บทความแปล: อัลฟาโกะ และการปะทะทางอารยธรรม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เกมกระดานที่เรารู้จักกันดีอย่าง “โกะ” ถือเป็นเพชรเม็ดงามของวัฒนธรรมจีน เกมกระดานที่มีกฎอันเรียบง่าย แต่กลยุทธ์นั้นแสนซับซ้อน ว่ากันว่ามันถูกคิดค้นขึ้นโดย “เหยา”  ผู้ปกครองในตำนานของจีน หลักฐานทางโบราณคดี และเอกสารโบราณบอกไว้ว่าโกะมีอายุอย่างน้อย 2500 ปี เฮนรี คิสซินเจอร์ (Henry Kissinger) อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา เคยกล่าวไว้ในหนังสือของเขา On China (2011) ว่ายุทธศาสตร์ในการปกครองประเทศจีนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีรากฐานมาจากเกมโกะ โกะได้รับความนิยมอย่างมากในแถบเอเชียตะวันออก ผู้เล่นโกะระดับเซียนนั้นอยู่ในประเทศจีน, เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น


 

แต่เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา AlphaGo โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาโดยทีม Deepmind ซึ่งเป็นทีมงานวิจัยปัญญาประดิษฐ์ของบริษัทกูเกิล สามารถเอาชนะแชมป์โกะโลกชาวเกาหลีใต้ไปได้ การแข่งขันระดับประวัติศาสตร์นี้ดึงดูดความสนใจจากประเทศจีนเป็นอย่างมาก ซึ่งชัยชนะของ AlphaGo ทำให้ผู้คนประหลาดใจกับพลังของปัญญาประดิษฐ์ และเริ่มทบทวนเกี่ยวกับธรรมชาติของเกมโกะกันเสียใหม่ นอกเหนือจากนั้นยังแสดงให้เห็นถึงการปะทะกันระหว่างเทคโนโลยีตะวันตกกับวัฒนธรรมตะวันออกอีกด้วย

เกมโกะนั้นดูเหมือนจะเป็นอะไรที่ง่าย เล่นกันบนกระดานที่มีจุดตัดทั้งหมด 361 จุด ผู้เล่นสองคนผลัดกันวางเม็ดหมากสีขาว และดำ หนึ่งสีต่อหนึ่งคน ผู้เล่นที่สามารถล้อมพื้นที่ได้มากที่สุดจะเป็นผู้ชนะ (ชื่อเรียก Go นั้นมาจากภาษาญี่ปุ่น ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกเกมนี้ ส่วนในภาษาจีนเรียก weiqi  โดยมีความหมายว่า “หมากล้อมรอบ”) แต่ความเป็นได้ทั้งหมดในเกมโกะนั้นเกือบจะเป็นอนันต์ ครั้งก่อนที่ Deep Blue โปรแกรมหมากรุกชื่อดังที่ถูกพัฒนาโดย IBM เอาชนะแชมป์หมากรุกโลกได้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 1996 นั้น มันสามารถทดสอบความเป็นไปได้ทั้งหมดได้อย่างง่ายดาย แต่จำนวนความเป็นไปได้ทั้งหมดของเกมโกะโดยประมาณนั้นเป็นตัวเลขที่มหาศาลกว่านั้นมาก มากกว่าจำนวนอะตอมในจักรวาลที่สังเกตได้เสียอีก ความซับซ้อนที่เหนือไปกว่าหมากรุก ทำให้มันดูไม่สมจริงเลยกับการที่โปรแกรมคอมพิวเตอร์จะมาคำนวณความเป็นไปได้ทั้งหมดแข่งกับผู้เล่นที่เป็นมนุษย์

นี่จึงทำให้ชัยชนะของคอมพิวเตอร์กลายเป็นสิ่งที่น่าจดจำ  Deepmind บริษัทสตาร์ทอัพจากลอนดอน ที่กูเกิลได้ซื้อกิจการไปในราคา 400 ล้านเหรียญเมื่อปี 2014 นั้นได้พัฒนา AlphaGo ขึ้นมา และเป็นพาดหัวข่าวบนหน้าปกของวารสาร Nature หลังจากที่ AlphaGo เอาชนะแชมป์โกะยุโรปสามสมัย Fan Hui ไปอย่างขาดลอยด้วยคะแนน 5 ต่อ 0 เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว จากนั้นในเดือนมีนาคมปีนี้ Deepmind จึงตัดสินใจที่จะท้าแข่งกับลีเซดอล (Lee Sedol) ชาวเกาหลีใต้วัย 33 ปี ผู้เป็นแชมป์โลกโกะ 18 สมัย  ก่อนหน้าที่การแข่งขันระหว่าง AlphaGo กับลีจะเริ่มขึ้นนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านโกะหลายรายล้วนมองว่าลีนั้นเหนือกว่า AlphaGo แต่ลีกับผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นประเมินความสามารถในการเรียนรู้และการพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอของ AlphaGo น้อยเกินไป AlphaGo สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเอาชนะลีไปด้วยคะแนน 4 ต่อ 1 มันคือหมุดหมายที่สำคัญสำหรับชัยชนะของปัญญาประดิษฐ์ และเป็นประเด็นสนทนาที่ร้อนแรงบนอินเทอร์เน็ตของจีน เดมิส แฮสเซบิส (Demis Hassabis) ผู้ซึ่งเป็นคนพัฒนา AlphaGo ได้โพสต์ลงในทวิตเตอร์ของเขาว่ามีคนมากกว่า 100 ล้านคนที่ติดตามการแข่งขันในเกมแรก โดยเฉพาะในประเทศจีนก็มีราว ๆ 60 ล้านคนด้วยกัน

แต่แวดวงของผู้เล่นโกะมือโปรในประเทศจีน ความพ่ายแพ้ต่อคอมพิวเตอร์ของลีนำมาซึ่ง “การค้นหาจิตวิญญาณ” บทสัมภาษณ์บล็อกที่เกี่ยวข้องกับโกะจำนวนหนึ่งเปิดเผยให้เห็นว่าผู้เล่นมือโปรบางคนมองว่าการแข่งขันนี้เป็นการประชันกันระหว่างตะวันตกกับตะวันออก “ผมคิดว่าโกะนั้นเป็นภาพแทนของภูมิปัญญาตะวันออก ในขณะที่ปัญญาประดิษฐ์เป็นเหมือนการประกาศตัวของความคิดตะวันตก” เฉิน เหลย์ (Chen Lei) กล่าวไว้ เขาเป็นซีอีโอของบริษัท Wantong Techonogy บริษัทสตาร์ทอัพเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ในปักกิ่งที่ก่อตั้งเพื่อพัฒนาแอพลิเคชันปัญญาประดิษฐ์สำหรับโกะ “ลักษณะหนึ่งของภูมิปัญญาตะวันออกก็คือความโน้มเอียงไปในเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณ แต่ทว่าคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องเชิงปริมาณล้วน ๆ สองอย่างนี้จึงไม่สามารถแทนที่กันได้”

ขณะที่คนอื่น ๆ รู้สึกว่าจีนไม่ได้รับการพิจารณาที่เหมาะสมในการแข่งขันนี้ ซุ้น หยวน (Sun Yuan) นักเล่นโกะมือโปร และนักศึกษาปริญญาเอกด้านวิศวกรรมในมหาวิทยาลัย Shanghai Jiaotong ตำหนิกูเกิลสำหรับการเลือกที่จะจัดการแข่งขันขึ้นในประเทศเกาหลีใต้แทนที่จะเป็นจีน ซุ้นเชื่อว่านี่เป็นเรื่องธุรกิจ “[กูเกิล] ไม่เสนอบริการหลักในจีน และไม่มีสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับกูเกิลเพื่อที่จะจัดงานประชุม ดังนั้นพวกเขาจึงเลือกเกาหลีใต้แทน” (กูเกิลถอนตัวจากจีนเมื่อปี 2012 ท่ามกลางความเข้มงวดของกฏหมายเซ็นเซอร์ที่เพิ่มขึ้น) “นี่จึงทำให้จีนต้องพลาดโอกาสดี ๆ ที่จะพิสูจน์ในโลกเห็นในฐานะประเทศต้นกำเนิดของโกะ” เขาสรุป

แต่สำหรับชาวเน็ตบางคนบนไมโครบล็อกชื่อดังอย่างเวยป๋อ (Weibo) แสดงความเห็นว่าการแข่งขันนี้ไม่ใช่ความพ่ายแพ้ของภูมิปัญญาตะวันออก แต่น่าจะเป็นตัวอย่างความอ่อนแอทางด้านเทคโนโลยีของจีนเสียมากกว่า “กูเกิลกับไป่ตู้ (Baidu) ก่อตั้งขึ้นในยุคเดียวกัน และทั้งคู่ก็เริ่มต้นด้วยการให้บริการเครื่องมือค้นหา” ผู้ใช้เวยป๋อคนหนึ่งแสดงความเห็นพาดพิงไปถึงยักษ์ใหญ่ของจีน “กูเกิลสามารถพัฒนาโปรแกรมที่เอาชนะมนุษย์ได้ ผลิตรถยนต์ไร้คนขับได้ ในขณะที่ไป่ตู้ทำได้แค่ขายยาปลอมในเว็บบอร์ด ประมูลลำดับในการค้นหา แล้วก็ยังทำการฝังตัวเข้าไปในคอมพิวเตอร์ของทุก ๆ คน!” ไป่ตู้ซึ่งทำงานในประเทศจีนเป็นหลัก ต้องจัดการกับการเซ็นเซอร์อย่างเข้มงวดที่เป็นเหตุให้กูเกิลต้องถอนตัวไปในปี 2010 ชาวเน็ตบางคนกล่าวถึงความล้าหลังของไป่ตู้เมื่อเทียบกับกูเกิล “กูเกิลพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ในขณะที่ไป่ตู้พัฒนาระบบสั่งของออนไลน์” บางคนก็แสดงความผิดหวังที่บริษัทที่สร้างเทคโนโลยีขั้นสูงที่สุดในโลกอย่างกูเกิล ยังคงถูกปิดกั้นในประเทศจีน ดังเช่นมุกตลกอันโด่งดังที่ว่า: “ถ้า AlphaGo มาแข่งกับนักเล่นโกะชั้นเซียนในประเทศจีน มันจะต้องแพ้แน่นอน เพราะไม่สามารถเชื่อมต่อไปยังเซิฟเวอร์ของตัวเองได้”

สำหรับบางคนอย่างเช่นผู้เชี่ยวชาญโกะ เฉิน ซูหยวน (Chen Zuyuan) แล้ว ประเด็น “ตะวันตก-ตะวันออก” ในการแข่งขันนั้นถูกพูดถึงมากเกินไป “แวดวงผู้เชี่ยวชาญโกะในประเทศจีนนั้นให้ความสำคัญกับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างโกะกับวัฒนธรรมตะวันออกมากเกินไป และเชื่อว่าวัฒนธรรมตะวันตกเข้ากันไม่ได้กับโกะ” เฉินกล่าว “มุมมองแบบนี้ต้องปรับเสียใหม่” แชมป์โลกโกะหญิง ซู้ หยิง (Xu Ying)  ให้ความเห็นว่าปัญญาประดิษฐ์นั้นมีส่วนในการช่วยเหลือเกมโกะมากกว่าการเป็นคู่แข่งกันของอารยธรรม “การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์สำหรับโกะสามารถช่วยให้เราคิดถึงแก่นแกนของเกมได้” เธอกล่าว “สำหรับมนุษย์ผู้เป็นสิ่งมีชีวิตแล้ว ส่วนที่สำคัญของเกมโกะคือส่วนที่ไม่เกี่ยวอะไรกับการแข่งขันเลย” โจว จุ้นซุ้น (Zhou Junxun) นักเล่นโกะชาวไต้หวันคนแรกที่ได้เป็นแชมป์ระดับโลกเห็นด้วยกับประเด็นนี้ “โกะคือวัฒนธรรมและศิลปะ หลังจากที่โปรแกรมคอมพิวเตอร์สามารถเอาชนะมนุษย์ได้ บรรดามือโปรทั้งหลายควรยกระดับโกะจากการแข่งขัน ไปสู่ระดับที่สูงกว่านั้น [คือศิลปะวัฒนธรรม]”

สำหรับแฟนโกะชาวจีนที่หวังว่าจีนจะได้รับโอกาสในการกอบกู้ ความหวังไม่ใช่ความพ่ายแพ้ หลังจากที่ลีพ่ายแพ้นั้น แชมป์โกะวัย 18 ปี เค่อ เจี๋ย (Ke Jie) โพสต์ลงในเวยป๋อของเขา “แม้ว่า AlphaGo จะสามารถเอาชนะลีเซดอลได้ แต่มันก็ชนะผมไม่ได้หรอก” หลายคนในประเทศจีนอาจจะไม่รู้จักเค่อ เจี๋ย แต่เขาต่างหากที่ถือได้ว่าเป็นผู้เล่นที่ดีที่สุดในโลกไม่ใช่ลีเซดอล แม้ว่าผู้เล่นระดับโปรบางคนอย่าง ฮวา เซว่หมิง (Hua Xueming) หัวหน้าทีมโกะประจำชาติของจีน เชื่อมั่นว่าเค่อ เจี๋ย มีความสามารถในระดับเดียวกับลี  Wall Street Journal ให้ความเห็นว่า เค่อ เจี๋ย เป็นแชมป์โลกสามสมัยในอายุแค่ 18 ปี จะสามารถแสดงศักยภาพสูงสุดของมนุษย์ได้ดีกว่าลี อันที่จริงแล้ว เค่อ เจี๋ย ดูเหมือนว่าจะเป็นคู่แข่งคนต่อไปของ AlphaGo ในการสัมภาษณ์หลังจากการแข่งขัน ลีพูดถึงเค่อ เจี๋ย ว่า “เขาอายุน้อยกว่าผม 14 ปี ยังอยู่ในวัยที่เต็มไปด้วยความหยิ่งยโส”

ชัยชนะของ AlphaGo ที่มีต่อลี นำมาซึ่งบทบาทของเทคโนโลยีที่มีต่อเกมโกะ ที่เชื่อว่าเป็นวัฒนธรรมของตะวันออกมาเนิ่นนาน แต่ฉาง โฮ (Chang Ho) หนึ่งในผู้เล่นระดับสูงของประเทศจีนในทศวรรษที่ผ่านมา เชือว่าแก่นแท้ของโกะนั้น สถิตอยู่ในขอบเขตจักรวาลของมนุษย์ “รากฐานของโกะยังเป็นของมนุษย์ มนุษย์ที่มีอารมณ์ความรู้สึก และความสุขุม” ฉางกล่าว “ในแง่นี้แล้ว โกะจึงเป็นมากกว่าการแพ้หรือการชนะ มันคือเกมที่ยอดเยี่ยมในการฝึกนิสัยของมนุษย์”

 

 

หมายเหตุ:

1. แปลจาก AlphaGo and the Clash of Civilizations ต้นฉบับ https://foreignpolicy.com/2016/03/18/china-go-chess-west-east-technology-artificial-intelligence-google/

2.บทความแปลชิ้นนี้ผู้แปลพยายามถอดเสียงชื่อจีนด้วยความรู้ที่เป็นศูนย์ อาศัยเพียงการหาความรู้ในการถอดเสียงจากอินเทอร์เน็ต หากมีข้อผิดพลาดใด ๆ ผู้แปลขอน้อมรับไว้แต่เพียงผู้เดียว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท