Skip to main content
sharethis

16 มี.ค. 2559 รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ (16 มี.ค.59) เครือข่ายภาคประชาสังคมในกระบวนการการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทย (Thailand CSO Coalition for Universal Periodic Review - UPR) ซึ่งมีสมาชิกจาก 22 ประเด็นเครือข่ายได้เรียกร้องรัฐบาลไทยให้ดำเนินการตามพันธกรณีและคำมั่นสัญญาในการเคารพ ปกป้องคุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนซึ่งให้ไว้ในการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนรอบที่ 1 ในปี 2554

ในการประชุม UPR Info’s Pre-Session ที่สถานทูตสวิตเซอร์แลนด์  กรุงเทพฯ ผู้แทนเครือข่ายฯได้นำเสนอและเรียกร้องต่อผู้แทนทูตประเทศต่างๆ ให้มีการให้ข้อแนะนำที่จะนำมาซึ่งการเคารพ ปกป้องคุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนแก่รัฐไทย โดยให้สะท้อนจากเสียงของภาคประชาสังคมอย่างแท้จริง

สำหรับกระบวนการ UPR นั้นเป็นกลไกภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council- HRC) เป็นหนึ่งกลไกที่ประชาคมโลกจะได้มีการพิจารณาและให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐไทยในการปกป้อง คุ้มครองสิทธิมนุษยชน ซึ่งกระบวนการนี้กำหนดให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั้ง 192 ประเทศ จะต้องจัดทำรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศ เพื่อเสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนโดยไม่มีข้อยกเว้น ซึ่งการทบทวนของแต่ละประเทศจะมีขึ้นทุกๆ 4 ปี โดยเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมในประเทศต่างๆ ได้นำเสนอสถานการณ์และข้อเสนอแนะด้วย สำหรับประเทศไทยในวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 นี้ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจะทำการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งทางเครือข่ายฯ จะได้ทำการติดตามเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ารัฐไทยจะรับข้อเสนอแนะต่างๆ และดำเนินการในการเคารพ ปกป้องคุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง

รายงานข่าวยังแจ้งด้วยว่า ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่จะได้มีการทบทวนในเดือนพฤษภาคมนี้ มีหลากหลายประเด็นไม่ว่าจะเป็น สิทธิในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิในชีวิต การทรมาน การบังคับสูญหาย การจัดการทรัพยากรของชุมชน สิทธิสตรี เด็ก ความหลากหลายทางเพศ ชนเผ่าพื้นเมือง คนไร้รัฐ ผู้ลี้ภัย แรงงานข้ามชาติ ผู้สูงอายุ ผู้ติดเชื้อ การค้ามนุษย์ สถานการณ์ชายแดนใต้ ฯลฯ

รายละเอียดเพิ่มเติมแต่ละประเด็น : 

การจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ผ่านมา “อำนาจการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ”ถูกผูกขาดโดยรัฐบาล กฎหมาย และนโยบายที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม หลังการรัฐประหารคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ได้ออกคำสั่ง ฉบับที่ 64/2557 และ 66/2557 ตามแผนแม่บทป่าไม้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐบังคับไล่รื้อชุมชนออกจากพื้นที่ทำกินโดยไม่มีการจัดสรรที่อยู่ให้ใหม่ ทำลายผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้าน นอกจากนั้นยังออกคำสั่ง ฉบับที่ 3, 4 และ 9/2559 ยกเว้นกฎหมายผังเมือง สนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ นโยบายพลังงาน ทั้งเรื่องปิโตรเลียม และโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเปิดช่องให้ดำเนินโครงการกว่า 70 โครงการ เช่น เขื่อน การคมนาคม ฯลฯ โดยไม่ต้องรอผลการอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) รวมทั้งการเดินหน้า พระราชบัญญัติแร่ พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ และพระราชบัญญัติปิโตรเลียมที่ลดขั้นตอนการอนุมัติและสกัดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยอาศัยอำนาจจากกฎหมายพิเศษจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก และการชุมนุมอย่างสันติ เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของชาวบ้านทั้งจากกฎอัยการศึก มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงแห่งชาติ พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ การใช้อำนาจเรียกตัวชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิไปปรับทัศนคติ รวมทั้ง การข่มขู่คุกคาม จากเจ้าหน้าที่รัฐ ทหาร ตำรวจ ซึ่งพบว่าปัญหาการคุกคามยิ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เช่น ปรากฏการณ์การประทะกันระหว่างทหารกับชาวลาหู่ และการใช้กำลังของกลุ่มทุนกับ ชาวเลจากหาดราไวย์เป็นต้น

รัฐไทยควรจะเพิกถอนโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตชุมชน ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในกลไกและกระบวนการตัดสินใจในการบริหารจัดการทรัพยากรทั้งในระดับนโยบายและระดับท้องถิ่น ชุมชนจะต้องเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับโครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนก่อนการดำเนินโครงการ ผู้ที่ได้รับผลกระทบต้องได้รับการคุ้มครอง ชดเชยเยียวยาจากรัฐและผู้ประกอบการอย่างเป็นธรรม

สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง: หลังการรัฐประหารปี 2557 สถานการณ์สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเริ่มเลวร้ายลง อันเป็นผลจากการบังคับใช้กฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน  โดยมีการจับกุมและดำเนินคดีผู้แสดงออกอย่างสันติและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน การทรมาน การใช้โทษประหารชีวิต และการบังคับบุคคลให้สูญหาย รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ ผู้กระทำความผิดกลับไม่ได้รับโทษตามกระบวนการยุติธรรม

หลังการรัฐประหาร มีการใช้กฎหมาย เช่น กฎอัยการศึกและประกาศคำสั่งคสช. ที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นของสื่อและประชาชน มีการเรียกผู้เห็นต่างจากรัฐไปปรับทัศนะคติและควบคุมตัวด้วยอำนาจพิเศษ ซึ่งผู้ถูกควบคุมตัวบางส่วนอ้างว่ามีการซ้อมทรมานระหว่างการควบคุมตัว มีการประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร มีการฟ้องหมิ่นประมาทด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112และ116 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 โดยมีการฟ้องคดี 112 อย่างน้อย 30 คดี และมีการดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืนประกาศคสช. ด้วยการแสดงออกโดยสันติอย่างน้อย 50 คน

สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีเหตุความไม่สงบมามากว่า 12 ปี   โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายพิเศษสามฉบับ คือ กฎอัยการศึก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน  และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร  อันเป็นผลให้มีการจับกุมพลเรือนตามอำเภอใจและการควบคุมตัวเป็นเวลามากถึง 37 วัน โดยไม่นำผู้ละเมิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม  นอกจากนี้ ยังมีการบังคับตรวจดีเอ็นเอ โดยเฉพาะล่าสุด มีการตรวจดีเอ็นเอของเด็กอายุห้าเดือน   รวมถึงมีการทรมานอย่างเป็นระบบและกว้างขวาง อย่างน้อย 54 ราย ตามบันทึกสถิติปี 2557- 2558  และการบังคับบุคคลให้สูญหาย 5 ราย ในปี 2554-2559

รัฐจะต้องยกเลิกหรือทบทวนการบังคับใช้กฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน เปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพชายแดนภาคใต้  นำผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อขจัดปัญหาการลอยนวลพ้นผิด ลงนามและให้สัตยาบันตราสารระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชนทั้ง 9 ฉบับ และอนุวัติกฎหมายภายในประเทศให้สอดคล้องกับตราสารดังกล่าว

กลุ่มเปราะบางในสังคม: การที่ไม่มีสถานะทางกฎหมายของชนเผ่าพื้นเมือง ชนกลุ่มน้อย คนไร้สัญชาติ ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย / ผู้ลี้ภัย  ทำให้เขาเหล่านั้นต้องเผชิญการเลือกปฏิบัติเนืองๆอยู่บ่อยครั้งและมีความเสี่ยงต่อการถูกจับกุมกักกันการผลักดันสู่ภยันตราย (refoulement) และการแสวงประโยชน์ทั้งยังประสบปัญหาการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน การเข้าถึงกระบวนยุติธรรมได้อย่างจำกัดและสามารถแสวงหาการเยียวยาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้เพียงเล็กน้อย

รัฐจะต้องรับรองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองไว้ในรัฐธรรมนูญ และรับรองร่าง พ.ร.บ. สภาชนเผ่าพื้นเมือง ตามกลไกสภานิติบัญญัติเพื่อส่งเสริมสิทธิชุมชนในการจัดการตนเองยกเลิกกฎหมายและนโยบายที่กระทบต่อวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง

รัฐจักต้องจัดทำและดำเนินการในการกำหนดขั้นตอนการขอสิทธิที่จะมีที่ลี้ภัย และจัดให้ผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัยได้รับรองสถานะให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ แก้ไขนโยบายการควบคุมตัวเพื่อประกันว่า รัฐจะใช้วิธีควบคุมตัวผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัยเฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้นแต่จะใช้มาตรการทดแทนอื่นๆ แทนการควบคุมตัว และต้องเคารพมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการส่งกลับ ซึ่งต้องเป็นไปโดยสมัครใจ อย่างมีศักดิ์ศรีและปลอดภัย

สิทธิแรงงาน และการค้ามนุษย์ : แรงงานข้ามชาติประสบปัญหาในการขึ้นทะเบียน เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง ส่งผลให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิแรงงานตามกฎหมายที่มีอยู่ในประเทศไทย เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ร.บ.กองทุนเงินทดแทน และพ.ร.บ. กองทุนประกันสังคม ไม่สามารถรวมตัวกันจัดตั้งองค์กรของตนเองได้ รัฐไทยควรต้องแก้ไขกฎหมาย และแนวปฏิบัติที่นำไปสู่การเข้าถึงสิทธิของแรงงานข้ามชาติ เช่น ประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน ประกันสุขภาพ เสรีภาพในการจัดตั้งแรงงาน และการเจรจาต่อรอง การจัดให้มีล่ามในสถานบริการของรัฐ รวมถึง พ.ร.บ.ค้ามนุษย์ โดยขยายความไปถึงกลุ่มที่เป็นแรงงานขัดหนี้ นอกจากนี้รัฐจะต้องลงนามในอนุสัญญาสำคัญ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของผู้โยกย้ายถิ่นและครอบครัว รับรองอนุสัญญามาตรฐานแรงงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98

สิทธิเด็ก:รัฐบาลไทยได้ดำเนินการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของเด็กอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ของเด็ก โดยเฉพาะเกี่ยวกับการลงโทษทางร่างกาย ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567 ห้ามมิให้มีการลงโทษทางร่างกายแก่เด็กในทุกสถานการณ์ และการไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีต้องรับผิดทางอาญา ซึ่งต้องแก้ไข มาตรา 73 ประมวลกฎหมายอาญา โดยเพิ่มอายุขั้นต่ำจาก 10 ปี เป็น 12 ปี เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งกำหนดโดยคณะกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาติ

สิทธิผู้พิการ: ยังคงถูกเลือกปฏิบัติ  ถูกกีดกันด้านแรงงาน ไม่สามารถเข้าถึงสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวก รัฐควรบังคับใช้กฎหมายทั้ง 4 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของคนพิการ ให้มีประสิทธิภาพ ขจัดความไม่โปร่งใส และส่งเสริมธรรมาภิบาลรวมทั้งต้องเร่งสนับสนุนการจัดตั้งและพัฒนาศูนย์บริการคนพิการทั่วไปที่ดำเนินการโดยองค์กรด้านคนพิการ

ผู้สูงอายุนั้นยังคงขาดความรู้และการเข้าถึงสิทธิและสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้รับ ตาม พรบ.ผู้สูงอายุ ปี 2546 รัฐควรที่จะผลักดันให้เกิดการบูรณาการนโยบาย ของ 6 กระทรวงหลัก และ 2 หน่วยงาน สนับสนุนการดำเนินการ รวมทั้งให้รัฐบาลไทยได้สนับสนุนการปฏิบัติตามกฎบัติอาเซียน ที่ประกาศไว้ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ “การเสริมสร้างพลังผู้สูงอายุในอาเซียน” และสนับสนุนให้มีปฏิญญาสากลระหว่างประเทศด้านผู้สูงอายุ

สิทธิของผู้หญิง:การบังคับใช้กฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศ ที่มีการประกาศใช้เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2558เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงตามมาตรา 17 วรรคสอง ซึ่งยังมีข้อยกเว้นการกระทำเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ และตามหลักการศาสนา เป็นการ เปิดช่องให้มีการตีความการบังคับใช้กฎหมายไปในทางที่ไม่สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนรัฐไทยจึงจำเป็นจะต้องยกเลิกมาตรา 17 วรรคสอง ในพระราชบัญญัตินี้

สิทธิในอัตลักษณ์ทางเพศ และเพศวิถีที่หลากหลาย :จากการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่ระบุถึงการคุ้มครองสิทธิในประเด็นเรื่องเพศภาวะไป ทำให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ได้รับการคุ้มครอง ดังนั้นรัฐไทยจะต้องคงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญซึ่งมีหลักประกัน ห้ามการเลือกปฏิบัติด้วยอัตลักษณ์ทางเพศและเพศวิถี เปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกกฎหมายและนโยบาย เพื่อให้มีการคุ้มครองสิทธิบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ ทั้งในเรื่องสิทธิการคุ้มครองการถูกรังแกและการไม่ถูกเลือกปฏิบัติในสถานศึกษา สิทธิในการรับรองสถานะของบุคคลข้ามเพศ   และการรับรองสถานะคู่ชีวิตของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

สิทธิของพนักงานบริการ:รัฐไทยยังคงบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี 2539 ซึ่งส่งผลให้พนักงานบริการเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ไม่ได้รับการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ถูกตีตรา ละเมิดสิทธิ และเลือกปฏิบัติ นอกจากนี้ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ยังมองพนักงานบริการ เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์  และมีการใช้กฎหมายในเชิงลงโทษมากกว่าคุ้มครองสิทธิของพนักงานบริการ  ดังนั้นรัฐไทยจะต้องยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี และยกเลิกข้อความตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 4 “แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการค้าประเวณี” 

สิทธิของผู้หญิงที่ใช้สารเสพติดชนิดฉีด:ผู้ที่ใช้สารเสพติดชนิดฉีด ยังคงได้รับผลกระทบจากพระราชบัญญัติยาเสพติด พ.ศ.2522 และ พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545 ที่มีบทลงโทษผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด หรือส่งตัวผู้ใช้สารเสพติดไปเข้ารับการบำบัด  ในกรณีของผู้หญิงที่ใช้สารเสพติดชนิดฉีด ยังไม่ได้รับการคุ้มครองกรณีที่ถูกเจ้าหน้าที่ล่วงละเมิดทางเพศ หรือ เสนอให้ผู้หญิงมีเพศสัมพันธ์ เพื่อแลกกับการปล่อยตัว นอกจากนี้เมื่อผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 เนื่องจากจะถูกดำเนินคดีตามพรบ.ยาเสพติด พ.ศ.2522 ก่อน  รัฐไทยจะต้องปรับปรุง แก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติด พ.ศ.2522  ทั้งสองฉบับ ให้คุ้มครองสิทธิของผู้ที่ใช้สารเสพติดอย่างแท้จริง

ประเทศไทยมีจำนวนผู้หญิงอยู่ในเรือนจำเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน จากสถิติพบว่าร้อยละ 80 ของผู้ต้องขังหญิงต้องคดียาเสพติด เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมของไทยไม่มีความละเอียดอ่อนในเพศสภาพของผู้หญิง รัฐจึงต้องจัดทำระเบียบเพื่อให้สามารถนำเอาระบบการลงโทษทางเลือกแทนการจำคุกมาใช้เพื่อลดจำนวนผู้หญิงในเรือนจำตามหลักการ Bangkok Rule

สิทธิของผู้หญิง และเยาวชนหญิงที่อยู่ร่วมกับเอชไอวี: ผู้หญิง และเยาวชนหญิง ไม่ได้เป็นกลุ่มที่รัฐให้ความสำคัญในการดำเนินการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี นอกจากนี้ผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับเอชไอวีถูกโน้มน้าวให้ตรวจเลือดเมื่อมาฝากครรภ์ และเปิดเผยผลเลือดกับคู่  รวมถึงถูกโน้มน้าวไม่ให้มีคู่ใหม่ ไม่ให้มีบุตร หรือทำหมัน แม้ว่ารัฐไทยจะประสบความสำเร็จในการป้องกันการถ่ายทอดเอชไอวีจากแม่สู่ลูกก็ตาม   รัฐไทยควรจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอสำหรับการป้องกันผู้หญิงในการรับเชื้อเอชไอวีและสนับสนุนการขจัดการเลือกปฏิบัติในประเด็นเอชไอวีโดยเฉพาะต่อผู้หญิง และเยาวชนหญิง

สิทธิในการเข้าถึงการทำแท้งอย่างปลอดภัย: กฎหมายของประเทศไทยเปิดโอกาสให้มีการทำแท้งได้ แต่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการเพราะอคติของผู้ให้บริการ ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถเข้าถึงการทำแท้งอย่างปลอดภัย นอกจากนี้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ยังคงระบุถึงความผิดและมีบทลงโทษผู้หญิงที่ทำแท้ง รัฐไทยจะต้องยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 301

 

รายละเอียดสถานการณ์และข้อเสนอแนะในประเด็นสิทธิมนุษยชนต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่ https://www.amnesty.or.th/news/press/773

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net