สุรพศ ทวีศักดิ์: ศีลธรรมคนดี vs ศีลธรรมหลักการ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ความคิดทางศีลธรรมในปรัชญาตะวันตกยุคคลาสสิค (เช่นจริยศาสตร์คุณธรรม) ถือว่า “ความดี” อยู่ที่ “ตัวคน” ซึ่งเห็นได้ในปรัชญากรีก แต่ “คนดี” ในเอเธนส์ไม่จำเป็นต้องดีแบบบริสุทธิ์ทางกาย วาจา ใจอย่างที่เราเชื่อ คนดีคือคนที่กล้าหาญ มีปัญญา มีความยุติธรรม รับผิดชอบต่อหน้าที่ เหนืออื่นใดคือมีความภักดีต่อรัฐ (ไม่ใช่ต่อผู้ปกครอง)

แต่จริยศาสตร์สมัยใหม่ ถือว่า “ความดี” อยู่ที่ “ตัวหลักการ” การมีศีลธรรมคือการมีหน้าที่เคารพ ปฏิบัติตาม หรือปกป้องหลักการที่ถูกต้อง ซึ่งหลักการที่ถูกต้อง หรือที่จะถือได้ว่าเป็น “หลักการทางศีลธรรม” ได้นั้น ต้องเป็นหลักการที่กำหนดขึ้นบนพื้นฐานของการเคารพ “ความเป็นคนเท่ากัน” นี่เป็นแนวคิดศีลธรรมสมัยใหม่ แต่ละแนวคิดมีรายละเอียดต่างกัน แต่ทุกแนวคิดเชื่อเหมือนกันว่า ศีลธรรมต้องอยู่บนฐานของการเคารพสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นคนที่เท่าเทียม

การมีศีลธรรมแบบสมัยใหม่ จึงไม่ได้มีความหมายเพียงว่า มีจิตสำนึกปกป้องอิสรภาพของตนเองในฐานะปัจเจกบุคคลผู้มีสิทธิอำนาจในการตัดสินถูก ผิดทางศีลธรรม และ/หรือกำหนดความหมายของ “การมีชีวิตที่ดี” ด้วยตนเองเองเท่านั้น หากยังหมายถึงการมี “หน้าที่” เคารพ ปฏิบัติตาม และปกป้อง “หลักการ” ทางสังคมการเมืองที่กำหนดขึ้นบนฐานของการยืนยัน “ความเป็นคนเท่ากัน” ด้วย เพราะอิสรภาพที่จะมีชีวิตที่ดีตามอุดมคติของปัจเจกบุคคลกับหลักการทางสังคมการเมืองที่ปกป้องอิสรภาพดังกล่าวไม่อาจแยกขาดจากกัน

แต่ศีลธรรมของสังคมไทยเป็นศีลธรรมที่อยู่บนฐานความเชื่อทางศาสนา โดยเฉพาะ “พุทธศาสนาแบบไทย” หมายถึง พุทธศาสนาที่ถูกตีความสนับสนุนอุดมการณ์ชาตินิยมความเป็นไทย แนวคิดศีลธรรมของพุทธศาสนาเช่นนี้ถือว่า “ความดี” อยู่ที่ “ตัวคน” แต่ “คนดี” แบบไทยนั้นมีความหมายค่อนข้างซับซ้อน อาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ

1. คนดีแบบพระ คือ “คนดีทางธรรม” หมายถึง คนดีตามอุดมคติทางพุทธศาสนาที่เป็นผู้สะสละทางโลก ละกิเลสตัณหา เข้าถึงความสะอาด สว่าง สงบ มีปัญญารู้แจ้งสัจธรรมของชีวิตและโลก มีความบริสุทธิ์ทางกาย วาจา ใจ และมีเมตตากรุณา เป็นผู้ทำหน้าที่สอนพุทธธรรมแก่ผู้คน

อย่างไรก็ตาม อุดมคติกับความเป็นจริงดูเหมือนจะขัดกัน เนื่องจากรัฐไทยได้สถาปนาองค์กรสงฆ์ของรัฐ หรือองค์กรปกครองสงฆ์ที่มีอำนาจตามกฎหมาย มีสมณศักดิ์ หรือ “ศักดินาพระ” ซึ่งเป็นการทำให้พระมีสถานะ อำนาจ ลำดับชั้นยศ ตำแหน่งแบบทางโลก ทำให้มี “ความเป็นการเมือง” ภายในวงการคณะสงฆ์เอง มีการเมืองของสงฆ์ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองของรัฐ และมีการเมืองของรัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองภายในคณะสงฆ์ได้ตลอดเวลา ดังปรากฏเป็นข่าวการวิ่งเต้นเรื่องสมณศักดิ์ในอดีต หรือกรณีความขัดแย้งเรื่องตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชในปัจจุบัน เป็นต้น

ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ สะท้อนความคิดทางศีลธรรมของชาวพุทธไทยที่มี “ความขัดแย้งในตัวเอง” นั่นคือ ชาวพุทธไทยมีภาพคนดีแบบพระหรือคนดีทางธรรมว่า พระต้องเป็นผู้ละกิเลส สละทางโลก จึงรับไม่ได้กับการที่พระมีปัญหาเรื่องยศ ตำแหน่ง อำนาจ ผลประโยชน์ต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องแบบทางโลก แต่ชาวพุทธเองก็มักจะมองปัญหาดังกล่าวในเชิง “ตัวบุคคล” ว่ามีพระบางรูปเท่านั้นที่มีปัญหาดังกล่าว ไม่ได้มองปัญหาเชิงระบบหรือโครงสร้างว่า การที่รัฐได้สถาปนาองค์กรสงฆ์แบบทางการขึ้นมาเป็นการขัดแย้งกับอุดมคติเรื่องละกิเลส ละทางโลกของพระตั้งแต่แรก และตราบใดที่ยังมีระบบเช่นนี้ ปัญหาเรื่องยึดติดตำแหน่ง อำนาจ ยศถาบรรดาศักดิ์ของพระก็ไม่มีวันหมดไปได้

2. คนดีแบบฆราวาส หรือ “คนดีทางโลก” หมายถึง ผู้ปกครองและผู้ใต้ปกครองเป็นคนดีมีศีลธรรม เช่น มีศีล 5 มีคุณธรรมของผู้ปกครอง เช่น ทศพิธราชธรรม วัชชีธรรม จักกวัตติวัตร เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตาม หากไล่เรียงความคิดเรื่องศีลธรรมคนดีดังกล่าว จะพบว่าไม่ใช่ศีลธรรมที่วางอยู่บนฐานของการเคารพ “ความเป็นคนเท่ากัน” แต่เป็นศีลธรรมที่อยู่บนฐานของการยืนยันลำดับชั้นสูง-ต่ำทางสังคมที่ถือว่า คนเราเกิดมาในชนชั้นทางสังคมที่ต่างกัน เพราะชาติก่อนทำความดีมาไม่เท่ากัน ชนชั้นปกครองสมควรเป็นผู้ปกครองเพราะเป็นผู้มีบุญญาธิการสูงส่งที่ทำมาแต่ชาติปางก่อน ส่วนไพร่ ทาสที่มีสถานะต่ำกว่าพวกเจ้าขุนมูลนาย ก็เพราะชาติก่อนทำบุญมาน้อยกว่า

ในสังคมทุนนิยมสมัยใหม่ ความเชื่อดังกล่าวยังถูกนำมาปรับใช้อย่างกลมกลืนว่า “บริจาคมากได้บุญมาก และได้บุญมากแปลว่ารวยมาก” คนรวยก็คือคนทำบุญบริจาคมากมาแต่ชาติปางก่อน และหากคุณบริจาคมากในชาตินี้ นอกจากจะมีอานิสงส์ให้ทำมาค้าขึ้น ร่ำรวยในชาตินี้แล้ว ยังจะส่งผลให้เกิดชาติหน้าเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี อภิมหาเศรษฐีได้อีกด้วย

ความคิดเรื่องคนดีทางโลก เมื่อนำมาใช้กับการเมืองสมัยใหม่ ยิ่งทำให้เกิดปัญหาซับซ้อนขึ้นไปอีก ดังเห็นได้จากความคิดการเมืองเชิงศีลธรรมของปราชญ์ชาวพุทธที่เสนอว่า “ระบบเผด็จการโดยธรรม” หรือเผด็จการโดยคนดีเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เป็นระบบที่ดีที่สุด รูปธรรมของอิทธิพลความคิดดังกล่าวนี้คือการเกิดกระแสเรียกร้อง “คนดี” มาปกครองบ้านเมืองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ถ้าเป็นคนดีแล้วก็มีความชอบธรรมที่จะทำรัฐประหาร ใช้วิธีเผด็จการในการปกครองประเทศเพื่อความสุขของคนส่วนใหญ่ได้ การตั้งคำถาม วิจารณ์ ตรวจสอบคนดีตามหลักการประชาธิปไตยก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป

กล่าวได้ว่า ศีลธรรมแบบพุทธไทยที่ถือว่าความดีอยู่ที่ตัวคน คือรากฐานของค่านิยม “ยึดติดตัวบุคคลเหนือหลักการ” และภายใต้บริบทสังคมการเมืองไทย กลุ่มคนที่จะถูกยอมรับว่าเป็น “คนดี” ที่สมควรเป็น “ผู้ปกครอง” หรือเป็นแบบอย่างทางศีลธรรม และมีอำนาจชี้นำทางความคิดได้ คือ “กลุ่มคนชนชั้นนำ” ฝายอนุรักษ์นิยมเท่านั้น เช่นองคมนตรี นายพล ตุลาการ ราษฎรอาวุโส ปัญญาชน นักวิชาการ เอ็นจีโอที่ยอมรับได้ และ/หรือสนับสนุนวิถีเผด็จการโดยธรรมหรือเผด็จการโดยคนดี

ภายใต้ระบบศีลธรรมแบบเชิดชูคนดี(ซึ่งเป็นกลุ่มชนชั้นนำระดับบน) ทำให้สังคมไทยมีกลุ่มเครือข่ายคนดีที่มีอำนาจพิเศษเหนือหลักการ กติกาประชาธิปไตย สามารถล้มหลักการ กติกาประชาธิปไตยได้ตลอดเวลาด้วยข้ออ้างเรื่องขจัดคนเลวและทำความดี เสียสละเพื่อชาติบ้านเมือง สิ่งที่เราได้เห็นก็คือการฉีกกติกาปกครองประเทศครั้งแล้วครั้งเล่า แล้วกลุ่มคนดีเหล่านี้ก็เขียนกติกาปกครองประเทศขึ้นมาใหม่ที่เป็นการกระชับอำนาจของกลุ่มตัวเองให้เข้มข้นมากขึ้นทุกที

แต่จะอย่างไรก็ตาม ในโลกยุคอินเตอร์เน็ต ทั้งตัวความคิดศีลธรรมแบบเชิดชูคนดี และลักษณะอำนาจนิยมของบรรดากลุ่มคนดีได้เปิดเปลือยตัวมันเองให้เห็นความไร้เหตุผล ความเหลวไหล ความอยุติธรรม ความเลอะเทอะ กระทั่งความน่าตลกขบขันทุกแง่ทุกมุม ไม่มีอะไรสามารถหลบเร้นสายตาของสาธารณชนได้อีกต่อไปแล้ว

คนที่ยังพอมีสติ มีเหตุมีผล และสามารถเข้าใจได้ว่า “ศีลธรรมเชิงหลักการ” ที่ถือว่าความดีอยู่ที่ตัวหลักการ การมีศีลธรรมคือการทำหน้าที่เคารพ ปฏิบัติตาม และปกป้องหลักการที่อยู่บนฐานของการเคารพสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นคนที่เท่าเทียมเท่านั้นที่ไปกันได้กับประชาธิปไตย ก็จะมองเห็นได้ว่า ศีลธรรมแบบเชิดชูคนดีเหนือหลักการกำลังทำลายตัวมันเองให้เสื่อมทรุดลงทุกวันๆ ด้วยการลุแก่อำนาจ การพยายามสร้างกติกาปกครองประเทศและค่านิยมที่ขัดกับความเป็นประชาธิปไตยและสิทธิอำนาจของประชาชนส่วนใหญ่

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท