Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

Power is like a seawater. The more we drink, the more we become thirsty.

อำนาจเหมือนกับน้ำทะล ยิ่งดื่มเท่าไร ก็ยิ่งกระหายมากเท่านั้น

ข่าวฮือฮาที่เกิดขึ้นได้เมื่ออาทิตย์กว่า ๆ ที่ผ่านมา คือ คสช.ยื่นเงื่อนไข (หรือบีบ) ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการสรรหาทั้งสิ้น 250 คน ไม่ว่า  พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ จะพยายามหาเหตุผลมาอ้างสักเท่าไร คนหากสติยังดีอยู่ก็น่าจะรู้ว่าเป็นความต้องการสืบต่ออำนาจของกองทัพนั้นเอง ล่าสุดคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่นำโดย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ปฏิเสธไม่ยอมเขียนรัฐธรรมนูญตามเงื่อนไขของ คสช.ในบางส่วน อันส่งผลให้ คสช.กับลิ่วล้อไม่พอใจอย่างยิ่ง การแข็งขืนต่อ คสช.จะเกิดจากความจริงใจหรือเล่นละครตบตาประชาชน อันนี้ขึ้นอยู่กับมุมมอง แต่ก็ยังพอสันนิษฐานได้ว่า ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็ตาม ผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องพยายามกำหนดให้โครงสร้างทางการเมืองในรัฐธรรมนูญ เอื้อประโยชน์ต่อคสช.ไม่ว่าทางตรง หรือทางอ้อม เข้าทำนองเผด็จการแบบจำแลง หรือ Dictatorship in disguise อยู่นั่นเอง นอกจากนี้ยังเป็นที่แน่ชัดว่า คสช.ก็พร้อมจะหักดิบ หรือเข้ามากำหนดกฎเกณฑ์บางข้อด้วยตัวเองในอนาคต อันเป็นการแสดงถึงเจตนาอันซ่อนเร้นของ คสช. ว่าในขณะพยายามพรางตาประชาชน และต่างประเทศ ว่ากำลังทำประเทศให้เป็นนิติรัฐ โดยให้กฎหมายเป็นใหญ่ และตั้งอยู่บนอุดมการณ์อันดีงาม แต่ก็พร้อมจะทำอะไรก็ได้ โดยคำนึงถึงอำนาจเป็นหลัก

เหตุการณ์นี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงนวนิยายเรื่องหนึ่งของ ประภัสสร เสวิกุล ซึ่งล่วงลับไปแล้วคือ  “อำนาจ”  ประภัสสร เป็นนักเขียนที่พวกเรารู้จักกันดี เพราะเขาได้รับรางวัลมากมายและงานของเขายังถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์หลายเรื่อง เช่น เวลาในขวดแก้ว ขอหมอนใบนั้นที่เธอฝันยามหนุน ลวดลายมังกร นอกจากนี้ยังมี เมเปิ้ลสีแดง ชี้ค ไฟ หิมาลายัน  รายาแห่งทะเล ฯลฯ  สำหรับ “อำนาจ” ได้รับการตีพิมพ์ใน ปี พ.ศ. 2526 และได้รับความโด่งดังพอสมควร คือ นอกจากจะได้รางวัลจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปี 2527 แล้วยังถูกนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ ซึ่งถ้าจำไม่ผิดไม่ค่อยได้รับความนิยมเหมือนเรื่องผู้หญิงตบกันแย่งสามีเท่าไรนัก แถมยังถูกสั่งห้ามการออกอากาศเสียหลายตอน เพราะอาจไปสะกิดใจผู้มีอำนาจในบ้านเมืองก็เป็นได้ ดังนั้นใน พ.ศ.นี้ จึงเป็นไปไม่ได้ที่ “อำนาจ” จะถูกนำมาสร้างเป็นละครเหมือนละครพร้อมรีไซเคิลได้ทุกเมื่ออย่าง “คนเริงเมือง” หรือ “บ้านทรายทอง”

“อำนาจ” เป็นนวนิยายทางการเมืองสอดแทรกด้วยความรักโรแมนติก ฉากของเรื่องเป็นประเทศหนึ่งที่ถูกสมมติขึ้นมาในละตินอเมริกาที่ชื่อ เอล เควญญา ประเทศยากจนที่เคยตกเป็นอาณานิคมของสเปน ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ด้อยการศึกษาและเห็นว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องของตน ประเทศนี้ก็เหมือนกับประเทศส่วนใหญ่ในละตินอเมริกาซึ่งถูกจัดว่าด้อยพัฒนาในทศวรรษที่ 70 -80  และยังมีการปกครองเป็นเผด็จการทหาร รัฐบาลประสานผลประโยชน์กับพวกนายทุนใหญ่ มีการแย่งชิงอำนาจในกลุ่มเดียวกันเองอยู่บ่อยครั้ง รัฐธรรมนูญช่างดูมีค่าไม่ต่างอะไรกับกระดาษชำระมากนัก

ข้อมูลดังกล่าวที่ประภัสสรบรรยายในหนังสือ ทำให้นึกภาพของประเทศไทยออกมาลาง ๆ  แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง เช่น ประเทศในจินตนาการนี้มีรัฐบาลทหารหัวเอียงซ้าย (สำหรับในละตินอเมริกายังมีรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง และมีแนวคิดสังคมนิยมดังเช่น ชิลี ช่วงก่อนปี 1973)  ส่วนในประเทศไทยมีแต่พวกขวาอำมาตย์นิยมครองอำนาจอย่างยาวนานในเกือบทุกระดับของโครงสร้างทางการเมือง แม้ว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นระยะ ๆ ก็ตาม (ดังที่เรียกว่ารัฐซ้อนรัฐ หรือ State within a state)   พอเป็นที่สันนิษฐานได้ว่าประภัสสร ต้องการสะท้อนถึงหรือเสียดสีการเมืองไทยในสมัยนั้น ซึ่งถูกปกครองโดยรัฐบาลที่มีทหารสนับสนุน และเขาสามารถอำพรางได้ค่อนข้างแนบเนียน ด้วยการที่เขามีอาชีพเป็นนักการทูตที่มีความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และอาจรวมไปถึงทฤษฎีทางการเมืองของประเทศอื่น ๆ  ไม่เช่นนั้นหนังสือของเขาคงถูกสั่งห้ามตีพิมพ์ ที่น่าสงสัยว่าสำหรับกลยุทธ์นี้ประภัสสรยังอาจได้แรงบันดาลใจมาจากประเทศสารขัณฑ์ ซึ่งเป็นประเทศจินตนาการในหนังเรื่อง The Ugly American ก็เป็นได้

นวนิยายเปิดฉากก็คือ ประธานาธิบดีรามอนแห่งเอล เควญญา เดินทางไปเชื่อมสัมพันธไมตรีกับสหรัฐอเมริกา ตามธรรมเนียมของนักการเมืองหัวเอียงขวาที่ดี รามอนนั้นเคยเป็นนายพลมาก่อน และได้ทำรัฐประหารโค่นประธานาธิบดีคนเก่า เพื่อจะมาเป็นผู้นำทางการเมืองที่ฉ้อฉลมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศแห่งนี้ อย่างไรก็ตามเขาก็ต้องลี้ภัยทางการเมืองโดยพลัน เพราะเกิดรัฐประหารในบ้านเกิดตัวเอง  หัวหน้าของกลุ่มรัฐประหาร คือพันโทโคลัมโบ โกเมซ นายทหารหนุ่มซึ่งมีความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้น ประภัสสร ได้ดำเนินเรื่องเช่นเดียวกับนวนิยายอีกเรื่อง ซึ่งผู้เขียนชื่นชอบ คือ “ชั่วนิจนิรันดร”  นั่นคือ ให้มีตัวละครหลายคนซึ่งจะสามารถสะท้อนภาพของเหตุการณ์ทั้งหลายได้อย่างครอบคลุม ไม่ว่า ผู้พันซีโร ผู้นำฝ่ายรัฐประหารที่ช่วยเหลือโกเมซอยู่ห่าง ๆ ดร.เฟอร์ดินันด์ ที่ปรึกษาของโกเมซ หรือมาร์กาเร็ตตา ราปาซ เลขานุการของดร.เฟอร์ดินันด์ และรอสซิโน โซฟีนานักธุรกิจคนสำคัญของประเทศ ซึ่งเคยสานผลประโยชน์ร่วมกับนายพลรามอน และกลายเป็นศัตรูกับโกเมซ เพราะผู้พันหนุ่มขอร้องกึ่งบังคับให้เขาทำธุรกิจแบบเสียสละเพื่อประเทศชาติ   ที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้เป็นอันขาด คือ สาวไทยชื่อชลาลัย แสงตะวัน ซึ่งทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ยังเป็นตัวเดินเรื่องที่สำคัญคนหนึ่ง เพราะเธอรู้จักกับรอสซิโนเป็นอย่างดี และยังได้สนิทสนมกับโกเมซในภายหลัง นวนิยายยังพยายามสะท้อนมุมมองของคนระดับรากหญ้าอยู่บ้างผ่านสายตาของเด็กยากจนที่ขายยาเสพติดให้กับรอสซิโน ซึ่งกำลังกลัดกลุ้มกับชีวิตตกอับของตน หรือคนใช้ของรอสซิโน ที่จงรักภักดีต่อเขา ชนิดตายแทนกันได้ ในทางกลับกันนวนิยายหันไปนำเสนอถึงผู้บริหารระดับรัฐมนตรีของสหรัฐฯ ว่า มองการเปลี่ยนแปลงในเอล เควญญา อย่างไรในช่วงที่สงครามเย็นที่ยังคุกรุ่นอยู่ในเวลานี้

มีคนบอกว่า การทำรัฐประหารนั้นง่าย แต่จะจัดการกับประเทศหลังรัฐประหารอย่างไรนะมันยาก  โกเมซ เข้าใจในสัจธรรมข้อนี้เป็นอย่างดี หลังจากเขาได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีแล้ว เขาพยายามใช้อำนาจเชิงเผด็จการ ในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงประเทศ ตามนโยบายสังคมนิยม  มีความพยายามจะปฏิรูประบบราชการที่ไร้ประสิทธิภาพ แต่ก็ถูกแรงต้านจากรอบข้าง นอกจากนี้ เพื่อนที่เคยร่วมทำรัฐประหารก็พยายามแย่งอำนาจจากเขา จนเกือบจะเกิดสงครามกลางเมือง ในที่สุดประชาชนก็เปลี่ยนจากความชื่นชมในตัวโกเมซ มาประท้วงกันครั้งใหญ่ เพราะเห็นว่ารัฐบาลบริหารงานผิดพลาด แม้ว่าผู้พันโกเมซจะพยายามยื้อเล่นเกมของอำนาจไปสักเท่าไร ในตอนท้าย เอล เควญญา ก็ได้กลับไปสู่วงเวียนอันแสนชั่วร้ายอีกครั้ง นั่นคือ การทำรัฐประหารแย่งชิงอำนาจกันในหมู่ชนชั้นปกครองซ้ำแล้วซ้ำเล่า ปล่อยให้ประชาชนตาดำ ๆ ต้องเดือดร้อนแสนสาหัสต่อไป[1]

อ่านเรื่องนี้จบแล้วได้แง่คิดตามแบบประภัสสร ซึ่งสามารถอธิบายการเมืองของไทยหรือประเทศไหนก็ได้ว่า อำนาจเป็นสิ่งสวยงาม จนบางคนใคร่สัมผัสจึงยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มันมา และพอได้มาก็ต้องรักษาไว้ เพื่อจะได้ลิ้มลองมันอยู่ไปเรื่อย ๆ ไม่มีวันจบสิ้น ทว่ารสชาติของอำนาจที่คล้ายกับเมรัยรสละเมียด ก็สามารถเป็นภัยอันตรายสำหรับผู้ดื่มอยู่ไม่น้อย ดังตอนท้ายของนวนิยาย หากหันมามองบริบทการเมืองไทยของวันนี้ ซึ่งประภัสสรไม่ได้มีชีวิตจะมองเห็นแล้ว (เขาเสียชีวิตเมื่อเดือนกันยายน ปีที่แล้ว) ก็คงจะพอเอามาเปรียบเทียบถึงความต่างและความเหมือนกับคสช.ได้หลายประการ เช่น แม้ว่าในตอนต้นเรื่องนั้น คสช.ไม่มีความชอบธรรมในการทำรัฐประหารเหมือนกับโกเมซ คือ รัฐบาลชุดก่อนพวกเขาไม่ได้มาจากการทำรัฐประหาร แต่มาจากการเลือกตั้ง แต่ทั้งประภัสสรและคสช.ยังคงติดอยู่กับแนวคิดมหาบุรุษ (Great man theory) นั่นคือ ให้ความสำคัญแก่ตัวบุคคลในฐานะเป็นผู้ผลักดันการเมืองและสังคม ดังเช่นคสช.ดูพยายามสร้างภาพว่า พลเอกประยุทธ์ เหมือนโกเมซ ว่าเป็นเอกบุรุษที่มีอำนาจสูงสุด และมีความจริงใจต่อประเทศชาติ  ดังจะเห็นได้ว่ามีการปลูกฝังลัทธิบูชาบุคคลให้กับพลเอกประยุทธ์ในช่วงต้น ๆ[2]

อย่างไรก็ตาม คสช.จึงต้องแก้เกมอีกชั้นว่า จะทำอย่างไรที่จะไม่ให้ตัวเองต้องตกอยู่ในชะตากรรมเช่นเดียวกันกับโกเมซในตอนจบของเรื่อง (หากว่าพวกเขาบังเอิญได้อ่าน “อำนาจ” ซึ่งคล้ายคลึงกับประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยในหลายยุค) วิธีการที่ดีที่สุดก็คือ การยกตัวขึ้นเป็นสถาบันและองค์กรที่ถูกต้องชอบธรรม นั่นคือ การตั้งสภา  แผนการอันแสนทะเยอทะยานเช่นนี้ย่อมได้รับการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญหรือเทคโนแครตอย่างเช่น นักกฎหมาย นักเศรษฐศาสตร์ หรืออดีตข้าราชการอย่างนายทหาร นายตำรวจ ปลัดกระทรวง ฯลฯ ซึ่งจะเข้ามารวมตัวกันเป็นสภาชื่อสละสลวย ดูน่าเลื่อมใส อย่างเช่น สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาผสมกับการเป็นตัวแทนของอาชีพต่าง ๆ  หากความตั้งใจของคสช. เกิดผลสำเร็จในรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะเรื่องให้ ผบ.เหล่าทัพมาเป็นสมาชิกวุฒิสภาได้ ก็ยังเป็นไปได้ว่าภายใน 5 ปี พวกเขาก็จะแปลงร่างเป็นสภาอื่น ๆ เพื่อสืบต่ออำนาจ เพราะความสามารถในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปได้เรื่อย ๆ โดยได้รับการช่วยเหลือจากเนติบริกรและผู้เชี่ยวชาญด้านอื่น อีกเป็นจำนวนมากที่พร้อมตบเท้ามารับใช้พวกเขาได้อยู่ไม่ขาด โดยใช้เหตุผลบางประการจากสถานการณ์ทางการเมืองไทย ซึ่งไม่มีวันที่จะหยุดนิ่งได้

การสร้างตนเป็นสถาบันยังช่วยให้พวกเขาสามารถ “แชร์” หรือแบ่งปันอำนาจร่วมกัน ตามกติกาที่มีอยู่ร่วมกันผ่านรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงกลไกบางอย่างที่อยู่นอกจากรัฐธรรมนูญ เช่นอิทธิพลของกองทัพเหนือสังคม  ในที่สุดแล้วคำลวง “ช่วงเปลี่ยนผ่าน” ของคสช. ก็จะขยายไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีขอบเขต ผ่านเครือข่ายทางอำนาจของสภาเหล่านั้น ซึ่งกระจายตัวกันเพื่ออำพรางความยิ่งใหญ่ของ คสช. ในสายตาของตะวันตก  ตอบรับโดยโลกทัศน์ของชนชั้นกลางจำนวนมากซึ่งถูกสะท้อนผ่านคนดังที่ออกมาว่าประชาธิปไตยยังไม่เหมาะกับคนไทยอยู่เรื่อยๆ  ดังเช่นนาย ปีย์ มาลากุล ณ  อยุธยา หรือ หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล ก็จะทำให้คนไทยจำนวนมากให้การสนับสนุนสภาเหล่านั้น ในอนาคตการเมืองไทย คสช.และเครือข่าย อาจจะก้าวถึงระดับขั้นที่สามารถเลือกใครก็ได้ หรือใช้ระบบบัญชีรายชื่อผู้ภักดีเหมือนกับพรรคคอมมิวนิสต์ในการคัดเลือกคนขึ้นมามีตำแหน่งสูง ๆ ทางการเมือง  และอำพรางเหมือนพลเอกประยุทธ์ ว่ามีบารมีกับอำนาจสูงสุด แต่ความจริงเป็นแค่หุ่นเชิดไม่ว่าในฐานะนายกรัฐมนตรี หรือหัวหน้าคสช. หรือ... ฯลฯ

พลเอกประวิตรจึงพูดได้ถูกต้องในระดับหนึ่งว่า การมี สว.แบบสรรหาจะช่วยไม่ให้มีการทำรัฐประหารอีก นั่นคือ พวกเขาไม่ได้ตั้งใจว่าจะปกป้องรัฐประชาธิปไตยที่นักการเมืองมาจากการเลือกตั้งขึ้นมามีอำนาจเหมือนกับประเทศทั่วไป ด้วยคสช.ตั้งใจใช้สภาเหล่านั้นในการแบ่งผลประโยชน์เพื่อป้องกันไม่ให้พวกเดียวกันเองแย่งอำนาจกันเหมือนกับ“อำนาจ” โดยความกลัวของพวกเขาก็ดูสมเหตุสมผลไม่น้อยเมื่อสื่อนำเสนอรอยร้าวของกลุ่มตัวเองออกมาเป็นระยะ ๆ (ก่อนจะกลบได้อย่างทุลักทุเลได้ในที่สุด)   

นอกจากนี้การนำเอาพลเรือนซึ่งเปี่ยมบารมีมาอยู่ในสภาก็จะเป็นการสกัดกลุ่มอำนาจอื่น ดังเช่นกลุ่มประชาสังคมไม่ให้เคลื่อนไหวเหมือนกับชาวเอล เควญญาในยามพบกับปัญหาเศรษฐกิจ อันเป็นวิธีการที่ดูมีประสิทธิภาพมากกว่าจะใช้วิธีตามที่กองทัพถนัดเพียงอย่างเดียว และในที่สุดรัฐไทยก็จะเข้าสู่การเป็นรัฐเผด็จการอันมั่นคง (Consolidated authoritarianism) มากกว่ารัฐเผด็จการที่ขาดเสถียรภาพดังเช่น เอล เควญญา หรืออย่างการเมืองไทยในอดีต เช่น ยุคหลังจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่จอมพลถนอม กิติขจร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ในปี 2506 จอมพลถนอมนั้นเป็นลูกน้องคนสนิทของสฤษดิ์ และมีการสืบทอดอำนาจกันบนความสัมพันธ์แบบตัวบุคคล ซึ่งค่อนข้างขาดเสถียรภาพ อย่างเช่น บุคลิกของจอมพลถนอมที่ดูอ่อนโยน ไม่เด็ดขาดเท่าสฤษดิ์ ทำให้ระบอบคณาธิปไตยในยุคต่อมาขาดความมั่นคง อันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคมในอีก 10 ปีต่อมา ในที่สุด

หรือในอนาคตแม้มีการเลือกตั้ง นักการเมืองและนายกรัฐมนตรีก็มีค่าเพียงแค่ปลาสวยงามที่ถูกเลี้ยงไว้ประดับห้อง ขึ้นอยู่กับเจ้าของห้องจะย้ายปลาไว้ตรงไหน แม้ว่านายมีชัยอาจกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาไม่สามารถล้มรัฐบาลได้ในรัฐธรรมนูญ แต่พวกเขาก็สามารถขัดแข้ง ขัดขา รัฐบาลกับช่วยป้องกันการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลที่จะเอื้อประโยชน์ต่อเครือข่ายทักษิณ ที่สำคัญวุฒิสภาจะช่วยส่งเสียงอันดังให้เกิดการเคลื่อนไหวของสาธารณชนและกลุ่มการเมืองอื่น ๆ ที่เกลียดนักการเมืองเพื่อสร้างสถานการณ์เร่งเร้า หรือสร้างความชอบธรรมสำหรับ คสช. ให้กดดันนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งอย่างง่ายดาย

แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้รับประกันว่าจะสำเร็จเสมอไป เพราะการนำเอาคนเข้ามาเป็นจำนวนมากย่อมก่อให้เกิดปัญหาหรือการเล่นการเมืองภายในกลุ่มตัวเอง นอกจากนี้ กลุ่มทางการเมืองอื่นๆ ดังเช่นสมาชิกของกลุ่มกปปส. ในท้ายสุดแล้วอาจจะหันมากลายเป็นหอกข้างแคร่ของคสช. ภายหลังจากเป็นพันธมิตรผู้ซื่อสัตย์มาเนิ่นนาน ดังจากที่ได้เห็นผู้มีชื่อเสียงของกลุ่มนี้ ออกมาแสดงความผิดหวังต่อรัฐบาลทหารอยู่เรื่อยๆ (จะอาจด้วยความคิดอย่างนั้นจริง ๆ หรือว่าต้องการกดดันให้รัฐบาลทำตามเงื่อนไขบางอย่างของตนก็แล้วแต่จะมอง)

ผู้เขียนคาดเดาว่า คสช.อาจหวังว่าการมอบตำแหน่งอันทรงเกียรติในสภาต่าง ๆ เช่นวุฒิสภา พร้อมค่าตอบแทนที่สูงเกินจริง จะช่วยทำให้พวกเขาหุบปากได้ในที่สุด  กระนั้นคสช.ต้องแต่งตั้งบุคคลที่สร้างแรงกระเพื่อมทางลบให้กับสังคมให้น้อยที่สุด นั่นคือไม่ได้โด่งดังและอื้อฉาวอย่างเช่น สุเทพ เทือกสุบรรณ หรือ จิตภัสร์ กฤดากร เพราะจะถูกโจมตีจากฝ่ายตรงกันข้ามมากจนเกินไป  ซึ่งเป็นวิธีการที่ง่ายมากเพราะผู้ที่สามารถนำการประท้วงของพวกเป่านกหวีดนั้นมีมากมาย แม้ว่าจะตัดแกนนำพรรคประชาธิปัตย์หลายคน ซึ่งมีท่าทีปฏิเสธ สว.แบบสรรหาออกก็ตาม    

นอกจากนี้ คสช.ยังต้องเผชิญกับประชาชนกลุ่มอื่น ๆ ที่ต่อต้านรัฐประหารตั้งแต่ต้น ซึ่งพวกตนไม่สามารถสั่งให้หุบปากได้ ไม่ว่านำตัวไปเข้าค่ายเพื่อข่มขู่ หรือเอาอามิสสินจ้างมาล่อเหมือนกลุ่มแรกก็ตาม ทว่า คสช. คงคาดว่า ในอนาคตหากมีการเคลื่อนไหวทางการเมือง แกนนำที่เป็นสมาชิกสภาหรือหวังจะเป็นสมาชิกสภาในอนาคตจะนำประชาชนผู้รักนกหวีดเข้ามาสกัดหรือปะทะผู้สนับสนุนประชาธิปไตยจนเกิดความวุ่นวาย และกองทัพก็จะเข้ามารักษาความสงบ คือ เข้ามาคงอำนาจไว้เหมือนเดิมด้วยท่าทางของคนกลางซึ่งปรารถนาดีต่อบ้านเมือง แม้แกนนำบางคนจะเป็นสมาชิกของสภาที่คสช.เลือกมากับมือก็ตาม

หากใครชื่นชอบนวนิยาย “อำนาจ” ของประภัสสร ก็น่าจะลองติดตามการเมืองไทยในยุค “เปลี่ยนผ่าน” นี้แบบตาไม่กระพริบ  จากวิเคราะห์ข้างบนแสดงให้เห็นว่าการเมืองไทยในปัจจุบันนั้นสามารถเป็น “อำนาจ” ภาค 2 ซึ่งมีเนื้อหาและโครงเรื่องที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนกว่าภาค 1 อย่างมหาศาล

 



อ้างอิง

[1] นวนิยายของประภัสสรเรื่องนี้ถูกเขียนขึ้นในทศวรรษที่ 80 หรืออาจจะก่อนหน้านั้น อันเป็นช่วงที่ละตินอเมริกา กำลังก้าวเข้าสู่การเป็นประชาธิปไตยไปพร้อม ๆ กับการเสื่อมถอยของอำนาจกองทัพเหนือการเมือง จากการที่รัฐบาลทหารไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยมีปัจจัยสำคัญเพราะหันไปใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ (หากกล่าวถึงกรณีอาเจนตินา ก็รวมไปถึงการพ่ายแพ้สงครามแย่งชิงหมู่เกาะฟอล์คแลนด์ด้วย)  ดังนั้น นวนิยายเรื่องนี้จึงค่อนข้างล้าสมัย นับตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 80 เป็นต้นมา รัฐบาลหลายชุดในหลายประเทศ ไม่ว่า อาเจนตินา บราซิล  เวเนซุเอลา โบลิเวีย  ชิลี ฯลฯ ได้มาจากกระบวนการประชาธิปไตย เช่น การเลือกตั้ง นั้นยึดถือนโยบายเศรษฐกิจแบบซ้าย เช่น การให้รัฐเข้าไปยึดครองกิจกรรมทางเศรษฐกิจสำคัญ ๆ รวมไปถึงการจัดสรรที่ดินและทรัพยากรเพื่อผู้ยากไร้ รวมไปถึงชนเผ่าดั้งเดิม ดังที่เรียกว่า คลื่นสีชมพู (Pink tide) อนึ่ง คลื่นสีชมพูในปี 2016 ก็กำลังถดถอยเพราะผู้นำพลเรือนเหล่านั้นประสบปัญหาในเรื่องความชอบธรรมจากการฉ้อราษฎร์บังหลวง ดังที่ประชาชนออกมาประท้วงผู้นำเหล่านั้นอยู่บ่อยครั้งโดยเฉพาะในอาเจนตินา บราซิล และเวเนซูเอลลา แต่กระนั้นการคุกคามของกองทัพในการทำรัฐประหารนั้นไม่มีเลย ประเทศเหล่านั้นจึงเหนือชั้นกว่าไทยในปัจจุบันอยู่ไม่น้อย

[2] การปลูกฝังถูกสร้างผ่านสื่อมวลชนที่เป็นพันธมิตร หรือที่หัวหดเพราะถูกข่มขู่ หรือสื่อสังคมออนไลน์ที่ถูกทางรัฐบาลสร้างขึ้นหรือมาจากคนที่ชอบในตัวท่านนายกฯ อย่างแท้จริงก็ตามแต่ ทว่าผลลัพธ์ที่ได้ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก เพราะการปรากฏตัวของพลเอกประยุทธ์หน้าโทรทัศน์ทุกวันที่สร้างความน่ารำคาญมากกว่าความชื่นชม จนนำไปสู่มุขตลกเสียดสีที่คนทั่วไปแม้จะไม่ชื่นชอบฝ่ายทักษิณก็พลอยหัวเราะไปด้วย  เช่นเดียวกับบุคลิกภาพของพลเอกประยุทธ์ซึ่งดูแข็งทื่อ เจ้าอารมณ์ ก้าวร้าว รวมไปถึงขาดวิสัยทัศน์หรือความคิดริเริ่มใหม่เหมือนดังที่โกเมซมี แม้จะชูธงความจริงใจเฉกเช่นกับบุคลิกนักเลงไทยยุคโบราณ อันสะท้อนให้เห็นว่าลัทธิเชิดชูบุคคลที่ถูกยัดเหยียดจากข้างบนนั้นมีขีดจำกัด ดังนั้นหากเปลี่ยนตัวจากประยุทธ์เป็น โกเมซ คสช.ก็น่าจะสามารถสร้างความยิ่งใหญ่ได้มากกว่านี้ 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net