เวทีคปก.เสนอยกระดับฐานความผิด เปลี่ยนผู้ดื่มแล้วขับเป็น 'ขับรถอันตราย' แทน 'ขับโดยประมาท'

เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) แจ้งว่า คปก. นำโดย ดร.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างรายงานวิชาการ เรื่อง “ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อมาตรการปกป้องสิทธิและคุ้มครองความปลอดภัยในการใช้ถนนร่วมกัน (กรณีเมาไม่ขับ) ณ สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย อาคารซอฟต์แวร์ปาร์ค ถนนแจ้งวัฒนะ จ.นนทบุรี โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหลายภาคส่วน อาทิ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน นายกวิน ชุติมา กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอร่างรายงานวิชาการ ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อมาตรการปกป้องสิทธิและคุ้มครองความปลอดภัยในการใช้ถนนร่วมกัน (กรณีเมาไม่ขับ)

นางสาวลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า ผู้เดินเท้าและผู้ใช้จักรยานในปัจจุบันเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากผู้กระทำผิดขับขี่รถในขณะมึนเมา โดยสถิติพบว่า ทุก ๆ วัน คนไทย 8-10 คน เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่เกี่ยวข้องกับการดื่มแล้วขับ การจัดทำรายงานวิชาการจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้

ด้าน นายเอนก บุญมา นักวิชาการปฏิรูปกฎหมาย นำเสนอประเด็นสำคัญของร่างรายงานวิชาการ ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อมาตรการปกป้องสิทธิและคุ้มครองความปลอดภัยในการใช้ถนนร่วมกัน (กรณีเมาไม่ขับ) ว่า ที่ผ่านมาคณะทำงานพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้เดินเท้าและผู้ใช้จักรยาน ได้ประชุมร่วมกันและมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 3 ระยะ โดยระยะต้น เสนอให้ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องกฎจราจร รวมทั้งรณรงค์ให้ผู้ขับขี่ตระหนักถึงอันตรายจากการเมาแล้วขับอย่างต่อเนื่อง ระยะกลาง เสนอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวดขึ้น พร้อมกำหนดแนวปฏิบัติในการตั้งจุดตรวจในพื้นที่ที่พบว่ามีสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ กักตัวผู้ที่เมาแล้วขับไว้ยังสถานี เพื่อรอให้อยู่ในสภาพที่พร้อมขับรถได้ และในระยะยาว ยังได้เสนอให้ปรับปรุงพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 โดยเสนอให้เพิ่มโทษการกระทำความผิดจากการเมาแล้วขับให้สูงขึ้นโดยจะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ปรับปรุงกระบวนการดำเนินคดี ควบคุมการดำเนินการคุมความประพฤติอย่างเข้มงวด จริงจัง และปรับปรุงการเยียวยาและคุ้มครองผู้ประสบภัย

นายธงไทย สุขกสิกร คณะทำงานพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้เดินเท้าและผู้ใช้จักรยาน กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะทำงานฯ ยังได้เสนอให้มีการปรังปรุงแก้ไขเรื่องโทษตามพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 157/1 และมาตรา 160 ตรี โดยได้เสนอให้เพิ่มโทษให้หนักขึ้นหากเกิดกรณีผู้ขับขี่เมาแล้วขับเป็นเหตุให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย แม้เป็นการกระทำโดยประมาท โดยมิให้ถือว่าการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวกัน แต่กำหนดให้ความผิดฐานเมาแล้วขับและความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายเป็นความผิดสำเร็จแยกกรรม

นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังมีความเห็นสอดคล้องกันในการปรับลดระดับปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่ให้เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ให้เป็นเกณฑ์ที่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน

นายสมชาย หอมลออ กรรมการปฏิรูปกฎหมายชุดที่ 1 กล่าวว่า มาตรการปกป้องสิทธิและคุ้มครองความปลอดภัยในการใช้ถนนร่วมกันกรณีเมาไม่ขับนั้นจะต้องเป็นไปเพื่อการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ โดยจะต้องครอบคลุมถึงมาตรการในการป้องกันหรือการเข้าถึงสิ่งเสพติดให้ยากขึ้น เช่น ในปัจจุบันมีการจำกัดเวลาการจำหน่ายสุรา อาจเพิ่มมาตรการเป็นการจำกัดพื้นที่ที่จำหน่ายสุรา เพื่อลดจำนวนการเข้าถึงสิ่งเสพติด เป็นต้น นายสมชายมีความเห็นว่า ไม่ควรกำหนดโทษจำคุกต่อกลุ่มคนบางประเภท เข่น เยาวชนที่ดื่มสุรา เป็นต้น เนื่องจากโทษจำคุกจะส่งผลในระยะยาวต่อผู้ต้องโทษในการมีประวัติอาชญากร จึงเสนอให้มีการนำโทษประเภทอื่นมาใช้แทนโทษจำคุก โดยศาลจะต้องใช้ดุลพินิจให้เหมาะสมในการกำหนดโทษ

ต่อมาในเวลา 12.00 น. นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ร่วมด้วย ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ และนายกวิน ชุติมา ได้แถลงความเห็นและข้อเสนอแนะต่อมาตรการปกป้องสิทธิและคุ้มครองความปลอดภัยในการใช้ถนนร่วมกัน (กรณีเมาไม่ขับ) ต่อสื่อมวลชน ทั้งในส่วนที่เป็นข้อเสนอด้านนโยบายและด้านกฎหมาย ดังนี้

1. วางแผนการจัดด่านตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่โดยจัดสรรเครื่องมือในการตรวจวัดให้เพียงพอ เพื่อป้องกันคนที่ดื่มของมึนเมาไม่ให้ขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนน

2. จะต้องมีการจัดเก็บข้อมูลการกระทำความผิดซ้ำประกอบสำนวนคดี โดยเฉพาะกรณีที่ผู้ขับขี่เมาแล้วขับเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โดยจะต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างตำรวจกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข พร้อมทั้งมีระเบียบปฏิบัติที่ชัดเจน เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

3. ปรับปรุงการพิจารณาคดี โดยเปลี่ยนแปลงและยกระดับการขับรถที่ผู้ขับขับขี่ด้วยการใช้สารเสพติดหรือแอลกอฮอล์ โดยกำหนดให้เป็นการขับรถอันตราย ซึ่งจะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงฐานความคิดที่นำไปสู่การกำหนดฐานความผิดที่แตกต่างไปจากการขับรถโดยประมาท

ข้อเสนอในการปรับแก้ไขมาตรการเหล่านี้ จะเป็นข้อเสนอที่ครอบคลุมการแก้ไขพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 และประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาทั้งระบบ โดยคณะทำงานฯ จะดำเนินการรวบรวมความเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อนำส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท