จับตาพิพากษาคดีหมิ่นประมาททางเฟซบุ๊ก นักอนุรักษ์ต้านนำขี้เถ้าถ่านหินทำปะการังเทียม


ภาพจาก iLaw

เพจiLaw รายงานว่า วันพรุ่งนี้ (17 มีนาคม 2559) ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช นัดอ่านคำพิพากษา คดีกำพล จิตตะนัง ผู้ประสานงานศูนย์จัดการภัยพิบัติพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมวัย 41 ปี ถูก ผศ.พยอม รัตนมณี นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ฟ้องดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทและมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์หลังโพสต์ข้อความแสดงความเห็นคัดค้านการนำขี้เถ้าถ่านหินมาเป็นส่วนผสมของปะการังเทียมทิ้งทะเลเพื่อใช้ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง

ข้อความที่กำพลถูกกล่าวหาในคดีมี 2 ข้อความที่ระบุถึงนักวิชาการที่ฟ้องร้อง ข้อความที่หนึ่งมีใจความทำนองว่า การศึกษาวิจัยว่าการนำขี้เถ้าถ่านหินมาทำเป็นปะการังเทียมถมทะเลนั้นมีส่วนที่ได้รับผลประโยชน์จำนวน 2,800 ล้านบาทข้อความที่สองมีใจความทำนองว่า การแปรรูปขี้เถ้าถ่านหินเป็นปะการังเทียมและนำมาทิ้งที่ทะเลภาคใต้ดังกล่าวจะทำให้เกิดความเสียหายต่อท้องทะเล

ช่วงตุลาคม 2557 ผศ.พยอมยื่นฟ้องกำพลความผิดฐานหมิ่นประมาทและความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯต่อศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างนัดไต่สวนมูลฟ้อง ศาลพยายามให้คู่ความทั้งฝ่ายกำพลและพยอมประณีประนอมยอมความมกัน แต่ก็ไม่เป็นผล กระทั่งศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชนัดสืบพยานช่วงกุมภาพันธ์ 2559 ฝ่ายโจทก์มีพยาน 2 ปาก และฝ่ายจำเลยมีพยานทั้งสิ้น 6 ปาก และต่อมาศาลนัดฟังคำพิพากษา 17 มีนาคม 2559
ก่อนวันพิพากษาไอลอว์สัมภาษณ์กำพลถึงแง่มุมชีวิตนอกจากเรื่องต่อสู้คดี เขามีแรงบันดาลใจ ไฟฝันที่จะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และชีวิตการงาน ในวันที่ตกเป็นจำเลย ตอนหนึ่งในบทสัมภาษณ์ระบุว่า

“ในช่วงกันยายน 2557 กำพลได้รับแจ้งจากชาวบ้านชุมชนปากพญา ตำบลท่าชัก  อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราชว่า มีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เดินทางมาทำประชาคมว่าจะให้นำขี้เถ้าถ่านหินมาผสมเป็นปะการังเทียมทิ้งทะเลเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เขาจึงศึกษาข้อมูลเรื่องขี้เถ้าถ่านหินและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อพบว่าหากมีโครงการดังกล่าวจริง สิ่งแวดล้อมบริเวณพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช บ้านหลังที่สองของกำพลตลอด 16 ปีที่ผ่านมาจะได้รับผลกระทบ กำพลจึงตัดสินใจโพสต์ข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์เพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ให้คนในพื้นที่ จนกระทั่งมาโพสต์ข้อความที่ทำให้เขาถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทและคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ”

“กำพลเปิดเผยว่า ที่ถูกดำเนินคดีครั้งนี้ไม่ได้กระทบเรื่องทำงานในฐานะเจ้าหน้าที่โครงการปกป้องพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มากนัก แต่ที่กระทบมากคือการเคลื่อนไหวด้านการอนุรักษณ์สิ่งแวดล้อม หลังถูกดำเนินคดี ทนายของกำพลซึ่งมาจากสภาทนายความแนะนำให้กำพลยุติการเคลื่อนไหวเพื่อป้องกันการถูกฟ้องคดีเพิ่มเติม นอกจากนี้หากเขายังคงเคลื่อนไหวต่อไปก็อาจมีผลต่อรูปคดีเพราะศาลอาจมองว่ากำพลเป็นคนที่ชอบสร้างปัญหา หลังถูกดำเนินคดีเพื่อนของกำพลยังแนะนำด้วยว่าให้ไว้ผมสั้นแทนผมยาวเพื่อภาพลักษณ์ที่ดีในการขึ้นศาล”

“สำหรับโอกาสชนะคดี กำพลยอมรับว่าในฐานะคนที่ต่อสู้คดีย่อมมีความหวังว่าจะชนะอยู่บ้าง แต่ไม่ว่าจะชนะคดีหรือไม่ก็ไม่สำคัญเท่าการที่คดีนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมจากขี้เถ้ากลายเป็นประเด็นที่มีคนรับรู้และตระหนักในความสำคัญมากขึ้น ล่าสุดสมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยก็ออกมาคัดค้านการนำขี้เถ้าถ่านหินมาทิ้งทะเลในทุกกรณี”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท