เสนอธุรกิจยึดจริยธรรม-ธุรกิจที่ยั่งยืน มิติใหม่ที่ไกลกว่า CSR

            
15 มี.ค. 2559 รายงานจากองค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย ระบุว่า องค์การอ็อกแฟม ร่วมกับ บริษัท ป่าสาละ จำกัด และ Change Fusion จัดสัมมนาธุรกิจยึดจริยธรรมและธุรกิจที่ยั่งยืน (Thailand’s Ethical and Sustainable Business Forum) ณ โรงแรมคราวน์พลาซ่า กรุงเทพ ลุมพินี พาร์ค โดยมีตัวแทนจากภาควิชาการ หน่วยงานกำกับดูแล/ตรวจสอบ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยน นำเสนอแนวโน้มธุรกิจที่ยั่งยืนร่วมกันในระดับโลกและในประเทศไทย รวมถึงถอดบทเรียนการเปลี่ยนผ่านจากธุรกิจธรรมดาสู่การเป็นธุรกิจที่ยึดจริยธรรม

มาร์ค เคนท์ เอกอัครราชทูตประเทศอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวว่า ภาคประชาสังคมและผู้บริโภคจะเพิ่มแรงกดดันให้ภาคธุรกิจดำเนินงานอย่างมีจริยธรรมและคำนึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น โดยอาจรวมไปถึงประเด็นระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความไม่เท่าเทียมทางรายได้ และมีแนวโน้มที่จะมีกฎหมายหรือกฎระเบียบใหม่ๆ ที่บังคับให้เกิดความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน

ราเชล วิลชอว์ ผู้จัดการด้านการค้าอย่างมีจริยธรรม องค์การอ็อกแฟม สหราชอาณาจักร แสดงความเห็นว่า ภาคธุรกิจจะต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างมาตรฐานที่สูงขึ้น พร้อมให้ภาคประชาสังคมเข้าตรวจสอบห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ เธอยังกล่าวถึงสามอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการใช้แรงงานบังคับคือ อุตสาหกรรมประมงในประเทศไทย อุตสาหกรรมสตรอว์เบอร์รีในประเทศโมร็อกโก และอุตสาหกรรมสิ่งทอในประเทศพม่า การเปิดเผยข้อเท็จจริงที่น่าตื่นตะลึงนำไปสู่การออกกฎหมาย ‘การค้าแรงงานทาสสมัยใหม่’ (Modern Slavery Act 2015) ในประเทศอังกฤษ ซึ่งบังคับให้บริษัทในประเทศอังกฤษเผยแพร่รายงานต่อสาธารณะเพื่อยืนยันว่าไม่มีการใช้แรงงานบังคับในห่วงโซ่อุปทานในการดำเนินงานของบริษัท

ในมุมมองจากภาคธุรกิจขนาดใหญ่ เดวิด คิว จากบริษัทยูนิลีเวอร์ นำเสนอว่า ความยั่งยืนสำหรับภาคธุรกิจ ไม่ใช่การเพิ่มต้นทุน แต่เป็นการลงทุนที่มีผลตอบแทนสูง โดยมีตัวเลขการเติบโตและอัตรากำไรของผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนสูงถึง 2 เท่าของผลิตภัณฑ์ทั่วไป

การเสวนา ‘สถานการณ์การบริโภคยึดจริยธรรมและธุรกิจที่ยั่งยืนในประเทศไทย’ ในช่วงเช้า สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด กล่าวถึงคำนิยามและขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้บริโภคและการบริโภคยึดจริยธรรมว่า การบริโภคยึดจริยธรรม ตามนิยามทางวิชาการคือการบริโภคที่นำปัจจัยเรื่องผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมาเป็นปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจ โดยไม่ได้คำนึงเพียงราคาและคุณภาพเท่านั้น ในขณะที่คำว่าการบริโภคอย่างยั่งยืนจะเป็นคำที่ใหม่กว่า โดยมีการให้นิยามว่าการบริโภคที่ไม่คุกคามความต้องการของคนรุ่นหลัง

สฤณีกล่าวถึงแนวโน้มการเติบโตของการบริโภคยึดจริยธรรมในประเทศไทยว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น เช่น ตลาดเกษตรอินทรีย์ที่ยังมีขนาดค่อนข้างเล็ก โดยผู้บริโภคยังเห็นประโยชน์ต่อสุขภาพของตนเองเป็นหลัก แม้ภาพในส่วนของสินค้าอาจจะยังไม่ชัด แต่มีตัวอย่างการรณรงค์ที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย เช่น การงดการบริโภครังนกและปลานกแก้ว รวมถึงการลดใช้ถุงพลาสติก โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

บดินทร์ อูนากูล รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เสนอความเห็นในฐานะผู้กำกับดูแลว่า ตลาดหลักทรัพย์จะทำหน้าที่สนับสนุนความยั่งยืน 3 ประการคือ ให้ความรู้ (educate) ประเมินผล (evaluate) และยอมรับ (recognize) ซึ่งประเทศไทยนับว่ามีบริษัทที่ได้รับการยอมรับเรื่องความยั่งยืน โดยอยู่ในดัชนีความยั่งยืนระดับโลกอย่าง Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) มากที่สุดในอาเซียน และมีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดดจาก 1 บริษัทเป็น 13 บริษัท ภายใน 5 ปี

สำหรับภาคธุรกิจ ศุภชัย เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ เล่าถึงประสบการณ์ตรงที่บริษัทเผชิญ โดยยอมรับว่าครั้งหนึ่งเครือเจริญโภคภัณฑ์มองข้ามความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานของวัตถุดิบ

“เรื่องของปลาป่นทำลายทะเลไทย แต่ก่อนเราคิดว่าไม่ใช่เรื่องของเรา เพราะเราใช้ปลาป่นเป็นส่วนผสมในอาหารกุ้งในสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย แต่ไม่ว่าเราจะมีส่วนร่วมเท่าไหร่ เราก็มีส่วนร่วม หากเราไม่คำนึงเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการใช้แรงงานผิดกฎหมาย เราก็มีบทบาทและความรับผิดชอบ สุดท้ายผลกระทบก็ตกอยู่กับผู้บริโภคและตัวบริษัทเอง”

ศุภชัย กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันเครือเจริญโภคภัณฑ์ในฐานะบรรษัทข้ามชาติ พร้อมที่จะพัฒนาตัวเองให้ได้มาตรฐานระดับโลก โดยเริ่มต้นจากการสร้างความรู้ในชุมชนเครือซีพีที่มีพนักงานจำนวนมาก และมองว่าการสร้างความตระหนักคือจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง

ช่วงบ่าย เป็นการเสวนาในประเด็นการร่วมมือระหว่างภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจ วรนันท์ วรมนตรี ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส แผนกการพัฒนาอย่างยั่งยืน สำนักกรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเบทาโกร ในฐานะผู้รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มองว่าปัญหาการบุกรุกป่าเพื่อปลูกข้าวโพดเป็นหนึ่งในประเด็นร้อนที่บริษัทต้องร่วมรับผิดชอบ ในลักษณะการร่วมมือแบบเปิด (Open collaboration) และมีเพื่อนร่วมงานคือมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง

“เวลาเราพูดถึงปัญหา เราจะมองว่าเราเป็นบุคคลที่สามที่ไม่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่ไม่ว่าใครก็มีส่วนเกี่ยวข้อง ถ้าเราเลิกชี้นิ้วให้คนอื่น แล้วมาดูบทบาทของตัวเองว่าคุณสามารถช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไร” วรนันท์ เสนอความเห็น

ด้าน วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานในโครงการตรวจสารเคมีตกค้างในผักผลไม้ซึ่งมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย โดยผลลัพธ์ที่ได้คือสัดส่วนของผักผลไม้ที่มีสารเคมีตกค้างลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยวิฑูรย์ย้ำว่า พื้นฐานของความร่วมมือคือการสร้างฐานข้อมูลเพื่อสร้างโอกาสในการบรรลุความต้องการของทุกฝ่าย

เจเรมี ครอว์ฟอร์ด (Jeremy Crawford) ผู้จัดการด้านการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน แผนกการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)  อธิบายว่า บริษัทกำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน โดยให้เหตุผลว่าความเสี่ยงด้านชื่อเสียงจากความไม่ยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานนั้นสูงเกินกว่าที่บริษัทจะแบกรับได้ ในบริบทของธุรกิจเรามีปัญหาทั้ง การทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) ปัญหาการค้าแรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมง ซึ่งหากธุรกิจจะอยู่รอด เราก็ต้องจัดการกับปัญหานี้

สำหรับการเสวนาในช่วงสุดท้าย มีการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้นำองค์กรที่ตั้งเป้าหมายเพื่อความยั่งยืน และนำพาองค์กรไปสู่การผลิตที่เป็นธรรมและยั่งยืน จากมุมมองของบรรษัทข้ามชาติ เมอร์เรย์ ดาร์ลิ่ง (Murray Darling) กรรมการผู้จัดการ บริษัท สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ (ประเทศไทย) บอกเล่าการเปลี่ยนกลยุทธ์ของบริษัทระดับโลกให้เข้ากันได้กับบริบทในสังคมไทย

“สตาร์บัคส์เข้ามาในประเทศไทยแล้ว 17 ปี ในแง่ซีเอสอาร์ เรามีกลยุทธ์หลัก 3 อย่างคือ การจัดหาวัตถุดิบอย่างมีจริยธรรม (Ethical Sourcing) ซึ่งในประเทศไทย เราจะซื้อกาแฟจากชาวเขา ส่งมอบกำไรและส่วนหนึ่งของยอดขายคืนให้กับสังคม สองคือร้านค้าปลีกเขียว (Green Retailing) โดยยึดมาตรฐานอาคารมีประสิทธิภาพ ทั้งด้านพลังงาน น้ำ วัสดุก่อสร้าง และสิ่งแวดล้อม และสามคือการสร้างโอกาส (Path way to opportunity) คือเงินบริจาคที่สตาร์บัคส์ให้เปล่าแก่ภาคประชาสังคม”

องค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย ระบุว่า การประชุมในครั้งนี้ถือเป็นการขับเคลื่อนครั้งสำคัญขององค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความยั่งยืนและความเป็นธรรมให้เกิดในภาคเอกชนไทย ข้อสรุปที่สำคัญที่ได้รับคือ ธุรกิจไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเพียงลำพัง แต่ต้องอาศัยภาคส่วนอื่นๆ ซึ่งอาจรวมไปถึงผู้เล่นขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน เพื่อให้เกิดการตั้งเป้าหมายร่วม แลกเปลี่ยนปัญหาอย่างรอบด้าน รวมไปถึงการสร้างกระบวนการร่วมมือเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้งและความเชื่อมั่นต่อสาธารณชนต่อประเด็นดังกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท