Skip to main content
sharethis

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่ง 11 ข้อเสนอ กรธ. เรื่องหลักสิทธิมนุษยชนในร่างรัฐธรรมนูญ แนะกระบวนการร่างฯ ต้องฟังเสียงทุกฝ่าย การจำกัดสิทธิต้องถูกยกเลิก - แนะตัดทิ้งมาตรา 257 เพื่อให้ ม.44 และ คำสั่ง คสช. ไม่มีผลต่อเนื่องหลังประกาศใช้ รธน.

เจ้าหน้าที่ทหารปฏิบัติหน้าที่บริเวณหน้า พล.ม.2 รอ. เมื่อ 24 พ.ค. 2557
(ที่มา: ประชาไท/แฟ้มภาพ)

เมื่อวันที่ 24 มี.ค. สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (UNOHCHR) ได้ส่ง 11 ข้อเสนอหลักการด้านสิทธิมนุษยชนในร่างรัฐธรรมนูญ ให้กับคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) (อ่านข้อเสนอฉบับเต็ม)

โดยข้อเสนอของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ โดยสังเขปประกอบด้วย

1. ความแตกต่างระหว่างพลเมืองกับผู้ไม่เป็นพลเมือง โดยมีข้อเสนอคือ ในหมวด "สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย" ควรจะมีการแก้ไขเพื่อเป็นหลักประกันว่าเสรีภาพของพลเมืองและผู้ที่ไม่เป็นพลเมืองจะได้รับการปกป้องอย่างเท่าเทียมกัน

2. มีหลักประกันว่าการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบจะไม่ได้รับอนุญาต

3. สิทธิที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา กระบวนการยุติธรรมที่เหมาะสม การพิจารณาคดีอย่างยุติธรรม เป็นองค์ประกอบสำคัญของการปกป้องสิทธิมนุษยชนและเพื่อพิทักษ์หลักนิติธรรมทางกฎหมาย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ควรอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ

4. สิทธิความเป็นส่วนตัว สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ชี้ว่า ในร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 32 กำหนดเรื่องของการป้องกันไม่ให้มีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและครอบครัว และไม่ให้มีการโจมตีเกียรติยศและชื่อเสียงส่วนตัว

อย่างไรก็ตาม มาตราดักล่าวยังไม่ได้ระบุถึงการแทรกแซงโดยพลการต่อบุคคลในเคหะสถานโดยสื่อ นอกจากนั้นในร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ระบุถึงหลักประกันเพื่อปกป้องการแทรกแซงโดลพลการต่อสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะปกป้องสิทธิส่วนบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพ

5. สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออก และเสรีภาพในการได้รับข้อมูลข่าวสาร โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ระบุว่าสิทธิเหล่านี้เป็นพื้นฐานของสังคมที่เสรีและมีประชาธิปไตย และได้รับการรับรองในมาตรา 19 ของ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) โดยในมาตรา 34 ของร่างรัฐธรรมนูญให้หลักประกันเสรีภาพในการแสดงออกแต่ไม่รวมถึงเสรีภาพในการแสดงความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และในมาตรา 55 ซึ่งอยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐ ที่ระบุให้รัฐเปิดเผยข้อมูลข่าวสารแก่พลเมือง แต่ไม่ได้มีหลักประกันให้สิทธิแก่บุคคลในการแสวงหา ได้รับ และสื่อสารข้อมูล

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ มีข้อเสนอให้ร่างรัฐธรรมนูญมีหลักประกันต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง รวมทั้งมีหลักประกันให้สิทธิแก่บุคคลในการแสวงหา ได้รับ และสื่อสารข้อมูล

6. เสรีภาพในการแสดงออกอย่างสันติและเสรีภาพในการรวมตัวสมาคม สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ มีข้อเสนอให้ แก้ไข มาตรา 42 วรรค 2 และมาตรา 44 วรรค 2 เพื่อให้มีหลักประกันว่า การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสันติและการรวมตัวสมาคม จะไม่เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่มีความจำเป็นที่จะต้องเป็นไปตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

7. สิทธิที่จะได้รับการเยียวยาจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ควรรักษามาตรา 32 ของรัฐธรรมนูญ 2550 รวมทั้งวรรคที่ให้สิทธิในการร้องเรียนก่อนที่ศาลจะมีคำสั่ง และเยียวยาจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน มากกว่านั้นควรให้สิทธิในการร้องเรียนหรือฟ้ององค์กรของรัฐ ร่างรัฐธรรมนูญควรครอบคลุมถึงสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมและมีประสิทธิภาพ มีมาตรการชดเชยหากบุคคลได้รับผลกระทบอย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรง และกลไกการเยียวยา

8. สิทธิในการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมสาธารณะและสิทธิในการเลือกตั้ง สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ เห็นว่า มาตรา 102 ในร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเกี่ยวกับ ส.ว. นั้นที่มาของ ส.ว. จำกัดอยู่ในกลุ่มวิชาชีพ และในร่างรัฐธรรมนูญยังจำกัดไม่ให้ประชากรจำนวนมากมีสิทธิในการสมัครเป็น ส.ว. และเลือก ส.ว. โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ มองว่าร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ ส.ว. นั้น เป็นการเลือกปฏิบัติ

นอกจากนี้ มาตรา 91 ในร่างรัฐธรรมนูญ ยังห้ามพระสงฆ์ นักพรต นักบวช มีสิทธิเลือกตั้ง รวมถึงผู้ต้องขังและคนวิกลจริต ซึ่งขัดกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ICCPR

โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ เสนอให้ร่างรัฐธรรมนูญปกป้องสิทธิการเลือกตั้งของประชาชน และเพื่อให้การเลือกตั้งถูกจัดขึ้นอย่างเสมอภาคเท่าเทียม ข้อห้ามให้ผู้ต้องขัง คนวิกลจริต และพระสงฆ์ไม่ให้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องได้รับการแก้ไข และมีขอบเขตของการระงับสิทธิเลือกตั้งที่เป็นไปตามเนื้อหาใน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ICCPR

9. สิทธิชุมชน สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ แนะนำให้ สิทธิชุมชนจะต้องมีผลบังคับใช้ เป็นไปอย่างเสรี และมีความหมายต่อการมีส่วนร่วมของสาธารณะ เพื่อให้มีการกระจายทรัพยากรที่เป็นธรรม และมีการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ และการชดเชย จะต้องได้รับการปกป้องในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ร่างรัฐธรรมนูญควรจะรักษา หมวด 12 ของรัฐธรรมนูญ 2550 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งให้หลักประกันทางรัฐธรรมนูญแก่สิทธิของชุมชน

10. บทเฉพาะกาลและการเปลี่ยนผ่าน สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ เสนอว่า มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว รวมไปถึงคำสั่งที่ออกโดย คสช. ตามมาตรา 44 ขัดแย้งกับพันธกรณีที่ประเทศไทยผูกพันตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเสนอให้ตัดมาตรา 257 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออก เพื่อเป็นหลักประกันว่าคำสั่ง คสช. จะไม่มีผลทางกฎหมาย หรือมีความต่อเนื่องภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

มากกว่านั้น การที่เจ้าหน้าที่ในทางบริหารและในทางกฎหมาย ไม่ต้องรับผิดหรือได้รับการนิรโทษกรรม เป็นการขัดขวางเหยื่อที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนที่แสวงหาการเยียวยาหรือกระบวนการยุติธรรม  สิ่งนี้ขัดแย้งต่อสิทธิได้รับการเยียวยา ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญไม่ควรตัดความรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงซึ่งมีผลมาจากมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557

11. กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ เสนอว่า การที่ประชาชนจะสามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่สำคัญทางการเมืองได้ต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้สาธารณชน สื่อมวลชน นักวิชาการ สมาชิกพรรคการเมือง สามารถแสดงความเห็นได้โดยไม่ต้องกลัวต่อการถูกคุกคาม หรือจับกุม

กรธ. และรัฐบาลควรมีหลักประกันว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญนั้นนับรวมทุกคนและเป็นไปอย่างมีส่วนร่วม การร่างรัฐธรรมนูญจะต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ประชาชนทุกคนในประเทศไทยได้แสดงออกซึ่งสิทธิของพวกเขา มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การรวมตัวสมาคมอย่างสันติ มาตรการจำกัดใดๆ ที่ไม่เป็นไปตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR จะต้องถูกยกเลิก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net