เดชรัต สุขกําเนิด: สิทธิเรียนฟรี ม.ปลาย กับ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ตามที่น้องๆ เยาวชน กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไททวงสิทธิการเรียนฟรี ในระดับมัธยมปลาย ที่ถูกตัดออกไปจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ ที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อวานนี้

ล่าสุด นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ชี้แจงว่า กรธ. ได้บัญญัติให้รัฐต้องสนับสนุนการเรียนการสอนในชั้นก่อนการศึกษาภาคบังคับ จนถึงชั้น ม.3 รวมเวลา 12 ปีเช่นเดิม เพียงแต่มีการร่นช่วงอายุลงมาเท่านั้น เพื่อความเท่าเทียมกันระหว่างคนจนและคนรวย

เรื่องนี้มีข้อเท็จจริงหลายประการที่ต้องอธิบาย

ข้อเท็จจริงประการแรกคือ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้ปรับเปลี่ยนกรอบการดําเนินการจาก 12 ปีเป็น 15 ปี ในชื่อ “โครงการเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ” ครอบคลุมทั้งสายสามัญและสายอาชีวศึกษาในระดับชั้น อนุบาล-ปวช.3 อยู่ โดยให้การอุดหนุนค่าเล่าเรียนต่อหัวนักเรียนในรูปตัวเงินให้แก่สถานศึกษาและครอบครัวนักเรียน

แต่ตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หน้าที่ของรัฐจะมีเพียงการสนับสนุนให้นักเรียน เรียนฟรีจนถึง ม.3 (ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่) เท่านั้น ส่วนสิทธิของประชาชนนั้นหายไปกลายเป็นหน้าที่ของรัฐแทนแล้ว

นอกจากนี้ นายมีชัยยังอธิบายเหตุผลที่ตัดออกว่า

"...อันนี้ต้องเข้าใจว่าทุกวันนี้ระบบการศึกษามันไม่ทัดเทียมกัน เพราะเด็กจะพัฒนาได้เนี่ยต้องอยู่ระหว่าง 2-5 ขวบ ซึ่งคนมีตังค์ได้รับการพัฒนา แต่คนจนไม่ได้รับการพัฒนา เพราะฉะนั้นพอถึงมัธยมปลายก็เสียเปรียบ สู้กันไมได้เพราะตอนนั้นสมองไม่พัฒนาแล้วสิ่งที่เราทำก็คือการร่น 12 ปีลงมาข้างล่างเพื่อรองรับคนจน แล้วพอถึงมัธยมปลาย คนจนก็จะได้รับการดูเพราะจะมีกองทุนการศึกษาให้ ส่วนคนมีสตางค์ก็ออกสตางค์ เพราะฉะนั้นความทัดเทียมมันถึงจะเกิดขึ้นได้จริง ถ้าปล่อยไว้อย่างนี้คนจนก็จะแย่ เสียเปรียบ..." 

นี่คือคำอธิบายของนายมีชัย

แต่จากผลการศึกษาของ ดร. ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ ที่ทำไว้อย่างน่าสนใจว่า ก่อนที่เราจะมีรัฐธรรมนูญ 2540 เราจะเห็นว่า สัดส่วนการเข้าเรียนระดับม.ปลาย (กราฟทางซ้ายมือ) ของกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุด 25% แรกกับกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุด 25% นั้นแตกต่างเหลื่อมล้ำกันมาก ในช่วงนั้น กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุด 25% มีสัดส่วนได้เข้าเรียน ม.ปลาย ไม่ถึงร้อยละ 10 เท่านั้น

โชคดีที่เรามีรัฐธรรมนูญ 2540 เพราะว่า หลังจากนั้น สัดส่วนการเข้าเรียนของกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุด 25% เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนสูงกว่าร้อยละ 40 ในปัจจุบัน (กลุ่มครัวเรือนที่รวยที่สุด 25% แรกมีอัตราการเข้าเรียนประมาณร้อยละ 80) และความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุด 25% แรกกับกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุด 25% เริ่มหดแคบเข้า เพราะฉะนั้น การระบุสิทธิการเรียนฟรี 12 ปีไว้ มีส่วนช่วยที่จะลดความเหลื่อมล้ำดังกล่าวลงได้มากทีเดียว

เพื่อเปรียบเทียบกัน อยากให้ลองมองภาพทางขวามือ สัดส่วนการเข้าเรียนระดับอุดมศึกษา ซึ่งสิทธิการเรียนฟรียังครอบคลุมไม่ถึง เราจะเห็นว่า ความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุด 25% แรกกับกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุด 25% กลับขยายห่างออกไปมากขึ้น แม้กระทั่งปัจจุบัน กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุด 25% ยังมีสัดส่วนได้เข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยไม่ถึงร้อยละ 10 ด้วยซ้ำครับ

เพราะฉะนั้น สิทธิการเรียนฟรีของประชาชน ในระดับมัธยมปลาย จึงเป็นสิ่งที่สำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำสำหรับคนรุ่นหน้า เป็นความหวังหนึ่งในการพาให้สังคมไทย พ้นจากความเหลื่อมล้ำที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

ผมจึงอยากถามนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ใช้ข้อมูลหลักฐานหรือผลการศึกษาใดในการซี้แจงดังกล่าวครับ ถ้ามีรบกวนแจ้งด้วยครับ เพราะผมก็อยากเรียนรู้แง่มุมที่แตกต่างเช่นกันครับ ผมพร้อมที่จะศึกษาข้อมูลใหม่ๆ ที่แตกต่างจากที่ผมรู้ครับ

แต่ถ้าคำชี้แจงดังกล่าวเป็นกล่าวอ้างลอยๆ โดยไม่มีผลการศึกษายืนยัน ผมก็ขอให้ท่านระมัดระวังไว้ด้วย เพราะตอนนี้ คสช. เขากำลังเอาจริงเรื่อง การให้ข้อมูลที่ไม่เป็นจริงหรือการบิดเบือนข้อมูลต่อสาธารณะ ครับ

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท