Skip to main content
sharethis

จากกระแสข่าวว่าวันนี้(22 มี.ค.59) กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ให้ ครม. พิจารณาเห็นชอบ โดยหนึ่งในมาตรการนั้นคือ การแจกเงินให้กับราชการเป็นวงเงินรวม 1.5 หมื่นล้านบาท โดยให้กับข้าราชการระดับล่างและกลางที่ไม่มีเงินประจำตำแหน่ง ซึ่งมีอยู่จำนวน 1 ล้านคน ได้เงินคนละประมาณ 1,000 กว่าบาท คาดว่าจะจ่ายเงินให้ได้ช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายในช่วงวันหยุดยาว เพื่อกระตุ้นการบริโภคให้เกิดความคึกคักทำให้เศรษฐกิจ ขยายตัวได้เพิ่ม เหมือนกับการลดภาษีช็อปปิ้งของรัฐบาลในช่วงส่งท้ายปีเก่า 2558 ที่ผ่านมา (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) นั้น

ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ พร้อมทั้งการตั้งคำถามกับการปฏิรูประบบราชการที่ดูไม่มีรูปธรรมออกมาตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปี ภายใต้วาระการปฏิรูปประเทศที่คณะรักษาความความสงบแห่งชาติ อ้างเป็นความชอบธรรมหนึ่งในการเข้ามาบริหารประเทศ 

ในโอกาสนี้จึงขอนำงานศึกษาของสถาบันอนาคตไทยศึกษาเปิดผลการศึกษาเมื่อต้นปี 2558 เรื่อง “ข้อเท็จจริง 10 ปี ระบบข้าราชการไทย” ซึ่ง ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นำมาเสนอในรายการ 'คิดยกกำลังสอง' ทางไทยพีบีเอส ตอน ข้าราชการไทย แพงแค่ไหน ทำอะไรให้เราบ้าง ?

โดยก่อนรายงานของสถาบันอนาคตไทยศึกษา ออกมาเมื่อต้นปีที่แล้ว ได้มีการอนุมัติขึ้นเงินเดือนพนักงานรัฐวิสาหกิจเฉลี่ย 6.5% ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่นานก็เพิ่งมีการปรับเงินเดือนข้าราชการเพิ่มขึ้นคนละอย่างน้อย 4% และขยายเพดานเงินเดือนอีก 10% ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดูสมเหตุสมผล เพื่อให้เงินเดือนของข้าราชการสะท้อนค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น หลังจากที่ไม่ได้มีการปรับฐานเงินเดือนมาตั้งแต่ปี 2554 และครั้งนี้จะเป็นการปรับครั้งที่ 6 ในรอบ 10 ปี
 
สถาบันอนาคตไทยศึกษา ได้สรุปการเปลี่ยนแปลงในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมาของระบบข้าราชการ 6 ประเด็น ดังนี้
 
1. ปัจจุบันฐานเงินเดือนข้าราชการไม่ได้ต่่าอย่างที่คิดอีกต่อไป จากที่เมื่อ 10 ปีที่แล้วเงินเดือนแรกเข้าของข้าราชการวุฒิปริญญาตรีเคยคิดเป็นเพียง 2 ใน 3 ของเงินเดือนแรกเข้าพนักงานเอกชนที่ระดับการศึกษาเท่ากัน  แต่ปัจจุบันข้าราชการได้เงินเดือนแรกเข้าสูงกว่าพนักงานเอกชนโดยเฉลี่ย ราว 10% เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีนโยบายปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการวุฒิปริญญาตรีให้ได้ 15,000 บาทต่อเดือน
 
2. จำนวนกำลังคนภาครัฐเพิ่มขึ้นเกือบ 50% อยู่ที่ ราว 2.2 ล้านคน โดยลูกจ้างรัฐ และพนักงานรัฐเพิ่มเป็น 6 เท่า เปรียบเทียบข้อมูลกำลังคนภาครัฐของสำนักงานก.พ. เป็นการเปรียบเทียบปี 2547 กับ 2556 หลังจากที่มีริเริ่มการปฏิรูประบบราชการ โดยการปรับลดกำลังคน ผลคือจำนวน ข้าราชการประจำแทบไม่เพิ่มขึ้นเลยจากสิบปีที่แล้ว แต่ที่เพิ่มขึ้นมากคือลูกจ้างรัฐ และพนักงานรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้น 6 เท่า บางกระทรวงมีลูกจ้างและพนักงานมากกว่าข้าราชการประจำ เช่น กระทรวงทรัพยากรฯ มีข้าราชการประจำเพียง 10,000 คนเท่านั้น แต่มีลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ 1 ร่วม 50,000 คน เป็นต้น

3. ข้าราชการตั้งแต่ซี 9 ขึ้นไปเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ทั้งๆ ที่จำนวนข้าราชการประจำโดยรวมลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มกระทรวงใหม่ 6 กระทรวง ทำให้มีกรมเพิ่มขึ้นกว่า 40 กรมเป็น 168 กรม เมื่อปี 2545 ส่งผลให้ภาครัฐสุ่มเสี่ยงกับปัญหาขาดแคลนกำลังคนโดยเฉพาะระดับปฏิบัติการ ทั้งนี้หลังปี 2551 มีการเปลียนระบบใหม่ ซี9-11จึงรวมตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ อำนวยการ(สูง) ผู้บริหาร(ต้น+สูง) ไม่รวมข้าราชการพลเรือนสามัญกระทรวงศึกษาธิการ, ข้าราชการครู และข้าราชการมหาวิทยาลัย 

4. งบบุคลากรภาครัฐเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า จากเมื่อ 10 ปีก่อน  ถ้าหากรวมเอาภาระงบบุคลากรรวมทั้งสวัสดิการข้าราชการอื่นๆ อย่างค่ารักษาพยาบาลและบำเหน็จ บำนาญ ก็ร่วม 1.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้ของรัฐบาล
 
5. งบบุคลากรองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นก็เพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าจากเมื่อ 10 ปีก่อน ในขณะที่จำนวนกำลังคนภาครัฐในระดับท้องถิ่นนั้นเพิ่มขึ้น 3 เท่าตามจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้น 
 
6. เมื่อเทียบกับจีดีพี งบบุคลากรภาครัฐของไทยสูงเป็นอันดับต้นๆ ในเอเชีย รองจากบาร์เรนและมัลดีฟส์ โดยสัดส่วนงบบุคลากรภาครัฐต่อจีดีพีของไทยอยู่ประมาณ 7% สูงกว่าเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย (6%)ฟิลิปปินส์ (5%) หรือสิงคโปร์ (3%)
 
แต่ผลงานของภาครัฐใน 10 ปีที่ผ่านมาอย่างไร? 
 
- ประสิทธิภาพของรัฐบาลแย่ลงจากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว จากผลการวิจัยของธนาคารโลกพบว่า ความมีประสิทธิผลของรัฐบาลไทยอยู่อันดับ 74 จาก 196 ประเทศตกลงจากอันดับ 65 เมื่อสิบปีก่อน นอกจากนี้จากการสำรวจความเห็นของนักธุรกิจของ World Economic Forum (WEF) ตั้งแต่ปี 2551-2556 พบว่าความไร้ประสิทธิภาพของภาครัฐ เป็น 1 ใน 5 ของปัจจัยที่เป็นปัญหาในการทำธุรกิจในประเทศไทย 
 
- ปัญหาคอร์รัปชั่นในภาครัฐก็แย่ลงเช่นกัน จากผลวิจัยของธนาคารโลกเช่นเดียวกัน พบว่าไทยตกจากอันดับ 91 เมื่อ 10 ปีก่อน มาเป็นอันดับ 98 จาก 196 ประเทศหรือถ้าหากดูจากดัชนีการรับรู้เรื่องคอร์รัปชั่น (Corruption Perception Index) ก็ร่วงจากอันดับ 70 เป็นอันดับ 102 จาก 174 ประเทศ WEF จัดอันดับเรื่องการเล่นพรรคเล่นพวกของข้าราชการไทยอยู่อันดับ 93 จาก 148 ประเทศอันดับใกล้เคียงกับประเทศอินเดีย (94) และมาลาวี(92)
 
สถาบันอนาคตไทยศึกษา ระบุด้วยว่า การปฏิรูประบบราชการจะต้องเป็นวาระที่ส่าคัญเป็นอันดับต้นๆ และต้องท่าโดยเร่งด่วน เพราะจะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้การปฏิรูปด้านอื่นๆ สำเร็จได้ และตอนนี้จะเป็นโอกาสที่ดีเพราะจะมีข้าราชการราว 40% จะเกษียณอายุใน อีก 15 ปีข้างหน้า จึงควรเริ่มจากขนาดกำลังคนที่เล็กลง ปรับปรุงประสิทธิภาพ และความโปร่งใส ตรวจสอบได้เช่น ลดจำนวนตัวชี้วัดแต่ให้เชื่อมโยงกับการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ และเพิ่มสัดส่วนการจ่ายค่าตอบแทนตามผลงาน (pay for performance)
 
ซึ่งถ้ามาตรการต่างได้ผลจริง การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการให้สูงขึ้นก็จะไม่เป็นปัญหา ตัวอย่างจากประเทศสิงคโปร์ที่เป็นอันดับ 1 ของโลกในเรื่องประสิทธิภาพของภาครัฐ และความโปร่งใส ในขณะเดียวกันก็เป็นประเทศที่จ่ายเงินเดือนข้าราชการสูงเช่นกัน โดยให้เหตุผลเพื่อเป็นการดึงดูด และรักษาคนเก่งให้อยู่ในระบบราชการ รวมทั้งเพื่อลดปัญหาคอร์รัปชั่น โดยกำหนดให้เงินเดือนข้าราชการอาวุโสต้องเทียบเท่ากับเงินเดือนเฉลี่ยของพนักงานเอกชนที่ได้รายได้สูงสุดใน 6 สาขาอาชีพหลัก ในขณะที่ภาระงบบุคลากรต่อจีดีพีของสิงคโปร์นั้นไม่ถึงครึ่งหนึ่งของประเทศไทย
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net