Skip to main content
sharethis


 

19 มี.ค. 2559 วานนี้ สุภิญญา กลางณรงค์ และประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้ทำหนังสือส่งถึง มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องข้อเสนอแนะต่อการปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อนำเสนอความเห็นและผลสรุปที่ได้จากการประชุม NBTC Public Forum ครั้งที่ 1/2559 เรื่อง “อนาคตการสื่อสารไทย โฉมหน้าใหม่ กสทช. ในร่างรัฐธรรมนูญ” เมื่อวันศุกร์ที่ 11 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศ (สปท.) นักวิชาการ ตัวแทนจากองค์กรผู้บริโภคและประชาชนที่สนใจเข้าร่วม

ในการประชุมดังกล่าว มีการอภิปรายประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญและการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ในหลายประเด็น โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 และมาตรา 35 ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 56 เกี่ยวกับทรัพยากรคลื่นความถี่ สิทธิในวงโคจรดาวเทียมและองค์กรกำกับดูแล ในหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ รวมถึงมาตรา 57 เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น

สำหรับในประเด็นการเปลี่ยนแปลงเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่และ กสทช. ภายใต้หมวดหน้าที่ของรัฐ และปรับนิยามคลื่นความถี่จาก “ทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ” มาเป็น “สมบัติของชาติ” ตลอดจนการแก้ไขบทบาทของ กสทช. จากองค์กรอิสระมาเป็น “องค์กรที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อความรับผิดชอบและกำกับการดำเนินการเกี่ยวกับคลื่นความถี่” นั้น ที่ประชุมเห็นว่าไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการใช้ถ้อยคำที่แตกต่าง แต่เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับเจตนารมณ์ใหญ่ของการปฏิรูปสื่อที่มีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 อันจะส่งผลให้ กสทช. ไม่เป็นองค์กรของรัฐที่มีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบายอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำไปเชื่อมโยงกับชุดกฎหมายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ทั้งนี้ กสทช. ควรเป็นองค์กรอิสระทางปกครอง เพื่อทำหน้าที่กำกับกิจการทางเศรษฐกิจเฉพาะสาขา มีความเป็นกลางคือความเป็นอิสระจากฝ่ายบริหารและรัฐบาล ไม่ขึ้นกับหน่วยราชการตามหลักการรวมศูนย์อำนาจ  ดังนั้นความเป็นอิสระจึงไม่ได้ดูที่ชื่อว่า “ปฏิบัติหน้าที่อิสระ” หรือไม่ แต่ต้องคำนึงถึงส่วนประกอบสามส่วน ได้แก่ โครงสร้างองค์กร ตัวผู้ดำรงตำแหน่ง และการปฏิบัติหน้าที่ โดยความเป็นอิสระของโครงสร้างองค์กรคือการไม่อยู่ภายใต้หน่วยงานรัฐหน่วยใด มีทรัพยากรจำเป็นเพียงพอในการปฏิบัติหน้าที่ให้บรรลุเป้าหมาย และมีอิสระในงบประมาณและการเงิน สำหรับความเป็นอิสระในด้านผู้ดำรงตำแหน่งนั้น ควรจะต้องมีความเชื่อมโยงกับผู้แทนของประชาชน ส่วนความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ การลงมติ การวินิจฉัยที่ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชา รวมถึงการห้ามดำรงตำแหน่งอื่นในหน่วยงานอื่น ตลอดจนการประกอบอาชีพภายหลังการพ้นตำแหน่ง

ส่วนการแก้ไขประเด็นคลื่นความถี่ จาก “ทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ” เป็น “ทรัพยากรของชาติ” เป็นแนวคิดที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา เนื่องจากแนวคิดที่รัฐเป็นเจ้าของ ครอบครองและใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ได้สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งมีการเปลี่ยนระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังพบว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เปลี่ยนหลักการจากการมีประชาชนเป็น “ผู้ทรงสิทธิ” เป็น “หน้าที่ของรัฐ” การนำไปบัญญัติไว้ในการเป็นหน้าที่ของรัฐโดยขาดฐานของผู้ทรงสิทธิ์ ทำให้เกิดปัญหาการฟ้องร้องว่า ใครจะเป็นผู้เริ่มต้นในการไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ และศาลจะรับคำร้องหรือไม่ ใครจะรับประกันให้ประชาชน คำว่า “หน้าที่ของรัฐ” แตกต่างอย่างไรกับ “แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ” ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา พบว่า เมื่อรัฐไม่ทำตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ กลับไม่มีใครฟ้องรัฐได้เลย  ดังนั้นจึงทำให้เกิดคำถามว่า การบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐจะก่อให้เกิดหน้าที่อย่างไร

ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบด้วยว่ามีการตัดข้อความ “การแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม” ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับที่ให้กำเนิดพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับปัจจุบัน ทำให้เกิดคำถามว่า การจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่ยังคงยืนหยัดในหลักการข้างต้นหรือไม่

ส่วนประเด็นการบัญญัติเรื่องสิทธิในวงโคจรของดาวเทียมนั้น ที่ประชุมตั้งข้อสังเกตว่า สิทธิในวงโคจรของดาวเทียมไม่ใช่ “ทรัพยากร” และไม่ใช่ของประเทศไทย เป็นการกำหนดตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ดังนั้นจึงเป็นที่สงสัยถึงเหตุที่มาของการบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญว่า ต้องการให้ กสทช. มีหน้าที่เพิ่มหรืออย่างไร

อีกประเด็นหนึ่งที่ขาดหายไปในร่างรัฐธรรมนูญ คือเรื่องการจัดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะ ทำให้เกิดคำถามว่า ภาคประชาชนจะได้รับการประกันสิทธิดังกล่าวอย่างไร และจะส่งผลต่อการเปลี่ยนถ้อยคำในร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ที่กำหนดให้ภาคประชาชนได้ใช้คลื่นความถี่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ด้วยหรือไม่

นอกจากนี้ ความเห็นของ กสทช. ทั้งสองคนที่ส่งต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญยังได้ตั้งข้อสังเกตถึงในส่วนที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ไว้ด้วย ทั้งในประเด็นเกี่ยวกับคุณสมบัติและการคัดเลือก การปรับเปลี่ยนอำนาจ กสทช. ตามคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กองทุนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อำนาจในการบริหารและจัดสรรคลื่นความถี่ รวมทั้งเรื่องการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน

อนึ่ง นอกจากการจัดส่งข้อเสนอแนะต่อการปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญให้กับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแล้ว สุภิญญาและประวิทย์ยังได้ส่งข้อคิดเห็นนี้ต่อสำนักงาน กสทช. เพื่อให้ดำเนินการส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป 

 

ร่างรัฐธรรมนูญ (ร่างเบื้องต้น)

หมวด ๓ สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย
มาตรา ๓๔ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพ ดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้น เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษา ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันมิให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม
เสรีภาพทางวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่การใช้เสรีภาพนั้น ต้องไม่เป็นการขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย หรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน

มาตรา ๓๕ บุคคลซึ่งประกอบอาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพ ตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้
การให้นำข่าวสารหรือข้อความใด ๆ ที่ผู้ประกอบอาชีพสื่อมวลชนจัดทำขึ้นไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณาในหนังสือพิมพ์หรือสื่อใด ๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่ จะกระทำในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม
เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย
การให้เงินหรือทรัพย์สินอื่นเพื่ออุดหนุนกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นของเอกชน รัฐจะกระทำมิได้ หน่วยงานของรัฐที่ใช้จ่ายเงินหรือทรัพย์สิน ให้สื่อมวลชน ไม่ว่าเพื่อประโยชน์ในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์หรือเพื่อการอื่นใดในทำนองเดียวกัน ต้องเปิดเผยรายละเอียดให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินทราบ ตามระยะเวลาที่กำหนด และให้ประกาศให้ประชาชนทราบด้วย
เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง แต่ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และภารกิจของหน่วยงานที่ตนสังกัดอยู่

หมวด ๕ หน้าที่ของรัฐ
มาตรา ๕๖
 รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในวงโคจรของดาวเทียมอันเป็นทรัพยากรของชาติให้เป็นประโยชน์ของชาติและประชาชน
การจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่หรือสิทธิในวงโคจรตาม วรรคหนึ่ง ไม่ว่าจะใช้เพื่อส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม หรือเพื่อประโยชน์อื่นใด ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ รวมตลอดทั้งการให้ประชาชนมีส่วนได้ใช้ประโยชน์ด้วยตามที่กฎหมายบัญญัติ
รัฐต้องจัดให้มีองค์กรที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อรับผิดชอบ และกำกับการดำเนินการเกี่ยวกับคลื่นความถี่ให้เป็นไปตามวรรคสอง ในการนี้ องค์กรดังกล่าวต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภค โดยไม่เป็นธรรมหรือสร้างภาระแก่ผู้บริโภคเกินความจำเป็น ป้องกันมิให้คลื่นความถี่ รบกวนกัน รวมตลอดทั้งป้องกันการกระทำที่มีผลเป็นการขัดขวางเสรีภาพในการรับรู้ หรือปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องตามความเป็นจริงของประชาชน และป้องกันมิให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่โดยไม่คำนึงถึงสิทธิของประชาชนทั่วไป รวมตลอดทั้งการกำหนดสัดส่วนขั้นต่ำที่ผู้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่จะต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

บทเฉพาะกาล
มาตรา ๒๖๒ 
ให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับ การประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เป็นองค์กรตามมาตรา ๕๖ และให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ ดังกล่าวให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อพิจารณาภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net