Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลเรียกร้องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเข้ามาทำคดี เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดคดีฆาตกรรมนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินมาลงโทษ หลังศาลพิพากษายกฟ้อง

16 มี.ค. 2559 เมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ icj.org ของคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล( International Commission of Jurists - ICJ) ได้เผยแพร่แถลงการณ์ขององค์กรกรณีศาลเวียงสระยกฟ้องจำเลยในคดีฆาตกรรมนักต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดิน นายใช่ บุญทองเล็ก สมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) โดยระบุว่า คำพิพากษายกฟ้องจำเลยข้อหาฆาตกรรมนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดิน ‘นายใช่ บุญทองเล็ก’ วันนี้ เป็นการเน้นย้ำว่ารัฐบาลไทยจำเป็นต้องปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศโดยเร่งด่วน 

นอกจากคดีฆาตกรรมนายใช่ บุญทองเล็ก สมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) แล้ว ยังมีนักกิจกรรมของสกต.อีก 3 รายที่ถูกฆาตกรรม ได้แก่ นายสมพร พัฒนภูมิ (พ.ศ. 2553) รวมถึงนางมณฑา ชูแก้วและนางปราณี บุญรักษ์ (พ.ศ. 2555) อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏว่าผู้มีได้รับการลงโทษในคดีฆาตกรรมดังที่กล่าวมาข้างต้น มีรายงานระบุว่าสาเหตุมาจากตำรวจไม่มีหลักฐานเพียงพอ 

“การยกฟ้องในวันนี้เป็นการเน้นย้ำความต้องการอย่างเร่งด่วนให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเข้ามาสืบสวนการฆาตกรรมนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินในภาคใต้ที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ” นายคิงสลี่ย์ แอ๊บบ๊อต (Kingsley Abbott) ที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศของไอซีเจ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

สำหรับ นายใช่ บุญทองเล็ก ถูกฆาตกรรมเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2558 โดยนับเป็นนักกิจกรรมของสกต. รายที่ 4 เเล้วที่ถูกฆาตกรรมตั้งแต่ พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา ทั้งนี้ นักกิจกรรมทั้งหมดทุกรายล้วนเคยสนับสนุนเรื่องสิทธิในที่ดินของชาวนาที่มีฐานะยากจน ซึ่งเป็นผู้ขัดเเย้งกับรัฐบาลเเละบริษัท จิวกังจุ้ยพัฒนา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันปาล์ม

“การยกฟ้องในวันนี้ หมายความว่า ไม่มีผู้ใดเลยที่ต้องรับผิดชอบต่อการฆาตกรรมนายใช่ บุญทองเล็ก รวมทั้งยังเป็นตัวสะท้อนถึงความล้มเหลวในการนำผู้ที่ต้องรับผิดทางอาญาต่อนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนเข้ามาลงโทษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่พยายามส่งเสริมสิทธิทางด้านสังคมเเละเศรษฐกิจของประเทศไทย” นายคิงสลี่ย์ฯ กล่าว นอกจากนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “ไอซีเจขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้นำความยุติธรรมเเละการเยียวยามาสู่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน”

โดยเมื่อวันที่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมา ศาลเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี  มีคำสั่งยกฟ้องนายสันติ วรรณทอง จำเลยที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ขี่รถมอเตอร์ไซค์ยิงนายใช่ บุญทองเล็ก อายุ 61 ปี สมาชิกสกต. ด้วยอาวุธปืนหกนัด จนเป็นเหตุให้นายใช่เสียชีวิตต่อหน้าครอบครัว ในชุมชนคลองไทรพัฒนา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนผู้ต้องสงสัยสองรายที่ถูกจับกุมในเบื้องต้นไม่ได้ถูกฟ้อง   

แถลงของไอซีเจยังระบุว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษมีอํานาจรับผิดชอบคดีอาญาที่มีลักษณะ “พิเศษ” รวมถึงคดีที่มีความซับซ้อนซึ่งต้องใช้วิธีสอบสวนแบบพิเศษ, อาชญากรรมที่กระทําโดยกลุ่มองค์กรอาชญากรรม และคดีที่ผู้ต้องหาเป็น “ผู้มีอิทธิพล” ผลคำพิพากษาในวันนี้ออกมาว่าพยานฝ่ายโจทก์ไม่สามารถระบุตัวจำเลยได้อย่างเเม่นยำ รวมถึงปลอกกระสุนปืนและปืนที่รวบรวมมาจากบ้านของจำเลยไม่สามารถระบุว่าเป็นอันเดียวกันกับปลอกกระสุนปืนเเละปืนที่ใช้ยิงนายใช่ บุญทองเล็กได้

ครอบครัวของนายใช่ได้เเจ้งกับทางไอซีเจว่าต้องการที่จะอุทธรณ์ผลคำพิพากษา โดยมีระยะเวลายื่นอุทธรณ์อยู่ที่ 30 วัน

ด้านพยานในคดีนี้และสมาชิกของสกต.กลัวว่าจะมีการทำร้ายเกิดขึ้นอีก นายสุรพล สงฆ์รัก แกนนำของสกต. บอกกับไอซีเจว่า “ผู้กระทำความผิดซึ่งทางชุมชนเชื่อว่าอาจมีความเชื่อมโยงกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นนั้นยังอยู่ในพื้นที่ซึ่งหมายความว่าการฆาตกรรมครั้งต่อไปอาจเกิดขึ้นได้”

ไอซีเจขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดูแลความปลอดภัยของพยานและนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนทุกคนรวมถึงสมาชิกสกต.ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ข้อมูลพื้นหลัง

นายสันติ วรรณทอง ถูกตั้งข้อหาดังต่อไปนี้ ได้แก่ ฆ่าผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย (มาตรา 288 ประมวลกฎหมายอาญา), ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน (มาตรา 289 ประมวลกฎหมายอาญา), ครอบครองอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต (มาตรา 371 ประมวลกฎหมายอาญา), รวมทั้งครอบครองเครื่องกระสุนปืนเพื่อประกอบอาวุธโดยไม่ได้รับอนุญาต (มาตรา 7, 8, และ 72 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490)

สกต.เริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2551 และทำงานรณรงค์เรื่องสิทธิในพื้นที่เกษตรกรรมในพื้นที่คลองสายพัฒนาเเละเปรมทรัพย์ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมทั้งพื้นที่อื่น ๆ ในภูมิภาคด้วย

ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights หรือ  ICESCR) เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 คณะกรรมการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ได้ทบทวนสถานการณ์เรื่องการฆาตกรรมนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นการเฉพาะ โดยคณะกรรมการฯได้เร่งรัดให้ประเทศไทย “รับเอามาตรการที่จำเป็นทั้งปวง เพื่อคุ้มครองนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงผู้ที่ทำงานเพื่อปกป้องสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม จากการกระทำใด ๆ เเละการกระทำทั้งหมดที่เป็นการข่มขู่ การคุกคามรวมไปถึงการฆาตกรรม ทั้งให้ประกันว่าผู้กระทำผิดในการกระทำดังที่กล่าวมาจะถูกนำมาสู่กระบวนการยุติธรรม”พันธกรณีในการปกป้องสิทธิในชีวิตรวมถึงสิทธิอื่น ๆ ของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่ทำงานด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมทั้งพันธกรณีในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มีประสิทธิภาพนั้นเป็นหน้าที่ของประเทศไทย ภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ซึ่งได้รับการยอมรับเป็นมาตรฐานของสหประชาชาติจำนวนมาก ในการปกป้องสิทธินักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net