน้าที่ของกระทรวงไอซีที ส่งผลให้ กสทช. ไม่สามารถนำทรัพยากรดังกล่าวมาประมูลเพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในกิจการดาวเทียม) 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net