Skip to main content
sharethis

พล.อ.ซอ ละพเว หรือชื่อในภาษาพม่าคือ "นะคะมวย" หรือ "หนวด" ผู้นำกองกำลังกะเหรี่ยง DKBA/KKO เสียชีวิตในวัย 54 ปี หลังรักษามะเร็งที่ รพ.ในพม่าและสิงคโปร์มาหลายปี ปิดตำนานขุนศึกนำทหารกะเหรี่ยง DKBA ตีเมียวดี-ด่านเจดีย์สามองค์เมื่อพฤศจิกายน 2553 ก่อนหยุดยิงกับรัฐบาลพม่า และเคยตั้งโต๊ะแถลงโต้หลัง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง หาว่าค้ายา

(ภาพซ้าย) พล.อ.ซอ ละพเว หรือที่รู้กันในนาม "นะคะมวย" ในภาษาพม่าหรือ "หนวด" ในภาษาไทย ลงนามหยุดยิงทั่วประเทศกับรัฐบาลพม่าเมื่อ 15 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา พร้อมถ่ายรูปร่วมกับตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ 15 กลุ่ม และฝ่ายรัฐบาลพม่านำโดยประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ในเวลานั้น (ขวา) ล่าสุดมีข่าวว่า พล.อ.ซอ ละพเว เสียชีวิตแล้วที่โรงพยาบาลเมืองพะโค ประเทศพม่า ด้วยวัย 55 ปี (ที่มาของภาพ: New Light of Myanmar, 16 October 2015)

13 มี.ค. 2559 พล.อ.ซอ ละพเว หรือที่สื่อมวลชนไทยเรียกตามสื่อพม่าว่า พล.อ.นะคะมวย ผู้นำกองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตยผู้มีใจเมตตา หรือ DKBA/KKO เสียชีวิตแล้วเมื่อ 13 มี.ค. ที่ผ่านมา ด้วยวัย 55 ปี ที่โรงพยาบาลที่เมืองพะโค ประเทศพม่า หลังป่วยเป็นมะเร็งและต้องรักษาตัวระหว่างพม่าและสิงคโปร์มาตั้งแต่ปี 2556

ทั้งนี้ มติชนออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.ซอ ละพเว เพิ่งกลับมาจากการรักษาตัวที่สิงคโปร์ และกลับมาได้ 1 สัปดาห์ก็เสียชีวิต โดยทหารกะเหรี่ยง DKBA และกลุ่มอื่นๆ ที่ทราบข่าว ต่างเดินทางไปร่วมงานศพ

รายงานใน Karennews ระบุว่า มีการเคลื่อนย้ายศพของ พล.อ.ซอ ละพเว จากภาคพะโค ไปยังฐานที่มั่นของกองกำลัง DKBA/KKO ที่อำเภอกอกะเร็ก รัฐกะเหรี่ยง ใกล้ชายแดนไทย-พม่า

 

ขุนศึกกะเหรี่ยง DKBA ไม่ร่วม BFG เคยบุกตีเมียวดี-ด่านเจดีย์สามองค์ช่วงเลือกตั้งพม่า

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า ซอ ละพเว หรือที่มีผู้เรียกเขาในภาษาพม่าว่า "นะคะมวย" หรือ "หนวด" นั้น เขาเกิดในครอบครัวนักรบกะเหรี่ยง ในหมู่บ้านห่างไกลของเมืองผาอัน รัฐกะเหรี่ยง โดยสำนักข่าวอิระวดี ระบุว่า เขาเกิดเมื่อ 18 กรกฎาคม 2505 และได้เข้าร่วมกลุ่มนักรบกะเหรี่ยงตั้งแต่ปี 2519 ซึ่งตอนนั้นเขาอายุ 14 ปี

เมื่อปี 2537 หลังจากซอ ชิดตู่ แยกตัวออกจากสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen Nationl Union) หรือ KNU มาตั้งกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย (Democratic Karen Buddhist Army) หรือ DKBA ซอ ละพเวก็แยกมาร่วมกับ DKBA ด้วย

ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2553  ทหารกะเหรี่ยง DKBA กองพลน้อย 999 ของซอ ชิตตู่ ได้เปลี่ยนสถานะเป็นทหารสังกัดกองกำลังพิทักษ์ชายแดน หรือ BGF ภายใต้การบัญชาการของกองทัพพม่า ขณะที่ ซอ ละพเว นำทหารกะเหรี่ยงกองพลน้อยที่ 5 DKBA แยกตัวออกจากกลุ่มซอ ชิตตู่

ในช่วงจัดการเลือกตั้งทั่วไปของพม่าเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2553 ซอ ละพเว นำกำลังกะเหรี่ยง DKBA เข้าตีเมืองเมียวดี ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก และตีเมืองพญาตองซู หรือด่านเจดีย์สามองค์ ตรงข้าม อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี แต่ไม่สามารถยึดเมืองได้ โดยผลการสู้รบทำให้มีผู้อพยพหนีภัยสงครามเข้ามาในฝั่งไทยหลายพันครัวเรือน

 

ยอมหยุดยิงในปี 2554 เปลี่ยนชื่อเป็นกองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตยผู้มีใจเมตตา

โดยกลุ่มของ ซอ ละพเว สู้รบกับทหารพม่าประปรายจนกระทั่งเมื่อรัฐบาลทหารพม่าถ่ายโอนอำนาจมายัง รัฐบาลประธานาธิบดี เต็ง เส่ง มีการเจรจาหยุดยิง 2 ฝ่าย ในเดือนพฤศจิกายน 2554 โดยในปี 2555 กลุ่มของ ซอ ละพเว ได้ตั้งชื่อใหม่เป็นกองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตยผู้มีใจเมตตา (Democratic Karen Benevolent Army) โดยเลิกใช้คำว่า "Buddhist" และเปลี่ยนเป็น "Benevolent" แทน เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่ใช่กองกำลังที่เกี่ยวข้องกับศาสนา นอกจากนี้ได้เรียกชื่อกองกำลังว่า กองกำลังกะเหรี่ยงโกละทูบอ (Klo Htoo Baw Karen organization) หรือ KKO

 

ร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์ 15 กลุ่ม ลงนามหยุดยิงทั่วประเทศกับรัฐบาลพม่า

หลังจากนั้นกองกำลัง DKBA/KKO นำโดย ซอ ละพเว ลงนามหยุดยิงทั่วประเทศอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2558 โดยเป็นการลงนามระหว่างกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ 15 กลุ่ม กับรัฐบาลประธานาธิบดีเต็ง เส่ง

อนึ่ง ในช่วงปี 2558 มีนายทหารของ DKBA/KKO ได้แก่ พ.อ.ซอ ซานอ่อง และ ซอ จ่อเต็ด ได้แยกตัวออกจากกลุ่ม DKBA/KKO ออกไปตั้งกลุ่มใหม่ โดยใช้ชื่อเดิมว่ากองกำลังกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย หรือ DKBA และพยายามตั้งด่านเก็บเงินค่าผ่านทางถนนเอเชีย ถนนตัดใหม่เชื่อมเมียวดีกับเมืองตอนในของพม่า

โดยล่าสุดเมื่อ 20 มกราคม 2559 เมียนมาไทม์ ระบุว่า รัฐบาลพม่าโดยกระทรวงการคมนาคมและการสื่อสารประกาศว่าจะมีการเพิ่มการรักษาความปลอดภัยโดยกองทัพพม่าและกองกำลัง BGF เพื่อรักษาเส้นทางดังกล่าว โดย สำนักข่าวอิระวดี รายงานด้วยว่ามีการปะทะกันเมื่อ 26 มกราคมที่ผ่านมาด้วยที่หมู่บ้านปยาปิน โดยกินเวลาปะทะกันกว่า 10 ชั่วโมง

สำหรับอาการป่วยของ ซอ ละพเว มีรายงานโดย Karennews ว่าเขาเดินทางไปรักษาตัวมะเร็งที่ลำคอ ที่โรงพยาบาล Glen Eagle ประเทศสิงคโปร์ โดยรับการรักษาตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง เดือนกุมภาพันธ์ 2557 โดยก่อนหน้านี้เขารับการรักษาอยู่ที่ รพ.ปางโหลง ในนครย่างกุ้งเมื่อเดือมธันวาคม 2556

ต่อมาในเดือนมีนาคมปี 2558 มีรายงานในมิซซิมาว่า ด้วยปัญหาสุขภาพทำให้ พล.อ.ซอ ละพเว ถ่ายโอนอำนาจการบริหารให้กับ พล.ท.ซอ โมเช

ในช่วงท้าย พล.อ.ซอ ละพเว กลับมาอยู่กองบัญชาการกะเหรี่ยง DKBA ตรงข้ามบ้านวาเล่ย์เหนือ อ.พบพระ จ.ตาก และยังได้มีโอกาสเป็นประธานเปิดงานวันครบรอบ 21 ปี ของการก่อตั้งกองทัพ DKBA เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2558 ก่อนเสียชีวิตดังกล่าว

เคยวิวาทะกับ ร.ต.อ.เฉลิม หลังถูกออกหมายจับคดียาเสพติด

มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า พล.อ.ซอ ละพเว มีบัญชีรายชื่อ ในหมายจับคดียาเสพติดของ ป.ป.ส. และเคยออกมาแถลงข่าวตอบโต้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ นอกจากนี้ยังปิดท่าข้ามตามแนวชายแดนตอบโต้ด้วย นอกจากนี้ พล.อ.ซอ ละพเว ก็ไม่เดินทางมารักษาตัวในเขตไทย แต่เลือกที่จะไปรักษาที่สิงคโปร์แทน

อนึ่งในบทสัมภาษณ์ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ พาดหัวว่า "A new phase in Burmese politics" สัมภาษณ์โดย Maxmilian Wechsler เผยแพร่เมื่อ 5 ธันวาคม 2553 ซอ ละพเว เคยกล่าวไว้ด้วยว่า "(รัฐบาลพม่า) ไม่เข้าใจภาษาการทูตหรือการเจรจาทางการเมือง เข้าใจแต่ (ภาษาของ) ปืน"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net