สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 24-30 มี.ค. 2559

มติ ครม. เห็นชอบหลักการผลิดตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น คัดเลือกเด็กที่เรียนเก่ง ให้เป็นครูเพื่อเป็นต้นแบบ/ไทยยื่นสัตยาบันสารอนุสัญญาฯ 187 แก่ ILO แล้ว เน้นความปลอดภัยในการทำงาน/"กยศ." เล็งเพิ่มกู้เรียน "นักบิน" ปีละ 1 ล้าน ชงมหาดไทยเบี้ยวหนี้ไม่ต่อบัตร ปชช./นักกฎหมายสิทธิฯ ค้านแนวคิดทวงหนี้ กยศ. ไม่ต่ออายุบัตรประชาชน/หวั่นไทยถูกกล่าวหา! กระทรวงแรงงานเสนอ เด็กต่ำกว่า 15 ปี ห้ามช่วยพ่อแม่ทำงาน
 
กลุ่มผู้รับเหมาร้อง "กรมบัญชีกลาง" หลังขาดแคลนแรงงาน พร้อมขอขยายระยะเวลาแบบไม่มีกำหนดในการรับแรงงานต่างด้าวเข้าทำงาน
 
กลุ่มผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างประมาณ 30-50 คน ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง วานนี้ (23 มี.ค.) เพื่อขอความช่วยเหลือกรณีได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจาก การปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และ ขอให้ช่วยเหลือจากกรณีได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง
 
นายชัยวัฒน์ พรหมสวัสดิ์ ผู้ประกอบการธุรกิจก่อสร้าง กล่าวว่า สมาชิกของกลุ่มผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างที่มีสมาชิกประมาณ 500-600 ราย ได้เข้ายื่นหนังสือ และหารือกับ นางสาวชุณหจิต สังข์ใหม่ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง กรมบัญชีกลาง ถึงกรณีขอความช่วยเหลือกรณีได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงาน อันเนื่องมาจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท และเสนอขอให้ความช่วยเหลือจากกรณีเหตุการณ์ความสงบทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา
 
ทั้งนี้ ได้มีระเบียบว่าด้วยการพัสดุ(กวพ.)ที่ให้ความช่วยเหลือด้วยการขยายระยะเวลา งด หรือลดค่าปรับ เป็นเวลา 210 วัน หรือ 7 เดือน ต่อผู้ประกอบการที่รับงานก่อสร้างจากภาครัฐและได้รับผลกระทบจากกรณีปัญหาดังกล่าว แต่มีบางหน่วยงานไม่ให้ความช่วยเหลือกับผู้ประกอบการตามกรอบดังกล่าว กลุ่มผู้ประกอบการจึงต้องการให้เป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน อยากให้กวพ. เสนอครม.ออกเป็นมติ เพื่อบังคับใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ
 
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ส่วนการขาดแรงงานแรงงานจากการขึ้นค่าแรง 300 บาทนั้น ภาครัฐได้มีการขยายกรอบเวลานิติสัมพันธ์ภาครัฐตั้งแต่ 1 เมษายน 2555 -วันที่ 25 กรกฎาคม 2557 และ ได้อนุญาตให้นำเข้าแรงงานต่างด้าว ดังนั้น หากสัญญาใดที่อยู่ในกรอบเวลาดังกล่าว และ ยังไม่ได้รับสิทธิ์ขยายระยะเวลา ก็ให้ได้รับสิทธิ์ดังกล่าวด้วยจำนวน 150 วัน การนับเวลาให้ความช่วยเหลือดังกล่าวนั้น ขอให้ขยายระยะเวลานับแต่สิ้นสุดสัญญาเดิมออกไป 150 วัน โดยไม่มีเงื่อนไข หากมีค่าปรับขอให้งดหรือลดค่าปรับ เพราะไม่ถือว่าเป็นผู้ทิ้งงานของราชการในกรณีบอกเลิกสัญญา
 
แหล่งข่าวจากกรมบัญชีกลางแจ้งว่า คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) เคยมีหนังสือแจ้งเวียนไปแล้ว เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2557 (หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร 0506/ว 141) ให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างโดยการงด ลดค่าปรับ หากมีการลงนามในสัญญาระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-22 เม.ย.2556 การมาเรียกร้องครั้งนี้ จะขอให้ช่วยเหลือเพิ่มเติมจากที่ได้เคยช่วยเหลือไว้แล้ว กลุ่มผู้ประกอบการแจ้งว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานยังคงมีอยู่ กรมฯรับเรื่องไว้ จะพิจารณาให้ตามความเหมาะสม
 
 
ไทยให้สัตยาบันหนุนทำงานปลอดภัยต่อไอแอลโอเป็นครั้งแรก ด้านญี่ปุ่นดันไทยแม่แบบพัฒนาคนกลุ่มลุ่มน้ำโขงในภาคอุตสาหกรรม
 
เมื่อวันที่ 24 มี.ค. นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีที่ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ร่วมประชุมคณะประศาสน์การสมัยที่ 326 ณ สำนังานใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ไอแอลโอ) นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 20- 25 มี.ค.2559 ว่า ม.ล.ปุณฑริก และนายเกริกพันธ์ ฤกษ์จำนง เอกอัครราชทูต รองผู้แทนถาวร คณะผู้แทนถาวรไทยฯ ณ นครเจนีวา ประชุมร่วมกับผู้แทนจาก Swiss Agency for Development and Cooperation (SDC) ที่สำนักงานคณะผู้แทนถาวรไทยฯ เพื่อหารือความร่วมมือระหว่างกระทรวงแรงงานและ SDC ในโครงการด้านการพัฒนาฝีมือแรงงานในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง(จีเอ็มเอส) แก่กลุ่มประเทศ"ซีแอลเอ็มวี" ที่ประกอบด้วยกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งการพัฒนาฝีมือแรงงานแก่ประเทศกลุ่มนี้เป็นนโยบายของพล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน ที่ได้หารือร่วมกับประธานองค์กรรับผู้ฝึกงานของญี่ปุ่น (ไอเอ็ม) ช่วงที่เดินทางไปเยือนญี่ปุ่น ซึ่งไอเอ็มพร้อมสนับสนุนการพัฒนาฝีมือทั้งแรงงานไทยและส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาฝีมือแรงงานในกลุ่มซีแอลเอ็มวี โดยสอดคล้องกับรัฐบาลญี่ปุ่นที่ต้องการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เช่นกัน โดยคาดหวังให้ไทยเป็นโรงงานแม่แบบในการฝึกอบรมบุคคลากรภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงด้วย ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทย-ญี่ปุ่นได้ร่วมมือกันจัดทำโครงการพัฒนากำลังคนภาคอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง นายธีรพล กล่าวว่าม.ล.ปุณฑริก ยังได้ป็นผู้แทนรัฐบาลไทยในการยื่นจดทะเบียนสัตยาบันสารอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบเชิงส่งเสริมการดำเนินงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ค.ศ 2006 ต่อนาย Guy Ryder ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งอนุสัญญาฉบับนี้เป็นอนุสัญญาฉบับที่ 16 ที่ประเทศไทยให้สัตยาบัน ทั้งนี้อนุสัญญาฉบับที่ 187 จะมีผลบังคับใช้อีก 12 เดือนถัดไปนับจากวันที่ให้สัตยาบัน
 
 
ไทยยื่นสัตยาบันสารอนุสัญญาฯ 187 แก่ ILO แล้ว เน้นความปลอดภัยในการทำงาน
 
นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวง และโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าเมื่อ 23 มีนาคม 2559 หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยในการยื่นจดทะเบียนสัตยาบันสารอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบเชิงส่งเสริมการดำเนินงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ค.ศ 2006 ต่อ Mr. Guy Ryder ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งอนุสัญญาฉบับนี้เป็นอนุสัญญาฉบับที่ 16 ที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบัน โดยอนุสัญญานี้ จะมีผลบังคับใช้อีก 12 เดือนถัดไปนับจากวันที่ให้สัตยาบัน
 
ทั้งนี้ สาระสำคัญของอนุสัญญาฉบับที่ 187 จัดเป็นมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศฉบับพื้นฐานด้านความปลอดภัย และอาจารย์อาชีวอนามัย ซึ่ง ILO ได้ยกร่างขึ้นเพื่อให้เป็นกรอบแนวทาง สำหรับการบริหารจัดการ และดำเนินงานความปลอดภัยระดับชาติ และผลักดันรัฐสมาชิกพิจารณาให้สัตยาบัน โดยมีเนื้อหาสาระของอนุสัญญา มุ่งเน้นเกี่ยวกับการจัดให้มีองค์ประกอบขั้นพื้นฐาน ที่จะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนงานความปลอดภัย และอาชีวอนามัย ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของวาระงานที่มีคุณภาพ (Decent Work)
 
ที่อยู่ภายใต้กรอบธรรมนูญขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) ที่กำหนดหลักการว่าคนทำงานทุกคน ควรได้รับการคุ้มครองป้องกัน มีให้เกิดการเจ็บป่วย โรคและการบาดเจ็บจากการทำงาน โดย ILO ได้ประมาณการว่า ความสูญเสียจากการประสบอันตรายจากการทำงานในแต่ละปี ของแต่ละประเทศ คิดเป็นมูลค่าประมาณร้อยละ 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ
 
ขณะที่นายจ้างต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในเรื่องต่างๆ ที่มีสาเหตุมาจากการบาดเจ็บและโรคจากการทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถป้องกันได้ด้วยการดำเนินการในเชิงการป้องกันที่ดี การจัดทำรายงานข้อมูล และการตรวจสอบ ซึ่งมาตรฐานแรงงานของ ILO เกี่ยวกับความปลอดภัย และอาชีวอนามัยได้กำหนดให้มีเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับภาครัฐ นายจ้างและลูกจ้างเพื่อสนับสนุนการดำเนินการให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน
 
ซึ่ง ILO ได้ประกาศรับรองยุทธศาสตร์โลก ด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่รวมถึงการแนะนำวัฒนธรรมในเชิงป้องกัน การส่งเสริมและการพัฒนาตราสารที่เกี่ยวข้องและการสนับสนุนเชิงเทคนิควิชาการ ในปี พ.ศ. 2546 (ค.ศ. 2003)
 
 
กระทรวงการคลังดันโครงการ กยศ. กรอ. เพื่อชาติ องค์กรภาครัฐและเอกชนร่วมลงนาม MOU รณรงค์ชำระหนี้ส่งต่อโอกาสรุ่นน้อง
 
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จับมือหน่วยงานองค์กรนายจ้าง 36 แห่ง ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการ กยศ. กรอ. เพื่อชาติ รณรงค์สร้างวินัยทางการเงินให้บุคลากรที่เป็นผู้กู้ยืมชำระเงินคืนกองทุน เพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้รุ่นน้อง โดยมีนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นประธานในพิธี เมื่อวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม 2559 ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 4 กระทรวงการคลัง
 
ปัจจุบัน กองทุนฯ มีผู้ที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาไปแล้วจำนวนกว่า 4.5 ล้านราย เป็นเงินให้กู้ยืม กว่า 4.7 แสนล้านบาท ทั้งนี้ เงินที่นำมาให้กู้ยืมทั้งหมดมาจากเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งคือเงินภาษีอากร ของคนไทยทั้งประเทศ แต่เนื่องจากผู้กู้ยืมบางส่วนไม่ชำระเงินคืนกองทุน จึงส่งผลกระทบกับเงินที่จะนำมาหมุนเวียนเพื่อให้กู้ยืมกับนักเรียน นักศึกษารุ่นต่อไป
 
กองทุนฯ จึงได้เชิญชวนองค์กรนายจ้างภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมโครงการ กยศ. กรอ. เพื่อชาติ โดยได้มีกระทรวงต่างๆ ส่วนราชการในสังกัดกระทรวงการคลัง หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และบริษัทเอกชน จำนวน 36 แห่ง ตอบรับเข้าร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือกับกองทุนฯ ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการแสดงถึงความร่วมมือในการส่งเสริมความซื่อสัตย์สุจริตและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันตามนโยบายรัฐบาล โดยการสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบและวินัยทางการเงินให้กับบุคลากรที่เป็นผู้กู้ยืมให้ชำระเงินคืนกองทุนฯ รวมถึงป้องกันความเสี่ยงไม่ให้บุคลากรของตนถูกฟ้องร้องดำเนินคดี หรือถูกยึดทรัพย์บังคับคดีในกรณีที่เป็นผู้กู้ยืมที่ค้างชำระ และการเข้าร่วมโครงการยังช่วยให้บุคลากรที่เป็นผู้กู้ยืมได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการจูงใจ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กองทุนกำหนด โดยจะต้องเข้าร่วมโครงการภายในวันที่ 30 กันยายน 2559 เท่านั้น
 
กองทุนฯ จึงขอขอบคุณทุกหน่วยงานองค์กรนายจ้างที่เข้าร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการ กยศ. กรอ. เพื่อชาติ ถือได้ว่าท่านเป็นองค์กรที่เห็นความสำคัญของการสร้างจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อสังคมในการส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้กู้ยืมในรุ่นต่อไป ซึ่งจะช่วยลดภาระงบประมาณแผ่นดินในการให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาอีกด้วย ทั้งนี้ กองทุนฯ ยังมีแผนในการขยายความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และขอเชิญชวนหน่วยงานองค์กรนายจ้างทุกแห่งเข้าร่วมโครงการ โดยหน่วยงานหรือผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กยศ. call center โทร 0-2016-4888 หรือ e-mail: mou@studentloan.or.th
 
 
ก.แรงงานช่วยเหลือผู้เสียชีวิตตามสิทธิประกันสังคม จากเหตุอาคารโรงยิมถล่ม
 
นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรณีเกิดเหตุอาคารกำลังก่อสร้างโรงฝึกกีฬาเอนกประสงค์ 3 ชั้น ภายในสถาบันการพลศึกษากระบี่ ถล่มลงมาขณะกำลังเทคอนกรีต โดยมีคนงานไทยทำงาน ทั้งหมด 23 คน และ มีคนงานติดอยู่ภายในอาคาร จำนวน 5 คน และเสียชีวิตนั้น ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมจังหวัดกระบี่ ได้เข้าไปในที่เกิดเหตุ เพื่อดูแลให้ความช่วยเหลือตามสิทธิผู้ประกันตนจากกองทุนเงินทดแทน โดยจะได้รับค่าจัดการศพ รายละ 30,000 บาท เงินทดแทนกรณีเสียชีวิตอีกรายละ 449,280 บาท รวมการช่วยเหลือทั้งสิ้น รายละ 479,280 บาท 5 ราย ภายในวงเงิน 2,396,400 บาท
 
ทั้งนี้ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้แสดงความห่วงใยในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว พร้อมกำชับให้ดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ตลอดจนกำชับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานดูแล กวดขันด้านความปลอดภัยในการทำงานอย่างเข้มงวด ในทุกประเภทกิจการด้วย
 
 
"กยศ." เล็งเพิ่มกู้เรียน "นักบิน" ปีละ 1 ล้าน ชงมหาดไทยเบี้ยวหนี้ไม่ต่อบัตร ปชช.
 
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ที่กระทรวงการคลัง นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า วันนี้ กยศ.ได้ลงนามกับองค์กรนายจ้าง 36 หน่วยงาน ทั้งราชการ รัฐวิสาหกิจและเอกชน เพื่อให้หน่วยงานดังกล่าวช่วยเหลือด้านหลักการบัญชีเงินเดือนของลูกจ้างที่ เป็นลูกหนี้ กยศ. โดยก่อนหน้านี้ กยศ.ได้มีการลงนามกับหน่วยงานต้นแบบ 5 แห่ง คือ กรมบัญชีกลาง บริษัท บาธรูม ดีไซน์ จำกัด มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ วิทยาลัยเทคโนโลยีตะวันออกไปแล้ว และได้ผลเป็นอย่างดี โดยจะพยายามผลักดันให้หน่วยงานราชการทั้ง 200 แห่ง และรัฐวิสาหกิจ 50 แห่งเข้าร่วมให้มากขึ้น
 
นายสมชัยกล่าวว่า เท่าที่รับทราบตัวเลขของเงินกู้ กยศ. เป็นหนี้เสียกว่า 50% ถือว่าสูงมาก ดังนั้นจำเป็นต้องมีโครงการกระตุ้นผู้กู้กว่า 4 ล้านราย วงเงินกว่า 4.7 แสนล้านบาทให้ใช้หนี้คืน เพื่อ กยศ.จะสามารถใช้เงินที่ได้รับคืนไปปล่อยกู้ให้นักเรียน นักศึกษารุ่นต่อๆ ไป โดยไม่ต้องของบประมาณจากรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมา กยศ.มีโครงการดึงคนให้มาใช้หนี้ ทั้งลดดอกเบี้ยให้ ลดค่าปรับ แต่ยังเข้าโครงการน้อยมาก
 
"เงินนี้ที่นำมาให้กู้ยืมทั้งหมดมาจากเงินงบประมาณแผ่นดิน คือเงินภาษีอากรของคนไทยทั้งประเทศ แต่เนื่องจากผู้กู้ยืมบางส่วนไม่ชำระเงินคืนกองทุน จึงส่งผลกระทบกับเงินที่จะนำมาหมุนเวียนเพื่อให้กู้ยืมกับนักเรียน นักศึกษารุ่นต่อไป ดังนั้นต้องมีมาตรการกระตุ้นที่แรงขึ้น เพื่อให้เกิดการสำนึก เกิดความยางอาย และมาใช้หนี้เพิ่มขึ้นกันบ้าง" นายสมชัยกล่าว
 
นายสมชัยกล่าวว่า ในส่วนของข้าราชการเป็นหนี้ กยศ. และไม่ยอมใช้หนี้กว่า 6 หมื่นราย จะพยายามให้ข้าราชการทั้งหมดใช้หนี้ด้วยการขอให้หน่วยงานราชการมาเข้าร่วม โครงการกับ กยศ.ทั้งหมด ซึ่งการลงนามระหว่างหน่วยงานนายจ้างกับ กยศ.จะทำให้สามารถหักบัญชีรายเดือนสำหรับคนที่เป็นหนี้ได้ โดยหักต่อเดือนไม่มาก เพียง 100 บาท สำหรับหนี้ 1 แสนบาท หรือปีละประมาณ 1,500 บาท ดีกว่าถูกฟ้องร้องดำเนินคดีและต้องออกจากราชการ
 
นายสมชัย กล่าวว่า นอกจากนี้เตรียมจะไปหารือกับสำนักงานประกันสังคม ในการตรวจสอบข้อมูลผู้กู้ที่มีการทำประกันสังคมเพื่อตามมาชำระหนี้ รวมถึงกำลังประสานไปยังกระทรวงมหาดไทย ขอให้ไม่ต่ออายุบัตรประชาชนให้ผู้ที่ไม่ใช้หนี้ กยศ. ซึ่งกระทรวงมหาดไทยกำลังไปดูว่าผิดกฎหมาย หรือผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่
 
นายสมชัยกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมอบหมายให้ กยศ.ไปดูในเรื่องการเพิ่มเพดานการกู้ และการให้กู้สำหรับสาขาอาชีพที่เกี่ยวข้องกับ 10 อุตสาหกรรมใหม่ อาทิ อาชีพนักบินที่ใช้เงินปีละ 1 ล้านบาทนั้น ให้ไปดูว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหนที่ กยศ.จะให้กู้ครอบคลุมค่าเรียนได้ทั้งหมด จากขณะนี้มีเพดานการกู้สำหรับวิศวกร 8 หมื่นบาทต่อคนต่อปี แพทย์ 2 แสนบาทต่อปี
 
นางสาวฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กล่าวว่า ในผู้กู้กว่า 4 ล้านราย วงเงินกู้กว่า 4.7 แสนล้านบาทนั้น มีผู้ครบกำหนดชำระหนี้ประมาณ 3 ล้านราย โดยยังมีค้างชำระ 2 ล้านราย ในจำนวนนี้ชำระหนี้ได้ปกติ 1 ล้านราย อยู่ระหว่างการดำเนินคดี 8 แสนราย ไกล่เกลี่ย 1 แสนราย โดยเงินที่ยังค้างชำระมีอยู่ 5.5 หมื่นล้านบาท และเป็นหนี้ที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้องดำเนินคดี 3.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งหวังว่าการดำเนินโครงการต่างๆ นั้นจะทำให้ผู้กู้มาชำระหนี้มากขึ้น โดย 3 ปีที่ผ่านมาการชำระหนี้เพิ่มขึ้น ปีงบ 2558 ชำระหนี้ 17,000 ล้านบาท ปี 2557 ชำระหนี้ 13,000 ล้านบาท ปี 2556 ชำระหนี้ 11,000 ล้านบาท
 
สำหรับหน่วยงาน 36 แห่งที่มาลงนามครั้งนี้แบ่งเป็นระดับกระทรวง 6 หน่วยงาน คือ กระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร กระทรวงพลังงาน กระทรวงแรงงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับหน่วยงานในสังกัดกระทรวง 10 หน่วยงาน อาทิ กรมธนารักษ์ ศุลกากร สรรพากร สรรพสามิต สำนักงานการอุดมศึกษา กรมอุตุนิยมวิทยา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 18 หน่วยงาน อาทิ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การเคหะแห่งชาติ โรงงานยาสูบ โรงงานไพ่ องค์การตลาด ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ส่วนบริษัทเอกชน 2 แห่ง คือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
 
 
สมาคมลูกจ้างส่วนราชการแห่งประเทศไทย จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี พ.ศ.2558 และความคาดหวังบำเหน็จรายเดือนของืลูกจ้างประจำที่จังหวัดเชียงใหม่
 
26 มีนาคม 2559 เวลา 08.00 น. ณ ห้องประชุมแกรนด์ภูคำ โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ จังหวัดเชียงใหม่ นายกฤษณ์ ธนาวณิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2558 สมาคมลูกจ้างส่วนราชการแห่งประเทศไทย และความคาดหวังบำเหน็จรายเดือนของลูกจ้างประจำ สำหรับอายุราชการไม่ถึง 25 ปีบริบูรณ์ เกษียณด้วยเหตุสูงอายุ (Undo ย้อนถึงปี พ.ศ.2552) โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 1,000 คน ซึ่งการส่งเสริมและพัฒนาทรัพยากรบุคคล เป็นสิ่งจำเป็นในการที่จะช่วยสนับสนุนลูกจ้างประจำให้มีความพร้อมทุกด้าน ดังนั้นสมาคมลูกจ้างส่วนราชการแห่งประเทศไทย จึงได้จัดโครงการพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพ ตลอดจนสิทธิประโยชน์สวัสดิการด้านต่างๆของลูกจ้างประจำของส่วนราชการ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 เนื่องจาก ลูกจ้างประจำเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญและมีความมั่นคง เหมือนกับข้าราชการเกือบทุกด้าน ทำหน้าที่สนับสนุนให้หน่วยงานราชการทำงานได้คล่องตัวขึ้น ด้วยการปฏิบัติงานเป็นคู่ขนานกับข้าราชการ ดังนั้น จึงได้รับสวัสดิการเช่นเดียวกับข้าราชการ เช่น สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลหลังเกษียณ สิทธิเบิกค่าเล่าเรียนบุตรหลังเกษียณ สิทธิที่จะได้รับการปรับเบี้ยหวัดบำนาญเพิ่มตามมติ ครม. แต่มติ ครม. เมื่อปี 2540 ได้มีการควบคุมจำนวนลูกจ้างประจำ คือ เมื่อลูกจ้างประจำเกษียณลาออกจากราชการ หรือเสียชีวิต หน่วยงานราชการนั้นๆ จะไม่ได้รับการบรรจุเพิ่ม และลูกจ้างประจำจะหมดไปจากระบบราชการ ทางสมาคมฯ ได้เห็นความสำคัญของลูกจ้างประจำดังที่กล่าวมาแล้ว จึงได้จัดประชุมเพื่อหาแนวทางให้ลูกจ้างประจำได้มีความก้าวหน้า และมั่นคงในวิชาชีพทั้งขณะที่ยังรับราชการอยู่ และหลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว เป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพของสังคม
 
 
นักกฎหมายสิทธิฯ ค้านแนวคิดทวงหนี้ กยศ. ไม่ต่ออายุบัตรประชาชน
 
27 มี.ค. 2559 เว็บไซต์ทูเดย์ รายงานว่านายสุรพงษ์ กองจันทึก สภาทนายความ เปิดเผยว่า แนวคิดการทวงหนี้เงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ตามข้อเสนอปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งจะให้กระทรวงมหาดไทยไม่ต่ออายุบัตรประชาชนของลูกหนี้นั้น เท่ากับเป็นการถอนสัญชาติของประชาชนชาวไทย
 
นายสุรพงษ์ กล่าวว่าบัตรประชาชนเป็นเอกสารที่รัฐออกให้เพื่อแสดงตัวว่าคนนั้นเป็นประชากรของรัฐนั้น ๆ ซึ่งรัฐมีหน้าที่ต้องให้ความคุ้มครอง แต่หากไม่มีบัตรประชาชนก็เท่ากับไม่ได้เป็นประชากรของรัฐ อีกทั้งยังขัดต่อรัฐธรรมนูญ และขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน
 
"ที่สำคัญคือหนี้ กยศ.เป็นหนี้ทางแพ่ง หากนักศึกษาไม่จ่ายก็ควรฟ้องร้องพร้อมดอกเบี้ยแทน" นายสุรพงษ์ กล่าว
 
นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ขอเรียกร้องให้ยกเลิกแนวคิดนี้ทันที เพราะสะท้อนวิธีคิดของกระทรวงการคลังที่มุ่งต้องการเอาแต่เงิน โดยไม่สนใจวิธีการและไม่สนใจความเป็นคน
 
ขณะที่แนวคิดจะให้นายจ้างหักเงินเดือนของลูกหนี้นั้น เข้าข่ายผิดกฎหมายแรงงานที่กำหนดว่านายจ้างต้องจ่ายค่าแรงให้เต็มจำนวนก่อน ไม่สามารถหักเงินตั้งแต่ต้นทางได้
 
ด้าน น.ส. ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความจากศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า รัฐมีกฎหมายแพ่งที่จะใช้บังคับให้ชำระหนี้ได้อยู่แล้ว การนำเรื่องไม่ต่ออายุบัตรประชาชนมาบังคับก็เท่ากับเป็นการทวงหนี้โหด ทั้ง ๆ ที่รัฐมีนโยบายปราบปรามเรื่องนี้ อีกทั้งยังเป็นการถอนสิทธิ์ความเป็นคนไทยด้วย
 
 
สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ก.พ.59 หดตัวร้อยละ 1.62
 
กรุงเทพฯ 29 มี.ค. – สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ 59 หดตัวน้อยกว่าเดือนมกราคม 59 ที่หดตัวร้อยละ 3.5 โดยเดือนกุมภาพันธ์หดตัวเพียงร้อยละ 1.62 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (หักทองคำ) ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.33
 
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ภาพรวมเดือนกุมภาพันธ์ 2559 มีอัตราการหดตัวร้อยละ 1.62 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (หักทองคำ) ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.33 โดยอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ รถยนต์ เหล็กและเหล็กกล้า เครื่องแต่งกาย และผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ
 
อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณแนวโน้มเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น โดย MPI หดตัวน้อยลงจากเดือนมกราคม 2559 ที่หดตัวร้อยละ 3.5 อัตราการใช้กำลังผลิตที่ยกระดับเพิ่มขึ้นที่ 65.7 ในรอบ 11 เดือน ดัชนีการส่งสินค้ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.34 แสดงถึงมีการจำหน่ายสินค้าที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบในประเทศยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.62
 
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีมีการปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์ มีการผลิตลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.11 อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า มีการผลิตลดลงร้อยละ 12.76 และการบริโภคเหล็กของไทยลดลง ร้อยละ 5.18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีการผลิตผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 ในส่วนของเส้นใยสังเคราะห์ โดยในส่วนของเส้นด้านผลิตลดลงตามการผลิตผ้าผืนที่ลดลงร้อยละ 0.52 ในส่วนการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลงร้อยละ 12.7 อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาพรวมของการผลิตปรับตัวลดลงร้อยละ 0.87 ขณะที่อุตสาหกรรมไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0
 
ขณะที่อุตสาหกรรมที่ส่งผลบวกต่อดัชนีอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตและส่งออกในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.1 และ 4.4 ตามลำดับ เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.07 ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบทุกรายการ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.33 จากถุงพลาสติก และกระสอบพลาสติก เนื่องจากความต้องการภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ผลิตภัณฑ์ยาง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.17 จากผลิตภัณฑ์ยางแท่งและผลิตภัณฑ์ยางแผ่น เนื่องจากมีพื้นที่เปิดการกรีดหน้ายางเพิ่มขึ้น ทำให้ผลผลิตน้ำยางออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์ และเครื่องยนต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.36 ในสินค้าเครื่องยนต์ดีเซล จากความต้องการใช้ภายในประเทศเป็นหลัก ทำให้ช่วงเดียวกันของปีนี้ยอดการจำหน่ายในประเทศโตขึ้นอย่างมาก สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมพบว่าการผลิตยังอยู่ในระดับปกติใกล้เคียงกับปีที่แล้ว
 
 
หวั่นไทยถูกกล่าวหา! กระทรวงแรงงานเสนอ เด็กต่ำกว่า 15 ปี ห้ามช่วยพ่อแม่ทำงาน
 
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 นายสุวิทย์ สุมาลา รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมสร้างการรับรู้และติดตามป้องกันการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์กับหน่วยงานในส่วนภูมิภาคว่า ได้เน้นให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานทุกหน่วยประสานกันทำงาน และให้ประสานกับหน่วยราชการอื่นๆ ในพื้นที่ด้วย ให้ดูแลแรงงานในทุกมิติ สร้างความรับรู้ในเรื่องของการดูแลแรงงาน ตรวจแรงงาน และการปฏิบัติงานด้านแรงงานตามมาตรฐานสากล หน่วยงานในสังกัดได้รายงานสภาพปัญหาที่พบในพื้นที่ โดยส่วนใหญ่จะพบว่ามีการปฏิบัติไม่ถูกต้องด้านแรงงานที่ไม่ร้ายแรง เช่น การปฏิบัติต่อลูกจ้างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจกับนายจ้างให้ปฏิบัติตามกฎหมาย
 
นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า ยังได้เน้นย้ำในเรื่องของแรงงานเด็กและเด็กทำงาน เนื่องจากที่ผ่านมาต่างประเทศจะเข้าใจวัฒนธรรมของไทยผิดไปว่าการที่เด็กช่วยพ่อแม่ทำงานบ้านหรือช่วยขายของเป็นการใช้แรงงานเด็ก จึงให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงแรงงานประชาสัมพันธ์และชี้แจงให้ประชาชนทราบว่า ต่อไปขอไม่ให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ช่วยพ่อแม่ทำงานเพราะเกรงจะกลายเป็นข้อกล่าวหาว่าไทยมีการใช้แรงงานเด็ก
 
อีกทั้ง ขณะนี้กระทรวงแรงงานได้เสนอขอเพิ่มโทษสำหรับผู้ที่ใช้แรงงานเด็กให้เข้มมากขึ้นต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า โดยกำหนดโทษกรณีจ้างแรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ในงานอันตรายจำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับตั้งแต่ 8 แสน – 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากเดิมมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนงานทั่วไปหากให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในสถานที่ต้องห้าม เช่น สถานที่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป และให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ทำงาน รวมถึงงานเกษตรและประมงทะเล มีโทษในลักษณะเดียวกันคือจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
 
มติ ครม. เห็นชอบหลักการผลิดตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น คัดเลือกเด็กที่เรียนเก่ง ให้เป็นครูเพื่อเป็นต้นแบบ พร้อมไฟเขียวขยายเวลาโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท ถึง 30 ก.ย.
 
พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. เห็นชอบหลักการ ผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น คัดเลือกเด็กที่เรียนเก่ง ให้เป็นครูเพื่อเป็นต้นแบบ เลือกเด็กที่มีระดับการศึกษาไม่น้อยกว่า 3 มาเข้าโครงการโดยกำหนดว่า 1.หากเป็นเด็กตามพื้นที่ชายขอบหรือชายแดนภาคใต้ ให้ทุนการศึกษาในการเรียนปริญญาตรี ครู หนึ่งแสนบาทต่อคนต่อปี เมื่อเรียนจบบรรจุเป็นข้าราชการกลับไปอยู่ท้องถิ่น 2.หากไม่ใช่เด็กในพื้นที่ชายขอบ หรือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะไม่ได้รับทุนการศึกษา แต่สามารถบรรจุเป็นข้าราชการได้เลยแล้วกลับไปภูมิลำเนา 3.ถ้าคนที่จบปริญญาตรี หากจบสาขาอื่น ๆ สามารถมาสอนได้แต่ไม่ได้เข้าโครงการ ต้องเข้าเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู เมื่อเรียนจบสามารถเข้าโครงการและบรรจุเป็นข้าราชการได้ นอกจากนี้ เมื่อบรรจุแล้วสามารถสอบเรียนปริญญาโทในประเทศและต่างประเทศ โดยใช้งบประมาณ 3,842 ล้านบาท ระยะเวลา 14 ปี ช่วงงบปี 59 - 61 แต่หลังจากนั้นให้ใส่ในแผนปฏิรูปการศึกษาให้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ มีการลงนามหากไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต้องถูกหักเงินตั้งแต่ทำงาน 
 
พลตรี สรรเสริญ ยังกล่าวว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบขยายเวลาโครงการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาท กรณีโครงการที่ต้องขอใช้พื้นที่ป่าสงวนหรือพื้นที่อุทยาน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา ทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณไม่ทันกำหนด โดยขยายเวลาเป็น 30 ก.ย. 2559 นอกจากนี้ สำหรับการดำเนินการเบิกจ่ายไม่ทัน แต่อยู่ในขั้นตอนเงินในระบบ (PO) หาผู้รับจ้างงานได้แล้ว เช่น งานที่ต้องใช้คอนกรีต เป็นต้น ให้ดำเนินการต่อไปให้เสร็จสิ้นกระบวนการไม่เกิน 30 มิ.ย. 2559
 
นอกจากนี้ พล.ต.สรรเสริญ แถลงการผลการประชุม กรณีการจ้างแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ ว่า แต่เดิมประเทศไทยได้มีการบันทึกข้อตกลงร่วมกับลาวกัมพูชาและเมียนมา สำหรับทำความเข้าใจที่ตรงกัน ในการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศและอาศัยระบบบริหารราชการแผ่นดิน และกฎหมายว่าด้วยการจัดหางานเป็นตัวบังคับ ซึ่งยังไม่ครอบคลุมในส่วนของรายละเอียดหลักเกณฑ์ที่มีการพัฒนาขึ้นมาในปัจจุบัน จึงได้มีการเสนอร่างพระราชกำหนดการจ้างแรงงานต่างด้าวขึ้น โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจคือ ผู้ที่จะจ้างแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศได้จะต้องเป็นนายจ้างที่จะรับคนงานเข้ามาทำงานเองโดยตรง และผ่านบริษัทจัดหางานที่มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท และมีหลักค้ำประกันการไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท รวมถึงผู้ที่ถือหุ้นในบริษัทจัดหางานจะต้องเป็นคนไทยไม่น้อยกว่าสามในสี่ รวมถึงรายละเอียดต่าง ๆ ที่จะตามมา ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้แรงงานต่างด้าวถูกเอารัดเอาเปรียบ
 
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี ได้รับข้อเสนอและหลักเกณฑ์ดังกล่าวไว้เรียบร้อยแล้ว แต่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบว่า ควรนำกลับไปพิจารณา ว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนถึงขนาดที่ต้องออกเป็นพระราชกำหนดหรือไม่ หากไม่จำเป็นให้ทำเป็นร่างพระราชบัญญัติเสนอเข้ามายังคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท