Skip to main content
sharethis

ASEAN Weekly สัปดาห์นี้พูดคุยกับดุลยภาค ปรีชารัชช ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงสถานการณ์หลังพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือเอ็นแอลดีชนะการเลือกตั้งทั่วไปของพม่า และความพยายามเปลี่ยนผ่านทางการเมืองผ่านการเจรจาระหว่างออง ซาน ซูจี กับผู้มีอำนาจตัวจริงนอกรัฐบาล

โดยที่ล่าสุดนั้นพม่าเพิ่งเปิดการประชุมร่วมสองสภาเพื่อลงมติเลือกประธานาธิบดี ผลการลงมติ ถิ่นจ่อ ที่ปรึกษาคนสนิทของออง ซาน ซูจีจากพรรคเอ็นแอลดี ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี โดยได้เสียงรับรอง 360 เสียง จากทั้งสองสภาที่มี 652 เสียง ขณะที่รองประธานาธิบดีคนที่ 1 คือ มิตส่วย อดีตผู้บัญชาการกองทัพภาคย่างกุ้ง และอดีตมุขมนตรีภาคย่างกุ้ง ซึ่งเสนอชื่อโดยสมาชิกรัฐสภาโควตากองทัพ ได้เสียงรับรอง 213 เสียง และ รองประธานาธิบดีคนที่ 2 คือ เฮนรี บันทียู สมาชิกสภาชนชาติจากรัฐชิน พรรคเอ็นแอลดี ซึ่งได้รับการเสนอชื่อโดยสภาชนชาติ ได้เสียงรับรอง 79 คะแนน

(ที่มาของภาพปก) ถิ่นจ่อ ว่าที่ประธานาธิบดีพลเรือนของพม่าในรอบ 50 ปี ขึ้นหน้าแรกของหนังสือพิมพ์เดอะโกลบอลนิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ฉบับวันที่ 16 มีนาคม 2559

อย่างไรก็ตาม กองทัพพม่ายังคงมีอำนาจขนานไปกับรัฐบาลพลเรือนที่นำโดยพรรคเอ็นแอลดี ผ่านตามรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 2008 กำหนดให้สมาชิกสภาทุกระดับต้องมาจากกองทัพ ร้อยละ 25 หรือ 1 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกในสภา นอกจากนี้ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพพม่า ยังมีอำนาจตั้งรัฐมนตรี 3 กระทรวงสำคัญได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกิจการชายแดน ซึ่งกระทรวงเหล่านี้ยังคุมองคาพยพบริหารราชการในภูมิภาคและท้องถิ่นของพม่าด้วย

มากไปกว่านั้นก็คือ กลไกของสภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ (NDSC) ซึ่งมีคณะบุคคล 11 คน กำหนดตำแหน่งไว้ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญให้อำนาจเพื่อประสานการทำงานกับประธานาธิบดีหลายข้อ และข้อสำคัญคือกำหนดให้สภากลาโหมสามารถรวบอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ และใช้อำนาจนั้นเพียงองค์กรเดียวได้ ในยามที่ประเทศพม่าประกาศภาวะฉุกเฉิน

โดยคาดว่า 6 คน จะเป็นฝ่ายของกองทัพ ได้แก่ (1) มิต ส่วย ว่าที่รองประธานาธิบดีคนที่ 1 ที่สมาชิกรัฐสภาแต่งตั้งของกองทัพเสนอชื่อ (2) ผู้บัญชาการกองทัพพม่า (3) รองผู้บัญชาการกองทัพพม่า (4) รมว.กระทรวงกลาโหม (5) รมว.กระทรวงมหาดไทย และ (6) รมว.กระทรวงกิจการชายแดน ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลพลเรือนมี 5 คนในสภาดังกล่าวคือ (1) ถิ่นจ่อ ว่าที่ประธานาธิบดี (2) เฮนรี บันทียู ว่าที่รองประธานาธิบดีคนที่ 2 (3) ประธานสภาผู้แทนราษฎร (4) ประธานสภาชนชาติ และ (5) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ทั้งนี้ มีความท้าทายภายหน้าประการใดบ้างที่รอรัฐบาลพลเรือนชุดใหม่ของประธานาธิบดี 'ถิ่นจ่อ' อาณาเขตทางการเมืองของกองทัพพม่าตามที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้จะมีที่ทางอย่างไร รวมไปถึงกระบวนการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มชาติกกพันธุ์จะได้รับการสานต่ออย่างไร ติดตามได้ในรายการ ASEAN Weekly ตอนนี้

ติดตามข่าวสารจาก ASEAN Weekly ได้ที่ https://www.facebook.com/AseanWeekly/

ลงทะเบียนเพื่อติดตามวิดีโอจากประชาไททีวีที่

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net