นักวิชาการ-คนปทุมฯ ขอรัฐทบทวนที่ตั้งโรงไฟฟ้าขยะ หวั่นมลพิษกระทบ 12 ล้านคน

นักวิชาการ และประชาชนจากหลายหน่วยงานร่วมสัมมนาเสนอข้อมูลโรงไฟฟ้าขยะ ประสานเสียงขอทบทวนโครงการก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะโรงไฟฟ้าเชียงรากใหญ่ ชี้ใกล้แหล่งน้ำดิบสำคัญ หากปนเปื้อนจะกระทบผู้ใช้น้ำประปาทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑลกว่า 12 ล้านคน

ถ่ายภาพโดย มูลนิธิบูรณะนิเวศ

เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2559 ณ ศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์รังสิต จ.ปทุมธานี มูลนิธิบูรณะนิเวศ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และคณะสังคมวิทยาและมานุษวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมกันจัดงานสัมมนาสัมมนาวิชาการเรื่อง “ธรรมาภิบาลเพื่อการจัดการขยะอย่างยั่งยืน": กรณี "ศูนย์กำจัดขยะและโรงไฟฟ้าเชียงรากใหญ่" โดยมีประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมสัมมนากว่า 400 คน ทั้งจากผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใน จ.ปทุมธานี เจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการหลายแห่ง นักวิชาการ นักศึกษา สื่อมวลชน และประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายเร่งรัดส่งเสริมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะทั่วประเทศ อาทิ ปทุมธานี นครสวรรค์ นครนายก สระบุรี สุราษฎร์ธานี เป็นต้น

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวในระหว่างการเปิดสัมมนาว่า การกำจัดขยะที่ผ่านมาทำผิดวิธี การกำจัดขยะแบบฝังกลบนั้น จริงๆ ไม่ได้ฝังและไม่ได้กลบ การกำจัดขยะหรือการสร้างเตาเผาอาจจะเป็นความคิดที่ดี แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะก่อผลดีเสมอไป ประเด็นสำคัญคือ โครงการนี้ควรจะสร้างที่ไหน จำเป็นจะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจ เมื่อประชาชนจำนวนมากไม่เห็นด้วย โครงการนั้นควรจะสร้างหรือไม่ การสัมมนาวันนี้มีความหมายอย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่สำหรับอนาคตของชาวเชียงรากใหญ่ และคนจังหวัดปทุมธานีเท่านั้น แต่ยังจะเป็นกรณีศึกษาแก่พื้นที่อื่นต่อไปด้วย และหวังว่าการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวันนี้จะได้นำเสนอแก่รัฐบาลต่อไป

ในช่วงต้นของการสัมมนา เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้กล่าวให้ข้อมูลว่า การจัดการขยะตามวาระแห่งชาติของรัฐบาลเน้นแต่เรื่องเทคโนโลยี และการลงทุนของเอกชน ละเลยการมองปัญหาขยะที่เชื่อมโยงกับมิติอื่นๆ เช่น มิติด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ระบบเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง ธรรมาภิบาล อีกทั้งยังมีการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง ที่จะก่อให้เกิดผลเสียในระยะยาว ความจริงแล้วการจัดการขยะมีแนวทางอื่นอีกมาก การเผาทิ้งและการสร้างโรงไฟฟ้าไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาได้เลย ตรงกันข้ามจะยิ่งทำให้ปัญหาขยะรุนแรงขึ้น และความขัดแย้งจะสูงขึ้น

เพ็ญโฉม กล่าวต่อไปว่า ในช่วงที่ผ่านมา มีชุมชนที่ลุกขึ้นมาคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าขยะอย่างน้อย 30 กรณี การสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะยังมีต้นทุนสูงมาก รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณของแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอย 5 ปี สูงถึง 178,600 ล้านบาท จำนวนเงินที่สูงขนาดนี้จะนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชั่นของข้าราชการและผู้เกี่ยวข้อง โดยไม่ก่อประโยชน์แก่ประเทศ แต่กลับจะก่อให้เกิดหนี้สินผูกพันในระยะยาวด้วย แนวทางจัดการขยะตามวาระแห่งชาติของรัฐบาลที่เร่งรัดนี้ทำให้รัฐบาลขาดธรรมาภิบาลหลายอย่าง ตัวอย่างเช่น กรณีของโรงไฟฟ้าขยะเชียงรากใหญ่นั้น ไม่มีธรรมาภิบาลในการปฏิบัติตามเกณฑ์การคัดเลือกพื้นที่ตั้งโครงการ ขาดการมีส่วนร่วมและขาดการรับฟังความเห็นของประชาชน รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลที่ฟังเสียงประชาชนน้อยมาก

ด้าน ปัญญา แก้วมุข ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต. เชียงรากใหญ่ ได้กล่าวถึงพื้นที่เชียงรากใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะแห่งนี้ว่า สูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียง 0.5 เมตร และเป็นพื้นที่อ่อนไหวทางระบบนิเวศ อีกทั้งประชาชนซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่กว่า 6,000 คน ต้องพึ่งพาแหล่งน้ำ ซึ่งประกอบไปด้วยแม่น้ำเจ้าพระยาและลำคลองสาขาอีก 20 กว่าสาย ทั้งเพื่อทำการเกษตรและประมงน้ำจืด นอกจากนี้ขยะที่เกิดขึ้นในพื้นที่ยังมีน้อยมาก คือเพียงวันละไม่เกิน 4 ตัน ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าฯ มีแผนที่จะรับขยะเข้ามากำจัดมากถึง 1,800 ตัน/วัน

“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยลงมาชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนเลย ยิ่งทำให้คนเชียงรากใหญ่กังวลเป็นอย่างยิ่ง พื้นที่เชียงรากใหญ่เป็นพื้นที่เกษตร เรื่องน้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด พื้นที่เป้าหมายของโครงการยังอยู่เหนือสถานีสูบน้ำดิบของการประปานครหลวง และโรงสูบน้ำของการประปาส่วนภูมิภาคอีกหลายสถานี ปัญหามลพิษที่จะตามมา ใครก็คาดการณ์ไม่ได้ แต่เรามีวิธีการที่จะป้องกันได้ ณ วันนี้” ปัญญากล่าว

ด้าน สุนทรี รัตภาสกร นักวิชาการด้านวิศวกรรมเครื่องกล และเป็นหนึ่งในประชาชนชาวเชียงรากใหญ่ ได้อธิบายให้ข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับการทำงานของโรงไฟฟ้าพลังงานขยะว่า

“ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาที่มีการพูดคุยเรื่องนี้กัน แต่ทางบริษัทก็ไม่เคยให้ข้อมูลที่ชัดเจนแก่ชุมชนเลย ทั้งที่โครงการนี้มีแผนจะรับขยะเข้ามากำจัดที่นี่สูงถึง 1,800 ตัน/วัน บนพื้นที่เพียง 140 ไร่เศษเท่านั้น และเมื่อดูแผนผังโครงการของบริษัทก็ยิ่งตกใจ เพราะจะสร้างโรงงานเต็มพื้นที่ โดยไม่มีพื้นที่สำหรับเป็นแนวกันชนระหว่างชุมชนกับโรงไฟฟ้าเลย ทั้งที่จะตั้งอยู่ห่างจากชุมชนไม่ถึง 200 เมตร”

“แม้ว่าทางบริษัทจะอ้างว่าได้พาเจ้าหน้าที่ในจังหวัดปทุมธานีไปดูงานโรงไฟฟ้าขยะของประเทศญี่ปุ่น แต่โรงงานกำจัดขยะของญี่ปุ่นที่มีการอ้างถึงนั้น รับกำจัดขยะเพียงวันละ 525 ตันบนพื้นที่ 300 ไร่ หากเปรียบเทียบกำลังการผลิตแล้วจะเห็นว่าโรงไฟฟ้าขยะเชียงรากใหญ่เพียงแห่งเดียวสามารถเทียบได้กับโรงไฟฟ้าขยะของประเทศญี่ปุ่นถึง 17 โรงรวมกัน

“ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ การสร้างโรงไฟฟ้าไม่ใช่ว่าจะเผาอะไรก็ได้ ขยะซึ่งมีความชื้นสูงกว่า 25 เปอร์เซ็นต์จะเป็นปัญหามาก ประสิทธิภาพการเผาจะลดลง ขยะชิ้นใหญ่ที่มีความชื้นสูงเมื่อเผาไหม้ไม่สมบูรณ์จะก่อให้เกิดสารไดออกซินและสารอันตรายอื่นๆ อีกหลายชนิดที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม"

ด้าน กำพล นันทพงษ์ อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวว่า โรงไฟฟ้าขยะเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษหลายชนิด เช่น ก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจและปอด สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์และกลุ่มสารไนโตรเจนออกไซด์ที่จะส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ สารโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ปรอท และแคดเมียม ซึ่งจะก่อให้เกิดการปนเปื้อนของแหล่งน้ำ และยังมีสารไดออกซินซึ่งอันตรายมาก และต้องใช้งบประมาณสูงในการตรวจวัดเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม

ชัยวัฒน์ วรพิบูลย์ ผู้ช่วยผู้ว่าการประปานครหลวง (กปน.) กล่าวบนเวทีสัมมนาว่า โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ต.เชียงรากใหญ่ อยู่ใกล้แหล่งน้ำดิบสำแล ซึ่งการประปานครหลวงใช้ในการผลิตน้ำประปาถึงร้อยละ 70 สำหรับส่งให้กับคนกรุงเทพและปริมณฑล

“เราเชื่อว่ามลพิษที่จะเกิดจากโรงไฟฟ้าขยะจะมีผลกระทบต่อแหล่งน้ำดิบที่นี่ ปัจจุบันน้ำที่รับมาจากพื้นที่เชียงรากใหญ่ได้รับมาตรฐานองค์การอนามัยโลก กปน. จึงมีความกังวลเรื่องนี้มาก ถ้าหากมีการปนเปื้อนของสารพิษในแหล่งน้ำดิบจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ การจัดการขยะมีหลายวิธีการ ไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าเท่านั้น สิ่งที่ดีที่สุดคือการลดปริมาณขยะลง และสิ่งที่ต้องทำคือการพูดคุยกัน ทั้งนี้โรงไฟฟ้าเชียงรากใหญ่ไม่น่าจะสร้างได้”

ชำนัญ ศิริรักษ์ ทนายความด้านสิ่งแวดล้อม ให้ความเห็นทางกฎหมายว่าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะเชียงรากใหญ่มีปัญหาทั้งในเชิงกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน และการปฏิบัติตามระเบียบของกรมควบคุมมลพิษว่าด้วยเกณฑ์การเลือกที่ตั้งโครงการกำจัดขยะ การขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ เขาเห็นว่า การมองเรื่องความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองของรัฐ ควรจะต้องมองเรื่องการลดความขัดแย้งในชุมชนลงด้วย ชาวบ้านในพื้นที่เชียงรากใหญ่และชาวบ้านในพื้นที่อีก 40-50 แห่งที่จะมีการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้า แม้ว่าจะเดือดร้อนจากการยกเว้นการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและการระงับการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองก็ตาม แต่ก็ยังมีช่องทางทางกฎหมายอื่นๆ ที่จะนำมาใช้ปกป้องสิทธิ์และการมีส่วนร่วมของประชาชนได้อยู่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท