ญี่ปุ่น: ประชากรเกิดน้อยเพราะคนไม่ค่อยมีเซ็กส์จริงหรือ

 

เมื่อพูดถึงประเทศที่เสี่ยงต่อภาวะประชากรผู้สูงวัยจำนวนมากจนขาดแคลนคนวัยแรงงานแล้วประเทศแรกๆ ที่จะนึกถึงคือญี่ปุ่น สื่อต่างชาติจำนวนมากมักจะนำเสนอแง่มุมปัญหาประชากรของญี่ปุ่นในมุมนี้ และบ้างก็นำเสนอเพิ่มเติมในทำนองว่าประชากรญี่ปุ่นมีเพศสัมพันธ์กันน้อยลงทำให้มีประชากรถือกำเนิดน้อยลง

แต่เนวิน ทอมป์สัน บรรณาธิการข่าวผู้เขียนเรื่องเกี่ยวกับญี่ปุ่นให้กับเว็บไซต์สื่อโกลบอลวอยซ์ตั้งคำถามในประเด็นหลังว่า ปัญหาประชากรเกิดขึ้นเป็นเพราะคนญี่ปุ่นมีเพศสัมพันธ์กันน้อยลงจริงหรือ และกระบวนทัศน์เช่นนี้ส่งผลต่อนโยบายประชากรในญี่ปุ่นหรือไม่ อย่างไร

เมื่อช่วงปลายเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา สำนักสำมะโนประชากรของญี่ปุ่นประกาศว่าจำนวนประชากรของญี่ปุ่นลดลงจากที่มีประชากรเสียชีวิตมากกว่าจำนวนประชากรเกิดใหม่เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการเริ่มเก็บสถิติสำมะโนประชากรในปี 2463 ซึ่งทอมป์สันระบุว่าการลดลงของประชากรนั้นถือเป็นเรื่องที่มีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการจริง โดยในช่วงระหว่างปี 2553-2558 ญี่ปุ่นมีประชากรลดลง 947,345 คน คิดเป็นราวร้อยละ 0.7 ทำให้ปัจจุบันญี่ปุ่นมีประชากรอยู่ที่ 127.1 ล้านคน

นอกจากนี้ สังคมญี่ปุ่นยังเสี่ยงต่อการกลายเป็นสังคมที่มีผู้สูงอายุจำนวนมาก โดยในปี 2558 ญี่ปุ่นมีประชากรอายุมากกว่า 65 ปีเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด มีแนวโน้มว่าภายในปี 2593 ญี่ปุ่นจะมีประชากรอายุมากกว่า 65 ปี เกือบร้อยละ 40 ทั้งนี้ยังมีการสำรวจพบอีกว่าญี่ปุ่นมีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำราว 1.41 ต่อประชากรหญิง 1 คน ขณะที่อัตราการเกิดที่จะสามารถทดแทนจำนวนประชากรได้อยู่ที่ราว 2.1 ต่อประชากรหญิง 1 คน

ขณะที่รัฐบาลชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่นพยายามแก้ปัญหานี้ด้วยการส่งเสริมให้ผู้หญิงมีลูกมากขึ้น แต่สิ่งที่นำเสนอในสื่อทั่วไปก็ชวนให้มองว่าปัญหาคือคนญี่ปุ่นไม่สนใจในเรื่องเพศอีกแล้ว ซึ่งทอมป์สันตั้งคำถามว่า เป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่

ในสื่อต่างประเทศมีการเรียกปรากฏการณ์ที่ชาวญี่ปุ่นไม่มีเพศสัมพันธ์กันนี้ว่าเป็น "กลุ่มอาการละเว้นการมีเพศสัมพันธ์" (Celibacy Syndrome) ซึ่งเป็นคำจากสื่อเดอะการ์เดียนโดยรายงานของนักข่าวชื่ออาบิเกล ฮาเวิร์ธ แต่ชื่อนี้ถือเป็นเพียงแค่การตั้งทฤษฎีจากสื่อเอง ไม่ได้เป็นกลุ่มอาการทางการแพทย์หรือทางจิตวิทยาที่มีอยู่จริงแต่ประการใด อีกทั้งในเวลาต่อมาก็มีนักข่าวและบล็อกเกอร์หลายคนโต้แย้งในประเด็นนี้ อีกทั้งยังมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าสื่อเหล่านี้เลือกนำเสนอแต่ข้อมูลเฉพาะคนกลุ่มประชากรเฉพาะแล้วเอามาเหมารวมประชากรอื่นๆ ทั้งหมดหรือที่เรียกว่า "การเลือกเก็บเชอร์รี่" (Cherry picking) รวมถึงมีหลักฐานจากการสำรวจของสถาบันวิจัยประชากรศาสตร์และความมั่นคงในสังคมแห่งชาติญี่ปุ่นระบุว่าชายและหญิงในช่วงวัย 18-34 ปี มีเพศสัมพันธ์กันมากขึ้นเมื่อเทียบกับยุคสมัยเมื่อ 30 ปีที่แล้ว

ทอมป์สันตั้งข้อสังเกตว่าความคิดเรื่องที่ว่าชาวญี่ปุ่นมีเพศสัมพันธ์กันน้อยน่าจะมาจากการเผยแพร่ผลสำรวจของบริษัทถุงยางดูเร็กซ์ในปี 2549-2550 เกี่ยวกับเรื่องความเป็นอยู่ทางเพศทั่วโลกโดยมีการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง 26,000 คน อายุ 16 ปี ขึ้นไปจาก 26 ประเทศในเรื่องพฤติกรรมทางเพศ ถึงแม้ว่างานนี้จะเป็นงานสำรวจที่เก่าเกือบ 10 ปีแล้ว แต่งานสำรวจนี้ก็ยังคงถูกนำมาอ้างซ้ำๆ ทุกปีทั้งในสื่อตะวันตกและสื่อญี่ปุ่นเอง

ทอมป์สันระบุต่อไปว่าในงานวิจัยบางส่วนที่ใหม่กว่าจากญี่ปุ่นเองก็ดูมีทิศทางข้อสรุปไปในทางเดียวกับผลสำรวจของดูเร็กซ์ เช่นผลสำรวจของถุงยางอนามัยซากามิในปี 2556 ที่มีการนำเสนอในภาษาอังกฤษโดยบล็อกเกอร์ชื่อ ยูตะ อะโอกิ ซึ่งระบุว่าผู้คนที่มีความสัมพันธ์กันในญี่ปุ่นมีเพศสัมพันธ์น้อยกว่า 45 ครั้งต่อปี นอกจากนี้ผลสำรวจของซากามิยังระบุอีกว่าคู่แต่งงานชาวญี่ปุ่นร้อยละ 55.2 บอกว่าการแต่งงานของตัวเองเป็นการแต่งงานที่ไร้เพศสัมพันธ์ ทำให้คำว่า "การแต่งงานไร้เพศสัมพันธ์" (Sexless marriage) กลายเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงกันมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

จากการสำรวจโดยสมาคมวางแผนครอบครัวของญี่ปุ่นเองระบุว่าผู้ชายที่แต่งงานแล้วส่วนใหญ่มักจะยุ่งวุ่นวายหรือเหนื่อยจากงานมากเกินไปจนไม่ได้มีเพศสัมพันธ์ ขณะที่ฝ่ายหญิงบอกว่าการมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่อง "ยุ่งยากเกินไป" แต่รายงานผลการสำรวจของซากามิก็ไม่ได้บอกว่าชาวญี่ปุ่นหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์โดยสิ้นเชิง เพราะในการสำรวจคนอายุ 20-30 ปีที่เป็นคนโสด ฝ่ายชายร้อยละ 83 บอกว่าพวกเขาต้องการมีเพศสัมพันธ์ ขณะที่มีฝ่ายหญิงร้อยละ 58 ตอบในการสำรวจว่าต้องการมีเพศสัมพันธ์

ข้อมูลนี้ทำให้ทอมป์สันสรุปว่าถึงแม้ชาวญี่ปุ่นอาจจะมีหลายสาเหตุที่จะไม่มีเพศสัมพันธ์แต่การสรุปว่าพวกเขาหลีกเลี่ยงไม่มีเพศสัมพันธ์เลยเป็นเรื่องไม่จริง

แต่ทอมป์สันก็ตั้งข้อสังเกตว่าการสำรวจเรื่องเพศสัมพันธ์ของซากามิเกี่ยวกับคู่แต่งงานเป็นการถามถึงการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคู่แต่งงานเองเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าอาจจะมีเรื่องความสัมพันธ์นอกการสมรสที่ไม่ได้ระบุไว้อยู่ด้วย ทั้งการคบชู้หรือการซื้อขายทางเพศ

มีการสำรวจหลายชิ้นเผยให้เห็นว่ามีชายชาวญี่ปุ่นร้อยละ 10-20 ยอมรับว่ามีเพศสัมพันธ์นอกสมรส อีกทั้งชายที่แต่งงานแล้วจำนวนมากยังใช้เงินไปกับการซื้อบริการทางเพศรวมแล้ว 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งชายแต่งงานแล้วในญี่ปุ่นมีอยู่จำนวนมากที่เลือกจ่ายเงินเพื่อซื้อบริการทางเพศโดยมีตัวเลขอยู่ที่ร้อยละ 23 จากการสำรวจของ MiW ชุมชนให้ความช่วยเหลือและคำแนะนำกับคนที่ถูกคู่รักนอกใจ อีกทั้งจำนวนธุรกิจให้บริการทางเพศในญี่ปุ่นก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยจากสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นในปี 2554 ระบุว่ามีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมทางเพศ 29,000 กิจการ มากกว่าที่เคยสำรวจไว้เมื่อปี 2550 ถึง 10,000 กิจการ

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า "กลุ่มอาการละเว้นการมีเพศสัมพันธ์" จะมีอยู่จริงในญี่ปุ่นก็เฉพาะกับคู่รักต่างเพศที่มีความสัมพันธ์ระยะยาวเท่านั้น แต่เมื่อเรื่องนี้ถูกโยงกับปัญหาเรื่องประชากร รัฐบาลอนุรักษ์นิยมของญี่ปุ่นก็ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้หญิงในประเทศ คือการที่นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ส่งเสริมให้ผู้หญิงมีลูกมากขึ้นจากที่ต้องมีภาระซ้ำซ้อนอยู่แล้วทั้งจากการต้องทำงานนอกบ้านและทำงานบ้าน รวมถึงสังคมญี่ปุ่นยังคงมีวัฒนธรรมที่คาดหวังให้ผู้หญิงเป็นผู้ดูแลลูกและญาติที่สูงอายุด้วย

"ดังนั้นแล้วถึงแม้ว่าการมีเพศสัมพันธ์มากขึ้นจะทำให้อัตราการเกิดมากขึ้น แต่สำหรับผู้หญิงญี่ปุ่นแล้วมันอาจจะกลายเป็นการเพิ่มภาระให้กับพวกเธอ และทำให้พวกเธอยิ่งมีเวลาว่างน้อยลงจากที่มีอยู่ในปัจจุบัน" ทอมป์สันระบุในบทความ

 

เรียบเรียงจาก

Is Japan Having Sex?, Nevin Thompson, Global Voices, 28-02-2016
https://globalvoices.org/2016/02/28/is-japan-having-sex/

Japan's population declines for first time since 1920s – official census, The Guardian, 26-02-2016
http://www.theguardian.com/world/2016/feb/26/japan-population-declines-first-time-since-1920s-official-census

Don’t worry. The Japanese are having plenty of sex, The Washington Post, 23-10-2013
http://knowmore.washingtonpost.com/2013/10/23/yes-japanese-people-still-have-sex/

Why have young people in Japan stopped having sex?, The Guardian, 20-10-2013
http://www.theguardian.com/world/2013/oct/20/young-people-japan-stopped-having-sex

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Celibacy_syndrome

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท