Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

จากผลการเลือกตั้ง Primary ของพรรค Democrat ในรัฐ Michigan เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา Bernie Sanders นักการเมืองวัย 74 ปี (ซึ่งเพียงเมื่อกลางปีที่แล้ว หากถามคนนอกวงการการเมืองอเมริกัน แทบไม่มีใครรู้จักหน้าค่าตา) กลับพลิกชนะ Hillary Clinton ด้วยคะแนน 49.8% : 48.3% ผลการเลือกตั้งนี้ หักปากกาเซียนทางการเมืองและ Poll ทุกสำนักอย่างสิ้นเชิง นักวิเคราะห์ทางการเมืองชั้นนำที่แทบไม่เคยผิดพลาด ออกมายอมรับอย่างงุนงงว่า ตนไม่เข้าใจผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเลยว่า...เป็นไปได้อย่างไร

ทุก Poll ก่อนการเลือกตั้งที่รัฐ Michigan ชี้ว่า Sanders แพ้ Clinton ด้วยตัวเลขสองหลักขึ้นไป รวมทั้งผล Poll ของ Fox ในวันที่ 7 มีนาคม ก่อนการเลือกตั้ง 1 วัน ก็แสดงว่า Sanders แพ้ Clinton ด้วยสัดส่วนถึง 34% : 61%

เกิดอะไรขึ้นกับผล Poll ที่เคยทำนายอย่างแม่นยำมาแทบทุกครั้ง ?

เมื่อลองทบทวนย้อนหลังกลับไป ณ จุดเริ่มต้นของการคัดเลือกตัวแทนพรรค Democrat เพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 นี้ โดยพิจารณาตั้งแต่การแข่งขันกันครั้งแรกที่รัฐ Iowa เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ไล่เรียงมาจนถึงรัฐ Michigan วันที่ 8 มีนาคม พบว่า

Clinton ชนะการเลือกตั้งทิ้งห่าง Sanders ทั้งแบบ Primary และแบบ Caucus ตามแนวผล Poll ทุกครั้ง เฉพาะในรัฐทางใต้ซึ่งมีประชากร African American ในสัดส่วนที่สูง

แต่สำหรับรัฐทางเหนือที่มีประชากรผิวขาวจำนวนมาก ผลการเลือกตั้ง เริ่มปรากฏอาการแกว่งตัวมาทาง Sanders นับตั้งแต่ Caucus ครั้งแรกที่ Iowa ซึ่ง Sanders ตีคู่ Clinton มาอย่างสูสีมาก มาจนถึงผลการเลือกตั้งของบางรัฐทางเหนือในวัน Super Tuesday 1 มีนาคมนั้น Sanders กลับชนะการเลือกตั้งอย่างชัดเจน ทั้งที่ผล Poll ในรัฐนั้นๆก่อนหน้าวันเลือกตั้ง ทั้งสองต่างได้รับความนิยมใกล้เคียงกัน หรือ Sanders ได้รับความนิยมน้อยกว่าเล็กน้อยด้วยซ้ำไป

นักวิเคราะห์จึงแปลผลว่า โมเมนตัมที่ Sanders เริ่มสร้างไว้ตั้งแต่เดือนมกราคมปีนี้ เริ่มออกฤทธิ์ทำให้ผลการเลือกตั้งในรัฐทางเหนือออกมาเป็นเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ยังฟันธงว่า โมเมนตัมที่มีอยู่จะให้แรงส่ง Sanders ไปได้ไม่ไกลนักเพราะการพ่ายแพ้อย่างหมดรูปในรัฐทางใต้หลายรัฐฉุดรั้งไว้ แล้วเขาจะหมดแรงโมเมนตัมในไม่ช้า

ดังนั้น การเลือกตั้งในรัฐ Michigan (ซึ่งเป็นรัฐทางเหนือ) ที่ผล Poll 1 วันก่อนหน้า Sanders ตามหลังถึง 27% แล้วปรากฎว่า เขากลับพลิกชนะได้ชั่วข้ามคืนนั้น จึงเป็นเรื่องเหลือเชื่อและยากที่นักวิเคราะห์จะสามารถทำใจยอมรับได้จริงๆ

หรืออาจเป็นเพราะ โมเดลการทำ Poll ที่ใช้อยู่ ไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางการเมือง "ใหม่" ที่เปลี่ยนไปแล้ว ?

ผู้ติดตามการรณรงค์ของทีมงาน Sanders อย่างใกล้ชิด ให้ความเห็นว่า โมเดลการรณรงค์แบบ Sanders ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการหาเสียงทางการเมืองอเมริกัน แต่โมเดลแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกในแวดวงธุรกิจของคนรุ่นใหม่ยุคปัจจุบันซึ่งตื่นตัวทำกันมาก ในแนวทางที่เรียกว่า Crowd Funding และ Crowd-sourcing

Sanders ใช้ Crowd Funding ระดมทุนจากรายเล็กรายน้อยได้มากกว่าผู้สมัครทุกคนรวมทั้ง Clinton และเขาได้รับเงินบริจาคจำนวนมากจนทำสถิติใหม่ทุกๆเดือน เหลือเฟือสำหรับการเลือกตั้ง Primary และ Caucus ทุกครั้งที่รออยู่ข้างหน้า

Sanders ใช้ Crowd-sourcing ระดมอาสาสมัครเข้ามาช่วยกันใช้ Social media ทั้งส่ง message, chat, update websites มากมาย ทั้งร่วมแรงร่วมใจกันโทรศัพท์ และเคาะประตูหาเสียง โครงสร้างของเครือข่าย Crowd-sourcing ส่วนใหญ่เพิ่งก่อตัวขึ้นมาประมาณ 1 เดือน จำนวนอาสาสมัครที่เข้าร่วมกำลังเติบโตด้วยอัตราเร่งแบบ Exponential และเป็นปฏิบัติการแผ่ขยายไปทั้งประเทศ ไม่เฉพาะรัฐที่กำลังหาเสียงเท่านั้น


อะไรคือ “สินค้า” ของ Sanders ที่สามารถระดม Crowd มาได้กว้างขวางเช่นนี้ ?

สิ่งที่เขา “ขาย” คือ การเมืองเพื่อปวงชน นโยบายที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การศึกษาฟรีถึงระดับมหาวิทยาลัย และนโยบายก้าวหน้าอื่นๆที่เขายืนหยัดเรียกร้องมาตลอด 30 ปี ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

นี่คือ Democratic Crowd หรือ Bernie Crowd ส่วนหนึ่งของ Political Revolution ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างมีชีวิตชีวาในสหรัฐอเมริกา
 

Bernie Sanders : เขาคือตัวจริงเสียงจริง

Sanders คือนักการเมืองอาวุโสชาวอเมริกัน อายุ 74 ปี เคยสังกัดพรรค Liberty Union แห่งรัฐ Vermont ระหว่างปี พ.ศ.2514-2522 หลังจากนั้น ทำงานการเมืองโดยไม่สังกัดพรรคใดๆอีกเลย กระทั่งปีที่แล้ว พ.ศ.2558 เขาเข้าสังกัดพรรค Democrat เพื่อเสนอตัวเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของพรรค Democrat

Sanders ประกาศเสนอตัวเมื่อ 30 เมษายน 2558 และเริ่มรณรงค์อย่างเป็นทางการในวันที่ 26 พฤษภาคม 2558

Sanders ประกาศว่า เขาปฏิเสธการรับเงินสนับสนุนจาก มหาเศรษฐี องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ และ Wall Street โดยขอรับบริจาคจากประชาชนทั่วไป รายละเล็ก รายละน้อย

หลังจากเริ่มรณรงค์ 4 วัน เขาได้รับเงินบริจาค 3 ล้านเหรียญ โดยเกิดจากการบริจาคเฉลี่ยเพียง 43 เหรียญต่อราย เมื่อถึงสิ้นปี 2558 เขาได้รับบริจาครวม 73 ล้านเหรียญจากผู้บริจาคมากกว่า 1 ล้านคน ซึ่งบริจาครวมกว่า 2.5 ล้านครั้ง เฉลี่ยเงินบริจาค 27.16 เหรียญต่อครั้ง และทำลายสถิติจำนวนผู้บริจาคที่ Obama เคยทำไว้เมื่อ พ.ศ. 2554

ในเดือนมกราคม 2559 เพียงเดือนเดียว เขาได้รับบริจาค 3.25 ล้านครั้ง รวมเป็นเงินบริจาค 20 ล้านเหรียญ มากกว่า Clinton ถึง 5 ล้านเหรียญ

ในเวลาเพียง 24 ชั่วโมงหลัง Iowa Caucus เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เขาได้รับบริจาค 1.3 ล้านครั้ง รวมเป็นเงินบริจาค 3 ล้านเหรียญ

ในเวลาเพียง 24 ชั่วโมงหลังการเลือกตั้ง Primary ที่รัฐ New Hampshire เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ซึ่งเขาชนะ Clinton เป็นครั้งแรก เขาได้รับบริจาคถึง 6.4 ล้านเหรียญ เฉลี่ยบริจาครายละ 34 เหรียญ

การเดินสายหาเสียงของ Sanders ยิ่งทำให้เขาประหลาดใจ โดยทั่วไป การหาเสียงของนักการเมืองอเมริกันมักมีผู้มาฟังการหาเสียงจำนวนน้อย แต่ในรัฐต่างๆที่ Sanders ตระเวนไปกล่าวปาฐกถา มีผู้มาฟังการหาเสียงจำนวนมาก เช่น ที่เมือง Madison รัฐ Wisconsin มีผู้ฟังประมาณ 10,000 คน ที่มหาวิทยาลัย Washington เมือง Seattle มีผู้ฟังประมาณ 15,000 คน และที่เมือง Portland รัฐ Oregon มีผู้ฟังประมาณ 28,000 คน


เหตุใดนักการเมืองวัย 74 ปีอย่าง Sanders จึงได้การตอบรับอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะจากคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ?

ประการแรก Sanders ใช้ social media คล้ายกับที่ Obama ใช้ในการเลือกตั้ง พ.ศ.2551 แต่ต่างกันตรงที่วันนี้ social media มีพลังในการสื่อสารมากกว่า 8 ปีก่อนอย่างมหาศาล Sanders ใช้ทั้ง Facebook, Twitter และ Reddit ในการบอกเล่าความคิดและนโยบายของเขาด้วยตัวเอง

ประการที่สอง Sanders หาเสียงอย่างสร้างสรรค์ อาศัยการต่อสู้กันด้วยนโยบาย ไม่ใช้ Hate speech ไม่ใส่ร้ายป้ายสี

ประการที่สาม Sanders เน้นนโยบายสังคมประชาธิปไตย มุ่งลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ให้การศึกษาฟรีถึงระดับมหาวิทยาลัย เคารพสิทธิทุกเพศสภาพ แก้ปัญหาภาวะโลกร้อน และคัดค้านสงคราม ซึ่งทุกนโยบายเป็นจุดยืนที่ Sanders ยึดถือมาตลอดระยะเวลาที่ทำงานการเมือง

ประการที่สี่ Sanders มีประสบการณ์ทั้งการบริหารและนิติบัญญัติ

Sanders เป็นนายกเทศมนตรีของเมือง Burlington (เมืองใหญ่ที่สุดของรัฐ Vermont) 4 สมัย โดยสมัครอิสระ ไม่สังกัดพรรค

ในการเลือกตั้งสมัยที่ 4 เขาแข่งกับผู้สมัครจากพรรค Democrat ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทั้งพรรค Democrat และ Republican เพื่อโค่นเขาลงจากตำแหน่ง แต่ไม่สำเร็จ

Sanders เลือกไม่ลงสมัครเป็นสมัยที่ 5 โดยหันเหไปสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาแทน

เขาได้รับเลือกเป็นหนึ่งในนายกเทศมนตรีที่ดีที่สุดของอเมริกาจากนิตยสาร U.S. News

ด้านนิติบัญญัติ Sanders ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรติดต่อกัน 16 ปี และเป็นสมาชิกวุฒิสภาติดต่อกัน 8 ปี โดยสมัครอิสระ แต่พรรค Democrat ถือว่า เขาเป็นพันธมิตรในสภาที่ลงมติเห็นพ้องกันถึง 98% ของญัตติ

ในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2549 Obama ซึ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาของพรรค Democrat ในขณะนั้น เคยไปช่วยเขาหาเสียงในเขตเลือกตั้ง

Sanders เป็นสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับความนิยม 83%ในเขตเลือกตั้งของตน นับได้ว่า เป็นคะแนนนิยมสูงสุดของสมาชิกวุฒิสภาในสหรัฐอเมริกา

Bernie Crowd มีอยู่จริง หรือ แค่ฟลุ้ค ?

คงต้องติดตามว่า Bernie Crowd มีอยู่จริงและสร้างความงุนงงให้กับนักวิเคราะห์ได้อีกครั้งหรือไม่ ในวันที่ 15 มีนาคมนี้ ซึ่งจะมีการเลือกตั้งใน 5 รัฐ (4 ใน 5 เป็นรัฐทางเหนือ) คือ Florida, Illinois, Missouri, North Carolina และ Ohio โดยผล Poll ล่าสุด Clinton ชนะทิ้งห่าง Sanders ทั้ง 5 รัฐ

ถ้า Bernie Crowd มีอยู่จริง การเลือกตั้ง Primary ตลอด 3 เดือนข้างหน้าจะสร้างความหนักใจให้ Clinton อย่างมากมาย เพราะรัฐที่เหลือส่วนใหญ่เป็นรัฐทางเหนือ ซึ่งถูกโฉลกกับ Sanders และ Superdelegates ที่เธอตุนไว้อักโขนั้น อาจต้องโอนอ่อนไปตามปรากฎการณ์ Bernie Sanders อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

และนอกจาก Bernie Crowd แล้ว สีสันน่ารักๆในบรรยากาศประชาธิปไตยของปรากฎการณ์ Bernie Sanders อื่นๆ ยังคงหลั่งไหลต่อเนื่องออกมาอย่างไม่ขาดสาย เช่น

หนูน้อย Bernie Baby ทารกวัย 4 เดือนชื่อ Oliver Lomas ซึ่งแม่ของเด็กน้อยแต่งตัวเขาให้เหมือน Sanders ทั้งยังได้ถ่ายภาพร่วมกันกับ Sanders จนดังในโลกออนไลน์ ต่อมา จึงมีผู้ผลิตเสื้อทารกสนับสนุน Sanders ออกมาวางขายอย่างหลากหลาย (น่าเสียใจที่ Oliver เพิ่งเสียชีวิตด้วย SIDS - Sudden Infant Death Syndrome เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา)

Ben Cohen ผู้ก่อตั้งไอศกรีม Ben & Jerry’s อันโด่งดัง ได้คิดค้นไอศกรีมสูตรพิเศษ Bernie's Yearning เพื่อแสดงการสนับสนุน Sanders

รวมทั้ง สินค้าอื่นๆที่ร่วมทยอยสร้างกระแสและระดมเงินบริจาค เช่น เบียร์ Bernie Weisse (มอบ 20% ของรายได้ให้ HeadCount องค์กรส่งเสริมประชาธิปไตยของเยาวชน) และ Bernie Hot Sauce ของ Tango (มอบ 10% ของรายได้ให้การรณรงค์ของ Sanders)


 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net