ตร.คุมตัว 2 ผู้บริหารเหตุเอสซีบีปาร์ค - ทำความรู้จัก 'ไพโรเจน' สารดับไฟดับชีวิต

 

15 มี.ค. 2559 จากเหตุร้ายแรงที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ หรือเอสซีบี ปาร์ค สี่แยกรัชโยธิน เมื่อคืนวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์เอราวัณสรุปข้อมูลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุถังดับเพลิงชนิดพิเศษระเบิดทีอาคารเอสซีบีปาร์ค มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 5 รายและเสียชีวิตที่ รพ. 5 ราย (ชาย 3 หญิง 2) รวมเสียชีวิต 10 ราย (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ผู้บริหารแจงระบบเข้าใจผิดว่ามีควัน จึงปล่อยแก๊สออกมาท่วมห้อง ระบุเอกสารไม่มีอะไรเสียหาย

เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า นายวิชิต สุรพงษ์ชัย กรรมการ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการกิจกรรมเพื่อสังคม ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) แถลงถึงกรณีดังกล่าวว่า สาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจากระบบในห้องช่างของธนาคาร ในจังหวะที่ช่างผู้รับเหมามาตั้งระบบป้องกันไฟ ซึ่งระบบดังกล่าวเป็นระบบแก๊ส ไม่ใช่น้ำ เพราะระบบน้ำจะไปทำลายเอกสารได้ แต่ปฏิบัติการติดตั้งดังกล่าวทำให้ระบบเข้าใจผิดว่ามีควันเกิดขึ้น ระบบจึงปล่อยแก๊สออกมาท่วมห้อง ทำให้ออกซิเจนน้อยลงตามระบบเพื่อให้ไฟดับ คนงานที่อยู่ข้างในจึงหายใจไม่ออก เป็นเหตุให้มีคนบาดเจ็บและเสียชีวิต ยืนยันว่าไม่ใช่เสียชีวิตเพราะระเบิดหรือไฟไหม้ และไม่มีไฟลามไปห้องอื่น

นายวิชิตกล่าวต่อว่า ต้องแสดงความเสียใจอย่างยิ่งที่มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ ผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุมี 5 ราย ไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 3 ราย และอาจมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม สำหรับเอกสารไม่มีอะไรเสียหาย และทางธนาคารจะเปิดทำงานตามปกติ เจ้าหน้าที่จะร่วมมือกับตำรวจเพื่อให้ชัดเจนว่ามาจากอะไร ในเบื้องต้นนี้ ทราบว่า ขณะเกิดเหตุมีคนงานเข้าไปประมาณ 20 คน ซึ่งนับว่าคนค่อนข้างมาก เพราะเป็นวันหยุด จะได้ทำงานได้เต็มที่ไม่ไปรบกวนคนทำงานเหมือนในวันปกติ
ทำความรู้จักสารดับเพลิงไพโรเจน
 
คุมตัว 2 ผู้บริหาร
 
ล่าสุดวันนี้ (15 มี.ค.59) เดลินิวส์ รายงานว่า ชุดสืบสวนคลี่คลายคดีก๊าซไพโรเจนทำงานระบบอัตโนมัติในอาคารเอสซีบี ได้บุกเข้าควบคุมตัวผู้ต้องหาในคดีนี้ได้แล้ว 1 ราย ทราบชื่อคือ นายอดิศร โซดา ในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต โดยการจับกุมครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุประมาทจนทำให้มีผู้เสียชีวิตครั้งนี้แล้ว รวม 2 ราย เป็นระดับผู้บริหารบริษัทที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจะรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อดำเนินการออกหมายจับผู้ที่เกี่ยวข้องเพิ่มอีก 2-3 ชุด โดยทั้งหมดเป็นระดับหัวหน้างาน ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อติดตามตัวมาดำเนินคดีด้วย ส่วนผู้ต้องหานั้นขณะนี้กำลังนำตัวไปที่ สน.พหลโยธิน
 
เดลินิวส์ รายงานต่อด้วยว่า ต่อมาตอนสายวันเดียวกัน นายณพงษ์ สุขสงวน ผู้ต้องหาอีกคนได้เข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน แล้ว โดยเจ้าหน้าที่ได้นำตัวเข้าสอบปากคำ
 
ทำความรู้จักสารดับเพลิงไพโรเจน
 
ยูทูบบัญชี 'MUSCchannel' เผยแพร่วิดิโอคลิป อธิบายการทำงานของสารดับเพลงไพโรเจน โดย รศ.ดร.เอกสิทธิ์ สมสุข ผู้ช่วยคณะบดีฝ่ายกิจกรรมนักศึกษา อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี ม.มหิดล ซึ่งระบุว่า ไพโรเจนเป็นสารเคมีที่อยู่ในถึงดับเพลิง ซึ่งปกติในถีงดับเพลิงมีสารหลายชนิด เช่น แก๊สคาร์บอนไดออกไซน์ลงเข้าไปในถัง ตัวนี้มันจะเข้าไปแทนที่ออกซิเจนทำให้เพลิวไปที่กำลังลุกไหมอยู่ดับลง ไพโรเจนก็เป็นตัวหนึ่งที่เข้าไปทำให้ดับไปได้
 
รศ.ดร.เอกสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ไพโรเจนนี่เป็นสารผสมมีองค์ประกอบก็คือโพแทสเซียมไนเตรต เป็นองค์ประกอบหลัก ประมาณ 62% มีสารอินทรี มีคาร์บอน พอมีไฟข้างๆ หรือมีความร้อนกว่า 175 องศาเซลเซียส ไพโรเจนจะเริ่มทำงาน จะปล่อยออกมาเป็นละอองในละอองมันจะประกอบไปด้วย โพแทสเซียมคาร์บอเนต ซึ่งเมื่อสลายตัวเมื่อถูกความร้อนมันจะสลายตัวให้แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนี้ก็จะมีก๊าซไนโตรเจน แก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ แก๊สไนโตรเจนออกไซด์ แล้วก็แอมโมเนีย
 
รศ.ดร.เอกสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ในการเกิดไฟมันมีปัจจัยหลักๆ จะเป็น 3+1 1. จะต้องมีเชื้อเพลิง 2. จะต้องมีตัวออกซิไดซ์และ 3.อุณหภูมิจะต้องถึง เป็น 3 ปัจจัยหลัก ในบางครั้งอาจจะมีปัจจัยที่ 4 ด้วย ก็คือมีปฏิกิริยาลูกโซ่ ไพรโรเจน เวลามันแตกเป็นละออง เวลามันแตกตัว มันจะดูความร้อน เมื่อดูความร้อนก็จะทำให้อุณหภูมิของเพลิวไฟต่ำลงไฟก็จะดับ กับอีกแบบหนึ่งคือไพโรเจนจะมีตัวที่ไปจับอนุมูลอิสระที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ไฟก็จะดับเหมอืนกัน พอบอกว่าเป็นละอองนั้น จะมีแก๊สหลายตัวเลย แก๊สทุกตัวไม่ติดไฟ เมื่อมีแก๊สหลายตัวมาปนกันเยอะมากขึ้นในอากาศมันทำให้ความเข้มข้นของออกซิเจนในอากาศน้อยลง ปกติดในอากาศเรามีออกซีเจนประมาณ 20% พอมีแก๊สอื่นๆ เข้ามามันก็ทำให้ความเข้มข้นของออกซิเจนในอากาศน้อยลง ถ้ามนุษย์เราไปอยู่แถวนั้น ปกติเราหายใจเอาอากาศเข้าไปต้องมีออกซีเจน 21% แต่ถ้าเกิดออกซีเจนน้อยกว่า 21% ก็จะทำให้ขาดอากาศหายใจก็อาจจะถึงแก่ความตายได้ 
 
วิศวกรรมสถาน ต้องการ 3 คำตอบ ชี้โลกอาจมีอุบัติเหตุลักษณะนี้บ้างแต่ไม่ตายมากขนาดนี้ 
 
ข่าวสดออนไลน์ รายงาน ความเห็นของ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมาด้วย โดย ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายก วสท. พร้อมด้วย รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ เลขาธิการ  วสท. และคุณบุษกร แสนสุข ประธานคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมความปลอดภัย วสท. และคณะทำงาน ได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุถังดับเพลิงชนิดสารเคมีระเบิดบริเวณธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่ง ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นบทเรียนเพื่อนำไปใช้ในการอบรมมาตรฐานของวสท. หรือทางด้านกฎหมาย จะอมรมแนะนำหรือทำอย่างไรเพื่อให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น จากข้อมูลที่ได้จากข้อมูลวิศวกรเครือข่าย มีการลงไปทำงานในชั้นบี 2 ซึ่งถือเป็นห้องมั่นคงของธนาคารไทยพาณิชย์ จะไปติดตั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบดับเพลิง ซึ่งระบบดับเพลิงมีหลายชนิดแต่ที่นิยมใช้ในอาคารคือระบบสปริงเกอร์ที่ใช้น้ำในการดับเพลิง แต่บางธนาคารหรือบางหน่วยงานได้หาระบบมาทดแทนการใช้สปริงเกอร์ที่ใช้น้ำในการดับซึ่งอาจทำให้คอมพิวเตอร์หรือเอกสารได้รับความเสียหายได้หากเกิดเพลิงไหม้ จึงเปลี่ยนมาเป็นระบบไพโรเจนมีรูปร่างลักษณะคล้ายกระป๋องสี และเมื่อเกิดกลุ่มควันขึ้นมาระบบจับควันที่เรียกว่าสโมกแท็กเตอร์จะส่งสัญญาณจากนั้นจะมีเสียงกริ๊งดังประมาณ 5 นาที ต่อมาจะมีการปล่อยไพโรเจนให้ทำงานในระบบไฟฟ้า ซึ่งมีอนุภาคเป็นของแข็งโพแทสเซียมคาร์โบเนตและจะมีลักษณะของก๊าซอยู่ที่เป็นก๊าซไนโตเจนและน้ำหลังจากนั้นจะมีการทำปฏิกิริยากันจะทำให้มีก๊าซไปช่วยยุติการเกิดปฎิกิริยาลูกโซ่ในการเกิดความร้อนโดยไม่ใช้น้ำเลย ซึ่งก๊าซนี้ไม่มีพิษรุนแรง บริษัทมีการโฆษณาว่าไม่มีการกำจัดออกซิเจน มีความเป็นพิษต่ำ
 
ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่วสท.ต้องการหาคำตอบมี 3 ข้อคือ 1.ทำไมระบบนี้ถึงทำงานทั้งที่ไม่มีการเกิดเพลิงไหม้ 2.ระบบทำงานมาแล้วโดยการส่งก๊าซทั้งที่ไม่มีไฟทำไมถึงเกิดผู้เสียชีวิตถึง 8 ราย 3.บริษัทโฆษณาว่าไม่มีการกำจัดออกซิเจนแต่ทำไมมีผู้เสียชีวิต และทำไมถึงหนีออกมาไม่ได้ ซึ่งจะลงมาดูโดยเฉพาะมาตรการในห้องที่มีระบบคอมพิวเตอร์หรือห้องจัดเก็บข้อมูลเท่าที่ได้ตรวจสอบข้อมูลมาพบว่าไม่เคยเกิดเหตุลักษณะนี้ นอกจากนี้ ยังศึกษาข้อมูลซึ่งในโลกอาจมีอุบัติเหตุลักษณะนี้บ้างแต่ไม่มีผู้เสียชีวิตมากขนาดนี้ หากเกิดเพลิงไหม้ระบบไพโรเจนจะปล่อยก๊าซออกมาหมดถึงจะหยุดทำงานซึ่งขึ้นอยู่กับขนาด
 
รศ.สิริวัฒน์ กล่าวว่า ส่วนด้านโครงสร้างของอาคารไม่มีปัญหาอะไร ปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นอาจทำให้เกิดความร้อนสูงถึง 300-400 องศาเซลเซียลในช่วงระยะเวลาประมาณ 5 วินาที ทำให้ระบบทำงาน คนที่ได้รับสัมผัสโดยตรงระยะประมาณ 10-20 เมตรทำให้หมดสติไม่เกิน 15 วินาที ก่อนที่เสียชีวิต การลงมาในวันนี้เพื่อศึกษา สร้างมาตรฐาน วิธีการปฏิบัติ การติดตั้ง การดูแลและข้อปฏิบัติอย่างไรต่อไป หลังจากนี้อาจจะออกเป็นแถลงการณ์ถึงข้ออันตรายข้อควรปฏิบัติ
 
คนต้องมาก่อน วอนสถานประกอบการคำนึงถึงความปลอดภัยในการทำงาน
 
ขณะที่โซเชียลเน็ตเวิร์กวิพากษวิจารณ์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะประเด็นความปลอดภัยในการทำงาน เช่น จิตรา คชเดช นักสหภาพแรงงาน และอดีตคณะกรรมการความปลอดภัยในโรงงาน โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เพื่อเรียกร้องให้สถานประกอบการคำนึงถึงความปลอดภัยของการทำงาน โดยระบุว่า ปัญหาที่ทาง SCB Park ไม่มีการดูแลให้ดีคือ การหาผู้รับเหมาเข้ามาทำงานต้องมืออาชีพ ต้องรู้ว่าห้องนี้มีอะไรอยู่บ้าง เช่น ระบบดับเพลิง ที่มีควันจะปล่อยน้ำ มีฝุ่นจะปล่อยแก๊ส มีเสียงดังจะมีระบบตัดสัญญาณ ไม่มีการเคลื่อนไหวไฟจะดับอัตโนมัติ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ช่างทำการซ่อมบำรุงอาคารจะต้องรู้ และต้องตัดระบบต่างๆให้เรียบร้อยก่อนทำการใดๆ ไม่ยึดหลักความปลอดภัยในการทำงาน ประมาทเลินเล่อ เอาชีวิตคนไปสังเวยกับการทำงานที่ไม่เป็นระบบไม่เป็นมืออาชีพ เรื่องนี้ต้องมีคนรับผิดชอบ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท