คุยกับประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อHIV: ความเข้าใจผิดที่ต้องร่วมหาทางออก

ไขความเข้าใจผิดเรื่องเชื้อเอชไอวี/เอดส์ กับประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ติดต่อกันง่ายแค่ไหน สถานการณ์อะไรที่ผู้ติดเชื้อฯ ต้องเผชิญ และความเข้าใจแบบผิดๆ ของสื่อที่เสนอภาพจำเมื่อ 30 กว่าปีก่อน

“จริงๆ แล้วสาเหตุของการติดเชื้อ
นั่นคือการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน
นี่คือหัวใจหลักของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
อีกปัจจัยหนึ่งคือการติดเชื้อในผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด
เอาเป็นว่าการรับเชื้อมันมีแค่สองส่วน
ไม่ใช่การอยู่ร่วมกันทำงานด้วยกันกินข้าวด้วยกัน
หรือถูกเนื้อต้องตัวกันธรรมดา"

จากกรณีข่าวการบังคับตรวจเลือดก่อนเข้าโรงเรียนของเด็กอายุ 4 ขวบ ที่มีพ่อแม่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อเข้าไปดูความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีอีกหลายคนที่ยังเห็นด้วยในการกระทำของโรงเรียน โดยอ้างว่าเพื่อความปลอดภัยของเด็กคนอื่นๆ ที่ต้องอยู่ร่วมในสังคมกับผู้ติดเชื้อ การป้องกันเอาไว้ก่อนคงจะปลอดภัยมากกว่า นี่เป็นเครื่องยืนยันว่าหลายๆ คนยังมีความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับการแพร่เชื้อเอชไอวี อีกทั้งยังหลงลืมไปว่าหลังจากมีการตรวจเลือดเกิดขึ้น สิ่งใดอีกบ้างที่เด็กคนนี้จะต้องเผชิญในด้านสังคมและการใช้ชีวิตภายในโรงเรียน

จากการพูดคุยกับอนันต์ เมืองไชยมูล ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ถึงประเด็นนี้ อนันต์กล่าวว่า อยากจะเน้นย้ำถึงสาเหตุหลักของการติดเชื้อ ไม่ใช่ของเหลวทุกชนิดในร่างกายที่เป็นตัวส่งต่อเชื้อไวรัส ในน้ำเหงื่อนั้นไม่มีเชื้อไวรัส ในน้ำตา น้ำลาย ก็เช่นกัน เพราะฉะนั้นกิจกรรมปกติในชีวิตประจำวันที่เกิดในสถานศึกษาและสถานที่ทำงาน จึงไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อแม้แต่น้อย

“จริงๆ แล้วสาเหตุของการติดเชื้อ นั่นคือการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน นี่คือหัวใจหลักของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อีกปัจจัยหนึ่งคือการติดเชื้อในผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด เอาเป็นว่าการรับเชื้อมันมีแค่สองส่วน ไม่ใช่การอยู่ร่วมกันทำงานด้วยกันกินข้าวด้วยกัน หรือถูกเนื้อต้องตัวกันธรรมดา มันไม่มีโอกาสที่จะรับเชื้อ” อนันต์ กล่าว

นอกจากนี้ประธานเครือข่ายฯ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า สารในร่างกายที่เป็นการส่งต่อเชื้อไวรัสนั้นมีเพียงแค่สารคัดหลั่งเท่านั้น เช่น เชื้ออสุจิ น้ำในช่องคลอด น้ำนม และน้ำในไขสันหลัง ส่วนในกรณีของการติดเชื้อจากการใช้สารเสพติดชนิดฉีด คือการติดเชื้อทางเลือดโดยตรง เนื่องจากการใช้สารเสพติดประเภทนี้จะมีเลือดตกค้างอยู่ภายในกระบอกฉีด เมื่อมีการใช้ร่วมกันจึงเป็นการส่งต่อเลือดและเลือดโดยตรง นั่นเป็นสาเหตุของการติดเชื้อ

ปัญหาการติดต่อเอชไอวีนั้น หลายคนทราบว่าสาเหตุหลักมาจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน เมื่อทราบดังนั้นแล้วทำไมถึงยังเกิดขึ้น? นี่คือคำถามที่หลายคนคงสงสัย อนันต์ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า เหตุการณ์เหล่านี้เกิดจากปัจจัยสองส่วน หนึ่งคือความเชื่อใจ การเชื่อมั่นว่าคู่นอนของเรานั้น “ไม่น่า” ที่จะเป็นผู้ติดเชื้อ ซึ่งมันเป็นเพียงการคาดเดาว่าน่าจะปลอดภัย ในสังคมเรานั้นส่วนใหญ่ยังไม่กล้าที่จะพูดหรือซักถามกันเรื่องเพศตรงๆ ด้วยเหตุผลของความเชื่อใจ หรือกลัวการทะเลาะเบาะแว้ง จึงทำให้ไม่เกิดการป้องกัน อีกเหตุผลหนึ่งคือการที่ผู้หญิงนั้นมีอำนาจต่อรองในการมีเพศสัมพันธ์น้อย แม้จะเป็นคู่หรือแฟนของตนเองก็ตาม หลายคนอยากป้องกันแต่ไม่กล้าต่อรอง

มาถึงตรงนี้ อนันต์ชี้ว่า จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ซึ่งเป็นต้นตอของการติดเชื้อนั้น ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เราจะพบได้ในโรงเรียนหรือสถานที่ทำงาน ความกลัวการติดเชื้อทั้งหมดตั้งอยู่บนความไม่เข้าใจของคนในสังคม

"เมื่อครูยังไม่เข้าใจแล้วเด็กจะไปเข้าใจได้อย่างไร
ยิ่งถ้าจะให้ผู้ปกครองของเด็กเข้าใจยิ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก"

แล้วทางใดที่จะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่คนในสังคมได้ อนันต์ กล่าวต่อว่า ทั้งหมดนี้ควรเริ่มจากการเรียนรู้ โดยกระทรวงศึกษาธิการควรเพิ่มเรื่องเอชไอวี/เอดส์ ให้เป็นหลักสูตรบังคับในแบบเรียน เรียนรู้กันอย่างจริงจังไม่ใช่ตั้งอยู่บนความเขินอาย เพราะการสร้างความเข้าใจไม่ใช่เรื่องน่าอาย และหลักสูตรดังกล่าวต้องไม่ใช่การเรียนแค่ฉาบฉวย ยกตัวอย่างเช่น วิชาสุขศึกษา นอกจากเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ก็ควรจะมีเรื่องโรคติดต่อทางเพศ ว่าจะดูแลและจัดการได้อย่างไร การดูแลสุขภาพและการป้องกันโรค ศึกษาความเสี่ยงในการติดโรค หรือแม้กระทั่งเรียนรู้ว่าเมื่อเป็นผู้ติดเชื้อจะต้องดูแลตัวเองอย่างไรต่อไป เพื่อที่เด็กวัยเรียนจะได้เข้าใจว่าการอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อนั้นไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจแต่อย่างใด แบบเรียนที่ดีควรมีการนำเสนอให้ครบถ้วนรอบด้าน คงจะถึงเวลาที่กระทรวงศึกษาควรจะต้องหันมามองว่าทุกวันนี้บทเรียนที่มีอยู่มันครอบคลุมมากพอหรือยัง

อนันต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขก็ได้ออกนโยบายลดการตีตรา โดยร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงมหาดไทย เพื่อทำความเข้าใจเรื่องผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ โดยระบุว่าองค์กรหรือหน่วยงานต้องเป็นมิตรกับผู้ติดเชื้อ ไม่ตีตรา และไม่แบ่งแยกผู้ติดเชื้อ และจากนี้ไปก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการที่จะกำหนดทิศทางหรือมีคำสั่งชี้แจงไปยังหน่วยงานภายใต้สังกัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา หรืออื่นๆ เพื่อให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจากกรณีการตรวจเรียนนักเรียนก่อนเข้าเรียน เราก็เห็นได้ว่ามันเป็นเพียงแค่ระดับนโยบาย สุดท้ายแล้วโรงเรียนหรือหน่วยงานย่อยที่เป็นระดับชุมชนก็ยังมีความกลัว เนื่องจากความไม่เข้าใจ

“ตอนนี้เราต้องยอมรับว่าครูเองก็ยังไม่เข้าใจบางเรื่องเกี่ยวกับเอชไอวี/เอดส์ ก็ถามว่าเมื่อครูยังไม่เข้าใจแล้วเด็กจะไปเข้าใจได้อย่างไร ยิ่งถ้าจะให้ผู้ปกครองของเด็กเข้าใจยิ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะฉะนั้นบุคลากรที่อยู่ในสถานศึกษาควรจะเป็นต้นแบบที่ดีที่จะเรียนรู้เรื่องนี้ แล้วก็สื่อสารเรื่องนี้ในสถานศึกษา แต่กลายเป็นว่าสถานศึกษาก็ยังไม่มีความเข้าใจนี่จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่”

นอกจากนี้ประธานเครือข่ายฯ ยังกล่าวว่า ได้รับรายงานการละเมิดในสถานศึกษาทุกปี หากยังไม่มีการดำเนินการแก้ไขเพื่อให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน เหตุการณ์ก็จะยิ่งยืดเยื้อบานปลายต่อไปอีก กระทรวงเองต้องมีบทบาทที่ชัดเจนและแสดงออกต่อหน่วยงานของตัวเองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมันผิด ต้องเคารพในหลักสิทธิของเด็ก ในระดับนานาชาติเมื่อมีการพูดคุยถึงเรื่องสนธิสัญญาต่างๆ ประเทศไทยก็ไปรับมาหมดแต่ในทางการปฏิบัติจริงเราไม่สามารถทำให้มันชัดเจนได้ ที่สำคัญกระทรวงศึกษาธิการต้องมีความชัดเจน

อนันต์เล่าว่า ตอนนี้นโยบายลดการตีตราอยู่ในขั้นตอนของการติดตามผล เนื่องจากนโยบายก็ออกไปได้แล้วอาทิตย์กว่า ขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นการหารือว่าจะดำเนินงานต่อไปอย่างไร ตอนนี้ดำเนินการไปถึงไหนแล้ว ขณะเดียวกันในกระทรวงอื่นๆ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษา และกระทรวงแรงงาน ซึ่งมีหน่วยงานย่อยในภาคชุมชนนั้นก็ต้องมีความเคลื่อนไหวด้วยเช่นกัน เมื่อก่อนแม้แต่ในสถานพยาบาลก็ยังพบกับการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อ ถึงแม้จะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านสาธารณสุขโดยตรงก็ตาม

นอกจากนั้นการกีดกันผู้ติดเชื้อไม่ให้เข้าทำงานยังส่งผลกระทบด้านอื่นที่ไม่ใช่แค่ด้านสังคมของตัวผู้ติดเชื้อเอง แต่ประธานเครือข่ายฯ มองว่าสิ่งเหล่านี้จะส่งผลในเรื่องของแรงงาน เนื่องมาจากขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในภาวะสังคมผู้สูงอายุ เรากำลังต้องการวัยทำงานมาก แต่ระบบของเรากำลังคัดคนออกจากการจ้าง เรารับแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงาน แต่กีดกันคนของเราออกนอกระบบ นี่คือความเป็นจริงที่เกิดขึ้นที่ไม่ควรมองข้าม ทุกวันนี้การปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อในภาคเอกชนเป็นสิ่งที่ยังไม่มีอะไรเข้าไปควบคุม ในภาครัฐนั้นมีมาตรฐานของสถานประกอบการ ซึ่งจะมุ่งเน้นเรื่องเอดส์และมอบประกาศนียบัตรเพื่อให้องค์กรได้รับการยอบรับในสาธารณะมากขึ้น แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่ครอบคลุมถึงภาคเอกชน เครือข่ายฯ ได้รับร้องเรียนเรื่องการเลือกปฎิบัติต่อผู้ติดเชื้อในสถานประกอบการของเอกชนมากกว่าในภาครัฐ เครือข่ายฯ กำลังหาทางร่วมมือกับกระทรวงแรงงานว่ามีกระบวนการใดที่จะมาดูแลได้ในกรณีเอกชนไม่จ้างงาน ยกตัวอย่างเช่น ในผู้พิการนั้นมีกองทุนของผู้พิการเพื่อพัฒนาศักยภาพในการทำงาน มีเป็นหลักกฎหมายออกมา แต่ในผู้ติดเชื้อยังไม่เห็นโครงการใดที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนอันชัดเจน

อนันต์บอกด้วยว่า แม้ต่อให้สถานประกอบการรับผู้ติดเชื้อเข้าทำงานแล้ว แต่สุดท้าย ในการตรวจสุขภาพหรือตรวจเลือดประจำปีก็จะมีการบังคับให้ตรวจเอชไอวี กระทรวงแรงงานต้องมีการทำงานที่ชัดเจนในการออกแนวนโยบายว่าธุรกิจไม่ควรจะมีกฎระเบียบแบบนี้ เพราะจะทำให้เกิดการกีดกันคนที่ติดเชื้อ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดการสูญเสียในลักษณะของการปิดกั้นศักยภาพของคน การสร้างบุคลากรในองค์กรนั้นเป็นเรื่องยาก ต้องมีทั้งความสามารถและความรู้ความเชี่ยวชาญ แต่สุดท้ายระบบคัดกรองผู้ติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อนั้นก็กันคนที่ดีที่มีศักยภาพออกไป เพียงแค่เหตุผลสั้นๆ ว่าเป็นผู้ติดเชื้อ การสูญเสียบุคคลในการทำงานไม่ใช่แค่การสูญเสียระดับองค์กร แต่คือการสูญเสียระดับประเทศ

“หลายครั้งเวลาสื่อสร้างละครสร้างภาพลักษณ์ของผู้ป่วยออกมา
มันไม่ใช่สถานการณ์ปัจจุบันอย่างที่เกิดขึ้นในวันนี้
แต่เป็นภาพช่วงปี พ.ศ.2527 ซึ่งมีการระบาดใหม่ๆ ยังไม่มีกระบวนการการรักษา"

นอกจากความร่วมมือจากรัฐแล้ว เครือข่ายฯ ยังอยากจะขอความร่วมมือจากองค์กรอื่นๆ เช่นสื่อ ซึ่งเป็นช่องทางหลักที่จะนำเสนอภาพจำของผู้ติดเชื้อไปสู่คนทั่วประเทศ โดยอนันต์กล่าวว่า

“หลายครั้งเวลาสื่อสร้างละครสร้างภาพลักษณ์ของผู้ป่วยออกมา มันไม่ใช่สถานการณ์ปัจจุบันอย่างที่เกิดขึ้นในวันนี้ แต่เป็นภาพช่วงปี พ.ศ.2527 ซึ่งมีการระบาดใหม่ๆ ยังไม่มีกระบวนการการรักษา หลายครั้งเราก็ขอเข้าไปพบกับผู้ทำรายการผู้ทำละครเหล่านั้นว่า ขอทำความเข้าใจเรื่องเอชไอวีด้วยหน่อยได้มั้ย? การนำเสนอผ่านสื่อของคุณมันเป็นภาพที่ส่งผลลบและมันก็ไม่ใช่ความจริงในปัจจุบัน แต่อย่างล่าสุดซีรีย์ฮอร์โมนฯ เครือข่ายฯ เองก็มีบทบาทในการให้ข้อมูลกับเขาว่า ณ วันนี้สถานการณ์มันเป็นยังไงการติดเชื้อไปแล้วมันก็ยังอยู่ร่วมกันได้ คนติดเชื้อเขาก็มีการจัดการ มีหน้าที่ของเขา มียาต้าน มีสังคมในแบบของเขา”

ประธานเครือข่ายฯ ยังย้ำอีกว่าการที่สื่อหรือใครก็ตามจะนำเสนออะไรควรมีความเข้าใจในประเด็นนั้นๆ ก่อน เพราะการส่งต่อความคิดผิดๆ เข้าไปในสังคมแล้ว การแก้ปัญหามันจะยากยิ่งกว่า

ถึงแม้ว่าทางเครือข่ายฯ จะพยายามผลักดันการลดการกีดกันและเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อมากอย่างยาวนาน แต่ก็ยังเน้นย้ำว่าไม่มีความคิดที่จะเสนอให้มีบทลงโทษ เพราะเชื่อว่าบทลงโทษจะยิ่งส่งผลให้สถานการณ์แย่ลง คนที่ไม่เข้าใจก็อาจจะมองว่าตนเองถูกบังคับ ยิ่งจะเป็นการเพิ่มอคติและความเกลียดชังเข้าไปอีก ทางเครือข่ายฯ จึงยืนยันที่จะมุ่งเน้นไปที่การสร้างความเข้าใจเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติ ซึ่งนี่จะเป็นการดำเนินการเพื่อการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว

สุดท้ายนี้ ประธานเครือข่ายฯ กล่าวด้วยว่า ผู้ติดเชื้อก็ไม่ต่างจากคนทั่วไป เครือข่ายฯ ไม่ได้เรียกร้องในฐานะผู้ติดเชื้อ แต่เรียกร้องในสิทธิที่คนๆ หนึ่งพึงมี ภายใต้กฎหมายเดียวกัน การเคารพซึ่งกันและกัน การมองด้วยดวงตาอันปราศจากอคติเป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้และควรได้รับ

“ผู้ติดเชื้อก็เป็นคนที่มีค่ามีศักดิ์ศรี แต่สิ่งที่สังคมกำลังทำคือการลดค่าลดศักดิ์ศรีของเรา ผมก็ต้องถามว่าแล้วผู้ติดเชื้อนั้นต่างจากคนอื่นๆ ตรงไหน?” อนันต์ทิ้งท้าย
 

 

หมายเหตุ: ภาพประกอบหน้าแรกจาก http://torange.biz/18921.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท