Skip to main content
sharethis

14  มี.ค. 2559 ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ผศ. ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต แถลงว่า ทางคณะเศรษฐศาสตร์ และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ม. รังสิต ยังคงประมาณการช่วงการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี พ.ศ. 2559 ไว้ที่ 3.2-4% โดยมีความเป็นไปได้สูงขึ้นที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่ำกว่า 3.5% จากการที่อัตราการเติบโตของการส่งออกอาจจะขยายตัวติดลบเป็นปีที่สี่ติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม มูลค่าส่งออกสุทธิยังคงเป็นบวกและมีการเกินดุลการค้าค่อนข้างสูงจึงเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจไทย โดยมีการปรับตัวเลขการคาดการณ์อัตราการขยายตัวของการส่งออกจาก 4% ลงมาเหลือ 0-2% อัตราการขยายตัวของการนำเข้าจาก 7% ลงมาเหลือ 2-3% และคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในปีนี้จะไม่เกิน 1% (0-0.8%) โดยมีสมมติฐานสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไปจากการคาดการณ์ครั้งก่อน คือ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปรับลดลงมาจากที่คาดการณ์ไว้เดิมเมื่อเดือน พ.ย. 2558 0.1-0.2% และ อัตราเฉลี่ยของราคาน้ำมันปรับลดลงมาอยู่ที่ 35-45 ดอลลาร์จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 50-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

เศรษฐกิจไตรมาสแรกโดยเฉพาะเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ภาคการบริโภคชะลอลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับช่วงปลายปี พ.ศ. 2558 จากการเร่งการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนช่วงปลายปีจากมาตรการลดหย่อนภาษี เม็ดเงินจากการใช้จ่ายยังไม่กระจายตัวสู่กิจการขนาดเล็กขนาดย่อยมากนักยังคงกระจุกอยู่ในเครือข่ายของกิจการค้าปลีกยักษ์ใหญ่ มีการเร่งซื้อรถยนต์ปลายปีที่แล้วก่อนการปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตในปีนี้ โดยเฉพาะหมวดสินค้าคงทนกลับมาหดตัวติดลบถึง 6.3% ในเดือนมกราคมแต่คาดการณ์ว่าจะกระเตื้องขึ้นในไตรมาสสอง การส่งออกของไทยเดือนมกราคมหดตัวสูงถึง 9.3% เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันเมื่อปีก่อน นำเข้าหดตัวแรงสองเดือนแรกสะท้อนการชะลอตัวของการลงทุนและส่งออกในไตรมาสสอง ดุลการค้าและดุลบัญชีสะพัดดีขึ้นต่อเนื่อง คาดการณ์จีดีพีเติบโตได้ 2-2.5% YoY ในไตรมาสหนึ่งและ  2.5-3% YoY ไตรมาสสอง แต่ยังคงประมาณการทั้งปีไว้ตามคาดการณ์เดิม 3.2-4% โดยพยากรณ์ว่า เศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังจะกระเตื้องขึ้นอย่างชัดเจนจากภาคการลงทุน โดยการลงทุนมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้เดิมจาก 6.5% ปรับเพิ่มขึ้นเป็น  7% การท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวอาจทะลุ 33 ล้านคนสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 1.7-1.8 ล้านล้านบาทได้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้เศรษฐกิจยังสามารถขยายตัวได้มากกว่า 3%  คือ รัฐบาลยังทำขาดดุลเพิ่มขึ้นจาก 2.9 แสนล้านในปีงบประมาณ 2558 เป็น 3.9 แสนล้านในปีงบประมาณ 2559 การเบิกจ่ายนอกงบประมาณปรับตัวดีขึ้น การอ่อนตัวของเงินบาทสนับสนุนรายได้เงินบาทของผู้ประกอบการท่องเที่ยวและส่งออก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 4.7 แสนล้านบาท หากไม่มีวิกฤติรัฐธรรมนูญ เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ตามที่คาดการณ์ 3.2-4% (มีความเป็นไปได้มากที่สุด 3.2-3.5) ซึ่งยังเป็นระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพของเศรษฐกิจไทยที่ควรเติบโตได้ในระดับ 4-6%  

อัตราการขยายตัวของการนำเข้าที่ติดลบมาอย่างต่อเนื่องเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า การส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนอาจจะมีการขยายตัวในระดับต่ำหรืออาจติดลบได้ในบางเดือนในช่วงไตรมาสสอง  

การใช้จ่ายภาครัฐยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ 12.5% มีอัตราที่ชะลอตัวลงจากการเร่งเบิกจ่ายการลงทุนในช่วงเดือนธันวาคม (44.1%) ขณะที่การท่องเที่ยวยังคงปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและเติบโตอย่างแข็งแกร่งโดยจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 15% ในเดือนมกราคมเมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว

แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นในปี พ.ศ. 2559 แต่ไม่ดีอย่างที่คาดไว้ในช่วงปลายปีที่แล้วโดยเฉพาะปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและวิกฤติฟองสบู่ในตลาดการเงินและตลาดอสังหาริมทรัพย์อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกมากกว่าที่คาดการณ์กันไว้ จีนตั้งเป้าให้อัตราการขยายตัวในปีนี้ที่ระดับ 6.5-7% นั้นอาจไม่บรรลุผลหากรัฐบาลไม่ทำงบประมาณขาดดุลเกิน 5% ของจีดีพี จีนมีแรงกดดันที่ต้องปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมและปฏิรูปรัฐวิสาหกิจรวมทั้งลดขนาดของการจ้างงานในภาครัฐโดยอาจต้องปลดพนักงานของรัฐลงประมาณ 5-6 ล้านคนในระยะ 2 ปีข้างหน้าซึ่งถือเป็นการปลดเจ้าหน้าที่ของรัฐครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ ขณะเดียวกัน จีนประกาศแผนเศรษฐกิจ 5 ปี (2016-2020) โดยตั้งเป้าการเติบโตจีดีพีอย่างน้อย 6.5% และสร้างงานใหม่ 10 ล้านตำแหน่ง ทำให้อัตราการว่างงานต่ำกว่า 4.5% เขตเมืองใหญ่   

การเสนอให้มีการปฏิรูป Supply side Reform จำเป็นต้องควบรวมกิจการอุตสาหกรรมเหล็ก ถ่านหินและอสังหาริมทรัพย์ที่มีอุปทานล้นเกิน (Oversupply) ต้องปล่อยให้กิจการที่ขาดทุนและไม่มีประสิทธิภาพ หรือ Zombies Companies ล้มละลายมากขึ้น การปฏิรูปจะทำให้เกิดประโยชน์ระยะยาวในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและเกิดผลดีต่อการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ แต่ในระยะสั้นการปฏิรูปดังกล่าวจะส่งผลทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวมากกว่าที่คาด หากจีนเลือกที่จะไม่ปฏิรูปและใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปัญหาฟองสบู่จะถูกสะสมใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆและหากเกิดวิกฤติฟองสบู่แตกก็จะรุนแรงมาก ปัญหาวิกฤติฟองสบู่จีนถือเป็นวิกฤติคลื่นลูกที่สามของระบบทุนนิยมโลกในศตวรรษที่ 21 อันเป็นสภาวะที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้ โดยคลื่นลูกแรกของทุนนิยมโลก คือ วิกฤติเศรษฐกิจ Hamburger Crisis ในสหรัฐฯ และ คลื่นลูกที่สอง คือ วิกฤติเศรษฐกิจยูโรโซน

ธนาคารกลางยุโรปได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและเพิ่มวงเงิน QE (เมื่อ 10 มีนาคมที่ผ่านมา) ตามที่ตนได้คาดการณ์ไว้ โดย ECB ปรับลดดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรสู่ระดับ 0% พร้อมยังได้ลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ลงสู่ระดับ -0.4% และเพิ่มวงเงิน QE เป็น 8 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ความเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งผลบวกต่อตลาดการเงินในระยะสั้นและจะส่งผลต่อการตัดสินใจนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯที่จะมีการประชุมในวันที่ 15-16 มีนาคมที่จะถึงนี้ ส่วนธนาคารกลางญึ่ปุ่นน่าจะมีการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมอีกหลังจากที่ได้ใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบมาระยะหนึ่ง

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงเงินทุนไหลออกหากธนาคารกลางสหรัฐฯปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเป็นตัวนำในการฟื้นตัวซึ่งคาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในปีหน้าน่าจะเติบโตได้เกือบ 3% ตลาดแรงงานและภาคการผลิตของสหรัฐฯดีขึ้นอย่างชัดเจน แนวโน้มราคาน้ำมันเริ่มทรงตัวและเริ่มทะยอยปรับสูงขึ้นในไตรมาสสองแต่ยังไม่ส่งผลให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อแต่อย่างใด อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของยูโรโซนน่าจะกระเตื้องเล็กน้อยมาสู่ระดับ 1.8% โดยประเด็นที่เป็นความอ่อนไหวของเศรษฐกิจยุโรป คือ การตัดสินใจของอังกฤษว่าจะยังคงอยู่ในอียูหรือไม่ การออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษจะส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจและสังคมของยุโรปและอังกฤษเอง  จะก่อให้เกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเงินมากยิ่งขึ้นในยุโรป อียูเป็นตลาดสำคัญของอังกฤษ สมาชิกอียูคิดเป็นสัดส่วน 53% ในการนำเข้าของอังกฤษและคิดเป็น 48% ของการส่งออกของอังกฤษ สถาบันการเงินของอังกฤษหลายแห่งได้เริ่มจัดเตรียมแผนในการย้ายออกจากอังกฤษหากมีการประชามติให้ถอนตัวออกจากอียูได้รับชัยชนะในวันที่ 23 มิถุนายน   

ขณะที่ เศรษฐกิจญี่ปุ่นและจีนจะมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 1.5% และ ต่ำกว่า 6% ตามลำดับ ปริมาณการค้าโลกขยายตัวอยู่ที่ระดับ 3.2-3.3% ในปี 2559 ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2558 ซึ่งขยายตัว 2.6% เท่านั้น การชะลอของกลุ่มประเทศอาเซียน4 จะส่งผลต่อภาคส่งออกไทยเนื่องจากกลุ่มประเทศเหล่านี้ถือเป็นตลาดส่งออกเกือบ 15% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทย ขณะที่ประเทศกลุ่ม CLMV มีอัตราการเติบโตสูง อุปสงค์ต่อสินค้าไทยในตลาด CLMV ก็มีอยู่สูงมากเป็นปัจจัยบวกต่อภาคส่งออก

คาดสัดส่วน NPL ของ SMEs ปรับตัวสูงกว่า 4% ในไตรมาสสองปีนี้

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ยังเปิดเผยว่า บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นกิจการขนาดใหญ่ยังคงมีสถานะทางการเงินที่มั่นคง แม้อัตรากำไรโดยรวมจะลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ กิจการเหล่านี้ยังคงมีสภาพคล่องสูงและมีอัตราการกู้ยืม (Leverage) ที่ไม่สูงนัก บริษัทจดทะเบียนโดยรวมมีแนวโน้มเพิ่มอัตราการจ่ายเงินปันผลเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ผู้ประกอบการยังคงไม่มั่นใจกับสภาวะเศรษฐกิจมากนัก จึงเลือกจ่ายเงินปันผลแทนที่จะเก็บเงินไว้ลงทุนในอนาคต Retention Rate มีค่าลดลงชัดเจน

ส่วนธุรกิจที่น่าเป็นห่วง คือ กิจการที่ก่อหนี้เพื่อควบรวมกิจการ กิจการขนาดเล็ก และ ธุรกิจทีวีดิจิตอล สัดส่วน NPL ของ SMEs เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสสองปีที่แล้วและคาดการณ์ว่าน่าจะปรับตัวสูงกว่า 4% ในไตรมาสสองปีนี้

ชี้ภัยแล้งรายได้เกษตรกรลดลง 3,430 บาทต่อครัวเรือนต่อปี 

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ได้กล่าวถึง ผลกระทบภัยแล้งต่อภาคเกษตรกรรมและเศรษฐกิจว่า โดยภาพรวม ความเสียหายเชิงเศรษฐกิจต่อพืชผลต่างๆ ในภาคเกษตรกรรมเบื้องต้นอยู่ที่ระดับ 19,460-20,000 ล้านบาท รายได้เกษตรกรลดลง 3,430 บาทต่อครัวเรือนต่อปี มีจำนวนครัวเรือนภาคเกษตรที่จดทะเบียน 7.1 ล้านครัวเรือน ความเสียหายต่อรายได้ของเกษตรกรจากภัยแล้งอยู่ที่ 24,353-25,000 ล้านบาท รวมความเสียหายต่อผลผลิตการเกษตรและรายได้ของเกษตรกร 43,813-45,000 ล้านบาท จีดีพีภาคเกษตรกรรมลดลง สินค้าเกษตรที่กระทบมาก คือ ไม้ผล ข้าวนาปรัง สับปะรด ปาล์มน้ำมัน ที่กระทบปานกลาง คือ ข้าวนาปี ปศุสัตว์ กระทบไม่มาก คือ มันสำปะหลัง อ้อย

ปัญหาภัยแล้งเป็นปัญหาสำคัญของชาติที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ นอกจากภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภัยแล้งแล้ว ภาคเศรษฐกิจอื่นๆก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย เช่น ภาคการบริโภค ภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ภาคการค้า ภาคท่องเที่ยว เมื่อประเมินผลกระทบภัยแล้งต่อเศรษฐกิจโดยภาพรวม (รวมภาคเศรษฐกิจอื่นๆ) ไม่น่าจะต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท

หากปัญหาภัยแล้งขยายวงกว้างและมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ยืดเยื้อยาวนาน จะก่อให้เกิดการอพยพทิ้งถิ่นฐานที่ดินทำกิน ละทิ้งที่อยู่อาศัย ปัญหาภาวะโลกร้อนทำให้สภาพอากาศผันผวนรุนแรงขึ้น เกิดภาวะแห้งแล้งถี่ขึ้นและยาวนานขึ้น เกิดภาวะน้ำท่วมถี่ขึ้นและยาวนานขึ้น

ผลกระทบภัยแล้งจะทำให้ หนี้ครัวเรือนเกษตรกรต่อจีดีพีภาคเกษตร ในปี พ.ศ. 2559 อาจปรับตัวสูงขึ้นทะลุระดับ 80% ได้ โดยหนี้สินของเกษตรกรในระบบราว 1.6-1.7 ล้านล้านบาท ประมาณร้อยละ 70-75% เป็นหนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ฉะนั้น รัฐบาลสามารถทำโครงการปรับโครงสร้างหนี้ ลดดอกเบี้ย หรือแม้นกระทั่งพักชำระหนี้ได้หากผลกระทบภัยแล้งมีความรุนแรงมากจนกระทบต่อรายได้ของครัวเรือนเกษตรให้ลดลงต่ำกว่า 153,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี (ซึ่งเป็นระดับรายได้ที่เพียงพอต่อรายจ่ายโดยเฉลี่ย)    

แนะหนุนจ้างขุดลอกคูคลอง-ปรับอ่างเก็บน้ำสร้างรายได้เสริมแก่เกษตรกร เสริมการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย

ดร.อนุสรณ์ ได้กล่าวถึง ข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบภัยแล้งว่า มาตรการระยะสั้น 1. สนับสนุนการจ้างงานเพื่อขุดลอกคูคลองและปรับปรุงอ่างเก็บน้ำเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำและสร้างรายได้เสริมแก่เกษตรกรในชนบท 2. เพิ่มพื้นที่ทำฝนหลวง เร่งรัดโครงการแก้มลิง 3. ส่งเสริมการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย ประชาสัมพันธ์เลื่อนการปลูกข้าวนาปี 4. รณรงค์และสนับสนุนให้ชาวเมืองและเกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ

ข้อเสนอแนะ มาตรการระยะยาว 1. ลงทุนการบริหารจัดการน้ำและการจัดการระบบชลประทานอย่างเป็นระบบ 2. ฟื้นฟูป่าไม้ต้นน้ำ 3. ส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อการดูแลและอนุรักษ์แหล่งน้ำชุมชน 4. ศึกษาระบบการใช้น้ำหมุนเวียน นำน้ำเสียมาบำบัดเพื่อนำมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้ 5. ปรับโครงสร้างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำ ศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งกระทรวงทรัพยากรน้ำ 6. การพัฒนากลไกของตลาดซื้อขายล่วงหน้า ป้องกันความเสี่ยงความผันผวนของตลาด 7. ความร่วมมือระหว่างประเทศและความร่วมมือระหว่างภูมิภาค เพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน (Global Warming)

ตั้งกองทุนน้ำเก็บเงินผู้ใช้น้ำรายใหญ่

ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า  จากข้อมูลทางวิชาการพบว่าปรากฎการณ์เอลนิโญจะรุนแรงช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึง เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2559 ประเทศจะเผชิญภัยแล้งรุนแรง ปริมาณฝนลดลงอย่างมากส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยมากที่สุด ในระยะยาวต้องปรับโครงสร้างการใช้น้ำทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรมและชุมชนเมืองให้เหมาะสมกับทรัพยากรน้ำที่มีอยู่ ไม่ให้เกิดภาวการณ์แย่งชิงทรัพยากรน้ำในอนาคต ต้องมีพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่และต้องพัฒนาและสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและฝายกระจายตามพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ อนุรักษ์ป่าต้นน้ำ จัดตั้งกองทุนน้ำโดยเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำรายใหญ่โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมหรือการทำการเกษตรในพื้นที่ขนาดใหญ่หรือเกษตรอุตสาหกรรม        

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net