Skip to main content
sharethis

 

สปส.จ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานให้ผู้ประกันตนเดือนละกว่า 1 แสนคน งบ 350-450 ล้านบาท/เปิดผลสำรวจบริษัทไทยขึ้นเงินเดือนให้พนักงาน 5-7% แม้ศก.ซบเซา/นายกแนะบัณฑิตใหม่อย่าเลือกงาน สั่งเกาะติดสถานการณ์แรงงาน/เอกชนระนอง ห่วงวิกฤติแรงงานภาคเกษตรขาด ชี้ชัดโรงงานอุตสาหกรรมประมงโคม่า เหตุต่างด้าวไม่นิยมงานหนัก-เหนื่อย-ค่าจ้างต่ำ ฯลฯ

 

สปส.เร่งออกมาตรการยกคุณภาพชีวิตแม่บ้าน
 
นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า ตามที่เครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านแห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือต่อสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพื่อเรียกร้องขอเข้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 โดยอ้างอิงคำนิยามของ "ลูกจ้าง" หมายความว่า ผู้ซึ่งทำงานให้นายจ้าง โดยรับค่าจ้าง ซึ่งบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 นั้น ขอเรียนว่าสำนักงานประกันสังคมคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานทุกกลุ่ม จึงได้ออกแบบระบบประกันสังคมให้มีความครอบคลุมทั้งมาตรา 33 , 39 และ 40
 
นายโกวิท กล่าวต่อว่า ในส่วนของอาชีพแม่บ้านและลูกจ้างภาคการเกษตรเป็นอาชีพที่สำนักงานประกันสังคมมีความห่วงใยไม่แพ้อาชีพอิสระอื่นๆ อย่างไรก็ดีพระราชกฤษฎีกากำหนดลูกจ้างตามมาตรา4 (6) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม ซึ่งประกาศใช้เมื่อปี 2545 ได้กำหนดให้ลูกจ้าง 8 ประเภทกิจการ โดยรวมถึงอาชีพแม่บ้านและลูกจ้างภาคการเกษตรกร ไม่สามารถเข้ามาเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และ39 ได้ ดังนั้นในเบื้องต้นสำนักงานประกันสังคมจะส่งเสริมให้คนกลุ่มนี้เข้ามาเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเต็มที่และมีหลักประกันชีวิตที่ดีในอนาคต
 
 
เปิดผลสำรวจบริษัทไทยขึ้นเงินเดือนให้พนักงาน 5-7% แม้ศก.ซบเซา
 
น.ส.พิชญ์พจี สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 ได้สำรวจอัตราเงินเดือนจากบริษัทคู่ค้า 226 บริษัท ตามกลุ่มอุตสาหกรรมทั่วไป กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า/พลังงาน กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และไฮเทค กลุ่มบริหารสินทรัพย์ กลุ่มบริหารการเงิน และกลุ่มประกันชีวิต/ประกันภัย เพื่อสรุปเป็นผลสำรวจความเคลื่อนไหวของอัตราเงินเดือน 2558-2559 พบว่าการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับลูกจ้างในกลุ่มอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ในปีนี้ จะเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อน แม้ว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ละบริษัทจะปรับรูปแบบการให้เงินเดือนที่เหมาะสมกับพนักงาน โดยจ่ายตามประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน คาดว่าจะมีการปรับระหว่าง 5-7% โดยคาดการณ์ว่ากลุ่มไฟฟ้า/พลังงานจะปรับเพิ่มสูงสุดคือ 7.0% รองลงมาเป็นกลุ่มประกันชีวิตและกลุ่มบริหารสินทรัพย์ 6% กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วไป 5.7% กลุ่มอุตสาหกรรมไฮเทค 5% กลุ่มบริหารการเงิน 5.5% กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ 5.3% และกลุ่มประกันภัย 5%
 
น.ส.พิชญ์พจี กล่าวว่า จากผลสำรวจพบว่ามีผู้จบการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรี 62% รายได้จะอยู่ในช่วง 9,000-12,500 บาทต่อเดือน ปริญญาตรี 31% รายได้จะอยู่ในช่วง 15,000-21,000 บาทต่อเดือน ระดับปริญญาโทและเอก 7% รายได้จะอยู่ในช่วง 18,600-31,400 บาทต่อเดือน และระดับปริญญาเอก 27,200-51,200 บาทต่อเดือน โดยเฉพาะในสายงานด้านวิศวกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ การเงินและบัญชี ซัพพลายเชนและบริหารธุรกิจ โดยปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ลูกจ้างทำงานอยู่ในบริษัทนั้นๆ พบว่ามีอยู่ 3 ประการ คือ 1.รายได้มีความเหมาะสม สามารถแข่งขันได้ 2.งานมีความก้าวหน้า สามารถเลื่อนตำแหน่งหรือพัฒนาตัวเองได้ และ 3.ปัจจัยจากหัวหน้างาน และมีค่าเฉลี่ยอายุงานของจำนวนพนักงานประมาณครึ่งหนึ่งของบริษัท มีอายุงานประมาณ 1-5 ปี อย่างไรก็ตาม กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเข้า-ออกของพนักงานสูงจะเป็นบริษัทที่มีอัต รการเติบโตสูงภายในเวลาอันรวดเร็ว รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมประกันชีวิต/ประกันภัยด้วย
 
 
“เซเว่น อีเลฟเว่น” ส้มหล่น หลังกรมการจัดหางานอำนวยความสะดวกในการรับชำระเงินค่าธรรมเนียมการอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าว
 
กระทรวงแรงงานไฟเขียวแรงงานต่างด้าว 3 ล้านคน จ่ายค่า ธรรมเนียมต่อใบอนุญาตทำงานผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสเซเว่น อีเลฟเว่น อธิบดีกรมการจัดหางานยันไม่ได้เอื้อประโยชน์ทางธุรกิจ แต่เจตนาอำนวยความสะดวกลูกจ้าง-นายจ้าง เพราะมีทุกหัวระแหงทั่วประเทศ ไม่ต้องเข้าคิวต่อแถวยาวเหมือนเก่า แถมยังเป็นการตัดช่องทางเรียกรับผลประโยชน์ ด้านบริษัทเคาน์เตอร์ฯเผยความพร้อม มีร้านทั่วประเทศหมื่นสาขา รองรับคลื่นแรงงานต่างด้าวใช้เวลาจ่ายต่อคนไม่เกิน 1 นาที
 
“เซเว่น อีเลฟเว่น” ส้มหล่น หลังกรมการจัดหางานอำนวยความสะดวก ในการรับชำระเงินค่า ธรรมเนียมการอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าว ทั้งนี้ ที่โรงแรมเดอะบาซาร์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 มี.ค. นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) และนายวีรเดช อัครพานิช รองกรรมการผู้จัดการบริษัทเคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด ร่วมลงนามความในบันทึกข้อตกลง การชำระค่าธรรมเนียมการอนุญาตทำงานของแรงงาน 3 สัญชาติ คือ เมียนมา ลาว และกัมพูชา ผ่านจุดบริการรับชำระเงินหรือ เคาน์เตอร์เซอร์วิส ในเซเว่น อีเลฟเว่น ทุกสาขาทั่วประเทศ
 
นายอารักษ์กล่าวว่า เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ครม. มีมติเห็นชอบการดำเนินการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่จะครบกำหนดผ่อนผันอยู่ในประเทศ ในวันที่ 31 มี.ค. โดยให้ผ่อนผันต่ออายุแรงงานที่มีใบอนุญาตทำงานแล้ว ไม่ใช่กลุ่มที่ลักลอบ เข้ามาใหม่ ได้แก่ กลุ่มที่จดทะเบียน มีบัตรสีชมพู ตามนโยบาย คสช.เมื่อปี 2557 ซึ่งจะครบกำหนดให้อยู่ในประเทศในวันที่ 31 มี.ค. ผู้ติดตามที่เป็นบุตรของแรงงานต่างด้าวอายุไม่เกิน 18 ปี และกลุ่มที่มีเอกสารที่ประเทศต้นทาง ออกให้จากการตรวจ สัญชาติในเบื้องต้น มีจำนวนกว่า 3 ล้านคน ในจำนวน นี้ไม่รวมแรงงานต่างด้าว กลุ่มที่เข้ามาทำงานในรูปแบบเอ็มโอยู กลุ่มที่จดทะเบียนในกิจการประมงทะเล และแปรรูปสัตว์น้ำ จะต้องมารายงานตัวเพื่อขอรับบัตรใหม่ตั้งแต่ 1 เม.ย.-29 ก.ค. เพื่ออาศัยและทำงาน ในไทยอีก 2 ปี
 
นายอารักษ์กล่าวด้วยว่า กรมการจัดหางาน ได้เพิ่มช่องทางรับชำระค่าธรรมเนียมผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนายจ้าง สถาน ประกอบการ และลูกจ้างแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ จะทำให้สามารถจ่ายค่าธรรมเนียมได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ต้องเข้าคิวต่อแถวยาว รวมทั้งยังสามารถทำนอกเวลาราชการได้ด้วย นอกจากจะเป็นการอำนวยความสะดวก การเปิดให้จ่ายผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส ยังจะตัดช่องทางในการเรียกรับผลประโยชน์ของกลุ่มคนบางกลุ่มที่เคยทำในอดีต และไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจทั้งสิ้น โดยเคาน์เตอร์ฯ ยอมลดค่าบริการจาก 15 บาท เหลือเพียง 10 บาท
 
อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวด้วยว่า สำหรับขั้นตอนในการดำเนินการ เมื่อแรงงานต่างด้าวผ่านการตรวจสุขภาพ ให้นายจ้างหรือตัวแรงงานต่างด้าวเอง ไปขอชำระค่าธรรมเนียมต่อใบอนุญาตทำงาน ที่จุดให้บริการเคาน์เตอร์เซอร์วิสได้ทุกแห่งทั่วประเทศ โดยมีค่าธรรมเนียมการขออนุญาตทำงาน 1,910 บาท แบ่งเป็นค่ายื่นคำขออนุญาตทำงาน 100 บาท ค่าธรรมเนียมขออนุญาตทำงาน 2 ปี 1,800 บาท และค่าบริการเคาน์เตอร์เซอร์วิส 10 บาท ต่อแรงงาน 1 คน กรณีที่นายจ้างมีแรงงานจำนวนมาก ให้ติดต่อจุดชำระเงินล่วงหน้า เมื่อชำระเงินครบแล้วในสลิปใบเสร็จจะกำหนดวันนัดให้ไปทำบัตรสีชมพู และใบอนุญาตทำงานที่ศูนย์ OSS หรือวันสต็อปเวอร์วิสในพื้นที่ซึ่งมีทุกจังหวัด
 
ด้านนายวีรเดชกล่าวว่า คาดว่าแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่มีกว่า 3 ล้านคน จะจ่ายค่าธรรมเนียมต่อใบอนุญาตทำงาน ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสมากกว่า 50% เพราะยังมีช่องทางจ่ายผ่านสำนักงานจัดหางานจังหวัด แต่การจ่ายผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสจะสะดวกกว่า เพราะจ่ายได้ 24 ชั่วโมง เลิกงานแล้วก็สามารถมาจ่ายได้ ประกอบกับเซเว่น อีเลฟเว่นมีอยู่ทั่วทุกซอย กว่าหมื่นสาขาทั่วประเทศ ค่าบริการก็เพียง 10 บาทเท่านั้น โดยเอกสารที่นายจ้างหรือแรงงานต่างด้าว นำมายื่นจ่ายค่าธรรมเนียมต่อใบอนุญาต จะมีหมายเลขกำหนดตัวบุคคลชัดเจน การจ่ายใช้เวลาไม่ถึงนาทีก็สามารถรับใบเสร็จ จะมีการกำหนดวัน ให้ไปดำเนินการทำบัตรและใบอนุญาตทำงานต่อไป แม้จำนวนคนจะมากแต่มั่นใจว่ารองรับได้ โดยมีการเตรียมความพร้อมพนักงานในทุกสาขา เฉพาะใน จ.สมุทรสาคร ที่มีแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก ก็มีเซเว่น อีเลฟเว่นกว่า 300 แห่ง
 
 
นายกแนะบัณฑิตใหม่อย่าเลือกงาน สั่งเกาะติดสถานการณ์แรงงาน
 
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงสถานการณ์ด้านแรงงานในช่วงต้นปีนี้ ว่า ที่หลายฝ่ายกังวลภาวะภัยแล้งและเศรษฐกิจชะลอตัว จะทำให้เกิดปัญหาการว่างงานมากขึ้นตามไปด้วยนั้น รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้ติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด และเตรียมดำเนินมาตรการต่าง ๆ ตามแผนที่กำหนดไว้ และเร่งรัดมาตรการใหม่ ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้น แม้ตัวเลขการว่างงานในเดือน มกราคม 2559 จะเพิ่มขึ้นจาก ธันวาคม 2558 อันเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลต่อไทย แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วจะพบว่า อัตราการว่างงานลดลงร้อยละ 0.2 และคาดว่าความต้องการแรงงานในปีนี้ยังจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 17.32 จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ
 
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ในช่วงต้นปีนี้รัฐบาลคาดหวังกับมาตรการกระตุ้นการหมุนเวียนของเงินในระบบ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการจ้างงานได้ในระดับพื้นที่ ทั้งการลงทุนตำบลละ 5 ล้านบาท การให้สินเชื่อผ่านกองทุนหมู่บ้านๆ ละ 1 ล้านบาท การลงทุนภาครัฐขนาดเล็ก หรือการให้สินเชื่อแก่ SMEs ส่วนในช่วงกลางปีถึงปลายปียังมีการลงทุนเมกะโปรเจ็คด้านโครงการสร้างพื้นฐาน คมนาคมขนส่ง ชลประทาน ที่อยู่อาศัย ฯลฯ ซึ่งจะมีการจ้างแรงงานจำนวนมาก นอกจากนี้ ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานระบุว่า มีสถานประกอบการแจ้งตำแหน่งงานว่าง จำนวน 39,984 อัตรา ครบคลุมงานด้านการประกอบและบรรจุภัณฑ์ ด้านบริการและการขาย เจ้าหน้าที่ ช่างเทคนิค และงานปฏิบัติการในโรงงานต่าง ๆ ส่วนในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ยังมีความต้องการแรงงานอีกกว่า 2 แสนคน เนื่องจากประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ และมีเป้าหมายในการผลิตรถยนต์ให้ได้ 3 ล้านคันในปี 2563
 
“นายกฯ กำชับให้กระทรวงแรงงานติดตามสถานการณ์ด้านแรงงานอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงที่จะมีบัณฑิตจบใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานจำนวนมาก จึงต้องสร้างความเข้าใจว่าไม่ควรเลือกงาน แต่ต้องพยายามเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองในงานต่าง ๆ ให้ได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ฝึกทักษะอาชีพ ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ตั้งแต่ในระดับครัวเรือน นอกจากนี้ ทุกคนยังสามารถประกอบธุรกิจส่วนตัวเลี้ยงชีพได้อีกทางหนึ่ง โดยรัฐบาลได้ส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ สนับสนุน SMEs จัดทำโครงการ Smart Farmer โครงการ OTOP ฯลฯ เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ที่สนใจด้วย ทั้งนี้ อัตราการว่างงานของไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ และยังได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความสุขเชิงเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก จากดัชนีความทุกข์ยากของสำนักข่าวบลูมเบิร์กส์ ประจำปี 2015” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
 
 
สปส.จ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานให้ผู้ประกันตนเดือนละกว่า 1 แสนคน งบ 350-450 ล้านบาท
 
นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวเลิกจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น ว่า จากข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม พบว่าแต่ละเดือนสำนักงานประกันสังคมได้จ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานให้ผู้ประกันตนที่ลาออกจากงานและถูกเลิกจ้าง โดยเฉลี่ยเดือนละกว่า 1 แสนคน เป็นเงินประมาณ 350-450 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดสะสมของผู้ประกันตนที่มายื่นเรื่องเนื่องจากกรณีลาออกได้รับ 30 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง 90 วัน และกรณีเลิกจ้างรับ 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง 180 วัน
 
จากข้อมูลปี 2558 เดือนมกราคม มีผู้ประกันตนมายื่นรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานกว่า 9 หมื่นคน จากยอดผู้ประกันตนทั้งหมดกว่า 11,130,000 คน โดยในช่วงเดือนกรกฎาคม มีผู้ประกันตนมายื่นรับสิทธิมากที่สุดจำนวนกว่า 135,000 คน มีการจ่ายเงินออกไป 488 ล้านบาท หลังจากนั้นในช่วงเดือนอื่นๆ มียอดผู้ประกันตนมายื่นลดลง ขณะที่ปี 2559 เดือนมกราคม มีผู้ประกันตนมายื่นกรณีว่างงานกว่า 120,000 คน จากยอดผู้ประกันตนกว่า 11,510,000 คน และเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2559 มีผู้ประกันตนเพิ่มขึ้นกว่า 39,000 คน
 
หากเทียบกันแล้วมากกว่าปีที่แล้ว ภาวะว่างงานมีน้อย จำนวนเงินสมทบไม่ได้ลดและผู้ประกันตนที่มาใช้สิทธิกรณีว่างงานมีการหมุนเวียนเข้าสู่ตลาดแรงงาน แสดงให้เห็นว่าการว่างงานอยู่ในภาวะปกติ ผู้ประกันตนว่างงานอยู่ไม่นานก็กลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน หมุนเวียนเป็นปกติโดยเฉพาะคนที่มีฝีมือหางานใหม่ได้ไม่ยากมีงานรองรับอยู่ตลอด แต่หากเลือกงาน เช่น ต้องการเงินเดือนสูงๆ อาจว่างงานนาน
 
 
โฆษกรัฐบาลเผย พ.ร.บ. ธุรกิจรักษาความปลอดภัย ปี 58 มุ่งยกระดับมาตรฐานผู้ประกอบธุรกิจ สร้างเกียรติและศักดิ์ศรีให้เป็นที่ยอมรับ ควบคู่ความปลอดภัยของประชาชน 
 
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่กลุ่มสหพันธ์ธุรกิจรักษาความปลอดภัย ยื่นเรื่องต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลตามกฎหมายเมื่อ 5 มี.ค. 59 ที่ผ่านมา ว่า เหตุผลที่ประกาศใช้กฎหมายนี้ เนื่องจากในปัจจุบันมีผู้ประกอบธุรกิจ รปภ.จำนวนมาก แต่มีมาตรฐานที่ต่างกัน และธุรกิจให้บริการ รปภ.มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชน ทั้งในด้านความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน รวมทั้งส่งผลต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรฐานของบริษัท และเสริมสร้างศักยภาพของพนักงาน รปภ.ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้บริการและสังคมโดยรวม โดยที่ไม่รวม รปภ.ขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก
 
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กฎหมายนี้คำนึงถึงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก ไม่มีเจตนาสร้างความลำบากแก่ผู้ประกอบการหรือพนักงาน รปภ. แต่อยากขอความร่วมมือจากบริษัทต่าง ๆ ในฐานะที่เป็นองค์กรธุรกิจ มีรายได้ เพิ่มการลงทุนอีกจำนวนหนึ่งเพื่อประโยชน์ในระยะยาว โดยจดทะเบียนเป็นบริษัทให้ถูกต้อง ยื่นขอรับใบอนุญาต และปฏิบัติตามมาตรฐานการรักษาความปลอดภัย พร้อมทั้งให้ความร่วมมือกับ จนท.ตำรวจในท้องที่นั้นๆ
 
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ส่วนผู้ที่จะเป็นพนักงาน รปภ. ได้ จะต้องมีสัญชาติไทย จบ ม.3 ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับที่กฎหมายกำหนดไว้อยู่แล้ว เพื่อให้เป็นผู้ที่มีความรู้ในระดับที่เหมาะสม รู้เท่าทันเหตุการณ์ จะได้ปฎิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งต้องได้รับใบอนุญาต และมีหนังสือรับรองการฝึกอบรมหลักสูตร รปภ.ตามกฎหมาย โดยยื่นเรื่องที่ บช.น.หรือ บภ.จว. และไม่มีลักษณะต้องห้าม เช่น ไม่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง หรือติดยาเสพติด ไม่วิกลจริต ไม่เคยถูกจำคุกในคดีร้ายแรง เป็นต้น
 
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทุกวันนี้พนักงาน รปภ.อยู่ใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนมากกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะประจำอยู่ทั้งในสถานที่ทำงานและที่พักอาศัย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดกฎเกณฑ์มาตรฐานของทั้งบริษัทต้นสังกัดและตัวพนักงาน เพื่อให้เกิดความสบายใจแก่ผู้ใช้บริการ อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกผู้ประกอบธุรกิจและพนักงานอาจมีความยุ่งยากบ้าง เพราะจะต้องจดทะเบียนบริษัท ยื่นขอรับใบอนุญาต หรือเข้ารับการฝึกอบรม แต่ขอให้คำนึงถึงประโยชน์ในระยะต่อไปด้วย
 
ทั้งนี้ กฎหมายได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่เป็นพนักงาน รปภ.ก่อนวันที่ 5 มี.ค. และต้องการปฏิบัติหน้าที่ต่อ สามารถยื่นขอรับใบอนุญาตได้ภายใน 90 วัน รวมทั้งยังได้รับยกเว้นไม่ต้องผ่านการฝึกอบรมเป็นเวลา 3 ปี แต่จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการฝึกอบรมจาก สตช.หากต้องการเป็น พนักงาน รปภ.ต่อไป
 
“ท่านนายกฯ ห่วงใยพี่น้องพนักงาน รปภ.และผู้ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย ไม่อยากให้เข้าใจผิดในเจตนารมณ์ของรัฐบาล เพียงแต่ต้องการยกระดับมาตรฐานการประกอบธุรกิจให้เป็นที่ยอมรับ และส่งเสริมให้อาชีพพนักงาน รปภ.มีเกียรติและศักดิ์ศรี เป็นที่พึ่งของประชาชน โดยคาดหวังให้เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและตำรวจ ในการป้องกันอาชญากรรมได้อีกทางหนึ่ง”พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
 
 
เอกชนระนอง ห่วงวิกฤติแรงงานภาคเกษตรขาด ชี้ชัดโรงงานอุตสาหกรรมประมงโคม่า เหตุต่างด้าวไม่นิยมงานหนัก-เหนื่อย-ค่าจ้างต่ำ
 
นางสุดาพร ยอดพินิจ ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ภาคเอกชนจังหวัดระนองได้ เปิดเวทีย่อยเพื่อเสวนาเกี่ยวกับปัญหาแรงงาน โดยมี 4 องค์กรเอกชนของจังหวัดระนองเข้าร่วมประกอบด้วยหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมผู้ประกอบการประมง สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยว ทั้งนี้สิ่งที่ 4 องค์กรภาคเอกชนเป็นห่วงและกังวลมากที่สุดคือ ปัญหาขาดแคลนแรงงานและการเคลื่อนย้ายของแรงงาน
 
โดยเฉพาะวิกฤติปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตร ที่พบว่าปัจจุบันแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านไม่นิยมที่จะทำงานในภาคการเกษตร เนื่องจากเป็นงานที่เหนื่อย ค่าจ้างต่ำเมื่อเทียบกับแรงงานในภาคธุรกิจบริการอื่นๆ ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร พนักงานหน้าร้าน ที่แรงงานจะให้ความนิยมทำมากกว่า เนื่องจากเป็นงานที่สบาย แต่งตัวสวย ค่าจ้างสูง เป็นที่นิยมของแรงงานหนุ่มสาว ส่วนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมก็จะมีการเลือกงานมากขึ้น โดยแรงงานในภาคอุตสาหกรรมประมง หรือต่อเนื่องจากประมงจะเริ่มหาแรงงานยากมากขึ้น เนื่องจากแรงงานมีการเคลื่อนย้ายไปทำงานในจังหวัดชั้นใน ส่วนของอุตสาหกรรมประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
 
แม้ว่าปัจจุบันจะมีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานในไทยมาก แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ อีกทั้งแรงงานที่เข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านเริ่มพัฒนาฝีมือแรงงานตนเองจนทำให้แรงงานประเภทไร้ฝีมือเริ่มขาดแคลนอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจการค้า กลุ่มผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดระนองและต่างจังหวัด ต่างวิตกต่อปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ที่นับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เพราะจากการศึกษาข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่าโครงสร้างประชากรของไทยที่พบว่าวัยเรียน วัยทำงาน และวัยเกษียณไม่สมดุลกัน
 
จากโครงสร้างที่พบว่าปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรในวัยทำงานมากถึง 55% ในขณะที่วัยเรียน 28% และวัยเกษียณ 17% ซึ่งตัวแปรเหล่านี้จะเป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นถึงปัญหาในอนาคตได้เป็นอย่างดีว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้า หลังจากกลุ่มประชากรวัยทำงานซึ่งมีอายุระหว่าง 20-54 ปี เข้าสู่วัยเกษียณ จะมีประชากรที่อยู่ในวัยเรียนในปัจจุบันมีเพียง 28% เข้ามาทดแทน ทำให้ประชากรวัยทำงานที่เคยมีอยู่หายไปถึง 22% ซึ่งจะส่งผลต่อปัญหาขาดแคลนแรงงานในระดับที่รุนแรง ซึ่งปัจจุบันปัญหาดังกล่าวเริ่มปรากฏให้เห็นที่ไทยต้องนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านกว่า 10 ล้านคน เพื่อเข้ามาทดแทนแรงงานที่ขาดแคลน แต่ก็พบว่ายังไม่เพียงพอต่อความต้องการ
 
ดังนั้นจึงทำให้ผู้ประกอบการมีความวิตกเป็นอย่างมาก เพราะจะส่งผลต่อแผนงานของแต่ละบริษัท ทั้งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเคลื่อนย้ายทุนออกจากประเทศไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้ประกอบการในท้องถิ่นก็กำลังหาช่องทางที่จะขยายฐานธุรกิจเข้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีประชากรในวัยทำงานพร้อมรองรับการประกอบการในอีกหลายสิบปีข้างหน้า
 
 
กระทรวงแรงงานร่วมภาคอุตสาหกรรมเตรียมแผนพัฒนากำลังคน
 
พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ร่วมพบปะหารือกับผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศไทยที่มีบทบาททางเศรษฐกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมที่สำคัญลำดับต้นๆ ในหัวข้อ"ทิศทางการวางแผนพัฒนากำลังคนในอนาคต" ณ โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ กล่าวว่า เนื่องจากการดำเนินธุรกิจของกลุ่มอุตสาหกรรมชั้นนำเหล่านี้มีผลต่อกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ภาคการส่งออก ภาคเศรษฐกิจ การจ้างงาน และการยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกจ้างในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้จัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ (AHRDA) ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 1 สมุทรปราการ ส่วนในอนาคตจะขยายความร่วมมือไปยังภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว บริการ การก่อสร้าง อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยและอุตสาหกรรม โลจิสติกส์และซัพพลายเชน
 
สำหรับผลการหารือดังกล่าวถือเป็นความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างการรับรู้ เสริมสร้างความเข้าใจในแนวนโยบายของภาครัฐ เพื่อที่จะนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างผู้นำภาคอุตสาหกรรมในการเสนอแนวทาง ร่วมพัฒนายกระดับผลิตภาพของประเทศ เสริมสร้างบทบาทระหว่างกันในภารกิจการวางแผนกำลังคนของภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือด้านการสร้างสมรรถนะความเชี่ยวชาญในอาชีพ การเพิ่มมูลค่าของอุตสาหกรรมไทยและพัฒนายกระดับความ ร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมในรูปแบบที่หลากหลาย ต่อไป
 
 
ก.แรงงานย้ำเปิดรายงานตัวต่างด้าว 1 เม.ย.-29ก.ค.59 เท่านั้น
 
นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มุ่งเน้นการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยจัดระบบให้เข้าสู่การทำงานที่ถูกต้อง ทั้งนี้ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2559 ให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ เมียนมา ลาว และกัมพูชา ไปรายงานตัวเพื่อทำบัตรใหม่ ระหว่างวันที่ 1 เม.ย. – 29 ก.ค. 2559 ณ ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : OSS) ในแต่ละจังหวัดของสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัดนั้น 
 
"เนื่องจากยังมีนายจ้างและสถานประกอบการบางราย รวมทั้งประชาชนทั่วไป ยังเข้าใจคลาดเคลื่อนในกรณีรายงานตัว จึงขอย้ำว่าการให้รายงานตัวทำบัตรใหม่ในครั้งนี้ เป็นการมารายงานตัวเฉพาะ คนเดิม ที่ได้รับอนุญาตทำงานแล้ว และจะสิ้นสุดการอนุญาตทำงานในวันที่ 31 มีนาคม 2559 เท่านั้น ไม่มีการอนุญาตให้รายใหม่มารายงานตัวแต่อย่างใด โดยแรงงานกลุ่มนี้เมื่อไปรายงานตัวแล้วจะสามารถอยู่ในประเทศไทยและทำงานได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561"โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าว 
 
นายธีรพลฯ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของแรงงานในกิจการประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำ ซึ่งอยู่ระหว่างการจดทะเบียนในขณะนี้ด้วยนั้น เป็นไปตามมติ ค.ร.ม. เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานตามที่สมาคมประมงแห่งประเทศไทยและผู้ประกอบกิจการแปรรูปสัตว์น้ำเรียกร้อง เพื่อให้แรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบการทำงานที่ถูกต้องโดยเร็ว โดยกรณีแรงงานในกิจการประมงทะเล ให้มาจดทะเบียน
 
ใน 22 จังหวัดชายทะเล ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 และสามารถทำงานในประเทศไทยได้ถึงวันที่ 31 มกราคม 2560 ส่วนแรงงานในกิจการแปรรูปสัตว์น้ำให้มาจดทะเบียนใน 22 จังหวัดชายทะเล และศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จกรุงเทพมหานคร โดยให้มาจดทะเบียนได้ถึงวันที่ 22 สิงหาคม 2559 และจะทำงานในประเทศไทย ได้ถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 เท่านั้น
 
 
ประมง "สมุทรสาคร-สมุทรสงคราม" จอดเรือทิ้ง 3 พันลำ-ปิดล้ง-ตกงานหลายหมื่น
 
นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการเรือประมง 22 จังหวัดชายฝั่งทะเล ไม่สามารถทำการประมงได้ ต้องจอดเรือเทียบท่ากว่า 3,000 ลำ ส่วนจังหวัดสมุทรสาครมีเรือพาณิชย์ทั้งหมด 1,100 ลำ สามารถออกเดินเรือได้ 200 ลำ และจอดทิ้งกว่า 900 ลำ ปัญหาดังกล่าวแม้ว่ารัฐบาลจะเร่งเยียวยา แต่เม็ดเงินยังลงไปไม่ถึงผู้ประกอบการที่เดือดร้อนเท่าที่ควร
 
"วันนี้ชาวประมงยังได้รับความเดือดร้อนแม้ว่าภาครัฐจะช่วยเหลือเยียวยาแต่เงินยังไม่ถึงมือชาวประมง ได้แต่เพียงบางส่วนแต่ไม่ได้มากหากเทียบกับโอกาสที่เสียไป ส่วนแหล่งเงินกู้ที่รัฐให้กู้กับธนาคารออมสินก็เข้าถึงยาก มีกฎเกณฑ์ เงื่อนไขที่ยุ่งยาก ทำให้ชาวประมงที่จอดเรือเริ่มขาดสภาพคล่อง หันมากู้เงินกู้นอกระบบมากขึ้น หากปัญหานี้ไม่คลี่คลายจะทำให้เจ้าของเรือหนี้ท่วมหัว"
 
นายปรีชา ศิริแสงอารำพี ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า โครงสร้างเศรษฐกิจจังหวัดสมุทรสาครมาจากอุตสาหกรรมประมง และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องจากการประมงเป็นหลัก หลังจากเผชิญปัญหาไอยูยู ทำให้ขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจจังหวัดสมุทรสาครชะลอตัว การจับจ่ายใช้สอยไม่คึกคัก ตลาดสดซบเซา ค้าปลีกค้าส่งตามห้างสรรพสินค้ามีคนเดินช็อปปิ้งลดลง โดยคาดว่าตลอดทั้งปีนี้จะทำให้เศรษฐกิจสมุทรสาครถดถอย 30%
 
ขณะที่วัตถุดิบกลุ่มปลาเบญจพรรณ ที่จะป้อนเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมอาหารหายากและมีราคาสูงขึ้น ทำให้ล้งปิดตัวประมาณ 20-30% และห้องเย็นปิดตัวลง 7 แห่ง สำหรับปัญหาแรงงานภาคประมง ซึ่งส่วนใหญ่ 90% เป็นแรงงานเมียนมา และอีก 10% เป็นแรงงานไทย ขณะนี้ผู้ประกอบการเริ่มลดชั่วโมงการทำงาน ทำให้แรงงานเมียนมาส่วนหนึ่งเดินทางกลับประเทศไปแล้ว ในระยะยาวจะส่งผลเสียหากอุตสาหกรรมประมงฟื้นตัวกลับมา จะทำให้ขาดแคลนแรงงาน
 
นายอาคม เครือวัลย์ ประธานชมรมแปรรูปอาหารทะเลจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดปัญหาขึ้น ทำให้สัตว์น้ำขาดแคลนทุกชนิด เกิดการแย่งวัตถุดิบ ราคาวัตถุดิบสูงขึ้น แต่ยังคงขายราคาเดิม ตอนนี้ล้งกุ้งปิดตัวไปแล้ว 392 แห่ง เหลือเพียง 3-4 แห่งเท่านั้น ซึ่งมีแรงงานตกงานจำนวนหลายหมื่นคน ส่วนลูกจ้างที่เป็นแรงงานเมียนมาก็กลับประเทศ
 
ไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมประมงที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ธุรกิจเกี่ยวเนื่องก็อยู่ในสภาพย่ำแย่เช่นกัน โดยเจ้าของโรงน้ำแข็งเจ้ทิ้ง จังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่โชคร้ายสำหรับอุตสาหกรรมประมง นอกจากแพปลาและตลาดทะเลไทยจะซบเซามากแล้ว ธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ห้องเย็น โรงน้ำแข็ง ชะลอตัวตาม ปัจจุบันโรงน้ำแข็งรายใหญ่ในสมุทรสาครกว่า 30 แห่ง บรรยากาศการซื้อขายเงียบเหงา และตั้งแต่เรือประมงหยุดเดินเรือจนถึงขณะนี้ ภาพรวมยอดขายลดลง 40-50%
 
ด้าน นายปพิชญา แต้ศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชัยนาวีห้องเย็น จำกัด กล่าวว่า ช่วงที่เรือประมงหยุดเดินเรือ ธุรกิจห้องเย็นให้เช่าได้รับผลกระทบบ้างเล็กน้อย และก่อนหน้านั้นก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากรัฐบาลอินโดนีเซีย ประกาศห้ามไม่ให้เรือประมงต่างชาติเข้าทำการประมงในน่านน้ำอินโดนีเซีย
 
สำหรับสถานการณ์ที่จังหวัดสมุทรสงคราม นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมประมงเรือลากคู่สมุทรสงคราม กล่าวว่า สมุทรสงครามมีเรือประมง 2,297 ลำ เป็นเรือต่ำกว่า 30 ตันกรอส 1,351 ลำ เรือขนาด 30-60 ตันกรอส 509 ลำ และเรือ 60 ตันกรอสขึ้นไป 437 ลำ โดยมีเรือประมงที่สามารถออกทำการประมงได้ 60% และอีก 40% เป็นเรือจอดทิ้งไว้ ทำให้อาหารทะเลลดลง และราคาอาหารทะเลสูงขึ้น 10-20% เช่น ปลาทูติดอวนดำ ปกติราคา 70-80 บาท/กก. ขณะนี้ราคา 150-160 บาท/กก. และปลาทูอวนลากเดิมราคา 70-150 บาท/กก. เพิ่มเป็น 300 บาท/กก. แต่ยังไม่มีการปลดแรงงาน
 
"ปัญหา IUU ส่งผลให้ 22 จังหวัดชายทะเลขาดแคลนอาหารทะเล หรือในอนาคตจะต้องนำเข้าและบริโภคในราคาที่สูงขึ้น หากประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นในระยะ 1 ปี ความเสียหายเป็นแสนล้าน ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้อวูบหนัก เจ้าของเรือประมงไม่สามารถที่จะชำระหนี้ธนาคารได้ หนี้เสีย (NPL) พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง มีการนำที่ดินและบ้านไปจำนอง พร้อมทั้งประกาศขายเรือ แต่ก็ขายไม่ได้ เพราะมีพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 44 ห้ามโอนใบอนุญาต" นายมงคลกล่าว
 
ผลกระทบเป็นลูกโซ่เช่นนี้ เกิดขึ้นกันถ้วนหน้าใน 22 จังหวัดชายทะเลจากปัญหา IUU กับการไล่จัดระเบียบเรือประมงในรอบ 1 ปีนี้ เพื่อให้ได้มาตรฐานในแบบฉบับยุโรป
 
 
เผยตัวเลขย้อนหลังผู้กู้ยืมเงินเรียนเกินหลักสูตรย้อนหลัง 4 ปี พบไม่จบการศึกษา-หายจากระบบ 1,138 คน
 
น.ส.อาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่สอง เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมได้อนุมัติกรอบวงเงินและจำนวนผู้กู้ยืมรายใหม่ของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)ปีการศึกษา 2559 ในส่วนของคณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่สอง จำนวน 51,389 ราย วงเงิน 2,633,066,000 บาท แบ่งเป็น ระดับ ม.ปลาย (โรงเรียนสาธิต) 18 ราย วงเงิน 327,600 บาท ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 780 ราย 23,712,000 บาท ประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.)/ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) 1,596 ราย61,286,400 บาท และอนุปริญญา/ปริญญาตรี 48,995 ราย 2,547,740,000 บาท
 
“นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้รายงานผลการสำรวจข้อมูลนักศึกษาที่เคยได้รับการอนุมัติให้กู้ยืมเงินเกินกว่าที่กำหนดไว้ในหลักสูตรย้อนหลัง4 ปี (ปีการศึกษา2554-2557) ซึ่งมีสถาบันอุดมศึกษา 78 แห่ง ได้รับการอนุมัติไปแล้วทั้งสิ้น 11,244ราย แต่ในจำนวนดังกล่าวมีผู้ที่ยื่นขอกู้จริง11,067 ราย ไม่ขอกู้ 177 ราย ขณะเดียวกันพบว่ามีผู้สำเร็จการศึกษา 9,442 ราย ไม่สำเร็จ1,138 ราย และหายไปจากระบบ 487 ราย ซึ่งที่ประชุมได้ขอให้ตรวจสอบว่าส่วนที่หายไปจากระบบนั้น หายไปไหน เพราะอะไร เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดสรรเงินต่อไป”เลขาธิการ กกอ.กล่าว
 
“ การที่นักศึกษาสำเร็จการศึกษาถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะเด็กจะได้มีงานทำและนำเงินมาจ่ายคืนกยศ. แต่กรณีที่เด็กไม่สามารถสำเร็จการศึกษาได้ตามกำหนดนั้น สถานศึกษาบางแห่งมีมาตรการให้ความช่วยเหลือที่น่าสนใจมาก เช่น ให้อาจารย์ที่ปรึกษาคอยติดตามดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดและให้คำแนะนำในการวางแผนการเรียน เพื่อให้เด็กเรียนจบตามกำหนด หรือมีมาตรการผ่อนผันการชำระค่าเล่าเรียนจนกว่าจะสำเร็จการศึกษา หรือให้นักศึกษาช่วยปฎิบัติงานระหว่างเรียน เพื่อหารายได้พิเศษ หรือจัดหาทุนการศึกษาหรือเงินทุนฉุกเฉิน ให้ เป็นต้น”
 
 
แรงงานปทุมธานีจับมือนายจ้างสร้างอาชีพคนพิการพึ่งพาตนเอง
 
นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ แรง งานจังหวัดปทุมธานี เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานมอบหมายให้สำนักงานแรงงานบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งสร้างงานให้คนพิการเพื่อให้มีโอกาสใช้ความสามารถประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้แก่ตนเอง เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่เป็นภาระของครอบครัวและสังคม โดยมุ่งเน้นการกำกับดูแลให้สถานประกอบการดำเนินการตามพระราชบัญญัติคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ที่กำหนดให้นายจ้างสามารถดำเนินการได้ 3 วิธี คือ รับคนพิการเข้าทำงาน หรือการส่งเสริมเข้ากองทุนส่งเสริมคุณภาพ หรือการจัดให้สัมปทานแก่คนพิการหรือผู้ปกครอง ทั้งนี้สถานประกอบการต้องจ้างคนพิการในอัตราส่วน 100 ต่อ 1 คน ของจำนวนลูกจ้างที่มีอยู่
 
ในส่วนของจังหวัดปทุมธานี ซึ่งมีสถานประกอบการกว่า 3 หมื่นแห่ง ทำให้มีความต้องการการจ้างคนพิการเป็นจำนวนมาก แต่จากข้อมูลของจังหวัดพบว่า มีคนพิการขึ้นทะเบียนประมาณ 15,000 คน แต่มีผู้พิการที่มีความพร้อมทำงานไม่ถึง 1,000 คน ด้วยเหตุนี้สถานประกอบการหลายแห่งจึงหันมาใช้วิธีการให้สัมปทานแก่คนพิการและผู้ปกครองเข้าไปขายของภายในโรงงาน ซึ่งคนพิการก็จะสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวเช่นกัน
 
ตัวอย่างเช่น มานพ พัดทอง ผู้พิการทางเคลื่อนไหว อาศัยเลี้ยงชีพด้วยการขายเสื้อผ้าแฟชั่น โดยได้รับสัมปทานจากบริษัท เบลตัน อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด จัดพื้นที่ให้ขายของ โดยให้พี่สาวเป็นผู้ดูแลและออกเงินทุนให้ สร้างรายได้พอสมควร สามารถเลี้ยงตนเองได้ไม่ต้องเดือดร้อนพ่อแม่
 
ด้านคุณสงัด โกสุมสุริยา ผู้อำนวยการฝ่ายบุคคล บริษัท เบลตัน อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีลูกจ้างมากถึง 4,000 คน โดยปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคนพิการอย่างเคร่งครัด จ้างงานคนพิการและให้สัมปทานพื้นที่ขายของให้เป็นตลาดนัดคนพิการ ที่ผ่านมาผลตอบรับดีมาก เป็นการอำนวยความสะอาดให้กับพนักงานไม่ต้องออกไปซื้อของภายนอกโรงงาน และยังได้สินค้าคุณภาพดีในราคาย่อมเยา
 
จะเห็นว่า นอกจากการจ้างงานคนพิการให้ทำงานในสถานประกอบการแล้ว การเปิดโอกาสให้คนพิการได้มีช่องทางในการทำกิจการค้าขาย ก็ถือเป็นอีกทางเลือกในการที่จะสร้างอาชีพให้คนพิการ ทั้งนี้สถานประกอบการหรือคนพิการที่มีปัญหาหรือข้อสงสัย สามารถปรึกษาได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดปทุมธานี โทร. 0-2567-0630-3
 
 
ก.แรงงานเร่งหารือด้านมาตรฐานฝีมือผู้ขับขี่รถ-เรือสาธารณะ
 
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการเดินทางสัญจรโดยใช้บริการรถ-เรือโดยสารสาธารณะต่างๆ ทั่ว ประเทศ ของประชาชนตลอดจนชาวต่างชาติ ที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ของสังคมที่มีความปลอดภัย ผู้ที่มีอาชีพขับขี่พาหนะโดยสารสาธารณะต่างๆ มีจิตสำนึกรับผิดชอบในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้บริการ จึงสั่งการให้กระทรวงแรงงาน เร่งดำเนินการ กำหนดมาตรฐานฝีมือของผู้ประกอบอาชีพ ขับขี่รถ-เรือโดยสารสาธารณะ และให้ขยายผลไปสู่การกำหนดมาตรฐานฝีมือของ งานอื่นๆ ต่อไป การดำเนินการในเรื่องนี้ จะมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย อาทิ กรมการขนส่งทางบกและกรมเจ้าท่า เป็นต้น เพื่อบูรณาการทำงานร่วมกัน ซึ่งกระทรวงแรงงานจะพิจารณากำหนดมาตรฐานทักษะของผู้ประกอบอาชีพนี้ให้มีสำนึกรับผิดชอบสาธารณะ เน้นในเรื่องจรรยาบรรณ กิริยามารยาท และการให้บริการด้วยจิตสาธารณะ ที่เป็นมาตรฐาน
 
 
ก.แรงงานเตือนคนไทยถูกหลอกไปนวดที่รัสเซีย
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางานได้รับแจ้งจากกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศว่ามีแรงงานหญิงไทยที่เดินทางไปทำงานตำแหน่งพนักงานนวดแผนไทย นวดสปาในประเทศรัสเซียร้องทุกข์เนื่องจากถูกนายจ้างชาวรัสเซียละเมิดสัญญาจ้างงาน โดยเงื่อนไขการจ้างงานไม่เป็นไปตามที่ตกลงไว้ ถูกเอาเปรียบเรื่องค่าจ้าง สวัสดิการ ส่วนใหญ่ถูกหลอก ให้เดินทางในลักษณะของนักท่องเที่ยวแล้วลักลอบทำงาน ซึ่งต้องทำงานหนักบางรายถูกบังคับให้ค้าประเวณี ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้คนหางานไทยเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง หรือถูกเอาเปรียบ เช่น ไม่มีงานให้ทำ ทำงานไม่ตรงตามข้อตกลง ไม่ได้รับค่าจ้างตามสัญญาจ้าง เป็นต้น กรมการจัดหางานจึงขอเตือนคนหางานที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานในประเทศรัสเซียว่าไม่ควรเดินทางไปทำงานในประเทศรัสเซียในระยะนี้ เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจในประเทศรัสเซียที่อาจทำให้เสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง และอย่าหลงเชื่อผู้ที่แอบอ้างหรือมาชักชวนไปทำงานโดยเฉพาะในตำแหน่งพนักงานนวดแผนไทย นวดสปา โดยเบื้องต้นขอให้ตรวจสอบตำแหน่งงานให้ชัดเจน และไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนตัดสินใจจ่ายเงินค่าบริการหรือเดินทางไปทำงาน
 
นายอารักษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า หากคนหางานรายใดถูกหลอกลวงจากการไปทำงานหรือสมัครไปทำงานในประเทศรัสเซียรวมทั้งประเทศอื่นๆ สามารถร้องทุกข์ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักจัดหางาน กรุงเทพเขตพื้นที่ 1-10 กองตรวจและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน อาคารสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 3 หรือสายด่วน กรมการจัดหางาน โทร.1694
 
 
ไทยขาดแคลน "นักบิน" ผลิตปีละ 300 คน ต้องการมือเก๋ามากกว่าจบใหม่ ด้านธุรกิจการบินบูม เด็กไทยแห่เรียน
 
ที่สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) ในการแถลงข่าวสถิติผลประเมินคุณภาพสถานศึกษาด้านการบิน ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรด้านการบิน จำนวน 26 แห่ง โดยเปิดสอนในรูปแบบสถาบันการบินและคณะการบิน จำนวน 5 แห่ง ซึ่งมี 3 แห่งที่ได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสามและอยู่ในระดับคุณภาพดี ได้แก่ สถาบันการบินพลเรือน ม.อีสเทิร์นเอเชีย และ ม.รังสิต ส่วนอีก 2 แห่ง คือ ม.นครพนม และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ตะวันออก วิทยาเขตบางพระ จ.ชลบุรี จะได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ (พ.ศ.2559-2563) สำหรับอีก 21 แห่งนั้น เป็นการเปิดสอนหลักสูตรหรือสาขาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบิน ล้วนมีผลการประเมินของ สมศ.อยู่ในระดับดี-ดีมาก
 
"ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนด้านการบินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนนักศึกษาที่สนใจเข้าเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2556 มีนักศึกษาประมาณกว่า 5,000 คน ปี 2557 มากกว่า 9,000 คน และปี 2558 มีมากกว่า 15,000 คน ขณะเดียวกันภาครัฐก็มีนโยบายผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการบิน ทำให้มีความต้องการบุคลากรในด้านนี้มาก ดังนั้น หลักสูตรที่เปิดการเรียนการสอนก็ต้องมีคุณภาพ และได้รับการประเมินในระดับที่ดี-ดีมาก ซึ่้งภาพรวมการจัดการเรียนการสอน เกี่ยวกับหลักสูตรด้านการบินของสถาบันอุดมศึกษาในไทยยังเป็นไปในทิศทางที่ดี แต่หากมีการขยายมากขึ้นเรื่อยๆ เรื่องที่น่าห่วงคือคุณภาพ ดังนั้น นอกจากมีการประเมินคุณภาพภายนอกแล้ว สภาวิชาชีพต้องกำกับ ดูแลอย่างเข้มข้น เพราะการผลิตบุคลากรด้านนี้เกี่ยวข้องกับชีวิต ความปลอดภัยของผู้คน" ผอ.สมศ.กล่าว
 
น.อ.จิรพล เกื้อด้วง ผู้ว่าการ สบพ. กล่าวว่า สบพ. เป็นสถาบันการศึกษาเฉพาะทางด้านการบิน สังกัดกระทรวงคมนาคม หลักสูตรการเรียนการสอนมีความครอบคลุมอุตสาหกรรมการบินแบบครบวงจร ดังนี้ 1.หลักสูตรภาคอากาศ อาทิ หลักสูตรนักบินพาณิชย์ หลักสูตรนักบินส่วนบุคคล และ 2.หลักสูตรภาคพื้นดิน อาทิ หลักสูตรเทคโนโลยีการบินบัณฑิต หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต เป็นต้น โดยได้ผลิตบุคลากรป้อนอุตสาหกรรมการบินมาแล้วรวมกว่า 20,000 คน ซึ่งได้รับการรับรองจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สมศ. และองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) โดยได้รับรองการเป็นสมาชิกประเภทสามัญ Full Member,ICAO TRAINAIR PLUS Program ซึ่งในภูมิภาคอาเซียนมีเพียง 2 ประเทศเท่านั้น คือไทยและอินโดนีเซีย มีการจัดการเรียนการสอนภาคพื้นตั้งแต่ระดับฝึกอบรม อนุปริญญา ปริญญาตรี จนถึงปริญญาโท
 
"ขณะนี้ไทยมีนักบินอยู่ จำนวน 2,500-3,000 คน ซึ่งในแต่ละปี ธุรกิจการบินต้องการนักบินใหม่เพื่อเพิ่มและทดแทนปีละ 400-500 คน แต่ปัจจุบันสามารถผลิตนักบินได้เพียงปีละ 200-300 คน รวมถึงกลุ่มวิศวกรด้านการบินและช่างอากาศยาน มีทั้งสิ้น 8,000-9,000 คน แต่ละปีสามารถผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมการบินได้เพียง 300-400 คนต่อปี จากความต้องการมากกว่า 400 คนต่อปี สำหรับสถาบันการบินพลเรือนสามารถผลิตบุคลากรป้อนอุตสาหกรรมการบินกว่า 1,800 คน เฉพาะนักบิน ผลิตได้ 100-120 คน อย่างไรก็ตาม สายการบินที่เปิดใหม่ มีความต้องการนักบินและช่างอากาศยานที่มีความเชี่ยวชาญ มากกว่านักบินหรือช่างที่จบใหม่ จึงทำให้เกิดการขาดช่วงแรงงาน” ผู้ว่า สบพ.กล่าว
 
 
สอศ.เตรียมเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพ-สามัญ เป็น 42:58 ในปี 59 กำหนดเป้าหมายผู้เรียนเป็นรายจังหวัด
 
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมร่วมกับศูนย์ส่งเสริมการอาชีวศึกษาเอกชน(ศอช.) เพื่อวางแผนการรับนักเรียน นักศึกษา ปีการศึกษา 2559 ที่ประชุมเห็นชอบให้เพิ่มสัดส่วนการรับนักเรียนอาชีวะต่อสายสามัญจาก 39:61 ในปี 2559 เป็น 42:58 โดยอาชีวะรัฐและเอกชนจะรับนักเรียน นักศึกษาได้ทั้งสิ้น 310,083 คน ทั้งนี้จะมีการกำหนดเป้าหมายเป็นรายจังหวัดว่า จังหวัดใดจะรับเด็กได้กี่คน จากนั้นแต่ละจังหวัดจะต้องไปกำหนดเป้าหมายเป็นรายวิทยาลัยต่อไป อย่างไรก็ตามเนื่องจากสถานศึกษาอาชีวะเอกชนไม่อยากให้อาชีวะรัฐเปิดรับนักเรียนหลายรอบ จึงมีข้อตกลงร่วมกันว่า ระยะเวลาการรับนักเรียนให้เป็นไปตามประกาศการรับนักเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) คือ รอบแรก ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)ชั้นปีที่ 1 รับสมัครวันที่ 20-24 มี.ค.59 ทดสอบความรู้และความถนัดทางวิชาชีพ วันที่ 27 มี.ค.59 ประกาศผลวันที่ 3 เม.ย.59 และให้ขยายเวลามอบตัวจากวันที่ 10 เม.ย.59เป็นวันที่ 20 เม.ย.59 พร้อมทั้งเปลี่ยนวันรายงานผลการมอบตัวจากวันที่ 13 เม.ย.59 เป็นวันที่ 23 เม.ย.59 ทั้งนี้เพื่อความคล่องตัวและมีระยะเวลาในการประสานงานมากขึ้น เนื่องอยู่ช่วงการเปลี่ยนผ่าน เลขาธิการ กอศ.กล่าวต่อไปว่า ส่วนการรับรอบ 2 ได้มีการตกลงกันว่า อาชีวะรัฐจะไม่รับสมัครสาขาวิชาที่ซ้ำซ้อนกับสาขาที่อาชีวะเอกชนเปิดสอน ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่ม สาขาการบัญชี คหกรรม คอมพิวเตอร์ธุรกิจ ทั้งนี้จะให้อำนาจแต่ละจังหวัดสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม โดยให้เน้นการผลิตกำลังคนสาขาขาดแคลน และลดในสาขาวิชาที่เกินความต้องการของตลาดแรงงาน นอกจากนี้ยังมีการตกลงด้วยว่า ปีการศึกษา 2559 อาชีวะเอกชนจะไม่เปิดสอนทวิศึกษา เนื่องจากสอศ.ต้องการให้การจัดการศึกษามีมาตรฐาน ดังนั้นจึงต้องมีการส่งเสริมคุณภาพให้เกิดความเชื่อมั่นก่อน เช่น มีประสบการณ์เปิดสอนมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ผ่านการประกันคุณภาพภายนอก มีพื้นที่ในการจัดการเรียนการสอนและมีบุคลากรที่เพียงพอ เป็นต้น
 
 
ก.แรงงานคุมเข้ม Part Time นักเรียนช่วงปิดเทอม
 
ทุกๆ ปี เด็กนักเรียนจำนวนมากได้ใช้ช่วงปิดเทอมใหญ่ หารายได้ทำงานพิเศษกระทรวงแรงงานจึงต้องออกคุมเข้ม ชี้ช่องทางให้เด็กมีงานทำ ติดตามรายงานจากคุณวรัญญู นวกาลัญญู
 
น้องเจน นางสาวรุ่งฤดี จวนเดช นักเรียนชั้น ม.6 ใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอมของทุกปี ทำงานพิเศษมาหลากหลายอาชีพ สิ่งที่น้องเจนได้มากกว่ารายได้วันละ 500 บาทคือ ประสบการณ์นอกห้องเรียน โดยเฉพาะภาษาต่างประเทศ
 
เห็นรายได้ น้องเจนวันละ 500 บาทแบบนี้ หากน้องๆ อยากหางานพาร์ตไทม์ทำบ้างใน ช่วงปิดเทอมก็ไม่ยาก ตอนนี้มีกว่า 30,000 ตำแหน่งทั่วประเทศรอรับน้องๆ เข้าทำงาน โดยให้ไปติดต่อที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัด และศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย กระทรวงแรงงานกว่า 30,000 ตำแหน่งที่เปิดรับ ผ่านการกลั่นกรองจาก กระทรวงแรงงานแล้วว่า เป็นสถานประกอบการที่เด็กนักเรียนทำได้ ไม่ใช่งาน 16 ประเภทต้องห้ามสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่เป็นอันตราย ปลอดภัย ระยะเวลาทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน ห้ามทำงานล่วงเวลา มีเวลาพัก และจ่ายค่าตอบแทนตามกฎหมาย
 
ไม่ใช่แค่หาตำแหน่งที่ดีปลอดภัยเท่านั้น ยังต้องติดตาม ตรวจสอบสถานประกอบการที่รับเด็กทำงานช่วงปิดเทอม อย่างเข้มข้น ไม่ให้เกิดปัญหาใช้แรงงานเด็กผิดกฎหมาย หากตรวจพบไม่ละเว้น ดำเนินคดี โทษหนักจำคุกนานถึง 15 ปี
 
 
สธ.ถก รพ.เอกชน ห้ามเก็บเงินผู้ป่วยฉุกเฉินใน 72 ชม.
 
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินว่า ที่ประชุมมีมติตรงกัน ดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินฟรีใน 72 ชั่วโมงแรก หลังจากนั้นให้ส่งต่อผู้ป่วยไปรักษายังโรงพยาบาลตามสิทธิรักษา ซึ่งในส่วนของการสำรองเตียงเพื่อรองรับการส่งต่อนั้น ประกันสังคมไม่มีปัญหาเพราะมีโรงพยาบาลคู่สัญญา ส่วนระบบสวัสดิการข้าราชการนั้น หากไม่สามารถส่งต่อได้ทางกรมบัญชี กลางจะมีงบประมาณสำหรับดูแลเช่นเดียวกัน ขณะที่สิทธิบัตรทอง กระทรวงสาธารณสุข จะพยายามแก้ปัญหาให้
 
สำหรับค่าใช้จ่าย มีการกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลกลางขึ้นมา ( Fee schedule) ซึ่งจากนี้ปลัดกระทรวง สธ.และเลขาธิการ สพฉ.จะร่วมกันพิจารณาอัตราอีกครั้งหนึ่ง เพื่อป้องกันปัญหาประชาชนถูกเรียกเก็บเงินก่อนรักษา รวมถึงการถูกบังคับให้เซ็นรับสภาพหนี้
 
อย่างไรก็ตามเชื่อมั่นว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะมีปัญหาเพราะบุคลากรทางการแพทย์มีจิตใจที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยอยู่แล้ว คาดว่าจะเร่งจัดทำค่ารักษา พยาบาลกลางแล้วเสร็จ ก่อนช่วง 7วันอันตรายในเทศกาลสงกรานต์
 
สำหรับกลุ่มอาการที่เข้าข่ายเจ็บป่วยฉุกเฉิน มี 25 ข้อ 1.ปวดท้องบริเวณหลัง เชิงกราน และขาหนีบ 2.แพ้ยา แพ้อาหาร แพ้สัตว์ต่อย แอนาฟิแล็กซิส (ปฏิกิริยาการแพ้อย่างรุนแรง) ปฏิกิริยาภูมิแพ้ 3. สัตว์กัด 4.เลือดออกโดยไม่มีสาเหตุมาจากการบาดเจ็บ 5.หายใจลำบาก หายใจติดขัด 6. หัวใจหยุดเต้น 7.เจ็บแน่นทรวงอก หัวใจ มีปัญหาทางด้านหัวใจ 8. สำลัก อุดกั้นทางเดินหายใจ 9.เบาหวาน 10.ภาวะฉุกเฉินเหตุสิ่งแวดล้อม 11.ปวดศีรษะ ภาวะผิดปกทางตา หู คอ จมูก 12.คลุ้มคลั่ง ภาวะทางจิตประสาท อารมณ์ 13.พิษ รับยาเกินขนาด
 
14.มีครรภ์ คลอด นรีเวช 15. ชัก มีสัญญาณบอกเหตุการชัก 16.ป่วย อ่อนเพลีย อัมพาตเรื้อรัง ไม่ทราบสาเหตุจำเพาะ 17.อัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนแรง สูญเสียความรู้สึก ยืนหรือเดินไม่ได้เฉียบพลัน 18.ไม่รู้สติ ไม่ตอบสนอง หมดสติชั่ววูบ 19. เด็ก กุมารเวช 20. ถูกทำร้าย 21. ไหม้ ลวกเหตุความร้อน สารเคมี ไฟฟ้าช็อต 22.ตกน้ำ จมน้ำ บาดเจ็บทางน้ำ 23.พลัดตกหกล้ม อุบัติเหตุ เจ็บปวด 24. อุบัติเหตุยานยนต์ และ 25 อื่นๆ
 
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย สพฉ.จะเป็นหน่วยงานกลางคอยให้คำปรึกษาและให้ความเห็นภายใน 15 นาที
 
 
สหภาพแรงงานองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เสนอ 7 ทางรอดหวั่นถูกยุบ
 
ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กลุ่มสหภาพ แรงงานองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลา กรทางการศึกษา (สกสค.) นำโดยนางภัทราบุญ ปัญญาสุข ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของ สกสค. ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เรื่องการยุบองค์การค้าของ สกสค. ตามผลการศึกษาและวิเคราะห์ของศูนย์บริการวิชาการ จุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนายจักรพันธ์ ทองเจริญ เลขาฯ สหภาพแรงงานองค์การค้าของ สกสค. กล่าวว่า พวกตนไม่อยากให้มีการยุบองค์การค้าของ สกสค. เพราะผลวิเคราะห์ของจุฬาฯ เป็นเพียงหลักการทางทฤษฎีเท่านั้น ซึ่งหากไม่นำภาระหนี้สิ้นเข้ามาเกี่ยวข้อง องค์การค้าของ สกสค. ยังสามารถอยู่ได้ด้วยผลประกอบการ โดยปีที่ผ่านมาการบริหารงานองค์การค้าของ สกสค. หากหักลบกลบหนี้แล้ว องค์การค้าของ สกสค.ก็ยังมีกำไรอยู่ ดังนั้นจึงไม่อยากให้ต้องยุบ เพราะจะทำให้บุคลากรหลายคนได้รับผลกระทบ อีกทั้งวัตถุประสงค์ของการตั้งองค์การค้าของ สกสค.ก็เพื่อสนับสนุนการศึกษาชาติ
 
ทั้งนี้ ทางสหภาพองค์การค้าของ สกสค.จึงขอเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้แก่ รมว.ศธ.พิจารณาใน 7 ประเด็น คือ 1.ของบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล 2.เปลี่ยนสถานะองค์การค้าฯ ให้มั่นคงขึ้น 3.การ ซื้อเครื่องจักรที่ทันสมัย ไม่ต้องเช่าแท่นพิมพ์จากภายนอก 4.หาแหล่งเงินกู้ที่ดอกเบี้ยถูกกว่าปัจจุบันมาดูแลภาระหนี้สิน เชื่อว่าใน 10 ปี องค์กรจะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างแน่นอน 5.ให้รัฐเข้ามาดูแล ช่วยเหลือหนี้สิน 6.ขอสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐด้วย กันให้มาจ้างพิมพ์งานที่องค์การค้าฯ และ 7.ให้มี งานพิมพ์งานขายตลอดทั้งปี
 
"ส่วนปัญหาการจัดพิมพ์ตำราเรียนล่าช้านั้นไม่ได้เกิดจากแท่นพิมพ์ขององค์การค้าฯ แต่ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดส่งต้นฉบับมาให้ช้าเกือบเปิดภาคเรียน จึงทำให้กระบวนการผลิตแบบเรียนล่าช้าตามไปด้วย รวมถึงหาก ศธ.ช่วยสนับสนุนแท่นพิมพ์ดีๆ ก็จะทำให้องค์การค้าฯ มีกำลังผลิตงานได้รวดเร็วขึ้นด้วย" เลขาฯ สหภาพแรงงานองค์การค้าของ สกสค.กล่าว
 
 
ผู้ขอรับผลประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคม ในเดือน ก.พ.59 มีจำนวน 123,087 คน
 
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงสถานการณ์การว่างงานในปี 59 ว่า แนวโน้มเรื่องการว่างงานยังต้องติดตาม เนื่องจากตัวเลขของผู้ขอรับผลประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคม ในเดือน ก.พ.59 มีจำนวน 123,087 คน มีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.58 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 58 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.83 เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาที่มีจำนวน 114,150 คน อยู่ที่ร้อยละ 19.02
 
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้ถูกเลิกจ้างที่ขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานของกรมการจัดหางานเดือน ก.พ.59 อยู่ที่ 7,915 คน มีอัตราการเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 26.06 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 58 แต่ภาพรวมยังถือว่าการเลิกจ้างร้อยละ 26.06 ยังต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย 3 ปี ในช่วงเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 41.01
 
ทั้งนี้การจ้างงานลูกจ้างในระบบประกันสังคมในเดือน ก.พ. มีจำนวน 10,348,753 คน มีอัตราการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.90 เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.10 ยังชะลอตัว
 
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า ขณะนี้แนวโน้มในภาพรวมในตลาดแรงงาน การจ้างงาน ว่างงาน และการเลิกงานยังถือว่าอยู่ในภาวะปกติ จากการเฝ้าระวังสถานการณ์จากระบบเตือนภัยด้านแรงงาน โดยใช้ดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจในรูปแบบดัชนีผสม 13 ตัว ส่งสัญญาณด้านการจ้างงานในสภาพปกติอยู่ในเกณฑ์สีเขียว (ถ้าไม่เกิน 5 ตัวจะแสดงภาวะปกติ ซึ่งมีเพียงดัชนี 1 ตัว คือ มูลค่าการส่งออก ที่ชะลอตัว) ส่วนแนวโน้มการว่างงานจากระบบเตือนภัยด้านแรงงาน ซึ่งอาศัยข้อมูลการว่างงานผู้มีงานทำภาคเอกชนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ แสดงสถานะปกติ แนวโน้มการเลิกจ้าง จากระบบเตือนภัยด้านแรงงาน ซึ่งอาศัยข้อมูลการแจ้งและตรวจพบจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ก็ยังแสดงสถานะปกติ แต่กระทรวงแรงงานได้ให้ส่วนราชการในพื้นที่ทุกจังหวัดติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านแรงงาน โดยให้รายงานเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านแรงงานทุกเดือน รวมถึงจับตาแนวโน้มและสัญญาณตัวเลขการเลิกกิจการการเลิกโรงงาน และความเคลื่อนไหวของการจ้างงานของธุรกิจทุกขนาดในพื้นที่จังหวัดอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดทำทะเบียนกลุ่มเสี่ยงเพื่อป้องกันปัญหา และสามารถให้คำแนะนำช่วยเหลือแก้ไขได้ทันท่วงที
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net