ทีดีอาร์ไอ ชี้ 'รัฐราชการไทย' รวมศูนย์สู่ส่วนกลางมากคือปัญหาสำคัญ เสนอปรับ 4 ทิศ

ทีดีอาร์ไอ ชี้การรวมศูนย์เข้าสู่ส่วนกลางสูงมาก คือปัญหาสำคัญ รัฐราชการไทยแก้ปัญหายากๆ ของประเทศได้น้อยลง แนะปรับ 4 ทิศทาง  “ให้ธุรกิจมีส่วนร่วม” “ให้ท้องถิ่นตัดสินใจ”  “ให้สังคมช่วยลงทุน” และ “ให้รัฐปรับบทบาทตนเอง” โดยถอยออกจากการเป็นทั้งผู้กำกับดูแลและผู้ให้บริการต่างๆ ในเวลาเดียวกัน เพราะทับซ้อนกันทำให้บริการต่างๆ ไม่มีคุณภาพดีพอ 
 
 
เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดงานสัมมนาประจำปี 2559 “ปรับบทบาทรัฐไทย...ให้ประชาชนได้บริการที่ดี” วิเคราะห์ปัญหาการรวมศูนย์อำนาจของรัฐราชการไทย และเสนอปรับบทบาทรัฐ 4 ทิศทางเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้า ด้วยการให้ท้องถิ่นตัดสินใจ ให้ธุรกิจมีส่วนร่วม ให้สังคมช่วยลงทุน และให้รัฐปรับทบาทตนเอง โดยได้ระดมนักวิชาการ นักวิจัยทีดีอาร์ไอ และแขกรับเชิญจากภาคสังคม ธุรกิจ วิชาการ ร่วมกันเปิดประเด็นและเดินเรื่อง บนเวทีวิชาการ 3.0 “ตรงประเด็น เข้าใจง่ายและสนุก” ณ โรงละครอักษรา คิงเพาวเวอร์ (รางน้ำ)
 
โดยทีดีอาร์ไอระบุว่า ปัญหาสำคัญของรัฐไทยคือ การรวมศูนย์เข้าสู่ส่วนกลางสูงมาก แต่ในเวลาเดียวกันก็ทำงานแตกเป็นส่วนๆ ขาดการประสานงานกัน และไม่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมมาก  ในขณะที่ระบบราชการก็ลดขีดความสามารถลงไปจากอดีต จากปัญหาการแทรกแซงทางการเมือง และความกลัวการทำผิดกฎระเบียบต่างๆ  
 
ทั้งหมดนี้ทำให้รัฐราชการไทยแก้ปัญหายากๆ ของประเทศได้น้อยลงทุกที และไม่สามารถให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิผลอีกต่อไป ทั้งการจัดการศึกษา การฝึกทักษะแรงงาน การยกระดับเทคโนโลยี ตลอดจนการให้บริการสังคมต่างๆ  ซึ่งทำให้ภาครัฐไม่สามารถนำพาประเทศไทยให้พ้นกับดักรายได้ปานกลาง สร้างความเท่าเทียมทางสังคม และทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน  จึงไม่น่าแปลกใจที่หน่วยงานต่างๆ เช่น WEF ระบุว่า ภาครัฐเป็นจุดอ่อนของประเทศไทย
การปฏิรูปภาครัฐในรูปแบบที่เคยทำกันมา เช่น การปรับโครงสร้างระหว่างหน่วยงาน การจัดตั้งองค์กรมหาชนอิสระ การจัดทำดัชนีชี้วัดหลัก (KPIs) แม้จะยังมีความจำเป็น แต่ก็น่าจะไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาได้  นักวิจัยและนักวิชาการทีดีอาร์ไอ จึงหยิบยกปัญหาของภาครัฐมาวิเคราะห์ในทางวิชาการ  ศึกษากรณีการปฏิรูปบริการสาธารณะที่ประสบผลสำเร็จทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งนำมาสู่การเสนอ 4 ทิศทางหลักในการปฏิรูปบทบาทภาครัฐไทย
 
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ
 
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ เปิดเวทีสัมมนาและเดินเรื่องปฏิรูปบทบาทรัฐในทิศทางแรก คือ “ให้ท้องถิ่นตัดสินใจ” โดยชี้ว่า รัฐส่วนกลางที่รวมศูนย์อำนาจ ไม่สามารถให้บริการประชาชนตามความต้องการที่แตกต่างหลากหลายได้ จนกลายเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง จึงต้องอาศัยการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ให้เกิดเจ้าภาพในการแก้ปัญหาแบบองค์รวม เปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม และทดลองแนวทางให้บริการใหม่ๆ แก่ประชาชน  
 
ทิศทางที่สอง คือ “ให้ธุรกิจมีส่วนร่วม” โดย ดร.กิริฎา เภาพิจิตร และ ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า ภาครัฐต้องไม่ฉุดรั้งภาคธุรกิจไว้อย่างไม่เหมาะสม เพราะความคล่องตัวและความคิดสร้างสรรค์ของภาคธุรกิจจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รัฐควรเปิดบทบาทให้ภาคธุรกิจมีส่วนร่วมในการแข่งขันให้บริการประชาชนอย่างเสมอภาค  และควรใช้ทรัพยากรของตนให้ตอบโจทย์ของประเทศเช่น เรื่องความสามารถในการแข่งขัน
 
ทิศทางที่สาม คือ “ให้สังคมช่วยลงทุน” โดยศักยภาพในการลงทุนเพื่อสังคมของคนไทยมีสูงมาก จากการบริจาคเงินช่วยสังคมในแต่ละปีมากกว่า  7 หมื่นล้านบาท   แต่ ดร.ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร และ ดร.บุญวรา สุมะโน นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ ชี้ว่าการบริจาคมีผลในการเปลี่ยนแปลงสังคมไม่มาก ถ้าจะแก้ไขปัญหาสังคมให้ได้ผลต้องก้าวให้พ้นการบริจาคไปสู่ “การลงทุนเพื่อสังคม”
 
ในทิศทางสุดท้าย ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ทีดีอาร์ไอ เสนอ “ให้รัฐปรับบทบาทตนเอง” โดยถอยออกจากการเป็นทั้งผู้กำกับดูแลและผู้ให้บริการต่างๆ ในเวลาเดียวกัน เพราะบทบาทหน้าที่ซึ่งทับซ้อนกันทำให้บริการต่างๆ ไม่มีคุณภาพดีพอ   รัฐควรเลิกขัดขวางการให้บริการของท้องถิ่น ธุรกิจและสังคม และเลิกขยายอำนาจของตนอย่างไม่สิ้นสุด จากการออกกฎระเบียบต่างๆ ออกมาอย่างที่ไม่รอบคอบ
 
ทั้งนี้ การเดินเรื่องบนเวทีสัมมนาในปีนี้ดำเนินตามแนวคิด วิชาการ 3.0 “ตรงประเด็น เข้าใจง่ายและสนุก” ด้วยวิธีการนำเสนอที่แตกต่างจากงานวิชาการทั่วไป โดยเน้นสื่อสารด้วยอินโฟกราฟฟิกและมัลติมีเดีย พร้อมฉากประกอบที่สับเปลี่ยนตามประเด็นนำเสนอ เพื่อสร้างบรรยากาศความสนุกและความตื่นตาตื่นใจแก่ผู้ร่วมงาน
 
“วิชาการในยุค 1.0 คืองานวิชาการแบบดั้งเดิม ที่อาจตรงประเด็น แต่คนทั่วไปเข้าใจยาก ส่วนวิชาการในยุค 2.0 คือ สิ่งที่ทีดีอาร์ไอ ได้ทำมาในช่วงที่ผ่านมาคือ การเสนองานวิชาการที่เข้าใจง่าย แต่ในปีนี้ทีดีอาร์ไอก้าวไปอีกขั้นสู่ วิชาการ 3.0 ซึ่งนอกจากตรงประเด็น เข้าใจง่ายแล้วต้องสนุกด้วย ” ดร.สมเกียรติ กล่าวอธิบาย
 
การจัดสัมมนาทีดีอาร์ไอ ประจำปีนี้ ยังมีกิจกรรมที่ผู้ร่วมงานเป็นส่วนหนึ่งของการเดินเรื่อง ทั้งการแสดงความเห็นต่อรัฐและธุรกิจ ตลอดจนการสำรวจกลุ่มคนที่ผู้ร่วมงานต้องการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งพบว่า เด็กคือกลุ่มที่ได้รับเงินบริจาคมากที่สุด   การสัมมนานี้ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางทั้งจากผู้เข้าร่วมงาน และผู้ติดตามถ่ายทอดสดทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งร่วมให้ข้อเสนอมากมายต่อการปรับบทบาทและทิศทางของภาครัฐ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท