Skip to main content
sharethis

24 มี.ค. 2559 จากกรณีเมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เดินทางไปยื่นข้อเรียกร้องซึ่งในจำนวนข้อเรียกร้องมีการทวงถามความคืบหน้าเกี่ยวกับการปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม รวมถึงการใช้จ่ายเงินที่ไม่โปร่งใส (อ่านรายละเอียด)นั้น

ล่าสุดวันนี้ (24 มี.ค.59) นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนกรณีข้อเรียกร้องจากประธาน คสรท. ดังกล่าวว่า พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญเรื่องการปฏิรูปประกันสังคมเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นเงินกองทุนทั้งของผู้ใช้แรงงาน นายจ้าง และรัฐบาล โดยมุ่งเน้นปฏิรูปเพื่อให้กองทุนมีเสถียรภาพ เพิ่ตมสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตน ซึ่งภายใต้รัฐบาลชุดนี้ได้มีการเพิ่ตมสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนหลายประการ อาทิ ค่าคลอดบุตร เงินสงเคราะห์บุตร เงินทดแทนกรณีทุพพลภาพ เป็นต้น

นายโกวิทฯ กล่าวต่อว่า จากข้อเรียกร้องกรณีงบประมาณ 69 ล้านบาท ของ สปส. ในปี 2558 เพื่อไปดูงานในต่างประเทศนั้น สปส.ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2558 จำนวน 69 ล้านบาท ใช้จริงเพียง 7 ล้านกว่าบาท ที่เหลือส่งคืนกองทุนกว่า 61 ล้านบาท ทั้งนี้งบประมาณดังกล่าวไม่ได้เป็นงบประมาณแผ่นดินแต่อย่างใด ทั้งหมดเป็นงบประมาณในการบริหารสำนักงานประกันสังคมมาจากการจัดเก็บเงินสมทบในแต่ละปีจำนวน 10% แต่ในข้อเท็จจริง สปส.ใช้จ่ายงบประมาณในการบริหาร การจัดซื้อจัดจ้างวัสดุ จัดจ้างพนักงานประกันสังคม ไม่เกิน 3% เท่านั้น การไปศึกษาดูงานแต่ละครั้งจะต้องเกิดประโยชน์ต่อสำนักงานฯ ทั้งเรื่องการลงทุนในต่างประเทศ การวินิจฉัยอุทธรณ์ ตลอดจนการบริการทางการแพทย์ เพราะฉะนั้นมั่นใจได้ว่าไม่มีการไปดูงานในลักษณะการท่องเที่ยวแน่นอน

อย่างไรก็ตาม สปส.ยังมีคณะกรรมการตรวจสอบการใช้งบประมาณในการบริหารงานประกันสังคม ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อเข้ามาดูการใช้จ่ายงบประมาณว่าตรงตามยุทธศาสตร์หรือไม่ มีผลประโยชน์ต่อสำนักงานฯ หรือไม่ มีความคุ้มค่าคุ้มทุนมากน้อยเพียงใด ฉะนั้นอยากให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานมั่นใจได้ว่า ปัจจุบัน สปส. เริ่มปฏิรูปตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และทุกสิ่งทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานของความโปร่งใสทั้งหมด

ส่วนกรณีข้อเรียกร้องของกลุ่มคนรักประกันสุขภาพที่ออกมาเคลื่อนไหวให้ สปส.ปรับปรุงวิธีเบิกจ่ายเงินทันตกรรม โดยไม่ต้องสำรองจ่ายและไม่ต้องจ่ายเพิ่มส่วนเกินนั้น กรณีดังกล่าวในเบื้องต้น สปส.จะรับฟังข้อเสนอเพื่อนำไปศึกษาเงื่อนไขความเป็นไปได้ ความคุ้มค่าคุ้มทุนหรือประโยชน์ที่ได้รับ จากนั้นจะหารือกับคลินิกหรือสถานพยาบาลที่มีความพร้อมและสมัครเข้าร่วม เพราะคลินิกหรือสถานพยาบาลเหล่านี้จะต้องมีฐานข้อมูลของผู้ประกันตนเพื่อเชื่อมโยงกับระบบฐานข้อมูลของประกันสังคม ซึ่งการดำเนินการจะต้องอยู่ภายใต้หลักธรรมาภิบาล นอกจากนี้จะต้องกำหนดมาตรการในการควบคุมเพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดในการให้บริการดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตามถ้าทุกอย่างเดินหน้า จะใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือนในการดำเนินการ

“อะไรก็ตามที่พี่น้องประชาชนเรียกร้องมา เราต้องทำก่อน เมื่อประชาชนเสนอมาแม้เสียงเดียวก็ต้องรับฟัง เพราะปัญหาของประชาชนถือเป็นปัญหายิ่งใหญ่ที่ต้องแก้ ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระ ทรวงแรงงาน ที่ไม่ต้องการให้เกิดปัญหากับพี่น้องประชาชน ซึ่งพยายามทำความเข้าใจและไม่ปฏิเสธ ถ้าเรื่องใดทำได้ก็ต้องทำทันที” เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าว    

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net